หน้าที่และความรับผิดชอบ


เพิ่มเพื่อน    

    คำว่า “หน้าที่” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง กิจที่ต้องทำด้วย “ความรับผิดชอบ” คำว่าหน้าที่จึงมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ในขณะที่คนส่วนใหญ่อยากได้ตำแหน่งใหญ่โต อยากเลื่อนขั้น เรียกได้ว่ามีความ “อยากเป็น” มากกว่า “อยากทำ” เราจึงมักเห็นการวิ่งเต้น การประจบสอพลอ แม้กระทั่งการซื้อตำแหน่งเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ “อยากเป็น” แต่เมื่อได้ตำแหน่งมาแล้ว คนที่ “อยากเป็น” มักจะไม่ค่อย “อยากทำ” หรือ “ทำไม่เป็น” คนประเภทนี้จึงใช้ลูกน้องเป็นอย่างเดียว รับแต่ความดีความชอบ เพราะไม่ได้ตระหนักถึงคำว่า หน้าที่ และ ความรับผิดชอบ นั่นเอง
    ในสังคมไทยนั้นให้ความสำคัญกับตำแหน่งเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการต้อนรับ ดูได้จากการเกณฑ์คนมาเข้าแถว นั่งรอ ยิ่งมีจำนวนคนมากแค่ไหนหมายถึงตำแหน่งที่ใหญ่โตของประธานในงานนั้นๆ ในพิธีเปิดหรือการจัดงานในแต่ละครั้งน่าจะเอาจำนวนคนที่อยู่ในพิธีมาหาค่าเสียเวลาและงบประมาณตามจำนวนเงินเดือนเฉลี่ยต่อชั่วโมงของคนในพิธี จะเห็นได้ว่าสิ้นเปลืองงบประมาณและเวลาไปมากมายมหาศาล การประชุมงานของทางหน่วยงานราชการกับบริษัทเอกชนก็ต่างกันลิบลับ หน่วยงานราชการจะเน้นเรื่องวาระการประชุม ใช้ภาษาที่เวิ่นเว้อ ยืดยาด หาข้อสรุปได้ยาก บางครั้งต้องแปลภาษาราชการเป็นภาษาธรรมดาเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ในขณะที่เอกชนจะส่งรายงานการประชุมให้อ่านให้แก้ไขและจะเป็นรูปแบบที่สั้น กระชับ ได้ใจความ ไม่มีการพิมพ์แจกหนาเป็นปึกๆ ส่วนใหญ่จะใช้อ่านจากโน้ตบุ๊กและทำการนำเสนอเป็นรูปแบบ power point ให้เข้าใจได้ง่าย
    คำว่า “วีไอพี” ก็เป็นสิ่งที่มาพร้อมกับความสะดวกสบายในทุกเรื่อง คนไทยจึงดิ้นรนอยากเป็นวีไอพีกันนัก ถ้าเกิดมารวยและมีชื่อเสียงก็ไม่ยาก งานไหนก็อยากเชิญไปประดับเกียรติ และใช้เป็นเครื่องมือให้งานนั้นๆ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน หากไม่ได้ใหญ่โตหรือเกิดมารวยระดับ “เซเลบ” ก็ต้องดิ้นรนเอาเอง บางคนถึงขั้นตะเกียกตะกาย ตั้งแต่หาวุฒิการศึกษามาประดับนำหน้าชื่อ เราจึงเห็นดอกเตอร์ประเภท “จ่ายครบ จบแน่” อยู่ในทุกวงการ แถมต้องอวดอ้างรางวัลต่างๆ มาประกอบเพื่อจะได้ดูเลอค่าสมกับคำว่าวีไอพี จึงไม่น่าแปลกใจว่ามีการแจกรางวัลเกลื่อนไปหมด บางรางวัลแอบอ้างสถาบัน หรือ ผู้เป็นใหญ่เป็นโตมาเป็นเครื่องการันตี หลายคนดิ้นรนไขว่คว้าหารางวัลมาประดับกาย แม้จะแลกด้วยเงินก็ยอมจ่าย
    นอกจากคำนำหน้าชื่อว่า ดอกเตอร์ การได้รางวัลมาประดับเกียรติยศแล้ว คนเหล่านี้ยังไขว่คว้าหาตำแหน่ง “กรรมการ” หรือ “อนุกรรมการ” ในหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำมาต่อท้ายนามบัตรส่งเสริมบารมีให้ดูดียิ่งขึ้น แถมยังได้เบี้ยประชุมอีก บางครั้งก็มีการอวยกันเอง เอื้อประโยชน์กันเอง เหมือนรับจ้างไปนั่งเป็นตุ๊กตาประดับการประชุม บางคนนั่งจ้วงกินขนมเบรก กินอาหารและนั่งหลับคาที่ประชุมก็มี ก็ไม่เข้าใจว่าผู้คนเหล่านี้มีความสุขอะไรกับ “เปลือก” หรือสิ่งจอมปลอมเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีความสามารถเท่าที่ควร แต่อยากเป็น อยากได้ อยากมี ทำให้กีดกันคนที่มีความสามารถ มีความตั้งใจ และมีความเหมาะสม ต้องตกหล่น หลุดหายเพราะวงจรเพราะแพ้บารมีผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้
    เมื่อวงจรเหล่านี้ยังคงอยู่คู่สังคมไทย เมื่อความสามารถแพ้เส้นสาย เมื่อคนดีมีความละอายเกินกว่าจะต่อสู้กับหลักการโสมม เมื่อระบบล้มเหลว เมื่อสังคมยังคงเชิดชูคนที่เปลือกและตำแหน่งบนนามบัตร เมื่อผลประโยชน์มีความหมายมากกว่าคุณธรรม คำว่า “หน้าที่” และ “ความรับผิดชอบ” จึงไม่มีความหมายอีกต่อไป สังคมยุคนี้จึงเป็นยุคที่เรียกว่า “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ผู้คนไม่รู้จักคำว่า “หิริโอตตัปปะ” ไม่มีความละอายในการทำบาป เพราะบาป-บุญจับต้องไม่ได้ แล้วความภาคภูมิใจของคนเราจะอยู่ที่ตรงไหน ถึงเวลาหรือยังที่จะมีตัวชี้วัดที่เรียกว่า “คุณธรรม” ในสังคมให้มากกว่านี้.
จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์ ([email protected])


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"