กษ.ทุ่ม2แสนล้าน แก้วิกฤติภัยแล้ง พายุจ่อถล่ม36จ.


เพิ่มเพื่อน    

 กรมอุตุฯ เตือนรับมือพายุโซนร้อน "วิภา" ขึ้นฝั่งเวียดนามช่วง 1-2 ส.ค. ส่งผล "เหนือ-อีสาน" ไทยมีฝนตกหนัก เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน "ปภ." แจ้ง 36 จังหวัดพร้อมรับมือ "เฉลิมชัย" ลุยแก้ภัยแล้ง จ.สุรินทร์ งัด 2 เมกะโปรเจ็กต์กว่า 2 แสนล้าน ผันน้ำเติมเขื่อนภูมิพล "อธิบดีกรมฝนหลวงฯ" เร่งปฏิบัติการฝนหลวงต่อเนื่อง

    เมื่อวันที่ 31 ก.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 6 เรื่อง "พายุบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน" มีผลกระทบจนถึงวันที่ 3 ส.ค.2562 ระบุว่า พายุโซนร้อน "วิภา" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 200 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 19.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนืออย่างช้าๆ ซึ่งคาดว่าช่วงวันที่ 1-2 ส.ค. พายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ซึ่งจะทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยจะมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือก่อน ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปเกาะไหหลำ ประเทศจีนตอนใต้ และประเทศเวียดนามตอนบน ควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางด้วย
    ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 31 ก.ค.-6 ส.ค.2562 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น จะทำให้ภาคใต้และภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย
    ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน แล้วเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ในวันที่ 1-2 ส.ค.2562 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินถล่ม และคลื่นลมแรง 
รับมือพายุโซนร้อนวิภา
    อธิบดี ปภ.กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-6 ส.ค.นี้ ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ที่ต้องติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม แยกเป็นภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์, ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ตราด, ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 
    สำหรับพื้นที่ต้องติดตามผลกระทบจากคลื่นลมแรง แยกเป็น ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี และตราด, ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ 
    ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำพอก อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเร่งแก้ปัญหา 
    นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าวบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน โดยเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุด คือการจัดหาแหล่งน้ำเสริมให้แก่อ่างเก็บน้ำหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีน้ำไหลลงอ่างฯ น้อย เนื่องจากฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 29%
    ทั้งนี้ กรมชลประทานรายงานว่า แผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ปริมาตรน้ำเก็บกัก 1 พ.ค.-30 ก.ค.62 มีทั้งสิ้น 2,565 ล้าน ลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,394 ล้านลบ.ม. ความต้องการใช้น้ำตลอดฤดูฝนปี 62 รวม 4,106 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำชลประทาน 2,258 ล้านลบ.ม. และน้ำฝน 1,848 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรไปแล้ว 914 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22% คงเหลือปริมาตรน้ำที่ต้องจัดสรรจากแผน 3,192 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 78% เป็นน้ำชลประทาน 1,436 ล้าน ลบ.ม. และน้ำฝน 1,756 ล้าน ลบ.ม. 
    สำหรับแผนเพาะปลูกข้าวฤดูฝนกำหนดไว้ 3.41 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 3.14 ล้านไร่ คิดเป็น 92% ซึ่งการบริหารจัดการตามแผนที่วางไว้คือ การปลูกพืชให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมเพื่อให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนและเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง โดยพื้นที่เฝ้าระวังภัยแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม และสุรินทร์
    กรมชลประทานระบุว่า สาเหตุการเกิดภัยแล้งในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เนื่องจากมีปริมาณฝนน้อยตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณฝนตกเพียง 1,158 มิลลิเมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 17 แห่ง มีเพียง 131 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของค่าเฉลี่ย จนถึงปัจจุบันมีปริมาณฝนสะสม 399 มิลลิเมตร มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพียง 13 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 2 ของค่าเฉลี่ย ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือ โดยทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำอำปึล ปริมาณ 0.50 ล้าน ลบ.ม. พร้อมขุดร่องชักน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงเข้าสู่จุดสูบน้ำการประปาและสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำราชมงคลลงห้วยเสนง ปริมาณ 0.25 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งผันน้ำจากบ่อหิน ปริมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำช่วยเหลือได้ 21 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 2 อ่างเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาเลี้ยงอำเภอเมืองสุรินทร์ 
    นอกจากนี้ ยังประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเพื่อเจาะน้ำบาดาลเติมน้ำสู่อ่างฯ รวมถึงจะขุดลอกแก้มลิงเกาะแก้วและป่าเวย อำเภอสำโรงทาบเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักของจังหวัดสุรินทร์อีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนเพิ่มแล้วก็ตาม แต่ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และขอความร่วมมือเกษตรงดทำการเพาะปลูกต่อเนื่อง หรือทำการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตทางการเกษตร
ผันน้ำเติมเขื่อนแก้แล้ง
    นายเฉลิมชัยกล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า พบวิกฤติมาก จึงได้สั่งกรมชลประทานให้ผันน้ำจากแหล่งธรรมชาติมาช่วยเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภคและการเกษตร จากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าจะมีฝนตกมากขึ้นเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งสถานการณ์จะดีขึ้น แต่หากฝนยังอยู่ในเกณฑ์น้อยต้องขุดลอกแก้มลิงและขุดร่องชักน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาเสริม โดยทำควบคู่กับปฏิบัติการฝนหลวง 
    "ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนเครื่องบินจากกองทัพอากาศ กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มอีก 7 ลำ สามารถเพิ่มเที่ยวบินปฏิบัติการได้ ประกอบกับระยะนี้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูงขึ้น ทำให้การปฏิบัติการได้ผลดี" นายเฉลิมชัยกล่าว
    รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในส่วนการเยียวยาเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ พร้อมช่วยเหลือปัจจัยการผลิตฤดูเพาะปลูกหน้า สำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึงต้องส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ขณะนี้สั่งเร่งสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตร หากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติแล้ง รัฐบาลจัดงบกลางไว้แล้ว เกษตรกรจะได้รับการชดเชยภายใน 30 วันหลังการสำรวจ
    "มาตรการระยะยาวแก้ปัญหาน้ำของประเทศจะต้องเร่งดำเนินการโครงการผันน้ำลำน้ำยวมมาเติมเขื่อนภูมิพล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบโครงการจะเริ่มก่อสร้างปี 2564 ใช้งบเกือบ 70,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มน้ำเขื่อนภูมิพล 1,800 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี โดยเป็นระบบสูบส่งเข้าอุโมงค์ลอดผ่านดอยเต่าแล้วลงสู่ต้นแม่น้ำปิงไหลเข้าเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก จะช่วยให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำในลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด อีกโครงการที่กำลังเร่งเดินหน้าคือ โครงการผันน้ำจากปากแม่น้ำโขงที่อยู่ในเขตไทย รวมทั้งแม่น้ำเลย ชี และมูลมาใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งบประมาณกว่า 156,000 ล้านบาท ซึ่งหน้าแล้งจะมีน้ำใช้มากขึ้น ส่วนฤดูฝนมีอาคารบังคับน้ำระบายน้ำออกเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย" รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าว
    ส่วนนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมาการทำฝนหลวงมีอุปสรรค เพราะมีปัญหาลมแรง ความชื้นอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อปฏิบัติการฝนหลวง โดยได้บินปฏิบัติการทำฝนให้ตกลงสู่อ่างฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปแล้ว 19 เขื่อน จากจำนวนอ่างทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุเก็บกักกว่า 100 แห่ง 
    อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้วันที่ 1-2 ส.ค.นี้ จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือนั้น คาดว่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศจะสูงขึ้นและดัชนีค่าการยกตัวของเมฆดีขึ้น มีโอกาสให้การบินปฏิบัติการทำให้ฝนตกลงในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือได้ผลดีขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอจนถึงฤดูแล้งหน้า 
    "กรมฝนหลวงฯ จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามที่กรมชลประทานขอรับการสนับสนุนมา สำหรับในจังหวัดสุรินทร์จะทำฝนเพื่อเติมน้ำในอ่างห้วยเสนงและอ่างอำปึลเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค" อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าว
    ที่ จ.ภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2562 ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ตและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
    นายภัคพงศ์กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงทำให้อ่างเก็บน้ำหลักคือ อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำบางวาด และอ่างเก็บน้ำคลองกระทะ มีปริมาณน้ำลดลงเป็นอย่างมาก จึงมีการเตรียมแผนในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยการประชุมครั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมแผนงานในการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"