ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผชิญกันอยู่ทุกวันนี้มีหลายด้าน นับตั้งแต่ต้นปี เราประสบกับปัญหาฝุ่นมลพิษมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย ในเอเชีย ทั้งจีน เกาหลีใต้ ก็ประสบปัญหาฝุ่นเช่นเดียวกัน ขณะที่ตอนนี้ไทยก็กำลังประสบปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน น้ำในท้องไร่ท้องนาเหือดแห้งไปส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรอย่างมาก อีกปัญหาที่มักจะถูกพูดถึงบ่อยครั้งก็คือเรื่องของขยะ ซึ่งแม้จะมีการจัดการมานานแต่ก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่จบไม่สิ้น ไม่ใช่แค่นี้ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมยังมีอีกมากที่ยากจะจัดการได้หมดสิ้นภายในเวลาเพียงแค่วันสองวัน
ล่าสุด สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้จัดการประชุมสัมมนาติดตามประเมินผลแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2560-2564 (ระยะครึ่งแผน) เพื่อนำเสนอ (ร่าง) รายงานผลการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนจัดการฯ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมประชุมมากกว่า 200 คน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนการทำงานของแต่ละหน่วยงาน
นายพุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์ รองเลขาธิการ สผ.
นายพุฒิพงศ์ สุรพฤกษ์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นแผนปฏิบัติการระยะยะกลาง 5 ปี ดำเนินการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เพื่อเป็นกรอบชี้นำให้ภาคีพัฒนามีทิศทาง และเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ
ด้านดร.รัตมณี อ๋องสกุล ผู้จัดการโครงการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนจัดการ ว่า ผลการติดตามแนวทางการปฏิบัติจากหน่วยงานที่ส่งข้อมูลแบบรายงานจำนวน 168 หน่วยงานเข้ามา พบว่า แผนงานที่มีจำนวนภาคีร่วมดำเนินงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน การจัดการน้ำเสีย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในภาพรวมพบว่ามีการรายงานการดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติของแผนจัดการคิดเป็นร้อยละ 79 ของแนวทางการปฏิบัติทั้งหมด และในด้านผลการประเมินผลดำเนินงานตามตัวชี้วัดของแผนซึ่งมี 31 ตัวชี้วัดพบว่า มี 24 ตัวชี้วัด ที่มีแนวโน้มจะบรรลุก่อนกำหนดเวลา อาทิ พื้นที่ป่าไม้ การจัดการพื้นที่กัดเซาะชายฝั่ง และพื้นที่สีเขียวในเมือง ฯลฯโดยตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายแผนการจัดการ
ในส่วนของ พื้นที่ป่าไม้นั้น ระบุว่า พื้นที่ที่มีสภาพป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศแบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 ผลการติดตามจากข้อมูลของกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า พื้นที่ป่าไม้ปี 60-61 มีจำนวน 102.4 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ เป็นป่าอนุรักษ์ร้อยละ 20.90 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 10.78 เมื่อเปรียบเทียบผลจากค่าเป้าหมาย พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น 3.3 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 79.2 จากเป้าหมาย ส่วนพื้นที่สีเขียวในเมือง จากตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายว่าจำนวนพื้นที่สีเขียวในเมืองต้องไม่น้อยกว่า 10 ตรม.ต่อคน ผลการติดตามจากฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมเมืองและพื้นที่สีเขียวชุมชนปี 2562 ระบุว่า ค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อประชากรของเทศบาลนครอยู่ที่ 38.75 ตรม.ต่อคน และค่าเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรของเทศบาลเมืองอยู่ที่ 793.14 ตรม.ต่อคน ซึ่งเกินกว่าค่าเป้าหมายมาก ยกเว้นกทม.ที่มี 6.79 ตรม.ต่อคน เนื่องจากความแออัดของพื้นที่ และการเจริญเติบโตของเมือง เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านี้ ผู้จัดการโครงการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวอีกว่า ยังมีอีก 9 ตัวชี้วัดที่มีแนวโน้มจะบรรลุได้ตามกำหนดเวลา อาทิ ด้านการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งจะต้องจัดการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 แต่จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ระบุผลการติดตามปี 60 มีการจัดการถูกต้องไปแล้ว 11.69 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 54 จากค่าเป้าหมาย
ต่อมาคือคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน ในแผนคือต้องอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 80 ผลการติดตามปี 62 ในรอบ 6 เดือน มีแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ร้อยละ 49 เกณฑ์พอใช้ ร้อยละ 39 และเกณฑ์เสื่อมโทรมร้อยละ 12 คิดเป็นร้อยละ 61.25 จากค่าเป้าหมาย ฯลฯ
และยังมีอีก 5 ตัวชี้วัดที่ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นในระยะ ถึงสิ้นสุดแผนเพื่อให้บรรลุผล อาทิ ด้านคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียอันตราย การจัดสรรที่ดินทำกินของชุมชน สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การบริโภคพื้นฐานต่อการใช้ทรัพยากร เป็นต้น
สุดท้ายมี อีก4 ตัวชี้วัดที่พบว่าข้อมูลไม่เพียงพอในการประเมินผลเช่นเรื่องตัวชี้วัดปะการัง แม้ว่าปะการังจะมีสภาพสมบูรณ์เพิ่มขึ้นจากปีฐาน แต่ยังไม่สามารถวิเคราะห์ปะการังที่มีชีวิตได้ รวมถึงอัตราการสูญเสียชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีกระดูกสันหลังที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในประเทศไทยลดลงจากปีฐานแต่ยังไม่สามารถวิเคราะห์อัตราการสูญเสียได้ ฯลฯ จึงอยากเสนอให้มีการทบทวนตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบพร้อมทั้งสนับสนุนกลไกการดำเนินงานของภาคีภาคส่วนต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนแผนจัดการสู่การปฏิบัติต่อไป
นอกจากนี้ภายในการประชุม นางสาวพรพิมล พันธ์เมธาฤทธิ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมมลพิษ ก็ได้กล่าวในหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่อง คุณภาพน้ำ จากที่กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำมา ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีถึงพอใช้ และจากการที่เดินหน้ายกระดับคุณภาพน้ำ 59 แหล่งน้ำผิวดิน ให้มีคุณภาพน้ำเป็นไปตามประเภทการใช้ประโยชน์ กำหนดภายในปี 70 ปัจจุบัน กำลังพบว่าประเภทแหล่งน้ำที่อนุรักษ์สัตว์น้ำและประมงตั้งไว้ 20 แหล่ง ปรากฎว่าตอนนี้ไม่เป็นตามเกณฑ์มาตรฐานทั้งหมด ส่วนประเภทแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรก็ 35 แหล่ง ไม่เป็นตามมาตรฐาน 28 แหล่ง และประเภทการอุตสาหกรรม 4 แหล่งก็ไม่พบตามมาตรฐาน รวมแล้วร้อยละ 88 ก็คือประเทศไทยยังมีแหล่งน้ำที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศไว้ ก็เป็นตัวชี้วัดการทำงานที่จะต้องเข้มข้นมากกว่านี้ ส่วนต่อมาที่อยากจะพูดถึงคือเรื่องคุณภาพอากาศ ปี 61 ตัวที่เป็นปัญหาคือฝุ่น PM10 PM2.5 แล้วก็ก๊าซโอโซนรอบตัว ภาพรวมคือฝุ่นมีแนวโน้มทรงตัว ซึ่งหมายถึงปัญหายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะ PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่วิกฤติในกรุงเทพฯปริมณฑล
นางสาวพรพิมล กล่าวเพิ่มอีกว่า ในเรื่องการจัดการขยะ กรณีขยะมูลฝอยในชุมชน ประมาณ 28 ล้านตัน จัดการได้อย่างถูกต้องประมาณ 21 ล้านตัน คิดเป็น 74% ซึ่งตัวเลขนี้อาจดูเหมือนลดลงมาก แต่จริงๆ ขยะก็ไม่เคยลด เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การพัฒนาเมือง และพฤติกรรมของคน ตอนนี้ปริมาณขยะต่อคนเพิ่มขึ้นจาก 1.13 เป็น 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ส่วนในสถานการณ์ขยะของเสียอันตราย การเก็บข้อมูลค่อนข้างจะยาก เพราะข้อมูลที่ได้ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แน่ชัด มีหลายแสนตัน ซึ่งรวมแล้วจัดการได้เพียงร้อยละ 13 ถือว่ายังน้อยอยู่ คิดว่าเป็นประเด็นที่จะต้องพูดถึงกันให้มากกว่านี้
“เรื่อง พรบ.WEEE เกี่ยวกับขยะของเสียอันตราย หลายคนมักจะถามว่าไปถึงไหนแล้ว ทางกรมเสนอเรื่องผ่านไปถึงขั้นวาระสนช.แล้ว แต่ว่ามีการพิจารณากลับไปกลับมา วาระตกค้าง จนหมดอายุความ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ตัวพรบ.นี้จะควบคุมไปถึงผู้ผลิตไปจนถึงการกำจัด ก็คิดว่าจะต้องมีการนำมาแก้ไขปรับให้เหมาะสม เพราะที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ มีข้อคิดที่เกรงว่าจะเป็นปัญหา” นางสาวพรพิมล กล่าว
อย่างไรก็ตามทางด้านรองเลขาธิการสผ. ได้กล่าวทิ้งท้ายในงานสัมมนาว่า มีหลายประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ต้องร่วมมือกัน เพราะทุกอย่างจะขับเคลื่อนได้ อยู่ที่เราทุกคนที่จะเป็นพลังสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องที่พูดถึงกันบ่อยในประเด็นขยะพลาสติกอย่างหลัก 3R ความจริงหลักนี้ถ้านำมาใช้จะไม่พอต่อบริบทชีวิตประจำวันเรา ต้องเป็น 7R ซึ่งรวมไปถึงการปฏิเสธการใช้ การรีเทิร์น นำกลับมาใช้อีก การรีฟิลล์แบบเติม หรือการนำกลับมาซ่อมใช้ใหม่ ส่วนเรื่องของพรบ.weee ที่ไม่ผ่านคือกฏหมายบังคับที่จะมีเพื่อปรับและลงโทษ ซึ่งไม่ผ่านแต่เรามองทั้งอนาคตและอดีต มันมีผลช่วยเยอะแต่ก็กังวลว่าจะเป็นปัญหา แต่ก็พยายามขับเคลื่อนต่อไปโดยการแก้ไขให้เหมาะสม สุดท้ายแล้วก็มีความหวังเล็กๆ ว่าเด็กรุ่นใหม่จะมีความเข้าใจ และรักในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ฉะนั้นเราต้องร่วมมือกันดำเนินต่อไป