หลังจากมีข่าวการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ (บิ๊กไบค์) อย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันกลับมาหามาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำๆ จึงได้เตรียมออกมาตรการความปลอดภัยการใช้บิ๊กไบค์ โดยจะประกาศกฎกระทรวงให้ผู้ขายรถบิ๊กไบค์ต้องจัดอบรมการใช้งาน และออกใบรับรองให้ผู้ซื้อ ซึ่งขณะนี้ก็ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายต้องมานั่งถกกันว่าที่สุดแล้วมาตรการต่างๆ จะออกมาเป็นรูปธรรมเมื่อไร
ขณะเดียวกัน กรมขนส่งทางบก (ขบ.) ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ (จยย.) ไทย ส่วนใหญ่เป็นค่ายรถจากประเทศญี่ปุ่น ค่ายรถจากยุโรป อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู และค่ายรถจากสหรัฐอเมริกา เช่น ฮาร์เลย์ เดวิดสัน เข้าประชุมหารือ หลักการกำหนดผู้ที่จะขอใบขับขี่บิ๊กไบค์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ 400 ซีซีขึ้นไป ต้องผ่านการอบรมตาม ขบ.กำหนด รวมทั้งอนาคตผู้ที่จะซื้อบิ๊กไบค์ตามค่ายบิ๊กไบค์ ต้องอบรมตามที่ ขบ.กำหนดเป็นหลักสูตรขั้นต้น
ทั้งนี้ บางค่ายรถอาจอบรมเสริมทักษะมากกว่าที่ ขบ.กำหนดได้ เพราะผู้ขับบิ๊กไบค์ไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างลักษณะที่ใหญ่ เนื่องจากตามสนามแข่งบิ๊กไบค์มีแต่ผู้ขับขี่ตัวเล็กทั้งนั้น ถ้ารู้จักวิธีการใช้รถที่ถูกต้อง เพราะบิ๊กไบค์มีสมรรถนะที่แรง น้ำหนักรถมาก ถ้าไม่รู้จักควบคุมทักษะรถที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ในปัจจุบันไม่ได้จำแนกว่าใบขับขี่ส่วนบุคคลมีตามขนาดเท่าไหร่ ทำให้ใบขับขี่ส่วนบุคคลปัจจุบันยังเป็นใบขับขี่รถจักรยานยนต์เหมือนเดิม อนาคตผู้ที่ขอรับใบขับขี่บิ๊กไบค์จะปรับรูปแบบที่เป็นใบขับขี่แบบสมาร์ทการ์ด ถ้าผู้ที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจาก ขบ. และมีเอกสารหลักฐานมาทำใบขับขี่ ขบ.จะออกใบขับขี่ที่ด้านหลังมีโลโก้บิ๊กไบค์โดยเฉพาะให้
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตยังมีแนวโน้มว่า กรมการขนส่งทางบกจะแก้กฎหมาย จำแนกจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ออกเป็นประเภทต่างหาก โดยหลักการนี้มีอยู่ในการรวมร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ....ที่นำกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 รวมเข้าเป็นฉบับเดียวกันที่กฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว เพียงแต่กฎหมายนั้นไม่ได้ผ่านการเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ที่กรมการขนส่งทางบก จากนั้นจะหยิบยกเข้ามาทบทวนเพื่อเสนอใหม่ อนาคตถ้ามีการแก้ไขกฎหมายจะมีการพิจารณาแยกส่วนจักรยานยนต์ทั่วไปกับบิ๊กไบค์ให้เกิดความชัดเจนขึ้น
ขณะเดียวกันอาจจะมีเงื่อนไขแนวทางดำเนินการตามที่ได้ศึกษาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อาจจะต้องมีทักษะหรือประสบการณ์ในการขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วไปมาระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงจะมาขอทำใบขับขี่บิ๊กไบค์ได้ รวมทั้งการกำหนดอายุผู้ที่จะมาขอใบขับขี่บิ๊กไบค์ที่เหมาะสม ซึ่งในต่างประเทศจะมีขั้นตอนการขอใบขับขี่จากรถจักรยานยนต์ทั่วไปมาเป็นรถบิ๊กไบค์
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในไทยผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถขอทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วไปที่มีเครื่องยนต์ไม่เกิน 125 ซีซีได้แล้ว ซึ่งอนาคตต้องกำหนดให้มีประสบการณ์ในการขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาสักระยะ และเรื่องเกณฑ์อายุผู้ที่จะมาขอรับใบขับขี่บิ๊กไบค์ ตอนนี้ ขบ.กำลังพิจารณาอยู่ สำหรับการกำหนดอายุนี้เน้นศึกษาของสหภาพยุโรป เช่น อังกฤษ เรื่องนี้จะมีความชัดเจน ส่วนการแยกประเภทรถจะชัดเจนเมื่อไหร่นั้นต้องแก้กฎหมาย ซึ่งระยะเวลาดำเนินการไม่สามารถควบคุมได้ คาดว่าต้องรอเสนอนโยบาย หากเร่งผลักดันเรื่องดังกล่าวเตรียมเสนอสภาเห็นชอบแล้วมีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับยอดจดทะเบียนบิ๊กไบค์ จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบกปลายปี 2561 พบมียอดจดทะเบียน 164,878 คัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามทิศทางการตลาดและความนิยมของผู้ใช้ โดยต้นปี 2562 พบมียอดจดทะเบียน 177,195 คัน และประเมินว่าปลายปี 2562 จะมียอดจดทะเบียนเกือบ 200,000 คัน.
เมื่อมองดูในปัจจุบันพบว่า ใครก็ได้สามารถเข้าถึงรถบิ๊กไบค์ได้ง่ายมาก เนื่องจากกระแสกำลังมา ทำให้คนหันมานิยมบิ๊กไบค์กัน เมื่อขับขี่จะมีความเท่ แต่สิ่งที่ผู้ขับขี่ไม่ได้ตระหนักคือความปลอดภัย ทำให้สิ่งที่ไม่คาดคิดคือการเกิดอุบัติเหตุที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความเข้มงวดกวาดขันเรื่องกฎระเบียบที่จะเกิดขึ้นในการใช้รถจักรยานยนต์แต่ละประเภท เพื่อความสามารถในตัวของผู้ใช้รถเองที่จะมีความสามารถในการใช้รถประเภทนั้นๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |