ภายหลังการรัฐประหาร 2494 ได้ส่งผลให้สถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2490 เปลี่ยนแปลงไปสู่การแข่งขันและการขัดแย้งกันเองภายในคณะรัฐประหาร อันประกอบด้วย กลุ่มราชครู ที่มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นหลักสำคัญ, กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า และกลุ่มทหารอาวุโสที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม - การกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 (พ.ศ.2491-2500) ของจอมพล ป. กล่าวได้ว่าแตกต่างจากการดำรงตำแหน่งในสมัยแรกอย่างมาก โดยการที่รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร จึงมีผลทำให้รัฐบาลมีลักษณะที่เกรงใจต่อฝ่ายคณะรัฐประหารอย่างมาก ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ กรณีที่ สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ ป่วยเป็นเนื้องอกที่ตับอ่อน ต้องส่งไปผ่าตัดที่สหรัฐอเมริกา รัฐบาลก็ได้จัดทำโครงการในรูปการส่งไปดูงานและออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน (2494) ที่คณะรัฐประหารตัดสินใจทิ้งระเบิดเรือศรีอยุธยา โดยไม่สนใจชีวิตของจอมพล ป. ที่ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่บนเรือ
มองในแง่นี้ก็อาจจะตีความได้ว่า จอมพล ป. ในเวลานั้นมีอิทธิพลในคณะรัฐประหารน้อยลง ถึงแม้จะไม่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม คณะรัฐประหารก็ยังคงอยู่ได้ แต่การที่คณะรัฐประหารยังคงยอมให้จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปก็เพราะ ความที่จอมพล ป. เป็นผู้นำทางทหารที่เคยทำให้สถาบันทหารมีบทบาทสูงเด่นมาแล้ว อันทำให้จอมพล ป. เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจในหมู่ทหาร ขณะเดียวกันจอมพล ป. ยังมีฐานะพิเศษในการเป็นผู้นำของชาติเพียงคนเดียว ที่ยังคงเหลืออยู่ในบรรดาคณะผู้ก่อการ 2475 ซึ่งนับได้ว่าเป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้ จอมพล ป. เหมาะสมจะเป็นผู้ถ่วงดุลอำนาจระหว่าง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต่างแข่งขันกันแสวงหาอำนาจทางการเมือง
พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ - ในช่วงเวลานี้ได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจควบคุมกองกำลังตำรวจ ซึ่งมีความสามารถเกือบเทียบเท่ากองทัพบก โดยแต่เดิม พล.ต.อ.เผ่า ได้รับการฝึกอบรมมาทางทหารบก และเป็นนายทหารคนสนิทของจอมพล ป. ต่อมาได้โอนมารับราชการตำรวจหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490 ซึ่งจากสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดความวุ่นวายขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะความพยายามใช้กำลังล้มล้างรัฐบาลถึง 3 ครั้ง จึงทำให้กองกำลังตำรวจที่นำโดย พล.ต.ต.เผ่า ได้เข้าไปมีบทบาทในการปราบปรามฝ่ายกบฏ ประกอบกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรมตำรวจจากหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาผ่านทางบริษัท ซี ซัพพลาย (SEA Supply) เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์
ปัจจัยทั้งสองจึงทำให้กรมตำรวจได้ถูกพัฒนาขีดความสามารถทั้งทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยและเพิ่มจำนวนบุคลากร ซึ่งเกินกว่าขอบเขตหน้าที่ของตำรวจในยามปกติ เช่น มีตำรวจรถถัง โดยใช้รถถังเสตกฮาวร์ มีตำรวจพลร่ม ส่วนกำลังตำรวจมีถึง 42,835 คน หรือตำรวจ 1 คนต่อพลเมือง 407 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในโลก ถึงแม้ว่าตำรวจจะมีน้อยกว่าทหาร แต่กำลังตำรวจก็สามารถแสดงบทบาททางการเมืองได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตำรวจสามารถติดต่อกับประชาชนได้โดยตรง และสามารถคุกคาม ปราบปรามคู่แข่งที่ต่อต้านได้ด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์และเพื่อรักษาความสงบภายในประเทศ
นอกจากนี้ เผ่ายังอาศัยการการค้าฝิ่นและการค้าอื่นๆ ในการหารายได้พิเศษสำหรับกิจกรรมทางการเมือง โดย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มักจะอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในทางการเมืองเข้าไปใกล้ชิดกับนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ด้วยการให้เงินอุดหนุนทางการเมืองและสิทธิพิเศษต่างๆ เป็นการเอาใจ อันนำไปสู่การดึงนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามารวมกลุ่มกับตนเอง
ทั้งนี้ พล.ต.อ.เผ่า ได้ตั้งและเลี้ยงดูบริวารของตนที่รู้จักกันว่า พวก "อัศวิน" เพื่อดำเนินงานตามคำสั่งที่ไม่ผ่านระบบราชการ โดย "อัศวิน" ของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานน
ท์ มักจะทำงานสกปรกเพื่อเอาใจ พล.ต.อ.เผ่า และเพื่อได้รับสิ่งตอบแทนในรูปของเงินตรา ยศ และตำแหน่ง วิธีการรุนแรงของตำรวจในยุคนี้จึงเป็นที่หวาดกลัวทั้งในหมู่ประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่น ในกรณีการสังหารโหดอดีตสี่รัฐมนตรี นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร, นายพร มะลิทอง ส.ส.สมุทรสาคร, นายอารีย์ ลีวีระ นักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
กลุ่มของ พล.ต.อ.เผ่า เรียกว่า "กลุ่มซอยราชครู" ประกอบด้วย จอมพลผิน ชุณหะวัณ, พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร, พล.ต.ศิริ ศิริโยธิน, พล.จ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมี จอมพลผิน เป็นหัวหน้ากลุ่ม แต่เนื่องจาก จอมพล ผิน ให้ความสนใจกับการแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง ดังนั้นบทบาททางการเมืองของกลุ่มราชครูจึงตกไปอยู่ที่ พล.ต.อ.เผ่า ซึ่งเป็นบุตรเขยของจอมพลผิน
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - เป็นนายทหารที่เติบโตขึ้นจากกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยกำลังสำคัญ ต่อมาได้เข้าร่วมทำการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 นับแต่นั้นเป็นต้นมาชีวิตราชการของสฤษดิ์เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อให้เขาคือการเป็นหัวหน้าปราบกบฏวังหลวง นอกจากนี้จากการที่จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบกให้ความสนใจกับการแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากกว่าอำนาจในกองทัพ สฤษดิ์จึงสามารถสร้างฐานอำนาจของตนในกองทัพบกได้ ดังนั้นเมื่อจอมพลผิน ชุณหะวัณ สละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ.2497 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนรวมถึงได้รับพระราชทานยศจอมพลด้วย
โดยกองทัพภายใต้การนำของสฤษดิ์ ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ในการปรับปรุงกองทัพให้เป็นแบบกองทัพอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีต่างๆ มีการส่งคณะที่ปรึกษาทางทหารมาประจำในประเทศไทย ช่วยฝึกและจัดระเบียบกองทัพไทยให้เข้มแข็งขึ้น การช่วยเหลือของอเมริกาส่งผลให้กองทัพบกของไทยขยายตัวอย่างมากจากกำลังพลที่มีอยู่ 45,000 นายในปี พ.ศ.2494 มาเป็น 80,000 นายในปี พ.ศ.2497
เช่นเดียวกับเผ่า สฤษดิ์ก็มีฐานทางเศรษฐกิจของตน คือการคุมสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารขององค์การทหารผ่านศึก และดำรงตำแหน่งในบริษัทต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 22 บริษัท โดยสฤษดิ์มักจะอ้างการใช้เงินในราชการลับ เบิกจ่ายเงินจากราชการเข้ากระเป๋าตัวเองเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มของสฤษดิ์ที่เรียกว่า "กลุ่มสี่เสาเทเวศร์" ประกอบด้วย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, พล.ท.ถนอม กิตติขจร, พ.ต.ประภาส จารุเสถียร, พ.ต.กฤษณ์ สีวะรา
ขณะที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำลังแข่งขันและสร้างฐานอำนาจของตนอย่างมั่นคงอยู่นั้น จอมพล ป. ที่ต้องตกอยู่ในฐานที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของอำนาจลอยก็พยายามสร้างฐานอำนาจของตนเองเช่นเดียวกัน โดยจากการศึกษาของทักษ์ เฉลิมเตียรณ อธิบายว่า จอมพล ป. ได้พยายามสร้างฐานอำนาจโดยผ่านการหันเข้าหาการรับรองจากสหรัฐอเมริกา ส่วนอีกฐานอำนาจหนึ่งก็คือการเข้าหาฐานที่เป็นมวลชน
ในการเข้าหาการรับรองจากสหรัฐอเมริกา จอมพล ป. ได้แสดงตนเป็นฝ่ายอเมริกาและขานรับนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลอเมริกา กล่าวคือ ประเทศไทยได้เข้าผูกพันกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น และเริ่มรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทหารจากอเมริกา มีผลให้อเมริกาส่งคณะที่ปรึกษาทางทหาร ทางเทคนิค และเศรษฐกิจเข้ามาในประเทศไทย พ.ศ.2495 รัฐบาลไทยให้ความสนับสนุนอเมริกาในการเข้าร่วมทำสงครามเกาหลีในนามของสหประชาชาติ ด้วยการเสนอส่งกองทหารและข้าวไปช่วย และในปี 2497 ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การ SEATO ซึ่งเป็นแนวปิดล้อมการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชียอาคเนย์ ทำให้อเมริการู้สึกพึงพอใจรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มฐานให้กับจอมพล ป. ให้มั่นคงยิ่งขึ้น เนื่องจากบรรดาผู้นำประเทศต่างคิดว่า จอมพล ป. เป็นบุคคลที่ทำให้อเมริกาให้ความช่วยเหลือไทยตลอด
แต่อย่างไรก็ตาม จอมพล ป. ก็ตระหนักดีว่า แท้จริงแล้วอเมริกาก็ให้การสนับสนุน "อำนาจ" ทุกฝ่าย ดังจะเห็นได้ว่าทั้งทหารและตำรวจต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา ดังนั้นเพื่อจะสร้างความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. จึงหันเข้าหาฐานที่เป็นมวลชน ผ่านทางนโยบายด้านวัฒนธรรมและศาสนา โดยได้ตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นใน พ.ศ.2495 ซึ่งมุ่งอบรมสั่งสอนประชาชนเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย จริยธรรมทางสังคมอันดีงาม และยังรวมถึงภัยของลัทธิคอมมิวนิสต์ ความพยายามของจอมพล ป. ในครั้งนี้ จึงถูกตีความได้ว่า จอมพล ป. ต้องการสร้างภาพพจน์ใหม่ของผู้นำประเทศที่ตนเองดำรงอยู่ ให้แตกต่างจากผู้นำประเทศที่ใช้อำนาจและแก่งแย่งผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจกันอย่างเปิดเผย ดังภาพของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ปรากฏอยู่ในขณะนั้น
นอกจากนี้ จอมพล ป. ยังเน้นบทบาทของตนเองในฐานะพุทธศาสนูปถัมภก โดยการปฏิสังขรณ์อนุสาวรีย์ วัดวาอาราม และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือ การมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานเตรียมฉลองครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งในงานนี้ได้มีการสร้างพุทธมณฑล มีการบวชพระ 2,500 องค์ และงานฉลองอื่นๆ อีก ซึ่งพฤติการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ จอมพล ป. ต้องการแสดงให้เห็นว่าตนเป็นผู้นำของชาติ
ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ที่นักวิชาการมองว่าเป็นความพยายามของจอมพล ป. ในอันที่จะสร้างฐานอำนาจจากประชาชน เพื่อต้านทานอำนาจจากฝ่ายตำรวจและทหาร คือ การให้เสรีภาพและสนับสนุนการเมืองระบอบประชาธิปไตยภายหลังจากการเดินทางรอบโลกไปอเมริกาและยุโรป ในปี พ.ศ.2498 เช่น การเปิดสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกวันศุกร์ (Press Conference) ให้มีการอภิปรายทางการเมืองคล้ายๆ ไฮปาร์ค ทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัด หรืออนุญาตให้เปิดชุมนุมทางการเมือง โดยนโยบายเหล่านี้ของจอมพล ป. ถูกตีความว่าเป็นแผนขั้นต้นที่จะทำลายคู่แข่งของตน ทั้งนี้เนื่องจาก จอมพล ป. แน่ใจว่า ในการแสดงความคิดเห็นจะต้องมีผู้พาดพิงพฤติกรรมที่ฉ้อฉลของฝ่ายตำรวจและฝ่ายทหาร ซึ่งจะเท่ากับเป็นการลดทอนอำนาจฝ่ายตำรวจและทหารไปในตัว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นเพราะ พล.ต.อ.เผ่า เป็นบุคคลที่ถูกวิจารณ์มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเวทีสาธารณะในหลายๆ ครั้งก็กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และทำลายชื่อเสียงของจอมพล ป. ดังนั้นจอมพล ป. จึงสั่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะอีก รวมถึงไม่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประจำสัปดาห์
การเสื่อมคลายของการเมืองสามเส้าอาจกล่าวได้ว่า เป็นผลสำคัญมาจากการเสียสมดุลในการถ่วงดุลอำนาจของจอมพล ป. ภายหลังจากที่อำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ลดลงอย่างรวดเร็ว จากสถานการณ์การคัดค้านการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 หรือที่รู้จักกันว่าการเลือกตั้งสกปรก 2500 ทั้งจากนิสิต นักศึกษา ประชาชน และนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีผลทำให้จอมพลสฤษดิ์ สามารถผละตัวเองออกจากฐานะผู้ร่วมรัฐบาลที่ผูกพันกับจอมพล ป. และ พล.ต.อ.เผ่า (ในขณะนั้นไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน และยังถูกจอมพล ป. ต่อต้านอำนาจด้วยการปลดออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม ในการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 สิงหาคม 2498) และก้าวขึ้นมาเป็นความหวังและขวัญใจของประชาชน
ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า การปกครองของอำนาจสามฐานเกิดขึ้นได้เพราะการรวบอำนาจ โดยใช้การถ่วงดุลที่เปราะบางระหว่างคนสามคน คือ พล.ต.อ.เผ่า ซึ่งควบคุมกองกำลังตำรวจ โดยการแข่งกับจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งมีกำลังทหาร และจอมพล ป. ซึ่งฉวยโอกาสการแข่งขันโดยเป็นตัวไกล่เกลี่ย และสถานภาพจากการสนับสนุนของอเมริกา ดังนั้น ตราบเท่าที่ฐานะของจอมพล ป. ยังคงมั่นคง ผู้มีอำนาจทั้งสามก็ยังคงมีสืบต่อไป แต่เมื่อจอมพล ป. อ่อนแอลง โอกาสที่บุคคลทั้งสองฝ่ายจะกระทำตามลำพังก็มีทางจะเป็นไปได้มากขึ้น
การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ในปี พ.ศ.2500 ได้นำมาซึ่งการยุติการเมืองในรูปแบบสามเส้า โดยจอมพล ป. ต้องหนีออกไปพำนักลี้ภัยที่ประเทศเขมร ต่อมาย้ายไปพำนักที่ประเทศญี่ปุ่นจนถึงแก่อสัญกรรม ส่วน พล.ต.อ.เผ่า ถูกเนรเทศออกนอกประเทศและได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึงแก่อนิจกรรม ตลอดจนจอมพลจอมพลสฤษดิ์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ด้วยการยึดอำนาจในปี 2501.
---------
ขอบคุณ: สถาบันพระปกเกล้า, ภาวิณี บุนนาค
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |