ธนาธรจุดพลุชำเรารธน. พ่วงซัด'องค์กรตุลาการ'


เพิ่มเพื่อน    


    อนาคตใหม่เริ่มแล้ว เดินหน้าจุดกระแสรื้อ-แก้รัฐธรรมนูญ ยึดเชียงใหม่เป็นจุดเปิดแคมเปญรณรงค์ "ธนาธร" ลั่นตามรอยโมเดลธงเขียวปี 2540 โวประชาชนตื่นตัวเอาด้วย ตอกอีกประชาชนกังขา ความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ขององค์กรตุลาการ 
    ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กลุ่ม 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศไว้ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่พุทธสถานเชียงใหม่ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่  มีการจัดงาน "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหน ที่เราอยากอยู่ร่วมกัน" โดยมีนายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนา     ทั้งนี้ การจัดเสวนาดังกล่าวเป็นไปตามแคมเปญรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
    นายกษิตกล่าวว่า ปัญหาของการเมืองไทยตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2475 ที่ต้องการเป็นสังคมประชาธิไตย แบบเสรีนิยมคือ ทัศนคติและค่านิยมของสังคมไทย ในเรื่องอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งคนไทยมีสถานะเป็นราษฎร เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา จึงมีความเกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจ วาสนา บารมี และเงินทอง ทำให้มีระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองเป็นลักษณะส่วนตัว ความเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย จึงถูกทำให้อ่อนลงไป เพราะเราสามารถเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่สังคมประชาธิปไตยต้องใช้กฎหมายเป็นตัวตั้ง แต่ก็ไปต่อไม่ได้เพราะถูกทำลายโดยค่านิยมแบบดั้งเดิม ประเด็นถัดมาคือ ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันหลักสี่ประการ ได้แก่ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และหลักนิติธรรมนิติรัฐ ว่าประชาชนชาวไทยมีความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของสังคมไทย ในเมื่อไม่มีใครกล้าจะพูดความจริงแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรี
    “ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะกรณีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองโดยที่ไม่ต้องเป็น ส.ส. เช่นเดียวกับการให้ผู้นำเหล่าทัพมีตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่ให้ข้าราชการประจำมีตำแหน่งในสภา” นายกษิตระบุ 
    เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่ประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นระบุเหมือนกันในรัฐธรรมนูญ คือ 1.ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตย เป็นอื่นไม่ได้ 2.ฉีกรัฐธรรมนูญไม่ได้ 3.เน้นที่สิทธิและความรับผิดชอบของทุกชนชั้น 4.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐอย่างโปร่งใส 5.เป็นรัฐเดียวโดยแบ่งแยกไม่ได้ หรืออย่างในสวิตเซอร์แลนด์ จะมีการทำประชามติปีละ 3-4 ครั้งในประเด็นใหญ่ๆ โดยรัฐบาลจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบก่อน 3 เดือน พร้อมทั้งมีการนำเสนออย่างกว้างขวาง และมีการดีเบตออกสื่อ ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ช่วยประกอบการตัดสินใจของประชาชน
    “ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรา ต้องมีประเด็นเหล่านี้ใส่ไปให้ครบ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ใช่คู่มือในการบริหารราชการ อย่างรัฐธรรมนูญปี 60 นั้น เป็นคู่มือการบริหารราชการ ทำเหมือนว่าคนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องปัญญาทึบอย่างยิ่ง ถึงมีการกำหนดว่าจะต้องทำอะไรต่อไปในอนาคต แต่ต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน การจะดึงดันไม่ว่าจะใช้รถถังหรือเสียงข้างมากในรัฐสภานั้น ก็เป็นเผด็จการพอๆ กัน” นายกษิตระบุ
    นายกษิตกล่าวด้วยว่า ตอนที่เลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ได้มาจากการเลือกโดยสมาชิกพรรคทั่วประเทศ แต่เป็นการเลือกจากอดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรีภายในพรรครวมๆ กันประมาณกว่า 300 คน ซึ่งยิ่งใครมีอำนาจและเงินทองมาก ก็จะมีสิทธิ์มีเสียงมากหน่อย ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็ไม่ใช่วิธีการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งหัวใจสำคัญอีกข้อหนึ่งคือการทำให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงด้วยเช่นกัน
    ด้านนายสมชัย อดีต กกต.และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์สอบตก กล่าวว่า ความขัดแย้งในประเทศไทยเกิดมาจากประการแรกคือ นักการเมืองชี้นำประชาชน ประการต่อมาคือชนชั้นนำในสังคม ใช้ข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่นำไปสู่ความขัดแย้ง จนทำให้ประชาชนเข้าสู่ความขัดแย้งด้วย ขณะที่ประชาชนเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องรู้ทันการเมืองด้วย นักการเมืองต้องรับฟังความเห็นจากฝ่ายตรงข้าม 
    "เมื่อมีการพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่เห็นตรงข้ามก็จะบอกว่าต้องแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่บอกเลยว่าหากจะแก้ปัญหาปากท้อง ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน เพื่อให้ระบบการเมืองอยู่บนฐานประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในอำนาจต่อไป ทั้งที่อยู่มาแล้ว 5 ปี" นายสมชัยระบุ
    ด้านนายโคทมกล่าวว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีความงดงาม ตั้งแต่การเริ่มต้น ตอนกลาง และตอนปลายในช่วงเริ่มนั้นขอให้เป็นไปอย่างช้าๆ ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องมีการหารือร่วมกัน ไม่ใช่การลากจูงไปในทางหนึ่งทางใด    
    วันเดียวกันนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บรรยายเรื่อง “การแสวงหาฉันทามติใหม่ ของสังคมการเมืองไทย” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวการรณรงค์ครั้งนี้ โดยหวังว่าการรณรงค์ครั้งนี้จะกระจายไปทุกจังหวัดและนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในท้ายที่สุด  รธน.2560 นั้น สร้างมาด้วยความกลัว ความอยาก ความเขลาของคนเพียงไม่กี่คนในสังคม แน่นอนว่าข้อตกลงแบบนี้ย่อมไม่ยั่งยืน 
    หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่คิดว่าหากเราอยากได้ข้อตกลงใหม่ร่วมกัน ข้อตกลงนั้นต้องประกอบด้วย 1.ต้องไม่ลอกเลียนแบบใคร เพราะประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ และบริบทสังคมต่างจากประเทศอื่นๆ ดังนั้นจะนำเอารัฐธรรมนูญจากประเทศอื่นมาประยุกต์ใช้ทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ 2.เกิดจากความต้องการของใครบางคนไม่ได้ แต่ต้องเกิดจากความต้องการของคนส่วนใหญ่ในสังคม 3.ประชาชนทุกคน ทุกชนชั้น จะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างข้อตกลงใหม่นี้ร่วมกัน และ 4.ข้อตกลงใหม่นี้ต้องตั้งอยู่บนบทเรียนและประสบการณ์ของสังคมไทยที่ผ่านมา
    "นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราต้องแสวงหาฉันทามติร่วมกัน ที่ผ่านมาเราเคยทำมาแล้ว และทำสำเร็จ นั่นคือ รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งในขณะนั้นนักการเมืองหลายฝ่าย ข้าราชการ กลไกรัฐหัวเก่า เช่นเดียวกับองค์กรตุลาการ ไม่ได้ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่ท้ายที่สุดรัฐสภาสมัยนั้นก็ยกมือผ่าน เพราะทัดทานกระแสความต้องการของประชาชนไม่ไหว มติของประชาชนมีพลังมากกว่าที่พวกเขาจะทัดทานได้ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หากเราทำร่วมกันอีกครั้งนั้นไม่ไกลกว่าที่เราฝันไว้" นายธนาธรกล่าว 
    หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ระบุตอนหนึ่งว่า
ขณะที่ประชาชนหลายฝ่ายตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ขององค์กรตุลาการ ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างถดถอย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน งบประมาณของประเทศไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้ถูกนำไปลงทุนเพื่อสร้างการแข่งขัน แต่กลับถูกใช้ไปเพื่อซื้อคะแนนนิยม  
    "เราเชื่อว่าเป็นระเบิดเวลา ที่รอเวลาปะทุให้เกิดความรุนแรง พวกเราต้องหยุดระเบิดเวลาอันนี้ก่อนที่มันจะระเบิดขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบันนี้ทำให้องค์กรที่มาจากการรัฐประหารเป็นองค์กรที่มั่นคงถาวร เอารัฐประหารไปใส่ในรัฐธรรมนูญ กลายเป็นกฎหมายที่สูงที่สุดในประเทศ ทำให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อยู่เหนืออำนาจของพี่น้องประชาชน ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกฝักฝ่าย แม้จะเห็นต่างกัน ต้องเดินร่วมกัน สำหรับพวกเรา เราเชื่อว่านี่จะเป็นการแสวงหาฉันทามติครั้งใหม่ของสังคมไทย ไม่ได้เสนอให้เราลืมบาดแผลหรือความอยุติธรรมที่ผ่านมา หรือเสนอให้คิดเหมือนกัน ผมเชื่อว่าระบอบการเมืองที่ดีคือ ระบอบที่ทำให้คนที่มีความเห็นต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
    หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ย้ำว่า ฉันทามติใหม่ที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ ประกอบด้วย 1.ประชาธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดของประชาชน 2.มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระราชฐานะอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง 3.มีรัฐสภาที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง 4.มีนิติรัฐ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครอง มีระบบตรวจสอบการใช้อำนาจ
    นายธนาธรกล่าวให้สัมภาษณ์ถึงการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การรณรงค์จะทำให้ประชาชนคนไทยเห็นถึงความสำคัญของการออกแบบสังคมที่เราอยากอยู่ร่วมกัน ซึ่งเราเคยทำได้มาแล้ว เมื่อปี 2540 ในรูปแบบของรัฐธรรมนูญธงเขียว เชื่อว่าถ้าทุกคนมาร่วมกัน จะสามารถทำได้อีกครั้ง นี้คือสิ่งที่เราตั้งใจ โดยในการรณรงค์ครั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่เสนอสัญลักษณ์ รูปมือของประชาชนที่จับกันเพื่อหาฉันทามติร่วม จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกันคงไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมรับ คิดว่าประชาชนมีความตื่นตัวมาก ประชาชนจำนวนมากเห็นถึงปัญหาว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ประชาธิปไตยถดถอยลง และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข 
    เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าการรณรงค์ในครั้งนี้ จะถูกมองว่าเป็นการสร้างความขัดแย้ง นายธนาธรกล่าวว่า เราไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้ง เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น ดังนั้น เราจะรณรงค์อย่างสันติสร้างสรรค์และสนุกสนาน ทำให้การเมืองกับประชาชนใกล้ชิดกัน คนไทยเคยทำได้มาแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำไม่ได้ในครั้งนี้ และเราจะทำต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"