ร่อแร่‘เต้น-เหวง’ดิ้นคดีสี่เสาฯ


เพิ่มเพื่อน    

  วันพิพากษา "ณัฐวุฒิ-เหวง" จำเลยคดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ดิ้นสุดฤทธิ์ พิลึก! ยกคดีกลุ่มพันธมิตรฯ เทียบคดี นปช. ปั่นกระแสโซเชียลฯ โจมตีกระบวนการยุติธรรมยับ "วิภูแถลง" เผยทั้ง 4 คนพร้อมยอมรับคำตัดสินของศาล เล่าอดีตไม่มีเจตนาก่อความไม่สงบ สวนทางข้อเท็จจริงแกนนำสั่งลุยฝ่าเข้าไป ขณะที่ "จตุพร" ลุ้นยาวๆ จำเลยอีกสำนวน

    วันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชุมนุมล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 หมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 
    ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216, 297, 298 ประกอบมาตรา 33, 83 และ 91 
    ทั้งนี้ การชุมนุมของกลุ่มจำเลยจนนำมาสู่การฟ้องร้องนั้น เดิมใช้ชื่อว่ากลุ่ม "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" หรือ "นปก."
    คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือนส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ กระทั่งวันที่ 9 ม.ค.2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน นอกเหนือจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งในส่วนของนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
    เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดทั้งวันที่ 30 กรกฎาคม ก่อนวันพิพากษา มีความเคลื่อนไหวบนสังคมโซเชียล  อาทิ นายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 5 นพ.เหวง จำเลยที่ 7 มีการโพสต์คลิปวิดีโอและข้อความเปรียบเทียบกับคดีของกลุ่มพันมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเอาเงื่อนเวลาของการชุมนุมมาอ้างถึง ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสำนวนในคดี แต่พยายามจะสื่อความหมายให้สังคมเข้าใจผิดว่ากลุ่ม นปช.ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม
    โดยนายณัฐวุฒิโพสต์ข้อความชื่อเรื่อง "บนสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง" โดยมีเนื้อหาว่า 1.คดีพันธมิตรฯ ล้อมรัฐสภาขวางรัฐบาลแถลงนโยบาย 7 ตุลาคม 51 ตัดน้ำตัดไฟ นายกฯ รัฐมนตรี ส.ส. ปีนรั้ว มุดรั้วหนี, พบรถขนระเบิดในกลุ่มผู้ชุมนุม, แถลงนโยบายจบเหตุการณ์ไม่จบ ระดมพลล้อมกองบัญชาการตำรวจนครบาลถึงกลางคืน ศาลชั้นต้นยกฟ้องแกนนำ
    2.คดีพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาลเกือบ 6 เดือน  ตัดโซ่เข้าไปตั้งเวที บุกเข้าอาคารต่างๆ, เจ้าหน้าที่พยายามเข้าขอคืนพื้นที่ ถูกต่อต้านจนต้องล่าถอย, ระหว่าง 6 เดือนเกิดสถานการณ์ต่างๆ มากมาย ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกแกนนำ 8 เดือน
    3.คดี นปก.ชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ 9 ชั่วโมง ไม่มีการบุกรุกเข้าบริเวณบ้าน ไม่มีอาวุธ เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา มีการผลักดันบาดเจ็บเล็กน้อยทั้ง 2 ฝ่าย   ผู้ชุมนุมกลับสนามหลวง ไม่มีเหตุบานปลาย ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกแกนนำ 4 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกแกนนำ 2 ปี 8 เดือน นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 31 กรกฎาคม 62
    เช่นเดียวกับ นพ.เหวง จำเลยที่ 7 และนางธิดา  ถาวรเศรษฐ ภรรยา ก็ได้โพสต์เป็นตอนๆ เทียบคดีระหว่างสองกลุ่มการเมือง ทำให้มวลชนคนเสื้อแดง ต่างเข้าไปแสดงความคิดเห็นโจมตีกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างสาดเสียเทเสีย
    วันเดียวกัน นายวิภูแถลง จำเลยที่ 6 ให้สัมภาษณ์ว่า กระบวนการยุติธรรมเดินทางมาถึงบรรทัดสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าผลออกมาอย่างไร พร้อมยอมรับ ในเมื่อเราต้องการความชุ่มฉ่ำจากสายฝน คงไม่อาจปฏิเสธเสียงฟ้าคะนองได้ การเดินทางไปบ้านพักประธานองคมนตรีในตอนนั้น เพียงต้องการเดินทางไปถามว่ารัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.เปรม 
    "กลุ่ม นปก.ในตอนนั้น ที่เดินทางไปวันที่ 22 ก.ค.2550 เพียงแค่ต้องการเดินทางไปกราบเรียนถาม ประธานองคมนตรีถึงเรื่องดังกล่าว การไปครั้งนั้น ไม่ได้เข้าไปในบ้าน ใช้เวลาอยู่ไม่นาน ตำรวจก็สลายการชุมนุม ทำให้พวกเราต้องเดินทางกลับ จากนั้นก็มีการตั้งข้อหาต่างๆ ตามมา"
    นายวิภูแถลงเชื่อว่าศาลฎีกาจะให้ความยุติธรรม เพราะการเดินทางไปบ้านพักอดีตประธานองคมนตรี พวกเราเพียงแค่ต้องการแสดงออก ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ไม่ได้มีเจตนาไปก่อความไม่สงบ คดีนี้คนเสื้อแดงที่เคยตกเป็นผู้ต้องหา นายจักรภพ เพ็ญแข นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ตอนนี้อยู่ต่างประเทศ ส่วน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เสียชีวิต 
    “พวกเราทั้ง 4 คน จะเดินทางไปฟังคำพิพากษาจากศาลแน่นอน เพราะคดีก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยหลบหนีไปไหน และเชื่อว่าจะได้รับความยุติธรรม เพราะเจตนารมณ์ลึกๆ แล้ว เราไม่ได้คิดจะก่อความไม่สงบ เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเท่านั้น” นายวิภูแถลงกล่าว
    ทั้งนี้ คำกล่าวของนายวิภูแถลงคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ตามคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ลงยูทูบ ซึ่งพบว่าแกนนำ นปก. (ชื่อขณะนั้นและยังสวมเสื้อสีเหลือง) ปราศรัยปลุกระดมมวลชนไปยังบ้านสี่เสาฯ ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เช่น นายณัฐวุฒิ ปราศรัยขณะมวลชนกำลังปะทะกับเจ้าหน้าที่ว่า "ลุยไป ตามไปพี่น้อง ฝ่าเลยครับ ฝ่าเลย  ให้มันรู้กันไปว่า ประชาชนจะแพ้เผด็จการ ให้มันรู้กันไป" 
    สำหรับคดีนี้ยังมีอีกสำนวน เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ร่วมชุมนุม เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216 
    สำนวนคดีนี้อยู่ระหว่างจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว เนื่องจากขณะฟ้องนั้น นายจตุพรมีเอกสิทธิ์ ส.ส. ศาลจึงได้สั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลสูง ในคดีหมายเลขดำ อ.3531/2552 ก่อน ดังนั้น หากคดีหลักมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว อัยการจะต้องแถลงต่อศาลเพื่อนำสำนวนคดีของนายจตุพรมาพิจารณาต่อ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"