'กปปส.'เชิญบิ๊กเนมร่วมพรรค


เพิ่มเพื่อน    

    "สมชัย” หยามพรรคการเมืองประกาศหนุน “ประยุทธ์” เป็นนายกฯ แค่สร้างเรตติ้ง แนะบิ๊กตู่เลือกพรรคให้ดี นักวิชาการฟันธงผลเลือกตั้งยังเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงแค่ 30% "เพื่อแม้ว" ชื่มชมพรรคใหม่เดินสู่ ปชต.มิใช่หนทางที่ใช้อาวุธบีบบังคับ ปชช. แบ่งแยกให้ 2 ทางเลือก เดินตาม คสช.กับปฏิเสธ คสช. "หน่อย" ฉุน "เหลิม" เฉ่งกลางวงหลังคู่กัดยังแอบด่าไม่เลิก ด้าน ปชป.สยบข่าวร้าว แจงการให้สมาชิกยืนยันตัวตนไว้ก่อน 1 เม.ย.ไม่ผิดปกติ โพลระบุเลือกตั้ง ก.พ.62เหมาะสมแล้ว 
    เมื่อวันอาทิตย์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกระแสหลังวันเปิดจับจองชื่อพรรคการเมืองใหม่ หลายพรรคแสดงจุดยืนจะหนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งว่า ถือว่าไม่ผิด เพราะเป็นการแสดงเจตจำนงของผู้ก่อตั้งพรรค แต่หากมีการเลือกตั้งจริงที่จะประกาศเป็นทางการได้ จะมีเพียงแค่พรรคเดียวเท่านั้น แต่พอไปดูพาดหัวของสื่อบางสำนักระบุว่า กกต.ไฟเขียวพรรคการเมืองชูบิ๊กตู่เป็นนายกฯ เห็นแล้วอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า กกต.เอนเอียงไปยังผู้มีอำนาจ จึงขอชี้แจงว่า มาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไม่เกิน 3 รายชื่อ และมาตรา 89 ระบุว่า การเสนอชื่อต้องมีหนังสือยินยอม และไม่เคยทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองอื่น แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ใน 1 ใน 3  ชื่อที่พรรคการเมืองจะเสนอให้เป็นายกฯ ก็เสนอได้แค่พรรคเดียวโดยเจ้าตัวต้องยินยอม
    “วันนี้พรรคไหนบอกว่าจะชู พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่ผิดอะไร เป็นการเรียกเรตติ้งกันไป แต่พรรคที่จะเสนอเป็นทางการจะมีได้พรรคเดียว พล.อ.ประยุทธ์คงต้องตัดสินใจให้ดี และควรเลือกพรรคที่น่าจะได้ ส.ส.ในสภา ไม่น้อยกว่า 25 คน เพราะเป็นเงื่อนไขในการเสนอชื่อเข้าแข่งขันลงคะแนนด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภารวมกัน หากเลือกถูกพรรค วางแผนดี มีแนวร่วม ได้ 375 เสียงขึ้นไป ก็โหวตจบในรอบเดียว เลือกผิดพรรค หรือไม่เลือกก็ต้องรอให้เขาโหวตไม่ได้ในรอบแรกแล้วค่อยรอเป็นนายกฯ คนนอกบัญชี" นายสมชัยกล่าว 
     นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่ คสช.จะกำหนดวันเลือกตั้งนั้นคงยังไม่ใช่ช่วงนี้ แต่คาดว่าน่าจะเป็นจังหวะหลังการปลดล็อกเสียก่อน สำหรับพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งกันขึ้นใหม่นั้น เชื่อว่าประชาชนจะพิจารณาว่าแต่ละพรรคจะทำงานการเมืองกันแบบใหม่หรือไม่ หรือมีนโยบายที่ก้าวหน้าหรือไม่ โดยเฉพาะจุดยืนในเรื่องการปฏิรูปประเทศ จะเป็นอีกประเด็นที่อยากเห็น แต่หากยังเป็นแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ หรือพรรคการเมืองแบบเดิมๆ ก็จะไม่สามารถกอบกู้วิกฤติศรัทธาของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองได้ อย่าลืมว่าวิกฤติการเมืองที่ล้มเหลว นักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าไม่ปรับตัว ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำในสิ่งใหม่ๆ จะทำให้การเมืองหลังเลือกตั้งยังวนอยู่ในโหมดความขัดแย้งแตกแยกเหมือนเดิม
    นายยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า บรรดาพรรคการเมืองที่ไปจดทะเบียนนั้น แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.พรรคที่ตั้งใหม่โดยมีสายสัมพันธ์กับพรรคหรือกลุ่มการเมืองเดิม คล้ายกับพรรคสาขาลูก 2.พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่เลย โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายใด พรรคทั้ง 2 ลักษณะอาจไม่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งสนามใหญ่มากนัก เพราะจากพรรคเหล่านี้ไม่มีอะไรมาการันตีคะแนนเสียงเช่นเดียวกับพรรคการเมืองใหญ่ที่มีมาอย่างยาวนาน เพราะในสนามแข่งขันจะอาศัยเพียงมุมของกฎหมายมาใช้คงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องมีบริบทอื่นๆ ประกอบ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการเปิดพื้นที่สาธารณะเพิ่มรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งคงเป็นได้เพียงพรรคการเมืองขนาดกลางเท่านั้น
    สำหรับแนวทางเบื้องต้นสำหรับการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นำเสนอนั้น นายยุทธพร กล่าวว่า ถือว่ามีความน่าสนใจ และจะช่วยดึงบรรดาคนรุ่นใหม่ที่ยังคงติดภาพการเมืองไทยแบบเดิมๆ หรือไม่ให้ความสนใจ หันมาสนใจและทำความเข้าใจการเมืองในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นไปตามที่คิด ซึ่งจะส่งผลดีต่อไปในระยะยาว ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปนั้น น่าจะเป็นไปในลักษณะเดิม หากมีการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมก็คงไม่ถึงร้อยละ 30 เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในตัวผู้แทนฯ ในพื้นที่เช่นเดิม  
     ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า การเกิดขึ้นและการเปิดตัวของพรรคการเมืองใหม่เป็นสิ่งที่ต้องแสดงความยินดีและชื่นชมควรให้การต้อนรับและให้กำลังใจอย่างเต็มที่ในความกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในเวทีการเมืองการที่ประชาชนรวมตัวกันแสดงออก ซึ่งความมุ่งมั่นและใส่ใจที่จะแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ให้กับอนาคตของตนและประเทศ ด้วยวิถีทางที่เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียมกัน เต็มใจที่จะผ่านการตรวจสอบ ผ่านการตัดสินใจของประชาชนเอง ถือเป็นวิถีทางที่มีเกียรติยศและมีศักดิ์ศรียิ่ง เพราะมิใช่หนทางแบบที่ผู้มีอำนาจและมีอาวุธอยู่ในมือได้เคยใช้เพื่อบีบบังคับและกำหนดอนาคตให้ประชาชน โดยไม่ได้รับความยินยอมอย่างที่เคยเป็นมาเชื่อมั่นว่าทุกกลุ่มทุกพรรคในฝ่ายประ
ชาธิปไตยต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดให้เกิดขึ้น สนับสนุนและเป็นกำลังใจให้นักประชาธิปไตยทุกท่าน
เพื่อแม้วแบ่งแยก 2 ขั้ว
    นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นการเลือกระหว่างพรรคที่สนับสนุนและพรรคที่ไม่สนับสนุน คสช. แม้ว่า คสช.โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะส่งเสียงเตือนว่า พรรคการเมืองสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้ แต่ห้ามพูดเรื่องนโยบายเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากการห้ามดวงอาทิตย์ไม่ให้ขึ้นทางตะวันออก คนไทยทั้งประเทศเขารอการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อจะตัดสินใจทางการเมืองว่าจะเดินไปตามเส้นทางที่คสช.บังคับจัดวางไว้ หรือจะปฏิเสธและเดินไปบนเส้นทางที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังพูดซ้ำๆ อยู่เสมอว่า จะเอาแบบผม หรือจะเอาแบบเก่า ดังนั้นพรรคการเมืองที่จะลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ จึงจัดกลุ่มได้เพียงสองฟากเท่านั้น คือฟากที่เดินไปตามเส้นทางของ คสช.กับฟากที่ปฏิเสธเส้นทางของ คสช. 
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการแสดงท่าทีที่ชัดของพรรคการเมืองใหม่บางพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการตั้งพรรคการเมืองกันมาก และน่ายินดีที่มีพรรคใหม่ๆ ที่มีความชัดเจนในการสร้างประชาธิปไตย รวมทั้งเสนอนโยบายใหม่ๆ ให้เป็นทางเลือกของประชาชน และทำให้การแบ่งฝ่ายพรรคการเมืองจะชัดเจนขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้การตัดสินใจของประชาชนง่ายขึ้น นโยบายการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองคิดว่าอย่างไรแล้วก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องควบคู่กันไปด้วย กับการที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนนอก และต้องรวมไปถึงการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยด้วย การที่พรรคการเมืองต่างๆ ส.ส.จะสนับสนุนนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องเสียง 376 เสียง ก็เป็นเรื่องยากมาก ในขณะที่ผู้มีอำนาจจะเอาคนนอกเป็นนายกฯ ต้องการเสียง ส.ส.อย่างน้อย 251 เสียง ในขณะนี้ก็ยังนับไม่ได้สักเสียงก็ยาก เพราะฉะนั้นในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้ง การเมืองจะหาจุดลงตัวจะยาก 
    มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยเผยว่า ที่ผ่านมาแทบทุกวันทำการราชการในพรรคจะมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองแยกเป็นรายวงกลุ่มย่อยอยู่แล้ว อาทิ วงของคณะแกนนำระดับคนใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธานการประชุม, วงการสื่อสารทางสื่อที่มีนายนพดล ปัทมะ เป็นประธานการประชุม, วงที่ประชุมสมาชิกพรรคมีทั้ง พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รวมถึงบางครั้งจะมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาเป็นประธานร่วมการประชุม แม้ในวันนี้คุณหญิงสุดารัตน์ยังเป็นผู้กำหนดการขับเคลื่อนของพรรค แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากบรรดาแกนนำพรรค อดีต ส.ส. รวมไปถึง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ ที่แม้ก่อนหน้านี้มีความพยายามจากผู้มีบารมีในพรรคเข้ามาเจรจาขอยุติความบาดหมางในอดีต ก็ไม่เป็นผล และไม่มีท่าทีจะยุติลงได้ในเร็ววันหากทั้ง 2 คนปะหน้ากัน 
    โดยเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากมีการประชุมกลุ่มย่อยแล้วเสร็จ คณะอดีต ส.ส.7-8 คน อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม, นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.น่าน เป็นต้น กำลังล้อมวงสังสรรค์คุยถึงสถานการณ์การเมืองอย่างออกรส แต่จู่ๆ คุณหญิงสุดารัตน์ได้เดินเข้ามาในวงและชี้ไปทาง ร.ต.อ.เฉลิมพร้อมกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า "ได้ข่าวยังด่าชั้นอยู่ทุกวัน" ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิมสวนกลับไปทันที "ทีชมไม่เห็นเอาไปพูดบ้าง" ก่อนที่จะมีการปะทะคารมอีกเล็กน้อย ก่อนที่คุณหญิงสุดารัตน์จะเดินออกไปด้วยท่าทีไม่สบอารมณ์นัก ท่ามกลางอาการตกตะลึงของอดีต ส.ส.ของพรรคที่กำลังพูดคุยกันอย่างสนุกสนานถึงกับนิ่งเงียบไปชั่วครู่
    นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา คณะอดีต ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่เดินทางไปพบนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะเดินทางมายังแถบภูมิภาคเอเชีย มีอดีต ส.ส.ของพรรคที่คุ้นเคยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สอบถามถึงผู้นำพรรคคนใหม่ตกลงเป็นคุณหญิงสุดารัตน์จริงๆ ใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เลยตอบแบบลากเสียงบนใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า "จริงเหรอๆ" วนเวียนถึง 3-4รอบ ทำให้กลุ่มอดีต ส.ส.ต่างรับรู้สัญญาณเป็นการภายในที่ตรงกันว่า ในวันข้างหน้าคงจะมีการเปลี่ยนผู้นำในการถือธงพรรคอย่างแน่นอน
ปชป.สยบข่าวร้าว
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ประกาศถึงอดีต ส.ส.ภาคใต้ทั้งหมดของพรรคให้มาแจ้งยืนยันอย่างไม่เป็นทางการภายในวันที่ 9 มี.ค.นี้ว่าจะยังอยู่กับพรรคต่อไป หรือจะย้ายไปพรรคใหม่ว่า ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไร เพราะเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการอยู่แล้ว เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จะเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกพรรค รวมถึงอดีต ส.ส. ต้องยืนยันสถานะความเป็นสมาชิกพรรคต่อหัวหน้าพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องตัวบุคคลไว้ก่อน ส่วนที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีอดีต ส.ส.ภาคใต้ 3 คน ย้ายไปสังกัดกับพรรคใหม่ ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ปกติแล้วหากพื้นที่ใดขาดบุคคลผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการของพรรคในแต่ละพื้นที่ก็ต้องดำเนินการให้มีผู้สมัครคนใหม่ ส่วนทางกรุงเทพฯ ยังไม่มีอดีต ส.ส.คนใดแสดงความจำนงไปสังกัดพรรคใหม่ ทางพรรคคงไม่ได้เตรียมการอะไรเป็นพิเศษต่อสถานการณ์นี้ เพราะยังต้องเตรียมนโยบายเพื่อตอบโจทย์ประชาชน และต้องดำเนินขั้นตอนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละกลุ่มการเมืองที่จะจัดตั้ง
     นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประขาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้กล่าวว่า ในวันที่ 10 มี.ค. จะทำรายงานแจ้งให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับทราบยอดอดีต ส.ส. ของพรรคในภาคใต้ ว่ามีเท่าไหร่ และเตรียมจัดหาคนมาลงสมัครในพื้นที่ที่ขาด ซึ่งมั่นใจว่าการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่ม กปปส. จะไม่กระทบกับพรรคมากนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ โดยคาดว่าจะมีอดีต ส.ส.ไปเพียง 2 - 3 คนเท่านั้น
    นายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองระบุว่า ภายในวันที่ 5-6 มี.ค.จะมีผู้ไปยื่นจดทะเบียนตั้งพรรค ส่วนจะมี อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ มาร่วมด้วยหรือไม่ จำนวนเท่าใดนั้นยังตอบไม่ได้ ต้องให้เวลาแต่ละคนตัดสินใจ แต่เบื้องต้นนั้นจะเป็นคนใหม่ๆ ที่จะลงสมัคร ส.ส.ในนามของพรรค
          มีรายงานว่า ในการก่อตั้งพรรค กปปส. มีการทาบทามบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมเป็นผู้ก่อตั้งพรรค อาทิ นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย , ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สปช. เป็นต้น
         นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่มี 42 กลุ่มเข้าจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองว่า ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่มีคนสนใจในการเสนอตัวเป็นปากเสียงของประชาชนจำนวนมากขึ้น แต่การเสนอตัวจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ง่าย แต่ในความเป็นจริงขั้นตอนของการตั้งพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ในฐานะที่เราอยู่ในวงการการเมืองมาระดับหนึ่ง เห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ยุ่งเหยิง ทำได้ไม่ง่าย เช่น เรื่องสาขาพรรค การส่งผู้สมัคร การทำไพรมารี ดังนั้นทั้ง 42 กลุ่มต้องเตรียมตัวให้ดี การที่มีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามานั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดี มีคนที่กล้าคิดกล้าทำเข้ามา ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกกลุ่มที่เสนอตัว ถือว่าเป็นทางเลือกให้กับคนไทยที่มีสิทธิเลือกได้มากขึ้น ไม่จำเจอยู่กับตัวเลือกเก่าๆ ถ้าหากได้เข้ามาทำงานร่วมกันในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สิ่งที่เคยถูกเรียกว่าสภาน้ำเน่า สาดโคลนกัน หรือเกมการเมืองเก่าๆ จะได้หมดไปเสียที ผมจะตั้งตาคอยเข้าไปทำงานในสภาด้วยกัน แม้ว่าเมื่อถึงเวลาลงสนามเราต้องเป็นคู่แข่งกันแน่นอน 
    นายสุระ เตชะทัต โฆษกพรรคพลังชล กล่าวเช่นกันว่า ถือเป็นสิ่งที่สวยงามในระบอบประชาธิปไตย เป็นการทำตามกติกาตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ในส่วนของรายละเอียดยังมีขั้นตอนที่แต่ละพรรคต้องทำอีกมาก เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนกระแสข่าวพรรคพลังชลจับมือเป็นพันธมิตรการเมืองกับพรรคชาติไทยพัฒนาในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น ยังไม่ได้มีการเจรจาพูดคุยกัน เวลานี้ยังมีข้อห้ามจาก คสช.ไม่ให้พรรคการเมือง นักการเมืองทำกิจกรรมการเมือง จึงยังบอกไม่ได้ว่าใครจะไปรวมกับใคร หรือจะสนับสนุนผู้ใดผู้หนึ่งให้เป็นนายกรัฐมนตรี คงต้องรอเวลาให้ได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมืองเสียก่อน อีกทั้งขอให้มีความชัดเจนอย่างแท้จริงว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงใดแน่ เมื่อถึงเวลานั้นค่อยมาหารือพูดคุยกัน
    วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”  เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง เชื่อมั่นหรือไม่กับการเลือกตั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.60  ระบุว่า เหมาะสม และร้อยละ 20.40 ระบุว่าไม่เหมาะสม, ร้อยละ 10.80 ระบุเชื่อมั่นมากที่สุดว่าจะมีการเลือกตั้งภายใน ก.พ.2562 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก, ร้อยละ 24.32 ระบุว่าเชื่อมั่นค่อนข้างมาก, ร้อยละ 23.76 ระบุว่าเชื่อมั่นค่อนข้างน้อย, ร้อยละ 15.36 ระบุว่าเชื่อมั่นน้อย และร้อยละ 25.76 ไม่เชื่อมั่นเลย ขณะที่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.16 ยอมรับได้หากการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไป เพราะอยากให้ทำการปฏิรูปประเทศก่อน บ้านเมืองยังต้องจัดการระบบและระเบียบอยู่, ร้อยละ 33.36 ระบุว่ายอมรับไม่ได้ เพราะเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว นอกจากนี้ ร้อยละ 79.84 ระบุว่าตอนนี้อยากเลือกตั้งแล้ว เพราะอยากให้ประเทศชาติพัฒนาเศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น อยากให้ประชาคมโลกยอมรับประเทศไทย อยากให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยยึดอำนาจมานานแล้ว, ร้อยละ 19.60 ระบุว่าไม่อยากเลือกตั้ง เพราะตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ 
    นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรุงเทพโพลล์ ที่ระบุรัฐบาลได้คะแนนเพิ่มขึ้นทุกด้าน แต่ พล.อ.ประยุทธ์มีคะแนนลดลงเกือบทุกด้านว่า เมื่อรัฐบาลมีคะแนนเพิ่ม แล้วเหตุใดตัวของผู้นำรัฐบาลจึงมีคะแนนนิยมลดลง สิ่งนี้ย่อมแสดงออกถึงนัยสำคัญของผู้คนในสังคมว่าความนิยมต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์เริ่มลดลงตามลำดับ แม้ประชาชนที่ถูกสำรวจจะมองว่ารัฐบาลมีผลงานก็ตาม แต่ที่ดีกว่าผลสำรวจหรือโพลก็คือ ขอเสนอแนะให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปเดินจ่ายตลาดกับ รศ.นภาพร  จันทร์โอชา สองต่อสองจะรู้ว่าความจริงกับในโพลมันแตกต่างกันลิบลับกับความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในขณะนี้ จึงขอให้นายกฯได้โปรดพิจารณาความรู้สึกนึกคิดของประชาชนว่าเขาอึดอัดมาก อยู่อย่างสิ้นหวัง ผลโพลแค่ภาพลวงตาเหมือนปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำมาเท่านั้น ถึงวันนี้ต้องยอมรับความจริงว่าคณะรัฐประหารและรัฐบาลของท่านประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการปฏิรูปประเทศและการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"