รัฐบาลคสช.ผ่านแต่‘ลุงตู่’วูบ


เพิ่มเพื่อน    

  กรุงเทพโพลล์ประเมินผลงาน 3 ปี 6 เดือนรัฐบาล คสช.สอบผ่านเฉียดฉิว ได้คะแนนเพิ่มทุกด้าน  แต่ความพึงพอใจในตัว "ลุงตู่" วูบลงเล็กน้อยในทุกด้าน   สิ่งบั่นทอนหรือทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากที่สุด คือปัญหาเศรษฐกิจ ข่าวความไม่โปร่งใสของบุคคลร่วมรัฐบาลและคนรอบข้างนายกฯ ไม่เด็ดขาดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ตามลำดับ

    กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ประเมินผลงาน 3 ปี 6 เดือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในโอกาสที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศครบ 3 ปี 6 เดือนโดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,165 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า
    ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี 6 เดือน เฉลี่ย 5.64 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประเมินการทำงานรอบ 3 ปีที่ได้ 5.27 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้รัฐบาลได้คะแนนเพิ่มขึ้นทุกด้าน โดยด้านที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือด้านการต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 0.61 คะแนน รองลงมาคือด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เพิ่มขึ้น 0.47 คะแนน และด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 0.41 คะแนน
    สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี 6 เดือน ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ย 6.82 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินรอบ 3 ปี ที่ได้ 7.00 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้คะแนนลดลงเกือบทุกด้าน โดยมีเพียงด้านความสามารถสร้างสรรค์ผลงานหรือโครงการใหม่ๆ ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น
         ทั้งนี้ ตลอด 3 ปี 6 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 45.2 เห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ประเทศมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 30.9 เห็นว่าเหมือนเดิม และมีเพียงร้อยละ 23.9 เห็นว่าแย่ลงกว่าเดิม
    เมื่อถามถึงเรื่องที่เป็นสิ่งบั่นทอนหรือทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลมากที่สุด ประชาชนร้อยละ 25.9 ระบุว่าเรื่องเศรษฐกิจยังไม่ดีเท่าที่ควร รองลงมาร้อยละ 23.0 ระบุว่าข่าวความไม่โปร่งใสของบุคคลร่วมรัฐบาลและคนรอบข้างนายกฯ และร้อยละ 16.3 ระบุว่ายังไม่เด็ดขาดเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน
ใช้อุดมศึกษาเร่งไทยนิยม
    นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยให้มีการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน รวมถึงให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงานที่มี หรือจะมีโครงการกิจกรรมที่จะดำเนินการในระดับตำบล/หมู่บ้าน บูรณาการดำเนินการร่วมกันตามแนวทางประชารัฐ โดยใช้ทีมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืนระดับตำบลเป็นแกนหลัก รวมทั้งทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ประสานสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ให้เชิญชวนนิสิต นักศึกษาร่วมลงพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน รวมทั้งเชิญผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนทีมงานระดับอำเภอ ในการสรุป วิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของประชาชนที่ได้รับจากทีมขับเคลื่อนฯ ระดับตำบล และติดตามการดำเนินการโครงการต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่สนองตอบความต้องการของประชาชนอย่างโปร่งใสและยั่งยืน
    แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายฉัตรชัยทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ สั่งการให้ประสานงานกับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ ให้เชิญชวนนักศึกษาร่วมลงพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้การทำงานของส่วนราชการ และเป็นการสั่งสมประสบการณ์ ในการทำงานร่วมกับประชาชน และช่วยทีมงานระดับอำเภอในการสรุปรวบรวมปัญหาความต้องการที่ได้จากทีมขับเคลื่อน โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล
ให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ หรือมีส่วนร่วม โดยอาจจะให้สโมสรนักศึกษา ค่ายอาสานักศึกษา หรือนักศึกษาโดยทั่วไปในระดับอุดมศึกษาเข้าร่วม เพื่อซึมซับและเป็นการสั่งสมประสบการณ์ ในการทำงานร่วมกับประชาชน
        นอกจากนี้ ยังสั่งการให้เชิญูผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนทีมงานระดับอำเภอในการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของประชาชนที่ได้รับจากทีมขับเคลื่อนระดับตำบล รวมทั้งติดตามการดำเนินการโครงการต่างๆ ในพื้นที่
        ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องจำนวนหมู่บ้านและชุมชน ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นหมู่บ้านและชุมชนที่ผ่านการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองพื้นที่ และจำนวนชุมชน ที่ได้มีการจัดตั้งตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
        ทั้งนี้ ตามข้อมูลพบว่า เป็นหมู่บ้าน/ชุมชน (มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน) จำนวน 74,655 แห่ง ชุมชนในเขตเทศบาล เป็นเทศบาลนคร 18,62 แห่ง เทศบาลเมือง 3,685 แห่ง เทศบาลตำบล (ไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน) 156 แห่ง รวมทั้งสิ้น 82,466 แห่ง
        มีรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านั้น กระทรวงมหาดไทย ได้เปิดแอปพลิเคชัน "ไทยนิยม ยั่งยืน" เพื่อให้ทีมขับเคลื่อนรายงานสภาพปัญหาในลักษณะเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง ถึงทีมขับเคลื่อนส่วนกลางด้วย
    ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดงานมหกรรมอุดมศึกษา : อุดมศึกษา-พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง  “บทบาทและความสำคัญของมหาวิทยาลัยต่อนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน”
    เขากล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สุด โดยได้วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นประเทศไทย 4.0 การจะถึงเป้าหมายได้นั้น จะต้องสร้างคนที่มีคุณภาพ ให้มีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม ลดการนำเข้าเทคโนโลยี บทบาทสำคัญของการสร้างคนคือ สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ การที่จะสร้างคนและองค์ความรู้ที่มีคุณภาพได้ จะต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ
    “มหาวิทยาลัยสร้างองค์ความรู้และผลิตคน การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ รัฐบาลไม่สามารถทำได้ฝ่ายเดียว ต้องผนึกกำลังทุกภาคส่วน ทั้งเอกชน ชุมชนที่จะมาร่วมกันตั้งแต่การวางนโยบายการขับเคลื่อน การกำกับดูแล และการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งผลงานต่างๆ จะต้องตอบโจทย์แก้ปัญหาให้กับชุมชน ผลงานวิจัยต่างๆ ของมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีผลที่แสดงออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งผมพร้อมที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปลดล็อกปัญหาทั้งงบประมาณ บุคลากร และกฎระเบียบต่างๆ” 
    รองนายกฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม อยากให้ ทปอ.รวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ เสนอมาเพื่อให้แก้ปัญหาและช่วยขับเคลื่อนประเทศ ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ตามเป้าหมาย มหาวิทยาลัยและ ทปอ.เป็นหน่วยงานที่มองเห็นปัญหาได้ทุกมิติ เพราะเป็นหน่วยงานที่สร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม ทั้งยังอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน จึงมีประสบการณ์และรู้ดีว่าสิ่งใดที่เป็นปัญหาของประเทศ หรือเรื่องใดที่เป็นปัญหาคอขวด ที่ต้องมีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เช่น การจะทำอย่างไรให้คนมหาวิทยาลัยสามารถทำงานร่วมกับเอกชนได้ โดยไม่ติดขัดระเบียบ หรือความร่วมมือกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย 
    "ควรจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงาน จะได้มีประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือใหม่ๆ เมื่อจบแล้วจะได้มีงานทำ หรือมีคุณสมบัติที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ  เรื่องนี้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยทำอยู่ แต่อยากให้ทำความร่วมมือนี้ให้เข้มข้นขึ้น" พล.อ.อ.ประจินกล่าว
รอพบ ครม.สัญจร
    นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์เตรียมลงพื้นที่ประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เพชรบุรี ในวันที่ 5-6 มี.ค. โดยมีการเชิญผู้นำท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างร่วมหารือว่า นายกฯ เชิญผู้นำท้องถิ่น อดีต ส.ว.และอดีต ส.ส.ในพื้นที่ เน้น 4 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง คือ จ.เพชรบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.สมุทรสาคร และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยการพบปะดังกล่าวมีประเด็นสำคัญที่จะพูดคุย เช่น เรื่องการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันตก โครงการไทยแลนด์ริเวียร่า ยุทธศาสตร์ประตูสู่ภาคใต้ โดยเน้นเรื่องโลจิสติกส์  ยุทธศาสตร์การพัฒนาชายฝั่งทะเลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว 
    เขากล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มภาคกลางตอนล่างมีศักยภาพสูง เป็นฐานการผลิตที่ติดอันดับโลก เช่น การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารทะเลกระป๋องอันดับ 1 สับปะรดกระป๋องอันดับ 1 ของโลก รวมถึงโครงการป้องกันน้ำท่วม เนื่องจาก จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์มีปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะถนนเพชรเกษมไม่สามารถใช้ได้ ฉะนั้นจะเสนอนายกฯ ให้มีโครงการสร้างฟลัดเวย์ จากแม่น้ำเพชรบุรีออกไปสู่ทะเลอ่าวไทย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมยั่งยืนได้ อย่างไรก็ตาม ในการพูดคุยครั้งนี้คงไม่มีการพูดถึงเรื่องการเมือง ถ้าจะเกี่ยวข้องคงเป็นการพูดคุยเรื่องแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง และแนวทางการปฏิรูปประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมากกว่า
    ด้าน น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในวันดังกล่าว พวกตนกลุ่มส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไปพูดคุยกับนายกฯรัฐมนตรี โดยมีอดีต ส.ส.ของพรรคใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี ไปร่วมด้วย เมื่อนายกฯ มาถึงบ้าน เราในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็ต้องออกไปต้อนรับ 
    "ยืนยันว่าจะไม่มีการพูดเรื่องการเมือง เพราะกลัวจะถูกนายกฯ ตำหนิ แต่ถ้านายกฯ จะให้พูดเราก็พูด ซึ่งในการพูดคุยจะเสนอนายกฯ แก้ปัญหาในพื้นที่ อย่างจังหวัดมีปัญหาเรื่องสายไฟฟ้า ที่ดูแล้วทำให้ทัศนียภาพของจังหวัดไม่สวยงาม สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยว จึงอยากให้นายกฯ จัดระเบียบนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อให้เกิดความสวยงาม นอกจากนี้จะขอให้นายกฯ แก้ปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้เกิดการทุจริตแทบทุกพื้นที่ทั้งในหน่วยงานของรัฐเองด้วย" น.ส.รังสิมากล่าว.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"