"ศิลปะเกิดจากความคิด ความเชื่อ และจิตวิญญาณ การจะทำงานศิลปะไม่จำเป็นต้องเรียนสูงก็ทำได้ ศิลปินบ้านๆ วาดภาพ สร้างงาน ที่เรามองแล้วดูไม่ได้สวยมาก ก็ยังเป็นที่สนใจได้ เพราะแนวคิดที่สื่อออกมา มีนัยยะและความหมายที่มีผลต่อจิตใจ ความคิดของผู้เสพ"
นี่คือข้อคิดตอนหนึ่งที่ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2554 กล่าวเอาในวงเสวนา 'ศิลปะจากความเชื่อ และตัวตน' ภายในงานเปิดนิทรรศการ "จิตรกรรมเอเซีย พลัส ครั้งที่ 9" โดยบริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันก่อน
ภายในงาน อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากความคิดความเชื่อของศิลปินในการสร้างสรรค์งานแล้ว ศิลปินยังได้ผสานกับความรู้สึกในใจถ่ายทอดออกมา แต่การทำผลงานให้มีรูปลักษณ์ เส้นสี สวยงาม ไม่ได้สำคัญเท่าอารมณ์ความรู้สึกความคิด ของศิลปินที่มีต่อผลงานที่เขาสร้าง ในช่วงตอนนี้ผลงานศิลปะที่ถูกสร้าง จะถามเราว่าให้อะไรกับสังคม แง่มุมต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ศิลปินในยุคนี้ ต้องคิดออกมาเพื่อตอบคำถามถามสังคม ง านบางชิ้นอาจดูธรรมดา แต่สื่อความหมายและแสดงออกมาได้ดีเยี่ยม ใช้เทคนิคที่น่าสนใจ ซึ่งจะเห็นว่ามีคนรุ่นใหม่หลายคนมีแนวคิดและการทำงานที่ร่วมสมัยอย่างน่าทึ่ง
ผลงานชนะเลิศ "ยุคทองแห่งอารยธรรม"
"ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ในแวดวงศิลปะควรต่อยอดความสำเร็จไปสู่ระดับโลก ซึ่งระดับโลกในที่นี้ไม่ใช่การนำผลงานไปจัดแสดงตามแกลอรีต่างๆ แต่หมายถึง ทำให้เรกกูเลเตอร์ระดับโลกยอมรับ การไปสู่ตรงนั้นได้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่มีฝีมือ มีโอกาส และช่องทางที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน เพราะเมื่อก่อนศิลปิน ขาดคนสนับสนุน ก็จะมีชื่อเสียงแค่ในไทย คนรุ่นใหม่ควรจะใช้โอกาสเชื่อมสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ให้มาก ถึงแม้ว่าการขายผลงานในไทยจะเป็นเรื่องง่าย แต่การไประดับโลกน่าสนใจยิ่งกว่า เพราะว่าตอนนี้ศิลปะฝั่งยุโรปตะวันตกพัฒนาไปเร็วมาก "ศิลปินแห่ชาติบอกเล่ามุมมอง
บรรยากาศมอบรางวัลจิตกรรมเอเซียพลัส
ทางด้าน อ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ปี 2552 ก็ได้กล่าวในเวทีเสวนาเดียวกันว่า ผลงานศิลปินรุ่นใหม่มีความร่วมสมัยมากขึ้น อย่างโครงการประกวดจิตรกรรมเอเซียพลัส ครั้งนี้ จะเห็นว่าผลสรุปที่ได้เนื้อหาเรื่องมลังเมลืองเรืองรุ้ง เป็นผลสรุปที่ได้จากการตีความของศิลปินผู้สร้างสรรค์ที่เขาอาจจะได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อม บ้าน วัด โรงเรียน บวร ศิลปินก็ใส่รายละเอียดเข้าไปในกระบวนการตีความด้วยใจ ภาพในใจ ความคิดในใจ การวิจายะในใจ ระเบิดออกมาเป็นมลังเมลืองเรืองรุ้ง ผลงานทุกคนที่ร่วมจัดแสดงทั้งหมดก็ถือว่าน่าสนใจมากเพราะมีความหลากหลายที่ศิลปินแต่ละคนได้ถอดรหัสแสดงพุทธิปัญญา จินตนาการสุนทรียะ และปรัชญาแนวคิดของเขาจากสิ่งแวดล้อม ออกมา
สำหรับการแสดงนิทรรศการจากการประกวดกิจกรรมเอเซีย พลัส ภายใต้หัวข้อ "มลังเมลืองเรืองรุ้ง" มีทั้งหมด 57 ผลงาน เป็นผลงานที่ได้รับรางวัล 7 รางวัล คือรางวัลชนะเลิศ 2 รางวัล และรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 จำนวน 1 รางวัล และรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัล อีก 50 ผลงานคือผลงานโดดเด่นที่คณะกรรมการเลือกมาจัดแสดง
ผลงานชนะเลิศ "รูปสัญญะของวัตถุนิยม"
รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ชิ้นแรก ชื่อผลงาน "รูปสัญญาของวัตถุนิยม" เป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยศิลปินรุ่นใหม่นามว่า ชมรวี สุขโสม ที่พึ่งเคยส่งผลงานเข้ามาประกวดในโครงการนี้เป็นครั้งแรก เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร
บรรยากาศภายในนิทรรศการ
ชมรวี กล่าวถึงแนวคิดของงานชิ้นนี้ว่า เป็นงานจิตรกรรม ที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวพฤติกรรมของมนุษย์ที่ถูกครอบงำโดยวัตถุนิยมผ่านภาพตัวละครที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ เมื่อช่วงประมาณปีก่อน ตนได้เห็นข่าวเรื่องร่างทรงที่เกิดขึ้นในเมืองไทยหลายๆ ข่าว จึงหาความหมายว่าร่างทรงคืออะไร ซึ่งก็คือบุคคลคนหนึ่งที่โดนบางสิ่งบางอย่างที่เรามองไม่เห็นครอบงำให้แสดงพฤติกรรมออกมา แล้วก็ทำให้นำมาเปรียบเทียบว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เราพบเจอก็มักจะคล้ายๆ กับร่างทรงเหมือนกัน แต่เป็นร่างทรงของวัตถุทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท และครอบงำชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ตนก็เลยเอาแนวคิดนี้มาสร้างสรรค์โดยแทนภาพของตนเองให้เป็นตัวแทนมนุษย์ที่ถูกครอบงำด้วยสิ่งต่างๆ ใส่รายละเอียดลวดลายการ์ตูนที่ชอบ ผสมกับลวดลายไทย ให้ดูมีความร่วมสมัย ชิ้นนี้ใช้เวลานานประมาณ 3-4 เดือน ตนใช้เวลาทำเกือบทุกวัน ทำไปเรื่อยๆ เพราะอยากให้งานออกมาสวยละเอียดที่สุด
"ผมชอบงานที่ใส่ความละเอียด ความเป็นไทย ถ้าหากพบว่าภาพไม่สมบูรณ์ ผมไม่ปล่อยให้มันผ่านไป แม้แต่นิดเดียว ผมจะพยายามใช้พู่กันเบอร์เล็กๆ แต้มลายไทยๆ จุดเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ วันละนิดวันละหน่อยแต่ไม่กดดันว่างานจะต้องเสร็จตอนไหน ผมก็ทำไปเรื่อยๆ ให้มันออกมาในแบบที่ผมต้องการ มันคือความสุข และความชอบของผม ผมถึงได้ตั้งใจเข้ามาศึกษา ด้านจิตรกรรมไทย และศึกษาอะไรที่เกี่ยวกับความเป็นไทยมาตลอด" ชมรวี กล่าว
ส่วนรางวัลชนะเลิศอีกหนึ่งผลงานคือ "ยุคทองแห่งอารยธรรม" ของธมลวรรณ แสงนาค นักศึกษาปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ที่สร้างสรรค์ผลงานสื่อผสมออกมา โดยถ่ายทอดบรรยากาศความเจริญรุ่งเรือง ของยุคทองแห่งอารยธรรมอย่างตรงไปตรงมา เขากล่าวว่า ได้แทนภาพของกรุงเทพฯ ที่มีความเจริญรุ่งเรือง แต่ยังแฝงด้วยความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ตามที่เราพบเห็นในปัจจุบัน มีวัดวาอาราม ชุมชน เอามารวมกันตามจินตนาการของตนเอง แต่ที่ทำให้เกิดจุดเด่นของผลงานคือเทคนิคสื่อผสมที่ตนได้นำมาใช้ซึ่ง เรียกว่าภาพพิมพ์ตะแกรงไหม(Silk Screen) คือ กระบวนการพิมพ์ที่พิมพ์ โดยใช้ไม้ปาดสีรีดเนื้อสีผ่านตะแกรงเนื้อละเอียดลงมาสู่วัสดุที่ต้องการพิมพ์ ซึ่งบริเวณที่ไม่ถูกพิมพ์จะเป็นบริเวณตะแกรง ที่ถูกกันเอาไว้ไม่ให้สีลอดผ่านลงมาสู่วัสดุที่ต้องการพิมพ์ และยังได้นำลวดลายของผ้าไหม มีการปักผ้าใส่ลงไปในผลงานชิ้นนี้ด้วย เป็นงานที่ค่อนข้าง Abstract กึ่งรูปธรรมนามธรรม หากอธิบาย คงไม่ชัดเจนเท่ามาชมด้วยตนเองเพราะว่าผลงานสื่อถึงความมลังเมลืองออกมาให้เห็นเป็นภาพชัด
รางวัลชนะเลิศอันดับ3 เคียงไหล่ถวายพระพร
นอกจากนี้ก็มีผลงานรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 'เคียงไหล่ถวายพระพร' ของบุญเสริม วัฒนกิจ ที่มีแนวคิดสื่อถึงในหลวงเป็นศูนย์รวมดวงใจของชาวไทย ที่ทุกคนสามารถแสดงออกถึงความจงรักภักดีได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด สถานภาพใด แล้วก็ผลงานรางวัลชมเชยอีก 4 ผลงานได้แก่ ของฝากจากทะเล หมายเลข 1, เส้นตัดของธรรมชาติกับสถาปัตยกรรม, กรุงเทพฯ และกองฟาง จัดแสดงที่บริเวณชั้น 1 และยังมีผลงานอื่นๆ ร่วมจัดแสดงอีก 50 ผลงาน ที่ชั้น 2 ของ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เปิดให้เข้าชมจนถึงวันที่ 4 ส.ค. (ปิดทำการทุกวันพุธ)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |