การทำสงครามข่าวแบบองค์รวม (Holistic Information Warfare)


เพิ่มเพื่อน    

 ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องตระหนักว่า เรากำลังเผชิญกับสงครามข่าวสารแย่งชิงมวลชน ก่อนที่อีกฝ่ายหนึ่งจะครอบงำประชาชนบางกลุ่มที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ต้องออกมาให้พ้นกับดักปรองดองที่หลีกเลี่ยงการพูดจาขัดแย้งกับอีกฝ่ายหนึ่ง ที่พยายามสร้างวาทกรรมครอบงำความคิดของประชาชนให้ชังชาติ ชังสถาบัน ชังกองทัพ ชังขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของประเทศ ต้องหลุดออกมาจากกับดักความเป็นกลาง อย่ามัวแต่คิดว่าการออกมาทำสงครามข่าวสารกับคนที่เขาตั้งหน้าตั้งตาทำสงครามข่าวสารอยู่ตอนนี้ จะทำให้หน่วยงานภาครัฐสูญเสียความเป็นกลาง ด้วยการพูดจาขัดแย้งกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แม้ว่าพวกเขาจะเป็นพรรคการเมืองก็จริง แต่ความคิดของพวกเขาเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในหลากหลายมิติ ดังนั้นการพูดจาขัดแย้งกับเขาจึงไม่ใช่ความไม่เป็นกลาง แต่เป็นการปกป้องความมั่นคงของชาติที่กำลังถูกสั่นคลอนด้วยข่าวสารที่พวกเขาเผยแพร่ออกมา

ในการทำสงครามข่าวสาร หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการด้วยยุทธศาสตร์บูรณาการแบบองค์รวม ต้องบูรณาการวิธีการในการสื่อสาร (Contact point integration) ที่จะนำข่าวสารไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ต้องบูรณาการยุทธศาสตร์ (Strategy integration) ต้องบูรณาการยุทธวิธี (Tacic integration) ต้องบูรณาการบทบาทและหน้าที่ (Function integration) ของแต่ละหน่วยงานให้เป็นการผนึกกำลังกัน ต้องบูรณาการเนื้อหา (Message integration) และต้องบูรณาการช่องทางการสื่อสาร (Channel integration) บูรณาการวิธีการในการสื่อสาร คือ ใช้ทั้งการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมพิเศษ การอภิปราย การสัมมนา การประชุม การจัดนิทรรศการ การจัดงานมหกรรม การเดินสายชี้แจง การให้สัมภาษณ์ การเขียนบทความ การจัดทำสารคดี การสื่อสารผ่านพื้นที่ดิจิทัล การสนทนาปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ การใช้วิดีโอออนไลน์ การทำ Live streaming เป็นต้น วิธีการต่างๆ เหล่านี้รองรับเนื้อหาต่างกัน ใช้ลีลาอารมณ์ในการสื่อสารต่างกัน มีเป้าหมายในการสื่อสารต่างกัน ดังนั้นผู้ทำหน้าที่ในการวางยุทธศาสตร์ต้องเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับเนื้อหา ด้วยลีลาอารมณ์ในการสื่อสารที่เหมาะสม ตามเป้าหมายการสื่อสารที่ต้องการ

บูรณาการยุทธศาสตร์ คือ ต้องใช้ทั้ง 4 ได้แก่ (1) Push strategy เพื่อกระตุ้นความร่วมมือระหว่างองค์กรที่ต้องทำงานร่วมกัน (2) Pull strategy เพื่อดึงมวลชนให้เป็นแนวร่วมด้วยความชื่นชมการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ (3) Profile strategy เพื่อสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้หน่วยงานต่างๆ และ (4) Pass strategy เพื่อให้โครงการ นโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบที่จะนำมาใช้เป็นที่ยอมรับของมวลชน สามารถผ่านออกมาใช้ได้โดยไม่ถูกต่อต้าน

 

บูรณาการยุทธวิธีด้วยการใช้ทั้ง 4 ยุทธวิธี คือ (1) ยุทธวิธีเชิงรุก (Pro-active tactics) คือ การอธิบายสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐให้มวลชนเข้าใจก่อนดำเนินการ ป้องกันการเข้าใจผิด การถูกต่อต้าน หรือการถูกกล่าวหาอย่างบิดเบือนของฝ่ายตรงกันข้าม (2) ยุทธวิธีเชิงรับ (Re-active tactics) คือ การตอบโต้ข้อกล่าวหาที่สร้างความเข้าใจผิดหรือสร้างความเกลียดชังหน่วยงานต่างๆ จากฝ่ายตรงกันข้ามที่จะต้องทำอย่างรวดเร็วแบบ Real time ก่อนที่จะถูกทำให้เกิดการแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) มีดำริที่จะจัดตั้ง Fake News Center เพื่อตอบโต้ข่าวลวง ข่าวปลอมทั้งหลายที่จะช่วยให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ (3) ยุทธวิธีเชิงเร่ง (Offensive strategy) คือ เร่งรัดนำเอาผลงานมานำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบและเกิดความชื่นชมผลงานของหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ สร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้หน่วยงาน และ (4) ยุทธวิธีเชิงเล่า (Defensive strategy) คือ การเล่าการทำงานของหน่วยงานให้ประชาชนเห็นว่ามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำงานตามหลักธรรมาภิบาล มีจริยธรรม มีความชอบธรรม มุ่งมั่นพัฒนาประเทศตามบทบาทและหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ ยุทธวิธีที่ 4 นี้ทำตามหลักการที่ว่าการประชาสัมพันธ์โดยธรรมชาติแล้วมีคุณสมบัติในการปกป้อง (Defensive in nature) เป็นเสมือนการสร้างเสื้อเกราะเข้าสู่สนามรบ ย่อมป้องกันคมหอกคมดาบของศัตรูได้ หน่วยงานที่หมั่นเล่าการทำงานตามหน้าที่อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล ย่อมสามารถป้องกันหน่วยงานจากการกล่าวหาว่าร้ายของฝ่ายตรงกันข้ามได้

บูรณาการบทบาทหน้าที่ในการทำสงครามข่าวสาร จะต้องมีทั้งผลงานและการดำเนินงานที่เป็นเรื่องราวดีๆ ที่จะนำมาเล่า ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่ในการสร้างผลงานก็ต้องทำสิ่งดีมีคุณค่า คู่ควรสำหรับการนำมาเล่า ในขณะเดียวกันผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจจะต้องเห็นความสำคัญของการสื่อสาร เชื่อในพลังการสื่อสาร เพื่อจะได้มีการกำหนดนโยบายการสื่อสาร มีงบประมาณให้กับการทำงานด้านการสื่อสาร มีบทบาทในการมีส่วนร่วมในการรณรงค์สื่อสาร ฝ่ายที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารต้องวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการสื่อสารเต็มรูปแบบ มีแผนงานการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจ การยอมรับ และความชื่นชมหน่วยงานให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน พนักงานทุกคนต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับหน่วยงานแม้ว่าจะไม่ได้มีตำแหน่งเป็นพนักงานประชาสัมพันธ์ก็ตาม ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลช่องทางการสื่อสารก็ต้องให้ความร่วมมือในการทำให้ข่าวสารต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษากฎหมายก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงกันข้ามใช้ข่าวปลอม ข่าวลวง มาทำสงครามข่าวสารเพื่อครอบงำความคิดของประชาชน ที่สำคัญคนที่มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณก็ต้องเข้ามาร่วมบูรณาการด้วย เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอก็คงทำสงครามข่าวสารไม่ได้

ยังไม่อาจจะเล่าการบูรณาการในทุกด้านให้ครบถ้วน พื้นที่หมดเสียก่อน การบูรณาการในเรื่องอื่นๆ คงต้องเอามาคุยกันต่อในคราวหน้าก็แล้วกันนะคะ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"