เล่าละเอียดยิบวินาทียึดอำนาจ 22 พ.ค.57 'สมชัย' ยันไม่ได้ยิน'บิ้กตู่'พูดว่า'เตรียมการรัฐประหาร 3 ปี'


เพิ่มเพื่อน    

31 ก.ค.62 - นายสมชัย ศรีสุทธิยากร  อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้

มีคนเถียงกันว่า บิ้กตู่ พูดว่าเตรียมการรัฐประหาร 3 ปีหรือไม่
นี่คือบันทึกของผม เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ในหนังสือ กกต.ม.44 ครับ

สรุปคือ ผมไม่ได้ยินประโยคดังกล่าว จึงไม่มีบันทึกไว้
แต่อาจเป็นไปได้ว่าในอารมณ์ฉุกละหุก อาจจะหูอื้อ
แต่ประโยคว่า "อย่าคิดสู้ พวกคุณสู้ผมไม่ได้หรอก" ที่ท่านวันนอร์ถ่ายทอดมา มีอยู่ แต่ไม่อยู่ในบันทึกผม เพราะมัวแต่เก็บของออกจากห้องประชุมแล้ว

บทที่ ๒๒
๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
๑๔.๐๐ น. คือเวลานัดหมายอีกครั้งในการประชุม ๗ ฝ่ายเพื่อหาทางออกของประเทศ กับการเตรียมไปตอบโจทย์ คำถาม ๕ คำถาม ที่พลเอกประยุทธ์ ตั้งให้ไปนอนคิดหาคำตอบกันเมื่อเย็นวันวาน
๑) การปฏิรูปจะทำอย่างไร จะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง
๒) รัฐบาลรักษาการ หรือรัฐบาลเฉพาะกาล จะได้มาอย่างไร
๓) ควรจะมีการทำประชามติหรือไม่
๔) การสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งจะทำอย่างไร
๕) ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.และ นปช.ยุติการชุมนุม เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายสามารถนำไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้งที่สำเร็จได้ จะทำได้หรือไม่
ในขณะที่ผมเองก็ได้เสนอทางออกของสถานการณ์ไว้ ๓ แนวทาง เพื่อขอให้ที่ประชุมไปคิดดูว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของ กกต.หรือไม่ดังนี้
๑) เลือกตั้งไม่ช้า แต่ก็ไม่เร็ว คือไม่ใช้ ข้อเสนอเลือกตั้งภายใน ๔๕-๖๐ วัน ตามที่รัฐบาล และพรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคขนาดเล็กอื่นๆต้องการ แต่ขอเวลา ๙๐ วันเพื่อทำให้ทุกฝ่ายทำบรรยากาศความขัดแย้งให้คลี่คลาย หลังจากนั้น ค่อยมีการเลือกตั้งใน ๔๕-๖๐ วัน ดังนั้นการเลือกตั้งอาจมีขึ้นในเดือน ตุลาคม ๒๕๕๗
๒) ปฏิรูปเล็ก ไม่ใช่ปฏิรูปใหญ่ เนื่องจากหากเน้นปฏิรูปทุกเรื่อง อาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี โดยเน้นปฏิรูปเล็กก่อน คือการปฏิรูปการเลือกตั้ง ให้เป็นธรรมและป้องกันการทุจริต ควบคู่กันไปกันในช่วง ๙๐ วันก่อนการเลือกตั้ง หลังจากนั้น การปฏิรูปใหญ่ในเรื่องอื่นๆให้เป็นสัตยาบรรณกันว่าจะกระทำหลังจากมีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
๓) รัฐบาลไม่รักษาการ แต่ไม่ต้องลาออก เพราะจะให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง โดยขอให้รัฐมนตรีทุกคนแต่งตั้งปลัดกระทรวงขึ้นรักษาการ ตัวรัฐมนตรีไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ เพื่อป้องกันการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง

การประชุมวันที่สองนี้ ทางฝ่ายรัฐบาลมีการเปลี่ยนตัวผู้เข้าร่วมประชุม 
โดยนายพงศ์เทพ เทพกาจญนา ไม่มา แต่ให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม มาแทน โดยมอบให้ นายชัยเกษม นิติสิริ รมต.ยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะเจรจาในฝ่ายรัฐบาล

เริ่มประชุมชื่นมื่น
๑๓.๓๐ น. คณะของ กกต.เดินทางมาถึงห้องรับรองชั้นล่างของสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต ผู้เข้าร่วมประชุมทยอยกันเดินทางเข้ามา มีกาแฟและของว่างเล็กน้อยๆคอยต้อนรับ บรรดาคู่ขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองต่างขั้ว กลุ่มผู้ชุมนุมที่ด่าเทแบบไม่เผาผีกันบนเวที ยิ้มแย้มจับมือทักทายกันชื่นมื่น มีแยกโต๊ะทานกาแฟในพวกเดียวกันบ้าง ข้ามโต๊ะมาคุยทักทายกันในเรื่องส่วนตัวดูสนิทสนมกันดี
ก่อนเริ่มประชุมประมาณ ๑๕ นาที มีการแจ้งว่าวันนี้ ห้ามทุกคนนำโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องบันทึกเสียงทุกชนิดเข้าห้องประชุม ทุกคนหันมาทางผม เหมือนกับผมเป็นสาเหตุ เนื่องจากภาพบรรยากาศในห้องประชุมวันวาน มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในสื่อ โดยเป็นภาพผมถ่ายเซลฟีตนเองด้านหลังเป็นคุณอภิสิทธิ์ภาพหนึ่ง และด้านหลังเป็นคุณจตุพร พรหมพันธุ์ อีกภาพหนึ่ง ผมจึงฝากโทรศัพท์มือถือไว้ที่เจ้าหน้าที่ประจำตัว

รัฐบาลยอมตามข้อเสนอ กกต.
พลเอกประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะ เปิดการประชุม ทักทายที่ประชุม “วันนี้ต้องพูดกันให้รู้เรื่อง ต้องพูดกันให้จบ ไม่จบผมมีที่นอนหมอนมุ้งรอไว้เรียบร้อยแล้ว” ที่ประชุม เฮ ด้วยคำพูดของท่าน ที่กึ่งจริงจังกึ่งขี้เล่นหยอกล้อ 
โดยหารู้ไม่ว่า ได้มีการเตรียมการหาที่นอนหมอนมุ้งให้แก่ทุกคนแล้ว !!
“เอ้า ที่ผมฝากการบ้านไว้เมื่อวาน ใครมีอะไรว่าไป” ท่าน เริ่มเปิดประเด็น
นายชัยเกษม นิติสิริ กล่าวในฐานะตัวแทนรัฐบาล “ตกลงรัฐบาลยอมตามข้อเสนอของ กกต. ครับ คือ ๑) ยอมให้มีการเลือกตั้งใน ๔-๕ เดือนนับจากนี้ ๒) ทุกฝ่ายช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีก่อนไปสู่การเลือกตั้ง โดยเน้นปฏิรูปเล็ก คือการปฏิรูปเลือกตั้งก่อน ส่วนการปฏิรูปเรื่องอื่นๆ ไปว่ากันหลังจากมีสภาผู้แทนราษฎร ๓) รัฐบาลไม่ลาออก แต่จะไม่ขอรักษาการในระหว่างการเลือกตั้ง โดยให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้รักษาการแทน”
(หนึ่งเสียง) ผมนึกในใจ ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอ กกต.
“พรรคเพื่อไทยว่าไง” ผู้นั่งหัวโต๊ะ ถาม
“พรรคเพื่อไทย เอาตามที่รัฐบาลแถลงครับ” พล ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตอบสั้นๆ
(สองเสียง) ผมนึกในใจ เริ่มเห็นทางออกของบ้านเมือง
“พรรคประชาธิปัตย์ ว่าอย่างไร” คำถามถูกเวียนไปยังพรรคประชาธิปัตย์
“คงเท่านั้นไม่ได้ครับ ถึงให้ปลัดกระทรวงรักษาการแต่รัฐมนตรีไม่ยอมลาออก รัฐมนตรีก็ยังมีอิทธิพลสั่งการผ่านปลัดกระทรวงได้ ปลัดกระทรวงก็เหมือนนอมินีของฝ่ายการเมืองอยู่ดี ยืนยันว่า ขอให้รัฐบาลลาออก” คุณอภิสิทธิ์ กล่าวแบบเฉียบขาด
หลังจากนั้น ที่ประชุมก็อื้ออึงด้วยการอภิปรายในเชิงเหตุผลทางกฎหมายว่า รัฐบาลสามารถลาออกได้หรือไม่ มีกฎหมายอะไรรองรับ จะขัดกับกฎหมายหรือไม่ 
“นปช. ว่าอย่างไรล่ะ” ผู้นั่งหัวโต๊ะ ขอความเห็น
จตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งไม่พอใจต่อคำตอบของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นทุนเดิม เริ่มเปิดประเด็นใหม่ แทนที่จะยืนยันแนวทางที่ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย กรุยทางมาแล้ว “ถ้างั้นก็ทำประชามติกันเลยดีกว่า ถามประชาชนว่า จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป” จตุพร มั่นใจว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการเลือกตั้ง
“ท่านสุเทพว่าอย่างไร” คำถามถูกโยนต่อไปยัง สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.
สุเทพ ส่งสายตาที่ดุดัน ข้ามฟากไปยัง จตุพร ที่นั่งอยู่ฝั่งตรงข้าม “อย่างไรเสีย กปปส.ก็ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ยืนยันว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นายสุเทพ กล่าวด้วยเสียงอันดัง
(จบกัน ประเด็นเละแล้ว) ผมนึกในใจ
“ทาง ส.ว.ว่าอย่างไรล่ะ” ท่าน ผบ.ทบ.หันไปถาม ส.ว.ที่วันนี้มีตัวแทนมาประชุมแค่สองคน คือ คุณสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา และ นายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง 
คุณสุรชัย หลบสายตาใครต่อใครที่จับจ้องมา พร้อมกล่าวสั้นๆ “ทาง ส.ว.ไม่มีความเห็นครับ”
“กกต.ว่าไง” คำถามวนมาที่ กกต.แล้ว
ผมสบหน้า ท่านประธาน พอได้สัญญาณว่าให้พูดแทนได้ ก็ตอบออกไปสั้นๆ “กกต.ไม่มีความเห็นครับ” 
วันนั้น เป็นวันเดียวที่ผมได้บทเรียนในชีวิตว่า การไม่ออกความเห็นใดๆ ไม่พูดอะไรเลยในระหว่างท่ามกลางความขัดแย้งนั้นทำให้เราปลอดภัย ผมมานึกทบทวนว่า วันนั้น หากพูดมาก แสดงข้างเอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจถูกรวบตัวให้อยู่เป็นเพื่อนกับอีก ๕ กลุ่มที่มาประชุมด้วยเป็นแน่
พลเอกประยุทธ์ ซึ่งนั่งประธาน เริ่มออกอาการหงุดหงิด “ไปทางโน้นก็ไม่ได้ ไปทางนี้ก็ไม่ได้ แล้วจะเอาอย่างไรกันดี” 
นายสุเทพ สบตา นายจตุพร “ถ้าเช่นนั้น ผมขอเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ประชุมแยกเฉพาะ กปปส. และ นปช. จะได้ไหมครับ” 
“เอาอย่างงี้ สองกลุ่มแยกไปประชุมครึ่งชั่วโมง ส่วนที่เหลือ ก็แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก รัฐบาลไปประชุมกับเพื่อไทย และ ประชาธิปัตย์ กลุ่มที่สอง กกต.ไปประชุมกับ ส.ว. ดีไหม” พลเอกประยุทธ์เสนอ
“ประชาธิปัตย์ ยังไม่มีอะไรคุยกับเพื่อไทย ครับ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
“ส.ว.ก็ไม่มีอะไรคุยกับ กกต.ครับ” รักษาการประธานวุฒิ กล่าว
“ถ้าเช่นนั้น ก็พักการประชุมครึ่งชั่วโมง จะเข้าห้องน้ำหรืออะไรก็แล้วแต่ เดี๋ยวจะเอาชากาแฟมาเสิร์ฟ ให้สองฝ่ายเขาคุยกันให้รู้เรื่อง”
สองฝ่ายแยกไปประชุม ในห้องเล็กๆข้างๆ ส่วนห้าฝ่ายนั่งพักในห้องประชุม
ผมลุกขึ้นเข้าห้องน้ำ โดยเดินลงบันไดจากชั้นสองลงมาชั้นหนึ่ง โดยที่คนอื่นๆยังคงอยู่ในห้องประชุมชั้นสอง
เป็นครึ่งชั่วโมงที่เห็นหลายสิ่งหลายอย่าง !!!

ครึ่งชั่วโมงของการตัดสินใจขั้นสุดท้าย
ผมเดินลงมาจากห้องประชุมชั้นสอง มาที่ชั้นหนึ่งพบกับเจ้าหน้าที่ของ กกต.ที่รอผลการประชุมอยู่ชั้นล่างประมาณ ๓๐ คน ผมขอโทรศัพท์มือถือที่ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ ไล่เช็คเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ต่างๆ ก็ยังไม่พบเหตุการณ์สำคัญ พอเข้าห้องน้ำเสร็จก็เข้ามายืนปะปนกับบรรดาเจ้าหน้าที่ กกต. ทำทีพูดคุยทักทายคนโน้นทีคนโน้นทีให้เกิดการผ่อนคลาย 
ไม่เกินสิบนาที ก็เห็นคณะทหาร เดินนำโดย พลเอกประยุทธ์ และ ผบ.เหล่าทัพ รวมประมาณ ๒๐ คน เดินหน้าเครียดอย่างเร่งรีบ เข้าไปประชุมเงียบในห้องประชุมเล็กที่ชั้นหนึ่งประมาณ ๒๐ นาที ในระหว่างการประชุม ภายในชั้นหนึ่งของสโมสร ผมเห็นการสั่งการให้ทหารในชุดพรางอาวุธครบมือ บางคนมีเป้หลังวิทยุสนาม วิ่งกระจายไปประจำตามจุดต่างๆที่เป็นทางเข้าออกของสโมสรกันวุ่นวาย บางคนลากเสาวิทยุขนาดเล็กที่พร้อมดำเนินการบางอย่างตัดหน้าผมไป 
นาทีนั้นผมประเมินได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า
ประมาณครึ่งชั่วโมง คณะของ ผบ.เหล่าทัพ ยังไม่ออกมาจากที่ประชุมเล็ก มีนายทหารที่รู้จักผมเดินเข้ามาในกลุ่มเจ้าหน้าที่ กกต.บอกว่า “การประชุมจะเริ่มขึ้นแล้ว ขอเชิญอาจารย์กลับเข้าห้องประชุม” ผมพยายามจะเอาโทรศัพท์ติดตัวขึ้นไป แต่ถูก Scan หน้าห้องประชุม จึงต้องฝากไว้ภายนอกอีกครั้งหนึ่ง

เขามาบอกว่า ห้องน้ำสกปรก
ประมาณ ๑๕.๓๐ น. ทุกคนกลับมาอยู่ในห้องประชุม กกต.อีก ๔ ท่าน ถามว่าผมไปไหนมา ผมบอกว่าลงไปชั้นล่าง ท่านประธานถามว่าแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ผมบอกว่า “สถานการณ์ไม่สู้ดี วันนี้น่าจะมีเรื่อง” ท่านบอก “ใจเย็นๆ รอดูกันไป เราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง”
ก่อนการประชุมจะเริ่มต่อ นายสุเทพ และนายจตุพรได้เดินมาข้างหลังพลเอกประยุทธ์ กระซิบกระซาบบางอย่าง พลเอกประยุทธ์ พูดกับที่ประชุมว่า “เขาขอเวลาผม ๒-๓ นาที ที่ประชุมอนุมัตินะครับ” ที่ประชุม เฮ อีกครั้ง ด้วยบุคลิกที่น่ารักของท่าน
พลเอกประยุทธ์ นายสุเทพ และ นายจตุพร สามคนไปยืนคุยกันที่มุมห้องห่างออกไปจากผู้อื่น ไม่ได้ยินเสียงเขาคุยอะไรกัน แต่เห็นหน้าตาพยักเพยิด รับถ้อยรับคำกัน ต่อหน้า ผบ.ทบ.นายจตุพร ก็ดูพูดจาสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ทั้งสามคนคุยกันแค่ ๒-๓ นาทีตามที่ขอ เสร็จทุกคนกลับมานั่งที่โต๊ะของตน
“เขามาบอกว่าห้องน้ำสโมสรสกปรก ใครน่ะดูแล ให้ปรับปรุงหน่อย” 
ที่ประชุมฮาครืน ในคำพูดของ ผบ.ทบ.
ไม่มีใครนึกว่า อีกไม่กี่นาที จะไม่มีเสียงหัวเราะอะไรอีกแล้ว !!

นาทีนี้ ผมขอยึดอำนาจ
“มันอึดอัดไปทั่วนะ จะไปทางนี้ก็ติด ทางโน้นก็ติด จะเลือกตั้งก็ไม่ได้ เลือกไปคนก็ไม่ยอมรับ รัฐบาลอยู่คนก็ชุมนุมประท้วง ไม่สงบเสียที แล้วจะเอายังไงกันดี” พลเอกประยุทธ์ เปรย
“ผมขอเสนอความเห็น ท่าน ผบ.ทบ.ประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ตอนนี้เหมือนจมน้ำไปครึ่งตัว หากท่านตัดสินใจใช้กำลังทหารอีก ก็จะเหมือนจมน้ำเต็มตัว ท่านควรอาศัยการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อผลักดันการเลือกตั้งให้สำเร็จ เพื่อให้ตัวเองพ้นมาจากน้ำ” นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ตัวแทน นปช.กล่าว
“ไม่ต้องมาสอนผม เรื่องว่ายน้ำ ผมรู้ ผมว่ายเป็นตั้งแต่เด็กแล้ว” ที่ประชุมฮาครืนอีกครั้ง คุณวีระกานต์ ถึงกับเงียบไป
“รัฐบาล รัฐบาลจะทำอย่างไร ยอมลาออกไหม” พลเอกประยุทธ์ถามไปยัง คุณชัยเกษม ที่เป็นตัวแทนรัฐบาล
นายชัยเกษม นิติสิริ ตัวแทนรัฐบาล ตอบอย่างเหยาะแหยะไม่เต็มปากคำ เนื่องจากไม่ใช่ผู้มีอำนาจเต็มที่จะมาบอกว่ายอมลาออกหรือไม่ลาออก และอาจด้วยการประเมินสถานการณ์ผิดคิดว่า ทหารคงไม่ยึดอำนาจ “คงไม่ลาออกละครับ”
ทุกคนในที่ประชุมเริ่มนิ่งเงียบ กับคำถามเชิงรุกฆาตของ ผบ.ทบ. และเริ่มเดาเหตุการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา
พลเอกประยุทธ์ ถามไปยังคนอื่นๆ “ใครมีความเห็นอะไรไหม”
ทุกคนนิ่ง
“กกต.ล่ะ ส.ว.ล่ะ มีความเห็นอะไรไหม”
ประธาน กกต.เอามือแตะตักของผม ในเชิงปราม ซึ่งผมรู้ความหมายดี จึงตอบไปว่า “กกต.ไม่มีความเห็นครับ”
“ส.ว. ไม่มีความเห็นครับ” ประธาน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย พูดประโยคเดียวกัน
“ว่าไง รัฐบาล จะยอมลาออกหรือเปล่า” คำถามรุกฆาตถูกถามออกไปเป็นครั้งที่สอง
นายชัยเกษม เอนตัวไปข้างหลังเป็นภาษาท่าทางเชิงป้องกันตัว แล้วตอบว่า “นาทีนี้ก็ยังคงไม่ลาออกหรอกครับ”
พลเอกประยุทธ์ ซึ่งนั่งอยู่หัวโต๊ะโน้มกายไปข้างหน้า “ถ้าเช่นนั้น ผมก็ไม่มีทางออก เพื่อให้บ้านเมืองสงบ นาทีนี้ผมขอยึดอำนาจ ทุกคนในห้อง อยู่ในห้องนี้แหละ ไม่ต้องไปไหน กกต.ไม่เกี่ยว ส.ว.ไม่เกี่ยว ออกไป”
ผมรีบเก็บของเดินออกจากห้องประชุมพร้อม กกต.๔ ท่าน ส่วนคณะของ ส.ว.มีแค่สองคนล่วงหน้า ลงบันได และเตรียมรถตู้หนึ่งคันรับออกจากจากอาคารสโมสรไปอย่างรวดเร็ว
เหมือนฉากในภาพยนตร์ ขณะที่เรากำลังจะเดินออกจากห้องประชุม ทหารอาวุธครบในชุดพร้อมรบประมาณ ๓๐ คน วิ่งเหยาะๆสวนทางเข้ามาในห้องประชุม ยืนล้อมกรอบ รัฐบาล และผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน
อำนาจอยู่ในมือเขาแล้ว

โดนกักตัวอยู่หนึ่งชั่วโมง
เมื่อ ทีม กกต.เดินมาชั้นล่าง เจ้าหน้าที่พยายามรุมซักถามว่าเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น ผมบอกให้ทุกคนสงบๆเงียบๆ ยังไม่เล่าอะไรให้ฟัง โดยพยายามบอกให้ทุกคนรวมตัวและออกจากสโมสร ซึ่งกว่าจะรวมตัวกันเรียบร้อยก็หลายนาที พอผมพาพวกจะเดินออก ทหารที่เฝ้าประตูบอก “ออกไม่ได้ครับ”
“ท่าน ผบ.ทบ. บอก กกต.ไม่เกี่ยว ส.ว.ไม่เกี่ยว ออกได้ครับ” ผมเถียง โดยอ้างผู้ใหญ่
“ตอนนี้ นาทีนี้ มีคำสั่งห้ามทุกคนออกแล้ว ครับ” นายทหารนายหนึ่งอธิบาย
เชิญท่านนั่งพักผ่อน ทานน้ำทานท่าก่อน เดี๋ยวเหตุการณ์สงบ ค่อยออกได้ครับ” 
คณะของ กกต.จึงล่าถอยห่างจากประตูมาหาที่นั่งรอคอยจนกว่าทหารจะยอมปล่อยตัวออกมา ภาพที่ปรากฏต่อสื่อคือ กกต.ห้าคน นั่งเรียงเป็นแถว บางคนยกโทรศัพท์ขึ้นคุย บางคนก้มหน้าเช็คเฟซบุ๊ค บางคนส่งไลน์ ภายใต้การบรรยายภาพ “ห้าเสือติดจั่น”
หนึ่งชั่วโมงผ่านไป มีนายทหารมากบอกว่า พวกท่านกลับได้แล้วครับ ขอให้ทุกคนเอาบัตรประชาชนออกมา ชูไว้ ผมหยิบบัตรออกมาโชว์ นายทหารท่านหนึ่งยิ้ม แล้วบอกว่า “ท่านไม่ต้องครับ ผมรู้จักดี”
รถของผมมาจอดรอเป็นคันแรก ผมออกจากสโมสรในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น.
กลับไปบ้าน เพื่อดูสถานการณ์ พรุ่งนี้จะมีอะไรอีก


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"