“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน ก.ค.เพิ่ม 0.98% เหตุอากาศแปรปรวน ดันราคาผัก-อาหารขยับ แต่ยังมั่นใจเป้าเงินเฟ้อปีนี้ยังคงอยู่ในกรอบ 0.7-1.3% ระบุไม่มีสัญญาณเงินเฟ้อขึ้นเร็ว แรง รัฐยังอัดฉีดได้อีก แบงก์ชาติสำนักงานภาคเหนือชี้เศรษฐกิจชะลอตัวทุกด้าน แต่แบงก์ชาติอีสานเผยอีสานอยู่ในภาวะที่ขยายตัวขึ้นอย่างมาก
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ค.2562 ดัชนีเท่ากับ 103 สูงขึ้น 0.98% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.2562 สูงขึ้น 0.06% ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) สูงขึ้น 0.92% ซึ่งยังคงเป็นไปตามประมาณการของกระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้ว่า ในปีนี้เงินเฟ้อจะขยายตัวในกรอบ 0.7-1.3%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 3.47% โดยเฉพาะผักสด สูงขึ้น 20.01% จากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้พืชผักเน่าเสียง่าย ประกอบกับราคาฐานปี 2561 ต่ำ ขณะที่ผลไม้สดสูงขึ้น 9.18%, เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 5.73 %, ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้น 4.02%, ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 1.80%, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.90%, อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้น 0.80% และ 1.12% ตามลำดับ
นอกจากนี้ สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.42% ตามการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 1.32%, หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลง 0.87% โดยเฉพาะของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน) ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.04% ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้น 5.91%, หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 0.27% ,หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้น 0.73%, หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.04%
“สินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยภาพรวมสูงขึ้นถึง 7.12% สูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื้อสุกร ข้าวสารเหนียวและข้าวสารเจ้า ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัว โดยลดลง 3.31% ซึ่งลดลงน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา ที่ลดลง 3.86%”
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน เดือน ก.ค.2562 เท่ากับ 102.52 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.03% และขยายตัว 0.41% หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยไม่ได้แย่มาก แต่ยังทรงๆ และยังไม่มีสัญญาณการขยายตัวที่รวดเร็วและรุนแรง รัฐบาลควรเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพราะขณะนี้สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกชะลอตัว เริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วง 1-2 เดือนนี้ ขณะที่สินค้าเกษตร แนวโน้มราคายังสูง เพราะอากาศแปรปรวน ส่วนผลกระทบจากภัยแล้งจะเป็นผลกระทบระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ราคาสูงขึ้น แต่ต้องการให้รัฐบาล ทบทวนนโยบายให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงคมนาคมที่จะทบทวนค่าขนส่ง กระทรวงพลังงานจะทบทวนนโยบายพลังงาน รวมถึงการขึ้นค่าแรง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อในลำดับต่อไป
นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ แถลงภาวะเศรษฐกิจของภาคเหนือช่วงไตรมาสที่สองของปีและแนวโน้มครึ่งปีหลัง โดยระบุว่า เศรษฐกิจภาคเหนือช่วงไตรมาสที่สองของปี 2562 เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศและเศรษฐกิจโลก ที่มีการชะลอตัวลงต่อเนื่องทุกด้าน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นจุดแข็งสำคัญ
ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงและติดลบในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เป็นต้นมา ที่เป็นผลกระทบจากปัญหามลพิษหมอกควันไฟป่า รายได้เกษตรกรลดลงติดลบ -15% เป็นผลจากผลผลิตที่หดตัว -17.2% ภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอ้อย โรงงานที่ลดลงถึง -76% นอกจากนี้ดัชนีด้านการค้าชายแดน ภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชน การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการลงทุนภาครัฐก็หดตัวในทิศทางเดียวกันด้วย หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อลดลง ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นยังทรงตัว
แต่ทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี มีแนวโน้มที่จะยังชะลอตัวและอาจจะขยายตัวขึ้นได้ หลังมีความชัดเจนทางด้านการเมือง ตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เป็นตัวหนุนหลักกำลังขยับสูงขึ้น แต่ก็มีปัจจัยท้าทายที่ต้องระวังคือ ความผันผวนของสภาพภัยทางธรรมชาติ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังสูง แต่ยังมีปัจจัยเสริมในเรื่องการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงท้ายปีงบประมาณ ที่จะมาช่วยกระตุ้น โดยเฉพาะบัตรประชารัฐ ที่มาเสริมกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
นายประสาท สมจิตรนึก ผอส.ธปท. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 3 ของปีนี้ ภาคอีสานอยู่ในภาวะที่ขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยมีปัจจัยหนุนจากเรื่องการค้าชายแดนและการนำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกจากภาคอีสานไปยังประเทศจีนตอนใต้, เรื่องปศุสัตว์จากอีสานไป สปป.ลาว และ กัมพูชา ที่เป็นตัวกระตุ้นภาพรวมทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ขณะที่สัดส่วนการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนแม้จะชะลอตัวบ้าง แต่เมื่อวันนี้เรามีรัฐบาลที่ชัดเจนมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแล้ว จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศตัดสินใจลงทุนในพื้นที่ภาคอีสานเพิ่มมากขึ้น
“ภาคการเกษตร, อุตสาหกรรมและการค้าชายแดน ยังคงเป็นปัจจัยบวกที่สร้างรายได้ให้กับคนอีสานอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าหลายพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ภาพรวมทางการเกษตร ซึ่งแต่ละจังหวัดก็จะมีการหมุนเวียนและแนวทางการผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่แตกต่างกัน”
นายประสาทกล่าวต่ออีกว่า แม้การเบิกจ่ายของภาครัฐจะชะลอตัวในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ไตรมาสสามที่เรามีรัฐบาลแล้ว การกระตุ้นการเบิกจ่ายของรัฐ รวมทั้งเสถียรภาพของรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่จะมีนโยบายกระตุ้นหรือกลยุทธ์ในการดึงดูดหรือส่งเสริมนักลงทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะกับเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่รัฐสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ภาคอีสานในหลายจังหวัด ก็จะทำให้แนวโน้มทางเศรษฐกิจของภาคอีสานในไตรมาสสามต่อเนื่องไตรมาสที่สี่ของปีนั้นสดใสมากยิ่งขึ้นด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |