ถือว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนในประเทศพอสมควร หลังคนร้ายลอบวางระเบิดหลายจุดกลางเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณสถานีบีทีเอสช่องนนทรี, ซอยพระรามเก้า 57/1, ป้ายสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ศรีสมาน ดอนเมือง และศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม
ตลอดจนการวางวัตถุต้องสงสัยบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก่อนที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อมอบนโยบาย 1 วัน
เป็นเสียงระเบิดแรก ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 หลังเพิ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้นเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน เพื่อเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ
เป็นระเบิดที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนในประเทศเป็นอย่างมากในรอบหลายปี ก่อนหน้านี้เหตุรุนแรงในเมืองหลวงลักษณะนี้ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่เหตุไปป์บอมบ์สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558, เหตุลอบวางระเบิดแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 จนมีผู้เสียชีวิตหลายราย
หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่มีความพยายามสร้างสถานการณ์ โดยลอบวางระเบิดหน้าสำนักงานกองสลากเก่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 และหน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560
เป็น ระเบิดลูกแรก ในเมืองกรุง นับตั้งแต่ไม่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44
และยังเป็น “ระเบิดลูกแรก” หลังจาก “บิ๊กตู่” รับหน้าที่กำกับดูแลความมั่นคงทั้งหมด ทั้งกองทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
ในขณะที่การควานหาตัวคนร้ายยังดำเนินอยู่ ในโลกโซเชียลมีเดียมีการตั้งข้อสงสัยกันนานานัปการ ไม่ว่าจะเป็นฝีมือฝ่ายตรงข้าม ผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการลงมือเอง
แต่ไม่ว่าสุดท้ายจะเป็นฝีมือใคร ที่แน่ๆ ระเบิดแบบดาวกระจายกลางเมืองหลวงครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชน และนักลงทุน
หากไม่สามารถจับกุมตัวคนร้าย และทราบถึงมูลเหตุ ความลังเลใจและไม่มั่นใจจะเกิดขึ้นต่อประชาชนและนักลงทุน เป็นเหตุให้เกิดการชะลอการลงทุนและการบริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ในขณะนี้มีปัญหาการชะลอตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
อยู่แค่ว่า มันจะเป็นเพียงระยะสั้น หรือระยะยาวเท่านั้น ซึ่งตัวกำหนดคือ การจับกุมตัวคนร้ายได้หรือไม่ ช้าหรือเร็ว และมูลเหตุของการลงมือ
คนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอีกคนคือ ตัวรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เอง
นั่นเป็นเพราะรัฐบาลเพิ่งจะเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการได้เพียงแค่สัปดาห์เดียวเท่านั้น ยังไม่ได้ขับเคลื่อนนโยบายใดๆ เลย แต่ต้องมาเจอกับอุปสรรคสำคัญอย่าง “ความเชื่อมั่น”
ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ สะดุด ไม่ราบรื่น ต้องเสียเวลาฟื้นฟูความเชื่อมั่นกันใหม่ แทนที่จะเดินหน้าไปได้ทันที หลังจากอั้นเอาไว้เพื่อรอรัฐบาลใหม่เข้ามา
หลายนโยบายถูกวางเอาไว้เพื่อจะปั๊มเป็นผลงานเร่งด่วน เพื่อลดแรงเสียดทานที่มีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องปากท้องที่รอวันแก้ไข
เป็นงานหนักของหน่วยความมั่นคง และทีมเศรษฐกิจชุดนี้ ที่มีอีกภารกิจแทรกเข้ามาแบบกะทันหัน นั่นคือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นแบบเร่งด่วน
ระเบิดลูกนี้ยังทำให้ “บิ๊กตู่” ในฐานะหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงคนปัจจุบันเสียรังวัด แม้จะมีบางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นฝีมือของฝ่ายตัวเองเพื่อเบี่ยงประเด็นที่รัฐกำลังถูกถาโถมอย่างหนัก
เพราะเรื่องความสงบเรียบร้อยถือเป็น “จุดแข็ง” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่สมัยยังเป็น คสช. ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
แม้แต่ในการหาเสียงเรื่องความสงบในบ้านเมือง ยังเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐนำไปหาเสียงในพื้นที่ ดังแคมเปญ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่”
จะเห็นว่า ทันทีที่เกิดเหตุระเบิดหลายจุดทั่วกรุง มีการล้อเลียนและแชร์คำปราศรัยของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐที่ระบุกลางเวทีหนองจอก กรุงเทพมหานครว่า เลือกเราไม่มีระเบิด
อย่างไรก็ตาม การดิสเครดิตโดยมุ่งว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจกระทำเองนั้น คุ้มหรือไม่ เมื่อมองจากผลเสียข้างต้นที่ดูจะมีมากกว่าประโยชน์ที่ได้
ประเด็นต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ได้หนักหนาสาหัสถึงขั้นจะต้องนำเรื่องระเบิดมาเพื่อ “เบี่ยงกระแส” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถวายสัตย์ฯ หรือเรื่องที่ฝ่ายค้านตั้งหน้าตั้งตาโจมตี
ขณะเดียวกัน ยังมีวิธีอื่นที่ใช้ได้ผลกว่าที่จะต้องลงทุนถึงขนาดลอบวางระเบิดหลายจุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมประเทศ และไม่สามารถกู้คืนได้ง่ายๆ
เพราะจุดแต่ละจุดที่คนร้ายลอบวางระเบิด เป็นพื้นที่สัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นบีทีเอสช่องนนทรี ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ หรือศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ที่มีหน่วยงานของรัฐอยู่มากมาย โดยเฉพาะกองบัญชาการกองทัพไทย
วิธีการและชนิดของระเบิด ไม่ได้มีอานุภาพถึงขนาดทำลายล้าง หรือก่อการร้าย แต่มันสะท้อนให้เห็นชัดว่า คนร้ายมุ่งสร้างสถานการณ์
หากชั่งตวงระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับ กับการเสียประโยชน์ ดูเหมือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับอย่างหลังมากกว่าอย่างแรก
อย่างไรก็ดี เหตุระเบิดครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า การบริหารประเทศในยุคที่ไม่มี คสช. และไม่มีมาตรา 44 นั้นไม่ง่ายตั้งแต่เริ่มต้น
เป็นการท้าทายอำนาจรัฐในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีความอ่อนตัวลงจากตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาหลายด้าน
ถือเป็นอีกปัญหาที่แทรกเข้ามา ในขณะที่ภาพรวมของประเทศเองก็ไม่สู้ดีนัก กำลังเผชิญอย่างหนักกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ตลอดจน “ภัยแล้ง” ที่กำลังคุกคามหลายพื้นที่ในประเทศ
เป็นอีกภารกิจที่ท้าทาย “บิ๊กตู่” อย่างมาก เพราะทุกเรื่องเกี่ยวกับตัวเองโดยไม่ตรง ไม่ใช่เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเดียว
แต่อีกบริบท “บิ๊กตู่” เป็น “รมว.กลาโหม” ที่กุมสภาพทั้งทหารและตำรวจแบบเบ็ดเสร็จ แทนที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ดูแลในรัฐบาลก่อน กับเป็น “ประธาน ครม.เศรษฐกิจ” ที่เป็นหัวหน้าทีมดูแลปากท้องด้วย
ในขณะที่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็ต้องหาทางทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
ครม.เศรษฐกิจนี้ แท้จริงแล้ว “บิ๊กตู่” ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ตรงนี้ก็ได้ หากแต่ปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสม ที่กระทรวงเศรษฐกิจกระจัดกระจายไปอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ดูเบ็ดเสร็จแบบแต่ก่อน
ครั้นจะแต่งตั้ง “สมคิด” เป็นหัวหน้าทีม ก็จะเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะมีรองนายกรัฐมนตรี จากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากันอยู่ จะให้มาอยู่ภายใต้กำกับของ “สมคิด” คงไม่มีใครยอม
ดังนั้น จึงต้องพึ่ง “บิ๊กตู่” เข้ามากระชับอำนาจ เพื่อถ่วงดุล โดยมี “สมคิด” เปลี่ยนบทบาทไปเป็น “พรายกระซิบ” แทน
ภาระบนตัก “บิ๊กตู่” ตอนนี้มันจึงหนักอึ้ง เรียกว่า รับทุกอย่างเอาไว้ ทั้งแทน “บิ๊กป้อม” และ “สมคิด”
แม้แต่เหตุระเบิดในครั้งนี้ที่เกิดขึ้น การจับกุมและการฟื้นความเชื่อมั่นก็เกี่ยวกับ “บิ๊กตู่” โดยตรง แค่เริ่มต้นยังเหนื่อยขนาดนี้!!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |