“ประยุทธ์” ประชุม ก.ตร.นัดแรก ชงผุด “ศูนย์หลอกลวงไซเบอร์-ศูนย์ปฏิบัติงานเร่งด่วนรัฐบาล” ลั่นยุคนี้ห้ามมีซื้อขายตำแหน่งเด็ดขาด โดยบิ๊กแป๊ะจัดทำบัญชีโยกย้ายตำรวจยึดหลักอาวุโสเหมือนทหาร “วิษณุ” แย้มจ่อประชุมปรับโครงสร้างดีเอสไอ โละ “ตร.-สกรีนคดีพิเศษ”
เมื่อวันศุกร์ ในเวลา 13.15 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 7/2562 โดยทันทีที่นายกฯ มาถึง ได้ร่วมพิธีตรวจแถวกองเกียรติยศ ณ บริเวณด้านหน้าอาคาร 1 สตช. ก่อนวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 และถวายราชสักการะพระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ 9 จากนั้นเป็นประธานประชุม ก.ตร. ที่ห้องศรียานนท์ โดยนายกฯ มีสีหน้าเคร่งขรึม
ขณะที่มาตรการในการรักษาความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่ สตช. เป็นไปด้วยความเข้มงวด โดยมีกองอารักขาและควบคุมฝูงชน จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 กว่า 50 นาย กระจายกำลังดูแลโดยรอบ สตช.ตลอด ตั้งแต่ ถ.พระรามที่ 1 หน้า รพ.ตำรวจ มาจนถึงแยกเฉลิมเผ่า ต่อเนื่องไปจนถึงสถาบันนิติเวชวิทยา โดยจะมีการเดินตรวจตราในทุกชั่วโมง เพื่อสังเกตวัตถุต้องสงสัย บุคคลต้องสงสัย และสิ่งผิดปกติ รวมทั้งเจ้าหน้าหน่วยตรวจสอบและเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) เข้าตรวจสอบพื้นที่โดยรอบ ก่อนที่นายกฯ มาถึง นอกจากนี้ ยังมีการกันพื้นที่บนสกายวอล์กไม่ให้ประชาชนยืนติดรั้วที่หันหน้าเข้ามายัง สตช.ด้วย แต่ให้เดินผ่านได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ก่อนนายกฯ จะเดินทางมาประชุม ในเวลาประมาณ 10.45 น. ได้เกิดฝนตกลงมาพร้อมกับลมพัดแรงจนทำให้ธงตราโล่ของ สตช.ที่ตั้งอยู่กับแท่นพิธีที่นายกฯ จะยืนรับทำความเคารพจากกองเกียรติยศได้ล้มลงจนเสาธงหัก เจ้าหน้าที่ต้องรีบนำเสาใหม่มาเปลี่ยนทันที
และในเวลา 15.10 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงผลการประชุมว่า ได้มีโอกาสพูดคุยหารือผู้นำระดับสูงของ สตช. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ส่วนการมอบนโยบายส่วนใหญ่ไม่มีความแตกต่างมากนัก มีแต่ในรายละเอียดที่จำเป็นต้องเข้าถึงการปฏิบัติเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจมีหลายข้อที่ต้องปฏิบัติ โดยหลายกิจกรรมปฏิบัติไปบ้างแล้ว อันไหนที่ยังปฏิบัติไม่ได้ก็ให้สรุปมาให้ทราบว่ามีปัญหาอยู่ตรงไหน ซึ่งการปฏิรูปจำเป็นต้องปฏิรูปทั้งบุคลากร องค์กร และการปฏิบัติงาน
“วันนี้ได้ดูโครงสร้างตำรวจทั้งหมดแล้ว มี 9 ส่วนด้วยกัน ในการบริหารหน้าที่เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจต่างๆ ของ สตช. ซึ่งมี 10 ศูนย์ วันนี้ได้ให้เพิ่ม เนื่องจากเป็นประเด็นหลักให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในเรื่องการปราบปรามการหลอกลวงไซเบอร์ต่างๆ ให้ตั้งเป็นศูนย์ให้ชัดเจน และอีกอันเป็นนโยบายเร่งด่วนรัฐบาล อย่างไอยูยู ให้เพิ่มขึ้นมาอีกศูนย์ เป็นศูนย์ปฏิบัติการนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือเรื่องสำคัญที่เป็นวาระแห่งชาติ จะได้มีความรับผิดชอบที่ชัดเจนมากขึ้น” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบ ก.ตร.ข้อหนึ่งคือ การเลื่อนตำแหน่ง ต้องมีการนับอาวุโสคล้ายคลึงกับของทหารในปัจจุบัน ซึ่งในการนับอาวุโสต่างๆ ถ้าอาวุโสเท่ากันก็นับย้อนลงไป โดยปฏิบัติมาแล้วตั้งแต่ปี 2557 ก็ไม่มีปัญหาอะไร ในส่วนการแต่งตั้งต่างๆ ให้เป็นความรับผิดชอบของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้รับผิดชอบในภาพรวมก่อนพิจารณา ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอบัญชีต่างๆ ที่กองกำกับหรือภาคเสนอขึ้นมาพิจารณา จากนั้นก็พิจารณาในเรื่องความเหมาะสมกับตำแหน่งต่างๆ ตามสัดส่วนที่มีอยู่เดิม ตามอาวุโสที่เสนอมา มีกรอบการทำงานชัดเจนอยู่แล้ว ให้ทุกคนทำตามหน้าที่ตามกรอบกฎหมาย กติกาต่างๆ ของ ก.ตร.ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“ผมยืนยันว่าไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่งโดยเด็ดขาด และการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม ไม่ให้ถูกกล่าวอ้าง ถูกกล่าวหาโน่นนี่ มันเสียชื่อ ซึ่งผมคิดว่าไม่ได้มากมายนักหรอก อาจจะมีอยู่บ้าง แต่ต้องแก้ไขให้ได้มากที่สุด” นายกฯ กล่าว และว่า ส่วนเรื่องการทำงานของ สตช. ต้องทำงานสนองนโยบายของทุกรัฐบาลด้วย แต่ต้องเป็นรัฐบาลที่โปร่งใส เป็นรัฐบาลที่ทำถูกต้องทุกอย่างตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ฝากไว้กับ สตช. การเป็นนายกฯ ต้องดูแลในฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ในการมาดูแล สตช.ก็เพียงมากำกับดูแลควบคุมให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กติกาที่เขาทำอยู่ มันมีอยู่แล้วกฎหมายไม่มีละเมิด ไม่มีสร้างปัญหาต่างๆ ก็จบหน้าที่แค่นั้น
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองว่ารวบอำนาจหลังกำกับดูแล สตช.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า เชื่อว่าอีกสักพักคงมีการพูดคุยเพื่อปรับโครงสร้างดีเอสไอ โดยต้องหารือร่วมกันระหว่างนายกฯ, รมว.ยุติธรรม, สำนักงาน ก.พ.ร. และตนเองในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย โดยนายกฯ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทำงานของดีเอสไอมาหลายเดือนแล้ว เพราะเห็นว่ามีตำรวจปฏิบัติงานอยู่มากเกินไป และอยากได้นักกฎหมายที่ไม่ใช่จาก สตช.มาทำงานด้วย พร้อมกันนี้ยังจะเน้นการให้ความเป็นธรรม ซึ่งดีเอสไอต้องดูแลคดีพิเศษเท่านั้น โดยมี 2 แนวทางในการพิจารณาคดีพิเศษ 1.อธิบดีดีเอสไอเป็นผู้พิจารณา และ 2.ให้คณะกรรมการคดีพิเศษเป็นผู้พิจารณา
“ทุกวันนี้กลายเป็นว่าประชาชนไปร้องตำรวจ แล้วตำรวจเกิดเมินเฉย ช้า ไม่ได้ดั่งใจ จึงยกขบวนมาดีเอสไอ บางทีมาเยอะเหมือนม็อบ มานอนอยู่หน้าดีเอสไอ ซึ่งถ้าดีเอสไอไปรับเข้า บางครั้งก็ทำให้เสียระบบ จึงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ หากตำรวจช้าก็ต้องเล่นงานตำรวจ ไม่ใช่ช้าก็โอนมาดีเอสไอ เพราะไม่งั้นถ้าดีเอสไอช้าก็คงตั้งกรมอื่นแทนดีเอสไอ ข้อสำคัญคือต้องวางหลักเกณฑ์ให้ดี เพราะที่ผ่านมาเรื่องนี้ทำให้ตำรวจและดีเอสไอขัดแย้งกัน” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กำกับดูแลดีเอสไอด้วยตัวเอง เพราะหวังใช้ดีเอสไอดำเนินการในเรื่องคดีความต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเมือง เพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลงไปคุมด้วยตัวเอง แต่หากต้องการใช้จริงก็ใช้ได้อยู่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะลงไปเปิดตัว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการลงไปดูเพื่อให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น โดยหลังจากนี้คาดว่าคดีความต่างๆ ที่จะเข้าดีเอสไอต้องมีการสกรีนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้นดีเอสไอย่อหย่อน เนื่องจากชาวบ้านมาร้องขอ ซึ่งเมื่อดีเอสไอทำคดีได้เร็ว ตำรวจก็เกิดความน้อยใจ ทั้งนี้ อะไรที่เป็นหน้าที่ของตำรวจ ตำรวจก็ต้องทำ เพราะคดีที่จะเป็นคดีพิเศษต้องเข้าเกณฑ์ หรือเป็นคดีที่มีอิทธิพล คดีสำคัญ ซึ่งตำรวจไม่สามารถดำเนินการได้ โดยคดีพิเศษนั้นอัยการสามารถลงมาสอบด้วยได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |