สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยถึงประเด็นที่น่าสนใจของประเทศไทย นั่นคือสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ซึ่งพบว่าในไตรมาสที่ 4/2561 หนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี อยู่ที่ 78.6% โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ทั่วโลก และถูกจัดให้เป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย
สศช.ฉายภาพแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/2562 ต่ออีกว่า “ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” โดยพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ ที่เติบโตขึ้น 10.1% สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2/2557 เป็นต้นมา นั่นเป็นผลมาจากการเร่งก่อหนี้ก่อนการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมาตรการส่งเสริมการขายรถยนต์จากงานมหกรรมงานรถยนต์ (Motor Show 2019) ตลอดจนการส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ
ทั้งหมดทั้งมวลส่งผลให้ตัวเลขหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขยายตัวถึง 9% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 2.75% ของสินเชื่อรวม และคิดเป็น 27.8% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดที่ในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1/2559 ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระเกิน 3 เดือน ของสินเชื่อบัตรเครดิตกลับปรับตัวลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับการขยายตัวที่ 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า
โดย สศช.มองว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน
ขณะที่ข้อมูลจาก “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น มากขึ้น และนานขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 25% ภายในระยะเวลาดังกล่าว และยังสูงเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคเอเชีย และที่น่าสนใจที่สุดคือคนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกว่า 50% ของคนไทยอายุ 30 ปี มีหนี้ และ 1 ใน 5 ของคนกลุ่มช่วงอายุ 29 ปี เป็นหนี้เสีย!
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยมีภาระหนี้มากขึ้น โดยจากคนไทย 21 ล้านคนที่มีภาระหนี้สิน พบว่ากว่า 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 15.9% เป็นหนี้เสีย อีกทั้งยังพบว่าคนไทยเป็นหนี้นานขึ้น ขนาดเกษียณแล้วหนี้ก็ยังไม่หมด โดยคนอายุ 60-69 ปี มีหนี้เฉลี่ย 453,438 บาทต่อราย ส่วนคนอายุ 70-79 ปี มีหนี้เฉลี่ย 287,932 บาทต่อราย
โดย ธปท.เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน (Consultation Paper) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่ให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนตระหนักถึงความเสี่ยงที่ผู้กู้อาจมีเงินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อรวบรวมมุมมองความคิดเห็นประกอบการตัดสินนโยบาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบและกำหนดแนวนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างเหมาะสม
เนื่องจากมีนักวิชาการมองเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของการนำหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนความเข้มข้น เข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ประชาชนหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีหลายปัจจัยทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจมีผลกระทบต่อรายได้ของภาคครัวเรือน ทั้งความเปราะบางของภาคเศรษฐกิจ การส่งออกที่ชะลอตัวลง ซึ่งอาจมีผลต่อภาพรวมการจ้างงาน ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชากรให้ปรับตัวลดลง ขณะที่ค่าครองชีพต่างๆ รวมถึงหนี้สินยังคงถีบตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีมาตรการเข้ามาดูแลในส่วนนี้อาจกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |