เริ่มต้นการทำงานของ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถือได้ว่ายัง "เครื่องร้อน" ประกาศจะจัดการคดีที่เกี่ยวข้องกับ "วัดธรรมกาย" ให้เสร็จสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคดียักยอกเงิน และการนำตัวอดีตพระธัมมชโยมาดำเนินคดี โดยมีกระแสข่าวๆ ต่างๆ นานา ว่าทั้งอยู่ในประเทศและต่างประเทศ
แต่ก็มีข้อสังเกตว่าทำไมถึงหยิบยกคดีธรรมกายมาปัดฝุ่นอีกครั้งหลังที่ได้วางมือจากการจับกุมพระธัมมชโยเมื่อมี 2560 จนมีคนขุดภาพที่รัฐมนตรียุติธรรม เคยร่วมงานบุญที่วัดพระธรรมกาย ซึ่งวันก่อนผู้สื่อข่าวได้ถามถึงว่าตัวเองเป็นลูกศิษย์วัดดังกล่าวหรือไม่ เจ้าตัวก็ปัดตอบเรื่องนี้มาโดยตอลด ซึ่งนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม จึงเป็นเหตุบังคับให้สมศักดิ์ต้องเร่งคดีนี้เป็นเรื่องแรก เพราะในเมื่อเป็นนายใหญ่ยุติธรรมแต่ไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็จะโดนสังคมชี้ว่าตัวเองเป็นศิษย์วัดธรรมกาย
จนสุดท้ายก็ยอมเปิดเผยออกมาว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพสมัยที่ตัวเองเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีนโยบายเที่ยวทั่วไทยไปได้ทั้งเดือน ซึ่งตัวเองได้ไปร่วมงานบุญหลายวัด ไม่ใช่แค่วัดธรรมกายวัดเดียว เป็นคนชอบทำบุญบ่อย
แต่อย่างไรก็ดี การที่ "ดีเอสไอ" อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรมถูกมองว่าเป็นองค์กรที่มาจากการเมืองหรือนักการเมือง บรรดาผู้บริหารระดับสูงหรืออธิบดีต่างก็เจอข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไปหลายรายแล้ว และครั้งนี้จะเป็นเครื่องมือพิสูจน์อีกครั้งว่าดีเอสไอจะเป็นองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทำงานเพื่อประชาชน เป็นที่ตั้งอย่างแท้จริงหรือไม่
และมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ทำไม ”บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลงมากำกับดีเอสไอกับมือ รวมถึงปฏิรูปโครงสร้าง เพราะที่ผ่านมาถูกมองว่ามีตำรวจมากเกินไป แต่การปฏิรูปดังกล่าวอาจถูกมองเช่นกันว่า "ดีเอสไอ" จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนกับสมัยก่อนหรือไม่
ในส่วนของคดีธรรมกายถ้า "บิ๊กตู่" เข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้เอง จะจัดการได้หรือไม่ เพราะที่ก่อนหน้านั้นในช่วงที่ดีเอสไอตามจับอดีตพระธัมมชโย ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ในการเข้าจับกุม แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถจับตัวได้ ซึ่งเราก็ต้องมาดูกันว่าครั้งนี้เมื่อลงมากำกับเองแล้วจะสามารถจับกุมตัวอดีตเจ้าอาวาสธรรมกายได้หรือไม่
สำหรับสำนวนคดียักยอกทรัพย์ ยังมีคดีที่แตกย่อยมาจากคดียักยอกสหกรณ์คลองจั่นฯ เป็นการขยายผลตรวจสอบเส้นทางเงินจากเช็ค 878 ฉบับ ที่นายศุภชัย อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ผ่องถ่ายไปให้กับคน 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 วัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง เครือข่ายพระวัดธรรมกายและอดีตพระลูกวัด 43 ฉบับ จำนวน 932 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 ญาติธรรม และบุคคลใกล้ชิดของศุภชัย ศรีศุภอักษร 27 ฉบับ จำนวน 348 ล้านบาท กลุ่มที่ 3 บริษัท เอส.ดับบลิว โฮลดิ้ง กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด 12 ฉบับ จำนวน 272 ล้านบาท
กลุ่มที่ 4 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี 3 ฉบับ จำนวน 46 ล้านบาท กลุ่มที่ 5 กลุ่มนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์, นายจีรเดช วรเพียรกุล และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา 135 ฉบับ จำนวน 2,566 ล้านบาท และกลุ่มที่ 6 นิติบุคคล เงินโอนภายในประเทศและต่างประเทศ การถอนเงินสด แคชเชียร์เช็ค โอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หักบัญชีผ่านอิเล็กทรอนิกส์ และโอนเงินทางอินเทอร์เน็ต 658 ฉบับ จำนวนสูงถึง 7,203 ล้านบาท
ส่วนกรณีการเสนอให้ยุบเลิกมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง ภายหลังดีเอสไอตรวจสอบพบว่า นายศุภชัยนำเงินจากสหกรณ์คลองจั่นฯ มาให้กับพระธัมมชโยแล้วเงินถูกส่งต่อไปให้มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ ใช้สร้างอาคารลูกโลก 700-800 ล้านบาท และสร้างวิหารคตอีก 700-800 ล้านบาท และมีเงินบริจาคตรงเข้ามูลนิธิฯ 325 ล้านบาท รวมถึงเงินอยู่ในมือพระสงฆ์เครือข่าย 30 รูปนำไปซื้อที่ดินและเล่นหุ้น มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ จึงมีส่วนกระทำความผิดในคดีฟอกเงิน
ที่ผ่านมาดีเอสไอได้แจ้งข้อกล่าวหาและนำตัวกรรมการมูลนิธิฯ ไปส่งฟ้องแล้ว แต่เพื่อการดำเนินการเป็นที่สิ้นสุด ดีเอสไอจึงส่งคำร้องถึงอัยการสูงสุดขอให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ให้มีคำสั่งยกเลิกมูลนิธิฯ และให้ทรัพย์สินของมูลนิธิตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 134 แต่จนถึงขณะนี้คำร้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นพนักงานอัยการ ในส่วนการติดตามตัวพระธัมมชโยนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดพบตัว มีเพียงข้อมูลการข่าวหลายกระแส บางส่วนอ้างว่ายังหลบเข้าออกในพื้นที่วัดและหลบหนีไปต่างประเทศ
ซึ่งในส่วนของการติดตามทรัพย์สินเพื่อส่งคืนให้กับสหกรณ์คลองจั่นฯ ดีเอสไอได้ติดตามเงินสดจำนวน 1,500 ล้านบาท ทรัพย์สินอีก 299 รายการ มูลค่า 3,800 ล้านบาท รวมทรัพย์ที่สามารถติดตามคืนได้ทั้งสิ้น 5,300 ล้านบาท ส่งคืนให้กับสหกรณ์ฯ เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิก 50,000 ราย อย่างไรก็ตาม ทรัพย์ที่นายศุภชัยยักยอกมาจากสหกรณ์ฯ ระหว่างปี 52-56 มีมากกว่า 12,000 ล้านบาท มีทั้งนำไปซื้อหุ้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อที่ดินทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทำให้ต้องขยายผลการสอบสวนจากเดิม 12 คดี เพิ่มอีก 11 คดี รวมเป็น 23 คดี และมีแนวโน้มที่จะมีคดีฟอกเงินเพิ่มขึ้นตามเส้นทางการเงินที่ตรวจพบ
เรื่องดังกล่าวคงต้องใช้เวลานานเพราะมีคดีแตกย่อยเป็นจำนวนมาก แต่ดูเหมือนจะง่ายกว่าตามหาตัว "ธัมมชโย" เพราะในการบุกพื้นที่วัดเมื่อครั้งที่แล้ว สิ่งที่ลำบากต่อการจับกุมคือมีมวลชนเข้ามาขัดขวางการจับกุม ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ปกติเหมือนม็อบเสื้อแดง เสื้อเหลือง กปปส. แต่เป็นม็อบพระจะยิ่งแก๊สน้ำตา กระสุนยางก็ทำไม่ได้ เดี๋ยวจะกระทบต่อเรื่องศาสนา และสิทธิมนุษยชน ไม่เหมาะสมเลยไม่สามารถสลายการชุมนุมเพื่อบุกเข้าวัดได้ทุกพื้นที่ เนื่องจากศิษยานุศิษย์จำนวนไม่น้อยที่ยังเข้ามาทำกิจกรรมที่วัด และยังศรัทธาต่อธัมมชโย ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในวัด อีกทั้งดีเอสไอก็ยังไม่ทราบแหล่งกบดานของพระธัมมชโยที่แน่ชัด
แม้ว่า "ดีเอสไอ" จะประสานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดในการส่งนายอำเภอเข้าตรวจสอบบริเวณภายนอกและภายในวัดพระธรรมกายเดือนละครั้ง เพื่อดูความเคลื่อนไหวภายในวัด แต่ยังไม่พบความเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่ผ่านมาวัดยังมีจัดกิจกรรมทางศาสนาช่วงเทศกาลสำคัญ ซึ่งมีประชาชนเข้ามาทำบุญน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่ธัมมชโยยังปรากฏตัวภายในวัด แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการสืบร่องรอยธัมมชโยว่าอยู่ที่ไหน
คงต้องดูว่าการสั่งรื้อคดีในครั้งนี้โดยเฉพาะการจับกุมตัวธัมมชโย รมว.ยุติธรรมจะใช้แผนการใด เพราะที่ผ่านมาต่างล้มเหลว แม้จะมีการปิดวัด และกระทำกับมวลชนด้วยความประนีประนอมลดการเผชิญหน้าที่จะนำไปสู่ความรุนแรง
ยิ่งตอนนี้มีเบาะแสที่ว่า "ธัมมชโย" พำนักอยู่ในต่างประเทศ แต่ก็ต้องดูว่าประเทศนั้นมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทยหรือไม่ แม้จะมีความต่าง กรณี ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จนถึงขณะนี้ทางการไทยก็ไม่สามารถจับกุมได้ แต่ถ้ามีสัญญาณให้ รมว.ยุติธรรม เดินหน้าหาตัว "ธัมมชโย" มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ก็น่าจะมีเค้าลางความสำเร็จของ "บิ๊กสามมิตร" ผู้นี้ในไม่ช้า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |