'อังคณา-เตือนใจ'ทิ้งเก้าอี้'กสม.'! เหตุอึดอัดไม่อิสระ


เพิ่มเพื่อน    

31 ก.ค. 62 – ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางเตือนใจ ดีเทศน์ และนางอังคณา  นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แล้วในช่วงเช้าวันนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่ 09.30 น. เป็นต้นไป  

นางเตือนใจ กล่าวว่า  เหตุผลในการลาออกเนื่องจากบรรยากาศและระบบการทำงานไม่เอื้ออำนวย ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน แต่งานที่เราได้รับผิดชอบ ก็ได้มีการจัดทำเสร็จเป็นส่วนใหญ่แล้ว และจริงๆแล้ว กสม.ชุดปัจจุบันถือว่าพ้นจากตำแหน่งแล้ว  นับแต่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วย กสม.ฉบับใหม่ แต่ที่อยู่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น  และการลาออกไม่ได้ทำให้องค์กรเสียหายเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา  22  กำหนดให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ตั้งคณะขึ้นมาทำหน้าที่แทนให้ครบองค์ประชุมได้ จนกว่า กสม.ชุดใหม่ที่กำลังสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จะเข้าปฏิบัติหน้าที่  ทราบว่าคณะกรรมการสรรหากสม.ชุดใหม่ก็จะมีการสัมภาษณ์ผู้สมัคร  ในวันที่  2-3 ส.ค.นี้ หากคัดเลือกได้ครบ 4 คน  จะมีการเสนอวุฒิสภาให้พิจารณาได้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน 

นางเตือนใจ  ได้อธิบายถึงบรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ในการทำงานว่า นับแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับ และ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ฉบับใหม่ประกาศใช้ มีการกำหนดให้ กสม.สามารถตั้งอนุกรรมการได้เท่าที่จำเป็น แตกต่างจากในอดีตที่ กสม.ขณะนั้นจะต้องอนุกรรมการฯขึ้นมาหลากหลาย  และมีผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการ ทำให้การทำงานของ กสม.เชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมในทุกกลุ่มทุกภาค เมื่อมีการร้องเรียน ตรวจสอบ ลงพื้นที่ ก็จะมีบรรยากาศเป็นไปในเชิงสมานฉันท์ หลายครั้งสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันทีเมื่อมีการลงพื้นที่  แต่เมื่อการกำหนดให้มีการตั้งอนุกรรมการเท่าที่จำเป็น กสม.ชุดนี้จึงตีความว่าไม่ควรมีการตั้งคณะอนุกรรมการเลย เพราะอาจขัดต่อกฎหมาย  แล้วแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของ กสม.ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ ทำให้หลังจากนั้นความเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม และเครือข่ายวิชาการต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง  เรื่องร้องเรียนก็ลดลง หลายเรื่องที่มีการร้องเรียน  ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง ก็จะไม่รับเป็นคำร้องเสียมากกว่า  

“ทำให้คิดว่าการทำงานของ กสม.ลอยจากฐานของประชาชน มากกว่าในช่วงก่อนการประกาศใช้ พ.ร.ป. กสม.ฉบับใหม่  อีกทั้งการออกระเบียบต่างรองรับกฎหมายใหม่ก็ทำให้รู้สึกว่าการทำงานของเราไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ  การลงพื้นที่เมื่อก่อนเราจะแจ้งสื่อเพื่อเป็นการเปิดประเด็นว่าเราจะทำเรื่องอะไร ผู้ถูกร้องเกิดการตื่นตัวทำให้แก้ปัญหามีประสิทธิภาพ แต่เมื่อมีมติของ กสม. เรื่องแนวปฏิบัติการให้ข่าว การแจ้งสื่อก็ทำไม่ได้ ทำให้หลังปลายปี 61 ต่อเนื่องปี 62 การทำงานของกสม.ก็จะเงียบมาก สถิติเรื่องร้องเรียนก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการรับเป็นคำร้องก็น้อยลง ดังนั้นจึงคิดว่าแม้จะเหลือเวลาในหน้าที่อีกเพียง 2-3 เดือน แต่ลาออกก่อนก็จะทำให้เราได้ไปทำงานที่เราตั้งใจและไปเป็นประชาชนเต็มขั้น” นางเตือนใจ ระบุ

เมื่อถามว่า การลาออกสะท้อนว่าคนที่เคยทำงานภาคประชาชนไม่สามารถที่จะมาทำงานด้านบริหารได้ใช่หรือไม่ นางเตือนใจ กล่าวว่า อยู่ที่องค์ประกอบของการทำงานของ กสม.ว่าแนวคิดของเราเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หนุนเกื้อกูลให้เราทำงานได้หรือไม่ ในชุดที่ 1 มีนายเสน่ห์ จามริก และชุดที่ 2 มีนางอมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน แม้จะมีปัญหาบ้าง แต่กรรมการก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ชุดที่ 3 ถึงจะมีความหลากหลายเราพยายามประคับประคองให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุดแล้ว คิดว่า 3 ปี 7 เดือน งานที่เรารับผิดชอบได้รับการแก้ไขปัญหา การมีข้อเสนอแนะมาตรการเชิงนโยบาย รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รับไปปฏิบัติ ถือว่าพอใจการทำงานที่ผ่านมา  

เมื่อถามย้ำว่า เป็นปัญหาเรื่องข้อกฎหมายหรือการปฏิบัติของประธาน กสม.ทำให้การทำงานเกิดปัญหา นางอังคณา กล่าวว่า กฎหมายขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจตีความกฎหมาย เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ประกาศใช้  กสม.ก็มีการใช้ดุลพินิจออกระเบียบที่ค่อนข้างเคร่งครัด ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยาก  อย่างใครมาร้องเรียน แม้มาด่าเราก็จะออกไปรับ แต่เมื่อกฎหมายบัญญัติให้ทุกเรื่องต้องเป็นการตัดสินใจของกรรมการ บางทีก็ทำให้เราทำงานยาก อย่างการให้ข่าวซึ่งเป็นเสรีภาพของการแสดงความเห็นของกรรมการก็ถูกจำกัด ทำให้อึดอัด เพราะการให้ข่าวไม่ได้อยากเป็นข่าว แต่เป็นการให้ข่าวเพื่อเป็นการพูดแทนผู้เดือดร้อน  

นางอังคณา  กล่าวว่า เรา 2 คนไม่ใช่คนแรกที่ลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่ กสม. ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน เม.ย. 2560  นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ก็ได้ลาออกด้วยเหตุคล้ายคลึงกัน คือ การบริหารงานไม่ได้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์เอื้อต่อการปฏิบัติงาน  และเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา นายชาติชาย สุทธิกลม ได้ลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แต่การทำงานเนื่องจากเรามาจากภาคประชาสังคม พยายามปรับตัวเยอะในการศึกษาระเบียบ และได้คิดเรื่องนี้มานานแล้ว ไม่ใช่ว่างอนแล้วตัดสินใจปุ๊ปปั๊ปออก  ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงาน ทำงานไม่ได้ง่ายและมีความคาดหวังจากประชาชน เข้ามาให้เราแบกรับ  จนมาถึงวันหนึ่งที่เราคิดว่า  ไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้และการหยุดปฏิบัติหน้าที่หน้าจะเป็นประโยชน์มากกว่า 

“เราเข้ามาวันแรกก็มีความหวัง เพราะส่วนตัวก็ทำงานกับ กสม.ตั้งแต่ชุดแรก จนรู้สึกมุ่งหวังว่าจะต้องเป็น กสม.ในวันหนึ่ง แล้วจะทำโน้นนี่นั้น แต่เมื่อเข้ามาแล้วมันไม่ใช่อย่างที่คิด และบรรยากาศการทำงานก็ไม่ได้สนับสนุนให้เราทำงานของเราได้ จึงต้องตัดสินใจ แต่การทำงานที่ผ่านมาถือว่าดีใจและพอใจ ถือว่าได้ทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิ แม้ว่าบางเรื่องได้รับการตอบสนองช้าจากหน่วยงานรัฐ” นางอังคณา กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"