ในโลกธุรกิจต้องยอมรับว่าดิจิทัลเข้าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของนักการตลาด ที่ต้องนำมาวิเคราะห์ประกอบธุรกิจ โดยเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงแค่ความท้าทายของผู้ประกอบการ ในแง่ของการเชื่อมต่อแบรนด์ไปยังลูกค้า หรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทว่ายังเป็นอีกหนึ่งความใหม่ที่เป็นช่องว่างระหว่างคนก่อตั้งธุรกิจดั้งเดิม และทายาทผู้ต้องเข้ามาสานต่อกิจการ
PwC มีข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่า ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ทั่วโลก มองว่ากลยุทธ์ที่สอดรับกับยุคดิจิทัลจะนำพากิจการสู่ความสำเร็จ แต่ช่องว่างระหว่างวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการลงทุนด้านเทคโนโลยียังเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริหารทั้ง 2 รุ่น และอาจทำให้เกิดความล่าช้า นับเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตขององค์กร ซึ่งทายาทผู้นำรุ่นใหม่ของไทยก็ประสบปัญหาในการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจสู่ดิจิทัลเช่นเดียวกัน เพราะความเห็นที่แตกต่างจากผู้นำรุ่นพ่อ-แม่ มีแนวโน้มว่าส่วนใหญ่ผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเองมากขึ้น
สำหรับกรณีดังกล่าว “นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย” หุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า เท่าที่ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกทายาทกิจการรุ่นใหม่จำนวน 35 ราย จาก 21 ประเทศ และสำรวจความคิดเห็นทายาทรุ่นใหม่ในรูปแบบอื่นๆ อีกกว่า 100 ราย ช่องว่างระหว่างวัย และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรยังคงเป็นปัญหาที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่การเปลี่ยนถ่ายธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัลได้กลายเป็นความท้าทายที่พวกเขาต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้นำรุ่นพ่อ-แม่ เนื่องจากมุมมองในเรื่องของความคุ้มค่าของเงินลงทุน รวมทั้งประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจของผู้นำแต่ละรุ่นนั้นยังคงมีความแตกต่างกัน
รายงานของ PwC ยังระบุว่า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ดิจิทัลกลายเป็นความท้าทายที่องค์กรต่างๆ รวมทั้งธุรกิจครอบครัวต้องตระหนักถึง เห็นได้จาก 75% ของทายาทผู้นำรุ่นใหม่ที่ถูกสำรวจ เชื่อว่าการมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และในฐานะที่ผู้บริหารรุ่นนี้เป็นกลุ่มคนที่เติบโตในโลกของเทคโนโลยีและมีความคุ้นเคยกับการใช้ดิจิทัล หรือที่เรียกกันว่า Digital natives จึงรู้สึกได้ถึงความสะดวกสบายของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และเห็นถึงศักยภาพที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขององค์กร แต่แม้กระนั้นก็มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 7% เท่านั้น ที่เชื่อว่าในปัจจุบันกิจการครอบครัวของตนเองกำลังดำเนินธุรกิจบนแนวทางที่สอดรับกับโลกดิจิทัลดังกล่าว
หากพิจารณาดูแล้วที่ผ่านมาสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนรุ่นก่อนไม่กล้าจะเปลี่ยนถ่ายธุรกิจ คงเป็นเรื่องของเงินลงทุน ที่ทำให้ผู้บริหารรุ่นเก่าหลายรายไม่กล้าที่จะผูกมัดตัวเองในประเด็นนี้ จากการสำรวจยังพบว่า 36% ของทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่แสดงความอึดอัดที่ผู้บริหารพ่อ-แม่ ไม่พยายามเข้าใจถึงศักยภาพของดิจิทัล และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ความล้าหลังของเทคโนโลยีอีกด้วย
แม้ว่าจะมีความต่างสักเท่าไหร่ แต่ธุรกิจก็ต้องถูกนำพาทั้งจากประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า และความรอบรู้เรื่องใหม่ๆ ของผู้สืบทอด ดังนั้นตัวของทายาทรุ่นใหม่ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จด้วยกันหลายประการ ทั้งเรื่องของวัฒนธรรมที่ต้องส่งเสริมให้องค์กรเป็นสถานที่ที่ทายาทรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างปลอดภัย ส่วนการสื่อสาร 2 ทางบนพื้นฐานของความเคารพและเชื่อใจระหว่างเจ้าของกิจการครอบครัวรุ่นใหม่และรุ่นปัจจุบัน จะทำให้เกิดการยอมรับในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
อีกปัจจัยคงเป็นความชัดเจน การมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนและการแบ่งขอบเขตของหน้าที่ ความรับผิดชอบที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก รวมถึงความน่าเชื่อถือในฐานะ “ลูกของนายจ้าง” ยิ่งต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเองผ่านการทำงานให้เป็นที่ยอมรับนับถือจากเพื่อนร่วมงาน ที่ต้องมาพร้อมกับความมุ่งมั่น โดยทายาทรุ่นใหม่ก็ต้องพร้อมที่จะทุ่มเทเวลาในการเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองให้เกิดผลสำเร็จ
แน่นอนว่าความสำเร็จที่ยั่งยืนในโลกของธุรกิจครอบครัว ต้องอาศัยทั้งการให้และการรับ ทายาทรุ่นใหม่และผู้บริหารรุ่นปัจจุบันต้องหาจุดสมดุลระหว่างเป้าหมายของกิจการกับความต้องการของครอบครัวให้ได้ หากขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไป หรือเกิดการบริหารที่ผิดพลาดจะทำให้กระบวนการของการสืบต่อกิจการกลับกลายเป็นความเสี่ยง เสียหลัก มากกว่าโอกาสทางธุรกิจ
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |