ก็ตามสัญญา!
อภิปรายรองนายกฯ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ในรัฐสภา นัดแถลงนโยบาย เมื่อ ๒๕-๒๖ ก.ค.๖๒ ผมแกะเสร็จแล้ว
ยาว ต้องพรุ่งนี้อีกวัน.......
เป็นยาว "มองอดีต-ทำปัจจุบัน-สู่อนาคต" คุ้มค่าที่จะอ่าน ดังต่อไปนี้
“เรามีอะไรดีกว่าเวียดนาม..พม่า ค่าแรงเราก็แพงกว่าเขา เทคโนโลยีเรา ก็ครึ่งๆ กลางๆ
ถ้าไม่ "ปฏิรูปประเทศ" จะมีอะไรที่พัฒนากว่าเขามาได้ ซ้ำร้ายที่สุดก็คือ อนาคตข้างหน้า
ขณะนี้ อย่างที่ท่านกล่าว ในหนังสือที่แจกนโยบาย
สังคมมันเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน การผลิตเปลี่ยน การค้าเปลี่ยน
ถ้าเราไม่เปลี่ยนตามสิ่งเหล่านี้ให้ทัน คิดว่าเราอยู่ได้ไหม?
อันนี้เป็นเรื่องที่หนักใจมาก เรียนตามความสัตย์จริง แต่เราก็พยายามวางรากฐานเอาไว้ ก็ไม่ใช่ว่า แค่เห็น GDP โต แล้วก็ดีใจ
ข้อแรก เรื่องเหลื่อมล้ำ ถ้ามีมาก มันอยู่ไม่ได้ สังคมมันตีกัน เพราะคนจน เวลาจนมากๆ จะไม่ฟังเหตุ ผลสิบเบี้ยใกล้มือ...ผมจะเอาเงินไว้ก่อนล่ะ
ถามท่านจริงๆ ในช่วงที่ผ่าน 4-5 ปี ถ้าท่านเป็นธรรมกับรัฐบาลเสียหน่อย ข้าว..ราคาก็ตกต่ำ สินค้าเกษตรทั่วโลกตกต่ำทั้งนั้น
"ข้าว" แย่กว่าเพื่อน เพราะมีแรงกดดันจากข้าวในสต๊อกมหาศาล จะไม่โทษว่าใครทำอะไรไว้ ก็เป็นเรื่องกรรมของแต่ละคน
ตั้งแต่สมัยอยู่ไทยรักไทย ปลูกยางทั้งประเทศ อีสานปลูก, ใต้ปลูก, เหนือปลูก แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผมไม่ได้บอกปลูกยางไม่ดี
แต่เราไม่มีการเปลี่ยนแปลงการผลิตยางให้มี Value added เพิ่มเลย supply มหาศาล value ต่ำ จะขายให้ใคร? ไปเมืองจีนทีไร ขายหน้าทุกที ขอให้จีนซื้อ..ขอให้จีนซื้อ ผมไม่ยอมพูดง่ายๆ ว่าจะขอให้จีนซื้อ ผมนี่จะทำสินค้าให้จีนต้องซื้อ
๑๕ ปีผ่านไป ตั้งแต่สมัยก่อน ที่ดีลเรื่องจีน ก็ยังต้องไปขอให้เขาซื้อข้าว ซื้อยาง ผมขายหน้า พูดตรงๆ นะครับ
ฉะนั้น ก็พยายามเต็มที่........
ชาวนานี่ ท่านทราบดี เกือบ 30 ล้านคน GDP ไม่ถึง 10% แล้วเขาจะเอาส่วนแบ่งที่ไหน มันน้อยมาก
พอเป็นอย่างนี้ ทางเดียวที่จะช่วยเขาได้ ในระยะสั้น ทุกพรรคก็ใช้แล้วครับ
พรรคเพื่อไทยใช้จำนำข้าว ประชาธิปัตย์ใช้ประกันรายได้ รัฐบาลที่ผ่านมาใช้วิธีเพิ่มรายได้ให้มันพอดีกับที่เขาคิดว่าเขาน่าจะอยู่ได้ และพอมีพอกิน
เราไม่รู้จะเรียกว่าอะไร จำนำยุ้งฉาง ท่านจะเรียกอย่างนั้นก็ได้ ทุกคนเน้นไปที่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ท่านบอกว่าไม่ได้ช่วยเหลือ..ไม่จริงนะครับ
สารพัดเลย ไม่ว่า ธ.ก.ส. ไม่ว่าเกษตรฯ ทุกองค์กร ต่างทุ่มเทไปที่คนจนทั้งสิ้น
พยายามยกระดับราคาขึ้นมาเท่าที่ทำได้ในขณะนั้น แต่ท่านก็ทราบ ราคาแค่นั้น มันไม่เพียงพอ
ที่มีข่าวชาวนาฆ่าตัวตาย ที่นครปฐม ที่บอกราคาสินค้าที่ผลิตขึ้นมานั้น ต่อให้เราช่วยเต็มที่ แต่โครงสร้างทั้งระบบ ไม่ว่าปุ๋ย ไม่ว่าราคาทุกอย่าง มันไม่เอื้ออำนวยเขาเลย
ทำไม ต่างประเทศรู้จักใช้ข้าวจากเรา ไปทำสินค้านานาประเภท ที่มันมีมูลค่าสูง?
ทำไม เขารู้จักแปรรูปสินค้าให้ดี ทำไมเขารู้จักสนับสนุนให้เกษตรกรของเขาค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซได้?
สิ่งเหล่านี้ เราพยายามเรียนรู้และนำมาจากประเทศอื่นอย่างที่เราทำผ่านมา 4-5 ปี
สิ่งหนึ่ง ที่เรามองและกล้าทำลงไป คือเรารู้ว่า คนจนนี่..จน สมัยก่อน ช่วยเขา มันไปไม่ถึงเขา
"กระทรวงการคลัง" ขณะนั้น ก็สร้างระบบพร้อมเพย์ขึ้นมา มันมีประโยชน์ 2 อย่างที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่เคยมีใครพูดเลยว่า สิ่งเหล่านี้มันดี
ข้อที่หนึ่ง มันลดต้นทุนในการ transfer เงิน ทั้งระบบ ปีหนึ่งไม่รู้กี่หมื่นล้านบาท
ข้อสองก็คือ ระบบพร้อมเพย์ ทำให้ทุกอย่างไปถึงมือชาวบ้านได้ ร้านค้าย่อยได้ ทั้งระบบ "หนีภาษี" ทั้งนั้น
ทุกคนไม่ยอมจ่ายภาษีกัน แต่พร้อมเพย์ เมื่อไปถึงแล้ว คนแค่รูดการ์ด ทุกอย่าง ก็จะอยู่ในระบบหมด
สิ่งสำคัญ "สวัสดิการประชารัฐ" ที่ทำขึ้นมา มันมาคู่กับพร้อมเพย์ มาคู่กับ Electronics transfer เพราะเราเรียนรู้จากต่างประเทศ ว่า
วิธีการนี้สามารถยิงเงินไปสู่ที่ที่ต้องการได้ตรงๆ เลย ไม่มีที่ว่า "ไอศกรีมละลาย" ระหว่างทาง
ท่านบอก "สวัสดิการประชารัฐ" เอื้อคนรวย ผมขอเรียนท่านตรงๆ นะครับ
พวกเราหลายคนเติบโตมาจากครอบครัวที่จน เรารู้ว่าความจนมันแย่อย่างไร ถ้าไม่มีการศึกษา รายได้ 30,000/ปี มันอยู่ได้อย่างไร?
ฉะนั้น "บัตรสวัสดิการประชารัฐ" ทีแรกเรียก "บัตรคนจน" ก็โดนกระแนะกระแหน ก็เรียก "บัตรสวัสดิการประชารัฐ"
เริ่มต้น ทำไมถึงให้เขาซื้อผ่านธงฟ้า?
เพราะขณะนั้น ร้านค้ารายย่อยส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องรูดการ์ด ไม่มี e-wallet
เขาต้องการให้ชาวนาและเกษตรกรซื้อของกิน-ของใช้ที่จำเป็น แล้วเราก็ support เรื่องแก๊ส เรื่องค่าเดินทาง เล็กๆ น้อยๆ
รัฐมนตรีคลังในอดีต "ขี้เหนียว" มาก ไม่ใช่จู่ๆ จะอนุมัติง่ายๆ แต่มันเริ่มขึ้นมาดี เขาก็พยายามจูงใจให้ร้านค้าย่อยมีเครื่องรูดการ์ด
หลังจากนั้น ก็เริ่มให้ซื้อขายผ่านร้านอื่น ร้านค้าย่อย จนกระทั่งมีการให้เงินสดเพิ่มเติมในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีเจตนาแจกเงินเลย
แต่เขาเหล่านั้น มีเงินปีหนึ่งแค่ 3 หมื่น เราต้องการประทังชีวิตของเขาให้ได้ แต่สิ่งสำคัญ ระยะสั้นทั้งนั้น
อนาคต คนแก่ก็เยอะ ระบบสวัสดิการประเทศก็ยังไม่มี ท่านลองนึกดูสิว่า อะไรมันจะเกิดขึ้น?
ฉะนั้น ที่ทำหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ จะทำอย่างไร ที่จะวางรากฐานให้มันรับมือข้างหน้าได้
เอาเรื่องแรกก่อน เรื่อง "การส่งออก"
การ "หาตลาดใหม่" กระทรวงพาณิชย์เขาพยายามมากี่ปีแล้ว ทุกช่องทาง เขาประชุมทุกปี
ทุกคนมาถึง..มีเป้า ทุกคนเจาะตลาดมา เขาพยายามมาเต็มที่ แต่มันไม่ได้ง่าย สมัยนี้ มันแข่งกันสูงมาก
ฉะนั้น การที่จะส่งออกได้ดี สินค้าของเราต้องแข่งขันได้ มีมูลค่าที่สู้เขาได้
ถ้ามีแต่อุตสาหกรรมเดิม 4-5 ตัว ยานยนต์ทั้งประเทศ อย่างนี้ ไปได้หรือ?
มันไม่ได้........
สินค้าเกษตรต้องแปรรูป ยกระดับมูลค่ามัน นี่คือหัวใจ จะทำอย่างไร อุตสาหกรรมอื่น ที่เราแข่งขันได้ในอนาคตข้างหน้า?
เราถึงมีการประกาศ "อุตสาหกรรมใหม่ๆ" ที่ต้องสร้างมันขึ้นมาสำหรับการ "ส่งออกในอนาคต"
การท่องเที่ยว เราประกาศ...ท่องเที่ยวต่อจากนี้ เราส่งเสริม "ท่องเที่ยวเมืองรอง"
เพราะการแก้ไข "ปัญหายากจน" ที่ดีที่สุด ข้อที่หนึ่ง คือ ชุมชนต้องเข้มแข็ง เกษตรกรหนึ่งคน จน..อ่อนแอ แต่ถ้าเขารวมเป็นชุมชนได้ เขาเข้มแข็ง
เมื่อเขาเข้มแข็ง ก็สามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปได้ เอาสิ่งใหม่ๆ เข้าไปได้ มันก็สร้างมูลค่าได้
ท่านก็รู้ คนจนทั่วๆ ไป การเปลี่ยนแปลงทำได้ลำบาก ธ.ก.ส. กระทรวงเกษตรฯ เขาเริ่มกันที่ Smart Farmer
ไม่ใช่คนที่ฉลาดนะ แต่มันคือ Leader opinion คือคนที่เป็น "ผู้นำในหมู่บ้าน" ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
เมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็จะกระจายไปสู่ลูกบ้าน ทั้ง community ทั้งสังคม ทั้งประเทศ นี่คือตัวที่สอง
เมื่อ "ปฏิรูปการเกษตร" ให้ดีขึ้น เอาท่องเที่ยวเข้าไปถึงหมู่บ้าน คนจะไปเที่ยวได้ มันต้องมีอะไร?
ต้องมี "เส้นทางคมนาคม"
30-40 ปี เราสร้างถนนให้รถยนต์ แต่ "รถไฟ" ไม่เคยมี มีอยู่แค่ 250 กว่า กม.....กี่สิบปี?
แต่รัฐบาลนี้ใช่หรือไม่ เมกะโปรเจ็กต์มันออกมา อย่างน้อยๆ รางคู่ 7 เส้นทางแล้ว จาก 251 เป็นประมาณ 4,000 กม. ภายในเวลา 5 ปี
ไม่ใช่เท่านั้น นโยบายของเราก็คือ เอารถไฟไปเมืองรองด้วย ให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเมือง
"รถไฟฟ้า" เคยเกิดไหม ตั้งแต่เกิด BTS ขึ้นมากี่สิบปี นี่ออกมาแล้ว 7 เส้นทาง แล้วเกิดอะไรขึ้นมาอีก...EEC ผมเรียนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ถ้าท่านไม่มี EEC จะเอาอะไรไปขายสู้กับเวียดนาม?
เขาบอก เขามี "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" ที่เด่น 3 แห่ง ที่โฮจิมินห์ ซิตี ที่ดานัง ที่เมืองหลวงของเขา
เรามีอะไร ค่าแรงแพงกว่าเขาครึ่งหนึ่ง!
ฉะนั้น EEC มันถึงเกิดขึ้นมา ......
พยายามทำให้เป็นเบ้าหลอมของการนำเข้า-ส่งออก เป็นแหล่งผลิตสินค้ามีมูลค่า และให้เป็น Hub ภูมิภาคนี้
โครงการเหล่านี้ต้องอาศัยเงิน ก็พยายามคิดว่า "งบประมาณ" เราจะเซฟได้อย่างไร เซฟการกู้ได้อย่างไร ก็ออก Future Fund, Infra Fund ออกมา
ก็สำเร็จไปแล้ว 1 โครงการ เซฟเงินไปได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท
นี่แค่โครงการเดียว เราเน้น PPP การร่วมลงทุนกับเอกชน เซฟเงินรัฐบาลได้อีก
อย่างโครงการรถไฟ 3 สนามบินที่ EEC รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเลย เอกชนเขาหาพวกมาสู้กัน ประมูลแข่งกัน เขาชนะ เขาต้องทำให้เมืองไทย
สิ่งเหล่านี้จะบอกว่า เมื่อมี EEC แล้ว อุตสาหกรรมใหม่ๆ มันก็เกิดขึ้นที่นั่น
แต่หลักการคือ เมื่อเกิดอุตสาหกรรมที่นั่น อย่าไปสร้างมลภาวะพิษ ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม
แต่อย่างน้อยที่สุด วันนี้ 5 โครงการใหญ่ แหลมฉบัง, มาบตาพุด, รถไฟ, สนามบินอู่ตะเภา 4 โครงการนี้ เริ่มเดินหน้าแล้ว
เหลือแค่ MRO "ศูนย์ซ่อม" ที่ยังไม่เดินหน้า ซึ่งต้องเร่งให้มันดีขึ้น
ฉะนั้น EEC ต้องเกิด เพราะสร้างจุดขายใหม่ให้ประเทศ สร้างแรงดึงดูดให้กับประเทศ
แล้วสิ่งเหล่านี้ ท่านบอกว่า สร้างเยอะแยะ!?
สมัยก่อน ไม่ได้สร้างเลย ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามา ตัวหนี้ต่อ GDP เท่าไหร่?
ครั้งนี้ ล่าสุดอยู่ที่ 42% ไม่ได้สูงกว่าในอดีตเลย คำตอบมันอยู่ที่ว่า...ที่กู้มา ลงทุนอะไรจริงจัง สร้างรายได้ในอนาคตได้หรือไม่?
ถ้าสร้างได้ GDP มันโตขึ้นมา ก็รองรับขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้ ตัวเลข indicator ที่สากลยอมรับ "เราดีขึ้นทุกตัว"
ท่านบอก "เละเทะทุกตัว".....
ผมเห็นต่างนะครับ เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ท่านก็พูดของท่านได้ ผมก็พูดของผม
จบ..สมคิด "รอบบ่าย"
พรุ่งนี้ต่อ ด้วย "สมคิด-ภาคดึก" นะครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |