ยังบลัด ประชาธิปัตย์


เพิ่มเพื่อน    

ยังบลัด พรรคสีฟ้า มองโอกาส ปชป.คัมแบ็กการเมือง

                การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาที่ผ่านมาแล้วหลายนัดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีนักการเมืองหน้าใหม่ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านถูกจับตามองไม่น้อย กับบทบาททางการเมืองทั้งในห้องประชุมและนอกห้องประชุม ทำให้สังคมคาดหวังไม่น้อยกับนักการเมืองหน้าใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยต่อจากนี้

                พรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่มีนักการเมืองหน้าใหม่ ยังบลัด นิวเวฟ เข้ามาสู่ถนนการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง กับบทบาททั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร

ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ เลขานุการประธานรัฐสภา และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในนักการเมืองหน้าใหม่และยังบลัดของพรรคสีฟ้า ที่แม้จะเพิ่งเข้าพรรคประชาธิปัตย์มาได้ไม่ถึง 2 ปี และสมัครเป็นสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการไม่ถึง 1 ปี แต่ก็เป็นนักการเมืองที่หลายคนจับตามองไม่น้อย หลังได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรค ปชป.ให้เป็นกรรมการบริหารพรรคถึง 2 สมัยติดต่อกัน และเวลานี้ก็เป็นเลขานุการประธานรัฐสภา ที่เปรียบเสมือนหัวหน้าสำนักงานประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ขณะเดียวกันในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ดร.อิสระก็เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.อันดับต้นๆ จนอาจได้ลุ้นเข้าไปเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ปชป.ในอนาคต ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้แวดวงการเมืองพูดถึงและตั้งคำถามกันมากว่า ดร.อิสระเป็นใครมาจากไหน 

ดร.อิสระ-เลขานุการประธานรัฐสภา ที่มีดีกรีการศึกษา จบปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จาก Imperial College London สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของโลก ด้วยทุน Marie Courie Fellowship ของสหภาพยุโรป และก่อนหน้ามาทำงานการเมืองก็ทำธุรกิจประกอบธุรกิจด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัททั้งในภาคพื้นเอเชียและยุโรป โดยเขาพูดถึงการเข้าสู่ถนนการเมืองของตัวเองว่า เริ่มจากความสนใจทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า เพราะมีภาระหน้าที่ซึ่งต้องรับผิดชอบ กับการดำเนินธุรกิจของครอบครัว ที่เมื่อพิจารณาดูแล้วว่าความรู้ด้านวิศวกรรมจะทำให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของครอบครัว ที่ผมเห็นว่าเรื่องของครอบครัวเป็นสิ่งแรกที่เราต้องทำให้ดีก่อน จึงได้เลือกเรียนสาขาวิศวกรรมเคมี จนจบปริญญาตรี และตัวผมเป็นคนที่เมื่อทำอะไรแล้ว เมื่อมีโอกาสก็ต้องทำให้สุด เมื่อมีโอกาสเข้ามาก็สอบได้ทุนจนไปเรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ จาก Imperial College London

...ส่วนที่เข้ามาในแวดวงการเมือง เพราะเป็นคนที่ชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็ก โดยระหว่างที่เรียนอยู่ที่อังกฤษก็ได้ลงเรียนปริญญาโทรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งแม้จะอยู่อังกฤษแต่ก็สามารถไปขอสอบได้ที่สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยที่ผมศึกษาอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสถานทูตไทยคอยเป็นกรรมการคุมสอบ จนจบปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ ที่รามคำแหง ก่อนจบปริญญาเอก   

                ...ผมเริ่มชอบและสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก เพราะชอบดูการถ่ายทอดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร รู้สึกดูแล้วชอบบรรยากาศของการประชุมสภา เป็นเวทีซึ่งบุคคลที่เป็นผู้แทนของประชาชนได้มาแสดงออก ทำให้ประชาชนได้เห็นว่าบุคคลที่เขาเลือกมาได้เข้ามาทำหน้าที่ในสภาอย่างไรบ้าง 

เมื่อเริ่มเติบโตขึ้น จากชอบตอนเด็กก็เริ่มมีความคาดหวัง ก็เข้าสู่การเมือง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ได้พบเห็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ก็วนเวียนกลับมาเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง เป็นวงจรที่เริ่มจากการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และเมื่อคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในวงจรอำนาจก็ทำให้อำนาจอธิปไตยไม่เข้มแข็ง อำนาจอธิปไตยอ่อนแอ จนเกิดปรากฏการณ์เช่น ฝ่ายบริหารไปทำหน้าที่เป็นตุลาการเสียเอง อย่างเช่นกรณีเหตุการณ์รุนแรงที่สร้างความสูญเสียในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการที่ฝ่ายนิติบัญญัติพยายามจะมาเป็นตุลาการ โดยการดำเนินการผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติบางฉบับเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 เมื่อเกิดเหตุลักษณะดังกล่าว สิ่งที่ตามมาก็คือการแบ่งขั้ว เพราะคนที่ได้ประโยชน์ก็ต้องสนับสนุน แต่คนที่เสียประโยชน์ก็ต้องออกมาต่อต้าน เมื่อแบ่งขั้วกันชัดเจนแบบนี้ สิ่งสุดท้ายก็เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่าทางตัน จนสุดท้ายก็มีการใช้อำนาจพิเศษหรือรัฐประหาร ซึ่งพอรัฐประหารเข้ามาก็ไม่ได้แก้ไขปัญหา ไม่ได้มีการผลักดันให้มีการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม จากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้ง พอจัดเลือกตั้งก็เกิดการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ปัญหาเดิมๆ ก็กลับมาวนเวียนอีก

 ผมก็เลยรู้สึกและมองว่าการเมืองยังไม่ได้สิ้นหวัง ยังมีความหวังแต่มันริบหรี่มาก ทำให้ผมก็อยากเข้ามาในการเมืองเพื่อที่อยากจะเข้ามาทำความหวังที่ริบหรี่ให้มันเป็นความจริงก่อนที่ความหวังริบหรี่นั้นมันจะดับไป

สิ่งนี้คือความคิดของผมที่เข้ามาการเมืองเพื่อต้องการทำให้ความเชื่อของผมเกิดขึ้นได้จริง และจากการได้ติดตามการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เมื่อวันที่จะตัดสินใจเข้าสู่การเมืองก็ทำให้เลือกได้ง่ายขึ้นว่าควรจะไปอยู่ที่ไหน ซึ่งการที่มาเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เกิดจากการที่ได้หล่อหลอมมา โดยเห็นว่าแนวคิดและสิ่งที่ผมต้องการจะทำ หากไปอยู่ที่ไหนแล้วผมจะมีที่ยืนที่แน่นอน คำตอบแรกที่เข้ามาก็คือพรรคประชาธิปัตย์

ถามถึงมุมมองว่า อะไรคือจุดแข็งของพรรค ปชป.ที่ทำให้ต้องการเข้ามาทำงานการเมืองกับพรรค เป็นเพราะนโยบายพรรคหรือตัวบุคคลในพรรค เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ดร.อิสระ-รองเลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวว่า มาจากองค์ประกอบหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดและเชื่อก็คือ ผมได้เห็นว่า หากเราพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเรามีความเก่ง มีความสามารถ และเราเป็นคนดี หากเราแสดงบทบาทได้ชัด ผมก็เชื่อและเห็นว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ได้มีอะไรง่าย ที่วันนี้ผมมาอยู่ตรงนี้ในพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ง่าย แต่มันเป็นไปได้และเป็นสิ่งที่ผม อย่างน้อยก็บอกตัวเองได้ว่า สิ่งที่ผมเชื่อมันเป็นจริง

-ก่อนเดินเข้ามาที่พรรค ปชป. ได้มองพรรคการเมืองอื่นไว้บ้างหรือไม่?

ผมไม่ได้มีตัวเลือกอะไรเลย เพราะเมื่อผมตัดสินใจเข้ามาการเมือง ผมก็เข้ามาที่พรรคประชาธิปัตย์เลย ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดมาก่อน

 พรรคประชาธิปัตย์เป็นบ้านหลังแรก โดยเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2561 หลังจากกฎหมายเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคได้ แต่ว่าก่อนหน้านั้นก็ได้เข้ามาช่วยงานพรรคประชาธิปัตย์ได้สักพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะการมาช่วยงานท่านชวน หลีกภัย ในหลายมิติ เช่น งานด้านต่างประเทศ เป็นเวลาประมาณร่วม 2 ปี รวมถึงท่านชวนก็ได้มอบหมายให้ไปช่วยงาน คุณจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โดยทำงานคู่ขนานกันไป

-มีคนถามกันมากว่า ดร.อิสระเป็นใครมาจากไหน ทำไมเพิ่งเข้ามาพรรค ปชป.ได้ไม่นาน ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆ ได้เป็นรองเลขาธิการพรรค ปชป.?

ความแตกต่างระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคการเมืองอื่นก็คือ ไม่มีใครในพรรคคนเดียวที่สามารถตัดสินใจทุกสิ่งทุกอย่างได้ จนกระทั่งทุกคนพูดกันว่าการตัดสินใจทุกอย่างต้องนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมพรรค ต้องออกมาเป็นมติพรรค

เพราะฉะนั้นกับคำถามที่ถามมา ทุกอย่างเป็นมติพรรค ก่อนพรรคมีมติ คนที่สงสัยหรือมีข้อโต้แย้งได้เช่นเรื่องคุณสมบัติ ก็สามารถใช้สิทธิ์ตรงนั้นได้ แต่เมื่อไม่มีข้อโต้แย้ง ในหลักความเป็นจริงก็ตอบได้ว่า การเข้ามาสู่ตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ของผมคนเดียว แต่ไม่ว่าใครก็ตามก็จะดำเนินไปตามระบบพรรค พรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่มีใครในพรรคนั่งเงียบ ทุกคนพร้อมที่จะพูดในช่วงที่พรรคเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น แต่เมื่อพรรคมีมติใดๆ ออกมาแล้ว ส่วนใหญ่ก็เคารพมติพรรค ส่วนจะมีข้อคำถามเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะตัวผมเองก็คงไม่สามารถไปอธิบายกับทุกคนได้ และตัวผมเองก็คิดว่าทุกคนก็มั่นใจอยู่แล้วว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถ 

-มีเสียงสะท้อนและสงสัย เหตุใดชื่อ ดร.อิสระได้เป็นกรรมการบริหารพรรคถึง 2 รอบติดกัน ตั้งแต่สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค แล้วกลับมาอีกรอบสมัยนายจุรินทร์ คนก็ถามกันว่าชื่อนี้ทำไมเหนียว เข้ามาได้ทั้ง 2 ครั้ง?

ครั้งแรกที่ผมเข้ามาเป็นรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ว่าใครจะชี้ตัวให้ใครเข้ามาได้ และตอนที่ผมได้รับความเห็นชอบให้เป็นรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ชื่อของผมถูกเสนอโดยเลขาธิการพรรคเวลานั้น (จุติ ไกรฤกษ์)

ในครั้งนั้นต่างจากครั้งอื่นตรงที่มีการเสนอชื่อบุคคลให้เป็นรองเลขาธิการพรรคมากกว่าตำแหน่งที่มีอยู่ จึงทำให้ต้องมีการลงคะแนนเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรค เพื่อเอาคะแนนที่ผู้ลงคะแนนเลือกตามรายชื่อที่เสนอ ให้เข้าไปเป็นกรรมการบริหารพรรคตามตำแหน่งที่มีอยู่ ซึ่งผมก็ได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นรองเลขาธิการพรรคในลำดับที่ 3

และในรอบที่ 2 ก็เช่นกัน ก็มีการเสนอชื่อ โดยรอบดังกล่าวแม้จะมีการเสนอชื่อคนเป็นรองเลขาธิการพรรคให้พอดีกับตำแหน่งที่มีอยู่ แต่ก็ต้องมีการลงคะแนนรับรองจากที่ประชุมใหญ่ โดยหากบุคคลใดตามลิสต์รายชื่อที่สมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็สามารถที่จะลงมติไม่รับรองรายชื่อได้ ไม่มีอะไรตายตัวว่าเสนอชื่อมา 6 ชื่อแล้วที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ต้องลงมติรับรองหมดทั้ง 6 ชื่อ โดยหากมีข้อโต้แย้ง หรือเห็นว่าชื่อไหนไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมก็ลงมติไม่รับรอง โดยการลงคะแนนลับเพื่อโหวตรายชื่อถือว่าแฟร์มาก เพราะไม่มีใครรู้ว่าใครลงคะแนนให้ใครอย่างไร เป็นการลงคะแนนที่ไม่มีใครสั่งใครได้ เป็นการลงคะแนนตามดุลยพินิจของสมาชิกผู้เข้าประชุม

                ประเด็นที่สองคือ การเลือกและเห็นชอบรายชื่อกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการลงมติโดยที่ประชุมใหญ่พรรค ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครที่มีความสามารถพอที่จะไปบอกกับที่ประชุมใหญ่พรรค ที่มีผู้เข้าประชุม ซึ่งมีความหลากหลายมาก ซึ่งหากมีใครที่สามารถหรือกลุ่มบุคคลใดที่สามารถทำแบบนั้นได้ แบบนั้นก็ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์แล้ว เพราะประชาธิปัตย์ประกอบด้วยคนที่มีความหลากหลายและมีความรู้ความสามารถ จึงไม่มีใครไปสั่งใครได้ในพรรคประชาธิปัตย์

-คิดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้สมาชิกพรรค โหวตเตอร์ของพรรค ปชป.โหวตเลือกและเห็นชอบให้เป็นกรรมการบริหารพรรค รองเลขาธิการพรรค ในที่ประชุมใหญ่พรรค ปชป.ถึง 2 รอบติดต่อกัน?

หากตอบแบบกว้างๆ ผมคิดว่า ผมมีความเสมอต้นเสมอปลาย วันแรกที่ผมเข้ามายังพรรคประชาธิปัตย์แล้วผมเป็นอย่างไร ผมก็ยังทำแบบวันแรกจนถึงทุกวันนี้ให้สมาชิกพรรคได้เห็น ส่วนการที่แต่ละคนให้ความไว้วางใจเลือกผม จะด้วยสาเหตุใดผมก็ไม่ทราบได้ แต่ในรอบที่ 2 ผมได้รับการรับรองจากที่ประชุมใหญ่พรรคด้วยคะแนนลำดับที่ 2 จากตำแหน่งทั้งหมด ที่ก็น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าผมไม่ได้รับตำแหน่งมาเพราะบังเอิญ หรือว่ามีคำสั่งอะไรมา

-จากการที่มาจากภาคธุรกิจ เคยทำธุรกิจอุตสาหกรรมด้านรถยนต์ขนาดใหญ่มาก่อนแล้วเข้ามาสู่การเมือง กลัวคนก็จะมองว่าเป็นกลุ่มทุนของพรรคหรือไม่?

ไม่ว่าคุณจะมาจากภาคไหน ก็จะมีข้อติได้ทุกภาคส่วน อย่างที่ผมเคยเป็นนักธุรกิจ ทำธุรกิจ ผมก็ไม่ได้ปิดบังว่าผมเป็นนักธุรกิจ เพราะผมมีความภูมิใจในการใช้ความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจ และได้พิสูจน์ให้เห็นว่าผมทำมาได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญกว่านั้นก็คือ ผมยืนยันและมั่นใจว่าผมทำธุรกิจด้วยความสุจริต แต่หากอ่านประวัติผมให้ครบ ก็จะพบว่าผมไม่ได้เพียงแต่ทำธุรกิจ แต่ผมก็มีวุฒิการศึกษา ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์การทำงานด้านอื่นๆ ที่ผมคิดว่า ต่อให้วันนี้ตัดความเป็นนักธุรกิจของผมออกไป ผมก็เชื่อว่าคุณสมบัติอย่างอื่นของผมก็สามารถทำงานให้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้

การที่ผมเข้ามาตรงนี้ ก็เป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะการที่มีคนจำนวนมาก เช่น หนึ่งร้อยคน แต่มีหนึ่งตำแหน่ง แล้วคนที่ไม่ได้อีกเก้าสิบเก้าคน จะชื่นชมยินดี มีพรหมวิหารสี่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไปบังคับความคิดคนอีกเก้าสิบเก้าคน แต่ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อมั่นในระบบพรรค ก็คิดว่าทุกอย่างยังไปได้ แต่จะให้ผมไปบังคับคนเก้าสิบเก้าคนให้มายินดีกับผม ก็คงทำไม่ได้ ที่ก็เป็นเรื่องปกติ

ดร.อิสระ ยังกล่าวถึงเสียงวิจารณ์ที่คนมักมองกันว่าคนที่เคยทำธุรกิจ เป็นนักธุรกิจเข้ามาทำงานการเมือง ก็มักจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ว่าในส่วนของตัวผมเอง ผมพูดกับหลายคนประจำว่า การเมือง เมื่อวันนี้เข้ามาการเมือง มีหลายเรื่องที่เป็นอย่างที่ผมคิดและมีอีกหลายเรื่องที่ไม่เป็นอย่างที่ผมคิด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพูดกับหลายคนมากก็คือ ถ้าจะหาเงิน ทำธุรกิจ ทำได้มากกว่า สบายใจกว่า สง่างามกว่า อย่างผมตอนที่ทำธุรกิจ ผมก็มีความสนุก และทำได้ง่ายกว่าที่จะมาใช้ช่องทางจากทางการเมืองในการหาเงิน อันนี้ความคิดส่วนตัวผม ส่วนของคนอื่น ผมมองว่าสุดท้ายก็ต้องตอบตัวเองว่าเข้ามาการเมืองเพราะอะไร คือปฏิเสธไม่ได้ว่า ก็มีคนที่เข้ามาการเมืองเพราะหวังผลประโยชน์ เพราะหากเขาเข้ามาแล้วคิดแบบนั้น ก็คงไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดของเขาได้ เพราะวิธีการเข้ามาการเมืองของเขาก็จะมาอีกแบบหนึ่ง เพราะเขาก็จะเข้ามาการเมือง เพราะหวังว่าการเมืองจะไปเอื้อกับธุรกิจของเขา ก็จะทำให้การทำการเมืองของเขาทุกอย่างก็จะต้องไปในแนวนั้น คือจะต้องพยายามไปอยู่ในจุดที่จะเอื้อต่อธุรกิจของเขาได้ แต่สำหรับผม ในใจผม สนใจและชอบงานด้านต่างประเทศ

                เรื่องนี้ต้องดูกันยาวๆ วันนี้คนจะเข้ามา จะพูดให้สวยหรูยังไงก็พูดได้ แต่ต้องดูกันยาวๆ แล้วจะเห็นเอง ว่าใครที่ใช้ตรงนี้เป็นช่องทางของผลประโยชน์ เพราะวันหนึ่งเมื่อคนมีตำแหน่งทางการเมืองแล้วทำงานไปได้สักระยะเช่นหนึ่งปี ก็ดูออกแล้วว่าคนคนนั้นเป็นอย่างไร วงการการเมืองจะว่ากว้างก็กว้าง จะว่าแคบก็แคบ แต่เราก็จะรู้กันอยู่แล้วว่าคนไหนใครเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ปิดไม่ได้

-คนจากภาคธุรกิจ นักธุรกิจ มักจะมองว่าการเมืองเป็นปัญหา ทำให้ประเทศมีปัญหาไม่พัฒนา ในฐานะมาจากภาคธุรกิจด้วยมองความคิดนี้อย่างไร?

ผมไม่เชื่อเรื่องเหมารวม ที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Stereotype จะไปตีตราอะไรไม่ได้ อย่างนักธุรกิจ เมื่อมาทำงานการเมือง จะไปบอกหมดว่า มาทำการเมืองเพื่อหวังเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ หรือเป็นนักธุรกิจเมื่อเข้ามาทำงานการเมืองในพรรคการเมืองแล้วมีตำแหน่งในพรรคแสดงว่าเป็นนายทุนพรรค ผมว่าเรื่องแบบนี้ไม่สามารถเหมารวมได้ เพราะเป็นเรื่องปัจเจกมาก

                ดร.อิสระ-รองเลขาธิการพรรค ปชป. ยังกล่าวถึงเสียงวิจารณ์ที่คนมักมองกันว่า ปชป.เป็นพรรคเก่าแก่ ตั้งมา 73 ปี เป็นพรรคอนุรักษนิยม ปรับตัวช้าว่า ผมคิดว่าการที่พรรคการเมืองสามารถอยู่มาได้ยาวนาน ต้องมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งคือ เป็นพรรคการเมืองที่เปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ ได้เข้ามาทำงานในพรรค เพราะหากไม่เปิดโอกาสดังกล่าว ก็ไม่มีทางที่พรรคจะอยู่ยาวได้มาถึงเจ็ดสิบกว่าปี จนเป็นสถาบันทางการเมือง ก็เพราะมีการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามาที่พรรคได้เรื่อยๆ อันนี้คือหลักกว้างๆ และเมื่อมองลงไปในรายละเอียด เราก็ได้เห็นความจริงเลยว่า ผมไม่ใช่คนแรกๆ ที่เข้ามาพรรคประชาธิปัตย์โดยที่อายุยังน้อยแล้วมีโอกาสได้ทำงาน แต่เราเห็นสิ่งนี้มานานกับพรรคประชาธิปัตย์

อย่างท่านชวน หลีกภัย ที่อยู่ในการเมืองถึงตอนนี้ร่วมห้าสิบกว่าปีแล้ว วันแรกที่เข้ามาพรรคประชาธิปัตย์ตอนนั้นก็อายุประมาณสามสิบปี และเริ่มเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกก็ตอนอายุสามสิบกว่า โดยสิ่งเหล่านี้เราเห็นได้หลายต่อหลายครั้งในพรรค ขอเพียงพิสูจน์ให้ได้ว่าคุณมีความสามารถและเป็นคนดี

-แต่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ยึดระบบอาวุโส ใครมาทีหลัง จะไปมีตำแหน่งอะไร ต้องต่อคิวคนที่อยู่มาก่อน ทำให้คนก็ไม่อยากเข้ามาต่อคิว?

ผมมองว่าความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ กับพรรคการเมืองที่ตั้งมาก่อนแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่พรรคการเมืองซึ่งมีประวัติการตั้งพรรคมายาวนาน ก็ต้องมีบุคลากรในพรรคที่มีความรู้ ความสามารถ และเขาเข้ามาอยู่กับพรรคก่อนเรา มันคงเป็นเรื่องที่วัดยากว่าใครมีความรู้ความสามารถมากกว่าใคร ถ้าจะถามว่า ในพรรคต้องต่อคิวจริงไหม ก็มองว่าการคำนึงถึงหลักอาวุโส ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่พรรคต้องยึดถือ เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณา แต่ไม่ได้หมายถึงว่า พรรคจะไปปิดโอกาสไม่ให้คนรุ่นใหม่ได้มีบทบาท ผมว่าตัวผมเอง เป็นตัวอย่างที่ตอบเรื่องนี้ได้ชัดที่สุด และก่อนหน้าผม ก็มีอีกหลายคนในพรรคได้แสดงให้เห็นว่าสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้

-ก่อนเข้ามาที่พรรค ปชป.ก็เคยได้ยินเรื่องแบบนี้ใช่หรือไม่ แล้วทำให้เกิดความลังเลหรือไม่ ว่าหากเข้ามาแล้วกว่าจะได้เติบโตทางการเมืองต้องรอนาน?

ไม่มีเลย เพราะที่ผมตัดสินใจเข้ามา ผมไม่ได้เลือกด้วยซ้ำว่าจะเป็นตัวเลือก ก. หรือ ข. หรือ ค. ในการตัดสินใจเข้ามาพรรคประชาธิปัตย์ และวันนี้ก็เห็นแล้วว่าผมตัดสินใจไม่ผิด จากการที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญต่างๆ

ดร.อิสระ-รองเลขาธิการพรรค ปชป. ยังกล่าวถึงบทบาทของกลุ่มคนรุ่นใหม่ พวกยังบลัดที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้ แล้วมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค เช่น ดร.อิสระ หรือ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคด้านเศรษฐกิจ บทบาทจะเป็นอย่างไรต่อไปในพรรคประชาธิปัตย์ โดยกล่าวว่า ชื่อที่ยกมาข้างต้นจะพบว่า ก็ได้รับโอกาสจากพรรคให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ได้แสดงความรู้ความสามารถ อันเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าพรรคให้โอกาส เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ให้โอกาส คนอย่างผม ปริญญ์ คงไม่ได้ยืนอยู่ตรงนี้ แต่แน่นอนที่สุดเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับว่าอายุน้อยหรืออายุมาก แต่โอกาสมีจำกัด และคนที่ได้รับโอกาสแล้ว เขาจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนอื่นที่ยังไม่ได้แสดงความรู้ความสามารถได้มีโอกาส ได้มีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมในการได้แสดงความรู้ความสามารถ เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

ถามย้ำว่า โครงการที่พรรคจะทำเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สนับสนุนกิจกรรมคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับพรรค อย่างโครงการยุวพรรคประชาธิปัตย์ จะทำอย่างไรให้กลับมาเป็นที่พูดถึงและคนเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคมากขึ้น เพราะอย่างตอนเลือกตั้งที่มีการสร้างกลุ่มนิวเดมขึ้นมา คนก็มองว่าไม่ประสบความสำเร็จ ดร.อิสระ มองเรื่องนี้ว่า ผมมองว่าเป็นเรื่องอุดมการณ์และความคิดมากกว่า เพราะสุดท้ายก็กลับไปที่จุดเดิม คือหากเราเปิดกว้างให้คนที่เข้ามาได้แสดงความเห็นจุดยืน ต้องยอมรับว่าเรื่องความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ แต่พรรคการเมืองเป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เหมือนกัน ดังนั้นพรรคการเมืองก็คือการที่คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาอยู่ร่วมกัน บางคนเข้ามาแล้ว อาจเห็นว่าสิ่งที่คิดไว้ อุดมการณ์ที่ตัวเองมีอยู่ไม่ตรงกับอุดมการณ์ของพรรค ก็เป็นธรรมดาที่อาจไปเลือกทางเดินอื่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งสำคัญคือ ความเห็นแตกต่างได้แต่ต้องเป็นเอกภาพ สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้พรรคเดินหน้าไปได้

-ในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ หากมองย้อนกลับไปที่ผลการเลือกตั้ง ที่ประชาธิปัตย์ถือว่าแพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้ ส.ส.อย่างที่ตั้งเป้าไว้ คิดว่าหลังจากนี้พรรคต้องมีแนวทางยุทธศาสตร์ฟื้นฟูพรรคอย่างไรให้กลับมาได้เหมือนในอดีต เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต ?

ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงกฎกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว กฎกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดและเป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญ คือทำให้เกิดพรรคการเมืองประเภทหนึ่งได้ผลดี ได้ประโยชน์ มากกว่าพรรคการเมืองอีกประเภทหนึ่ง ถ้าให้ผมมอง ผมมองว่าประชาธิปัตย์อยู่ในกลุ่มพรรคการเมืองที่ได้รับผลเสียมากกว่าผลดี จากกฎกติกาในปัจจุบัน

                ผลการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมาจึงสะท้อนภาพนี้ออกมา แต่ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับชะตากรรมแล้วปล่อยไปแบบนี้หรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ก็พยายามหาและสร้างกลยุทธ์ที่จะทำอย่างไร ที่จะใช้เงื่อนไขกฎกติกาปัจจุบันที่จะทำให้นำไปสู่ความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ได้ อันเป็นสิ่งที่ผู้บริหารพรรค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต่างก็พยายามที่จะดำเนินการอยู่และทำอย่างแข็งขัน

                อย่างสิ่งหนึ่งที่หัวหน้าพรรค-ท่านจุรินทร์ได้ดำเนินการก็คือ ปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารงานของพรรคประชาธิปัตย์ เช่นมีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ หลายชุด ที่ตั้งขึ้นมาโดยอิงภารกิจงานด้านต่างๆ แล้วตั้งคนในพรรคไปทำงานตามความถนัดของแต่ละคน ดึงคนที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานในคณะทำงาน อย่างผมก็เป็นคณะทำงานด้านการต่างประเทศ นอกจากนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายพรรค คณะกรรมการขับเคลื่อน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่เป็นที่รวมของคนที่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ มาทำหน้าที่ เช่น การประมวลความเห็นข้อเสนอต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้พรรคประชาธิปัตย์เดินไปข้างหน้า ซึ่งตอนนี้ก็ได้เห็นสิ่งที่เสนอออกมามีความหลากหลาย มีความกระตือรือร้น

-มองว่ามีโอกาสแค่ไหนที่ประชาธิปัตย์จะกลับมาชนะได้ ส.ส.จำนวนมากในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงหลักอย่างกรุงเทพฯ และภาคใต้?

ด้วยความที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่มายาวนาน พรรคก็ผ่านมาหมด อันเป็นเรื่องปกติทางการเมือง  อย่างในอดีตพรรคก็เคยไม่ประสบความสำเร็จในกรุงเทพฯ ในบางช่วง แต่ประชาธิปัตย์ก็กลับมาได้ ขอเพียงพบว่าปัญหาและอุปสรรคคืออะไร

อย่างตัวผมก็มองว่าด้วยกฎกติกาที่เป็นอยู่ทำให้เกิดความลักลั่น วิธีการที่ต้องทำก็เช่น ต้องปรับกลยุทธ์ของพรรคให้เข้ากับกฎกติกาให้ได้ โดยยึดหลักการเรื่องการเมืองสุจริต ขณะเดียวกันเรื่องใด กฎ กติกาที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้องควรได้รับการแก้ไข เมื่อวันนี้เรามีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เราก็ต้องเข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้น ในการผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎกติกาที่เราเห็นว่าไม่ใช่วิถีของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

-ในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ พรรคจำเป็นต้องมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่ สำหรับการแข่งขันทางการเมืองในอนาคตที่จะเกิดขึ้นเพื่อจะสู้กับพรรคการเมืองอื่นๆ ได้?

ก็ต้องปรับเปลี่ยน เพราะอย่างที่ให้ความเห็นไว้ช่วงต้นคือด้วยกฎกติกาปัจจุบัน ทำให้พรรคการเมืองที่มีความคล่องตัวหรือมีอุดมการณ์น้อยกว่าประชาธิปัตย์ ขณะที่ด้วยโครงสร้างของเรา จะให้พรรคไปเปิดประชาธิปัตย์ 1 ประชาธิปัตย์ 2 ประชาธิปัตย์ 3 พรรคประชาธิปัตย์เราทำแบบนั้นไม่ได้ ไม่ใช่จะไปเอาใครมาก็ได้ ถ้าทำแบบนั้น มันก็ขัดกับแนวอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ในเมื่อกฎกติกาเป็นแบบนี้ พรรคเราก็ต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับกฎกติกา อย่างการที่พรรคประชาธิปัตย์ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็จะพบว่าพรรคก็มีการเสนอเงื่อนไขกับพรรคหลักไว้ว่าให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชวน-ประธานรัสภา

-ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา จากที่ได้ทำงานร่วมกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภามาร่วมสองเดือน ได้เรียนรู้และนำมาใช้กับการทำงานการเมืองต่อจากนี้ได้มากน้อยแค่ไหน?

ท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พูดอยู่เสมอว่าสิ่งที่ทำวันนี้ เปรียบเสมือนกับจบปริญญาเอกอีกหนึ่งใบ ผมเห็นว่าท่านชวนคือตัวอย่างของคนที่เก่งและเป็นคนดีจริงๆ เป็นความรู้สึกที่ผมเห็นจากใจจริง

ทุกวันที่ผมทำงานกับท่านประธานชวน ทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยไม่มีวันไหนที่ผมไม่รู้สึกยามเมื่อเลิกงานแล้วกลับบ้านว่า ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้รับโอกาสให้มาทำงานตรงนี้ ความภูมิใจดังกล่าวก็เป็นแรงผลักดันให้ผมตั้งใจทำหน้าที่และทุ่มเทการทำงานในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา โดยเป้าหมายของผมคือทำให้ได้ทั้งปริมาณ คุณภาพ และมาตรฐานทำให้ได้สูงกว่าที่ท่านประธานตั้งเป้าไว้

ดร.อิสระ-เลขานุการประธานรัฐสภา เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่นายชวน ประธานรัฐสภา ให้ข้อคิด คำแนะนำหลักการทำงานในการเป็นนักการเมืองว่า ได้เน้นย้ำเรื่องการเมืองสุจริตมาตลอด ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลักที่ท่านจะเลือกคนมาทำงานด้วย นอกจากนี้ท่านชวนก็จะเอ่ยถึงพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำรัสไว้เมื่อช่วงปี 2552-2553 ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่จะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน ในช่วงสองปีดังกล่าวท่านชวนก็จะสอนผมว่าเรื่องที่พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญ  นั่นก็คือเรื่องการให้เราต้องพิจารณาว่าเรามีหน้าที่อะไร และเมื่อพิจารณาแล้วว่าเรามีหน้าที่อะไร ก็ให้ทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด ท่านประธานชวนพูดกับผมเรื่องนี้บ่อยมาก

                นอกจากนี้ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับท่านชวน เรื่องนี้ท่านไม่ได้สอนโดยตรง แต่ผมเรียนรู้ได้เอง คือรู้อะไรต้องรู้จริง รู้ให้ละเอียด หากรู้ไม่จริงอย่าพูด เรื่องนี้ท่านไม่ได้สอนผมเป็นคำพูด แต่เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ด้วยตัวเองจากการทำงานใกล้ชิดร่วมกับท่านประธานชวน ซึ่งท่านก็เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นผู้ให้โอกาส และเป็นแบบอย่างในการทำงานและการดำรงชีวิต

-คิดเห็นอย่างไรกับเสียงวิจารณ์ที่ว่าในพรรคประชาธิปัตย์ ต้องฟังเสียงผู้อาวุโสสามคนในพรรคที่สามารถชี้นำทิศทางคนในพรรคได้ คือ คุณชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และสมัยก่อนก็อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ปัจจุบันคงเป็นจุรินทร์ หัวหน้าพรรค?

ก็อย่างที่ผมได้ยกตัวอย่างข้างต้น เรื่องการโหวตเลือกและเห็นชอบคนเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ของที่ประชุมใหญ่พรรค คนที่โหวตจะเข้าไปโหวตโดยที่คนภายนอกไม่สามารถรู้ได้ว่าใครโหวตอย่างไร ทุกคนใช้วิจารญาณเองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดกับพรรคประชาธิปัตย์และกับประเทศ

                เรื่องนี้ก็สามารถแยกได้เป็นสองส่วน คือผมไม่คิดว่าจะมีใครมากดปุ่มสั่งอะไรได้ และในทางขนานกันไป ผู้ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารักพรรค ทำประโยชน์ให้กับพรรค และสร้างคุณูปการให้กับพรรคอย่างชื่อที่ได้เอ่ยนามมา ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อท่านเหล่านั้นมีความคิดเห็นอะไร คนก็จะรับฟัง ไม่ใช่เรื่องการชี้นำ

-จากที่ได้เข้ามาสู่การเมืองและได้เห็นการประชุมที่ผ่านมา มองว่าการเมืองไทยโดยเฉพาะการอภิปรายแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของนักการเมืองยุคปัจจุบันพัฒนาดีขึ้นจากเดิมหรือไม่?

ถ้าพูดกันแบบแฟร์ๆ ผมว่า ส.ส.ชุดปัจจุบันทุกคนมีความตั้งใจในการเข้ามาทำงานการเมือง

เราเห็นความตั้งใจ แต่ละคนเข้าห้องประชุมมามีการเตรียมข้อมูลอะไรต่างๆ ไม่ใช่ว่าเดินเข้าห้องประชุมโดยไม่มีการทำการบ้านไม่เตรียมข้อมูลมา อันนี้คือสิ่งที่ต้องชื่นชมถึงพัฒนาการของนักการเมืองที่เข้ามา แต่หากถามถึงพัฒนาการทางการเมือง ก็มองว่าเป็นธรรมดาในเรื่องการมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย

-เข้าสู่การเมืองตอนอายุยังไม่มาก แล้วมีเป้าหมายทางการเมืองจากนี้อย่างไร?

ทุกวงการคนที่อยู่ในวงการนั้นๆ ก็ต้องการมีความก้าวหน้า ซึ่งในทางการเมืองความก้าวหน้าก็ไม่ได้หมายถึงการให้ตัวเองมีอำนาจ มีตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่หมายถึงการมีความรับผิดชอบที่มากขึ้นเพื่อจะได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ อันเป็นเรื่องปกติของคนที่เข้าสู่การเมือง

-อนาคตข้างหน้าเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นทางการเมือง หากมีโอกาสพร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่?

ผมว่าคนที่พร้อมอาสาเข้ามาทำงานการเมือง ก็ต้องพร้อมจะมีตำแหน่งสำคัญกันทุกคน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือตำแหน่งอะไรก็ตาม ถ้าโอกาส เวลาที่เหมาะสมมาถึง ผมว่าทุกคนมีความพร้อมและสามารถที่จะทำได้

-แต่การจะขึ้นไปเป็นหัวหน้าพรรคได้ ก็ต้องมีพรรคพวก มีกลุ่มคนสนับสนุน?

ผมว่าก็ทุกที่ ซึ่งจะต้องมีการได้รับการสนับสนุน ซึ่งการสนับสนุนหมายถึงการได้รับการยอมรับ ซึ่งการยอมรับจะเกิดขึ้นได้ ก็คือเราต้องพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนเห็นว่าเราตั้งใจทำงาน เราไม่มีผลประโยชน์ และเราเข้ามาเพราะอะไร และที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะเป็นความหวังของสมาชิกได้

 คนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำจะต้องแสดงบทบาทให้เห็น ถามเรื่องนี้เวลานี้ก็อาจจะเร็วไป แต่หากถามผมว่าพร้อมหรือไม่ เชื่อมั่นในอุดมการณ์ เชื่อมั่นในตัวเองหรือไม่ ซึ่งผมก็ต้องตอบว่าผมเชื่อมั่นว่าทำได้ และมีความมั่นใจต่อคำถามข้างต้น

การที่ผมเข้ามาการเมืองเวลานี้ก็ไม่ได้ถือว่าเริ่มการเมืองเร็ว บางคนก็เข้ามาตอนอายุยี่สิบกว่าปี  แต่ผมได้ทำงานมาหลายอย่างหลายอาชีพและได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า งานแต่ละอย่างที่ทำได้ทำอย่างจริงจัง อย่างผมที่เรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ ผมก็ได้ศึกษาจนสอบใบประกอบอาชีพวิศวกร และเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่ใช้เวลาที่มีไม่มาก ไปสอบวิศวกรเอเปก วิศวกรอาเซียน เพราะผมเป็นคนที่ทำอะไรในด้านไหนแล้วก็จะทำจริงจัง จนในด้านสายวิศวกรที่เรียนมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ทำอย่างเต็มที่ทั้งในด้านการศึกษาและการประกอบวิชาชีพ และในวันนี้ที่เข้ามาสู่การเมือง ก็ตั้งใจจะทำให้ดี แต่ถามว่าง่ายไหม ก็ไม่ง่าย ส่วนเรื่องแรงเสียดทานก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ ก็เรียนรู้และแก้ไขข้อผิดพลาด ที่ก็มีความสุขในการทำงานดี เหนื่อยบ้างแต่ไม่ได้ท้ออะไร.

............................

ความพร้อมรัฐสภาไทย กับการจัดประชุม AIPA

                ดร.อิสระ-เลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงการที่รัฐสภาไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม  AIPA (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly) ในเดือนสิงหาคมนี้ ว่าการประชุมที่จะเกิดขึ้นได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุม รับผิดชอบงานด้านการประชาสัมพันธ์และสารสนเทศการประชุม

                ...สำหรับ AIPA ก็คือ สมัชชารัฐสภาอาเซียน ที่การจัดประชุมจะสอดคล้องไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน คือประเทศใดเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ก็จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนด้วย ปีนี้ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ฝ่ายนิติบัญญัติคือประธานรัฐสภา จึงเป็นประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน

                ...AIPA จะมีกรอบการประชุมใหญ่ๆ สามกรอบต่อปี เรื่องแรกคือเรื่องการประชุมเพื่อปราบปรามภัยคุกคามจากปัญหายาเสพติด ที่ได้มีการจัดไปแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องที่สองคือ AIPA-ASEAN Interface Meeting ที่ผู้นำฝ่ายรัฐสภาอาเซียน 10 ประเทศไปพบและกล่าวถ้อยแถลงกับผู้นำฝ่ายบริหารของทั้ง 10 ประเทศที่ได้จัดไปแล้วในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน เรื่องที่สาม ที่เป็นกรอบใหญ่และสำคัญที่สุดคือ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นช่วง 25-30  สิงหาคม 2562 ซึ่งจะจัดที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยรัฐสภาไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม

การประชุมดังกล่าวจะมีสมาชิกของรัฐสภาอาเซียน 10 ประเทศมาร่วมประชุมและมีการเชิญประเทศผู้สังเกตการณ์อีก 11 ประเทศ และหนึ่งองค์กรจะมาร่วมประชุม และยังมีแขกของรัฐสภาไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสนใจในกิจการของอาเซียนและสนใจต้องการผูกสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเช่น ประเทศนอร์เวย์ โมร็อกโก ก็จะมาร่วมด้วย โดยจะมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ มาร่วมงานร่วม 300-400 คน  จึงเป็นงานที่ใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดในรอบสิบปีก็ว่าได้ เพราะเจ้าภาพจัดประชุมจะหมุนเวียนไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งรัฐสภาไทยเป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุดก็เมื่อสิบปีที่แล้วคือปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ โดยการจัดงานครั้งนี้จะอยู่ภายใต้ธีมของการประชุมที่ว่า "นิติบัญญัติ ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน" 

สำหรับเป้าหมายของการจัดประชุมก็จะเป็นไปตามเป้าหมายบนหลักการใหญ่ของ AIPA คือพยายามให้กฎหมายของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเมื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งที่เราคาดหวังจากประชาคมอาเซียน ถ้ากฎหมายของทั้ง 10 ประเทศเดินไปในทางเดียวกัน กระบวนการที่ต่อเนื่องอย่างเช่นฝ่ายบริหารก็จะทำงานให้สอดคล้องกันไป

                ดร.อิสระ-เลขานุการประธานรัฐสภา ย้ำว่า สิ่งที่ไทยจะได้จากการประชุมครั้งนี้แบ่งเป็นสองส่วน  โดยส่วนแรกคือ ร่างข้อมติที่ไทยส่งเข้าไปให้ที่ประชุมพิจารณา และแม้จะเป็นร่างข้อมติจากประเทศอื่น  แต่เมื่ออยู่บนหลักการคือให้ทุกประเทศอาเซียนไปในทิศทางเดียวกัน ไทยก็ย่อมได้ประโยชน์ เพราะหากเรื่องใดที่ไทยไม่ได้ประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากร่างข้อมติที่นำมาพิจารณา เราก็สามารถใช้สิทธิ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างข้อมตินั้น เพราะตามหลักร่างข้อมติใดๆ ทุกประเทศในสมัชชารัฐสภาอาเซียนต้องเห็นพ้องด้วยกันหมด หากเราไม่เห็นด้วยร่างข้อมตินั้นก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้

                ส่วนสิ่งที่ไทยจะได้ทางอ้อม การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมงานที่ใหญ่ขนาดนี้ ก็เป็นการบอกประชาคมโลก ไม่ใช่แค่ประชาคมอาเซียน ว่าไทยเราพร้อมแล้วที่จะกลับมา เรามีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ซึ่งคนที่เดินทางมาร่วมประชุมที่มีจำนวนมาก ก็จะมาใช้จ่ายเงินที่เมืองไทยในช่วงมาประชุมที่จะเกิดขึ้น. 

........................................................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"