ระเบิดหลายๆ จุดในกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและคู่เจรจาอีก 17 ประเทศที่เรียกว่า Asean Regional Forum (ARF)
ไม่ว่าผู้ก่อเหตุและคนวางแผนจะตั้งใจให้เกิดภาพการทำลายความน่าเชื่อถือ (discredit) รัฐบาลหรือไม่ก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยแล้ว
ยิ่งหากใครย้อนหลังไปถึงภาพของการก่อเหตุร้ายเมื่อ 10 ปีก่อนตอนที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา ก็จะยิ่งตอกย้ำภาพทางลบที่มีผลกระทบต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ครั้งนั้นกลุ่มผู้ประท้วงบุกเข้าไปถึงห้องประชุมในโรงแรมห้าดาว ทำเอาผู้นำประเทศหนีกันจ้าละหวั่น ถึงขั้นที่นายกฯ เวิน เจียเป่าของจีนในตอนนั้นต้องถูกพานั่งเฮลิคอปเตอร์หลบหนีออกจากที่ประชุมกลับกรุงเทพฯ
แน่นอนว่าภาพเลวร้ายเช่นนั้นยังตราตรึงถึงวันนี้
ยิ่งเมื่อวันศุกร์เกิดเรื่องร้ายขึ้นอีก แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับเมื่อสิบปีก่อน แต่ก็เป็นเรื่องราวที่คงมีการกล่าวขวัญกันไปอีกนาน
รัฐมนตรีต่างประเทศส่วนใหญ่ที่มาร่วมประชุมมีคณะนักข่าวติดตามมาด้วย ดังนั้นในรายงานข่าวที่ส่งกลับบ้านก็ต้องกล่าวถึงระเบิดตูมตามที่กรุงเทพฯ ด้วยอย่างช่วยไม่ได้
ข่าวร้ายอย่างนี้เป็นพาดหัวใหญ่กว่าผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแน่นอน
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาคงต้องประเมินสถานการณ์ เพื่อหาบทเรียนมาป้องกันเหตุการณ์ทำนองนี้อีกในวันข้างหน้า
งานใหญ่กว่านี้กำลังจะเกิดขึ้นอีกในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะเป็นการประชุมสุดยอดระดับผู้นำรัฐบาลของอาเซียนบวกกับคู่เจรจาอีกด้วย
การประชุมคราวนี้เราเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมก์ ปอมเปโอ, รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวาง อี้, รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟลอฟ และรัฐมนตรีต่างประเทศจากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่การประชุมสุดยอดผู้นำปลายปีนี้เราจะเห็นผู้นำสหรัฐฯ (อาจเป็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือรองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์), ผู้นำจีน (อาจเป็นประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หรือนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง) และนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดีอีกกว่าสิบประเทศที่จะมารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะเป็นงานยักษ์ และหากใครคิดร้ายทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและประเทศไทยก็คงจะฉวยโอกาสนี้ก่อเรื่องก่อราวได้อีก
การปรับปรุงระบบข่าวกรอง
การยกมาตรฐานความเข้มข้นของมาตรการรักษาความปลอดภัย
การยกคุณภาพของการบริหารการสื่อสารในยามวิกฤติ
และการสร้างเครือข่ายประชาชนที่จะให้ความร่วมมือในการป้องกันเหตุร้ายจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
ไม่เพียงแต่สำหรับการประชุมนานาชาติในประเทศเท่านั้น แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้นคือ การทำให้คนไทยมีความมั่นใจในความสามารถของรัฐบาลในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
นายกฯ ประยุทธ์ตั้งข้อสังเกตว่า ห้าปีภายใต้การบริหารของท่านในฐานะเป็นหัวหน้า คสช.ไม่เห็นมีเหตุการณ์ทำนองนี้ แต่พอมีรัฐบาลใหม่ก็เกิดเหตุเกือบจะทันที
คำตอบคงไม่ใช่ว่าหากไม่มี ม.44 หรืออำนาจเบ็ดเสร็จแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะรักษาความสงบไม่ได้
คำตอบที่ถูกต้องควรจะเป็นว่า ความสงบที่แท้จริงและยั่งยืนจะต้องมาจากระบอบประชาธิปไตยที่มีวินัยและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยไม่ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
ความเงียบงันที่เกิดจากการใช้อำนาจเด็ดขาดย่อมไม่ใช่ความสงบที่แท้จริงและยั่งยืน หากแต่เป็นเพียงเพราะการหยุดการกระทำชั่วคราว เพราะแรงกดดันซึ่งวันใดวันหนึ่งก็จะระเบิดออกมาเมื่อผู้ถูกข่มเหงรังแกไม่สามารถจะอดรนทนต่อไปได้
จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จะต้องพิสูจน์ว่าสามารถรักษาความสงบและปกติสุขของประชาชนได้ ด้วยการเปิดกว้างให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการการเมือง
เป็นการพิสูจน์ว่าประชาชนจะมีความรู้สึกพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกันป้องกันเหตุร้าย เพราะมีความศรัทธาในการทำงานของรัฐบาล
แต่หากกลไกของรัฐส่วนใดส่วนหนึ่งบูดเบี้ยว สร้างความไม่เป็นธรรมให้ประชาชน ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้ง เหตุความรุนแรงก็จะปรากฏให้เห็นไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่งแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |