คดีชิงหวย 30 ล้าน-เจ้าสัวฆ่าเสือดำ บทสะท้อนปฏิรูปตำรวจล้มเหลว!


เพิ่มเพื่อน    

​​

ช่วงนี้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวงการตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมหลายเรื่อง ที่ประชาชนให้ความสนใจติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาในองค์กรตำรวจ ต้นทางกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดเจน

            คดีพิพาทลอตเตอรี่ 30 ล้านบาท คือภาพสะท้อนของวิกฤติองค์กรตำรวจ โดยเฉพาะระบบงานสอบสวน เริ่มแรกที่ นายปรีชา ใคร่ครวญ ครูโรงเรียนเทพมงคลรังษี จ.กาญจนบุรี อ้างว่าทำลอตเตอรี่หล่นหาย และแจ้งความดำเนินคดีอาญา ร.ต.ท.จรูญ วิมูล อดีตข้าราชการตำรวจ คู่กรณีที่นำลอตเตอรี่ 30 ล้าน ไปขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ข้อหายักยอกทรัพย์ รับของโจร และฟ้องศาลแพ่ง จ.กาญจนบุรี ข้อหาละเมิดลาภมิควรได้

 ขณะที่ ร.ต.ท.จรูญ ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ก็แจ้งความกลับในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

            ทั้ง 2 ฝ่ายได้โต้แย้งเรื่องข้อเท็จจริงว่าบุคคลใดคือผู้ที่ซื้อลอตเตอรี่ หมายเลข 533726 งวดวันที่ 1พ.ย.2560 กระทั่งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 นำโดย พล.ต.ท.กิตติพงษ์ เงามุข ผบ.ชภ. ได้แถลงผลการพิสูจน์หลักฐานความเชื่อมโยงของคดี ซึ่งมีพยานเชื่อมโยง 40 ปาก สรุปว่า ลอตเตอรี่เป็นของ ครูปรีชา ส่วนกรณีของ ร.ต.ท.จรูญ นั้นไม่สามารถระบุได้ว่าซื้อมาจากร้านใด

            ขณะที่หมวดจรูญและทนายความได้เข้าร้องขอความเป็นธรรมที่กองบังคับการตำรวจปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บชก. ซึ่งเมื่อลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนแล้วเชื่อว่าลอตเตอรี่เป็นของหมวดจรูญ และได้ขอหมายจับต่อศาลจับกุม นายปรีชา กับ นางรัตนาภรณ์ สุภาทิพย์ หรือ เจ๊บ้าบิ่น แม้ค้าขายลอตเตอรี่ มาควบคุมตัวที่ บก.ป. ในข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ก่อนที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร., พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก.,  พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเชิด ผบก.ป. ร่วมกันแถลงผลการสืบสวนคดี ซึ่งแม้จะไม่ฟันธงว่าลอตเตอรี่เจ้าปัญหาเป็นของใคร แต่เข้าใจได้ว่าเป็นของหมวดจรูญ

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังต้องมีการพิสูจน์กันในชั้นศาล ทั้งอาญาและแพ่งว่าจะชี้ขาดอย่างไร

            แต่ที่น่าสนใจ มีหนังสือจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ 0026 (ก1)/16 วันที่ 20 ก.พ.2561 ลงนามโดย ผบช.ก.บันทึกข้อความลับ ถึง ผบ.ตร.ระบุชัดเจนว่า มีนายตำรวจสั่งด้วยวาจาให้พนักงานสอบสวนแก้ไขสำนวนเพื่อทำการสอบสวนให้ กลมกลืน แต่งเติมพยานหลักฐานเพื่อช่วยครูปรีชา นำมาซึ่งคำสั่งย้าย พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล ผบก.เมืองกาญจนบุรี ไปปฏิบัติราชการที่ ศปก.ตร. กับ พ.ต.ท.ชูวิทย์ เจริญนาค รอง ผกก. (สอบสวน) และ ร.ต.อ.จิรยุทธ์ ชัชรินทร์กุล รอง สว. (สอบสวน) สภ.เมืองกาญจนบุรี ไปปฏิบัติราชการที่ บก.ป.

“พฤติการณ์ของ พล.ต.ต.สุทธิ ที่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการสืบสวนสอบสวนข้าง ต้น เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจในฐานะที่ตนเองเป็นทั้งผู้บังคับบัญชาและหัวหน้าพนักงานสอบสวนใน จ.กาญจนบุรี สั่งการให้พนักงานสอบสวนผู้ใต้บังคับบัญชาสอบสวนโดยไม่ สุจริต เป็นธรรม และมีอคติเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” คือเนื้อหาในบันทึกส่วนหนึ่งซึ่งแสดงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และปลอมแปลงเอกสารราชการตาม ม.264 จะต้องมีการดำเนินการทางอาญาและวินัยด้วย

            แต่ในการแถลงข่าว ผบ.ตร.กลับไม่มีการระบุการดำเนินการทางอาญาและวินัยกับนายตำรวจดังกล่าว กลับแสดงอาการฉุนเฉียวเมื่อถูกซักประเด็นนี้ ทั้งที่พฤติการณ์แก้ไขสำนวนมีความผิดชัดเจนกว่าความผิดของบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ด้วยซ้ำ

            การแก้ไขสำนวนคดีถือเป็นปัญหาเลวร้ายสำหรับต้นทางกระบวนการยุติธรรม ที่สามารถแก้จากผิดเป็นถูก หรือถูกเป็นผิดได้ หรือที่เรียกกันว่า เป่าสำนวน เพื่อช่วยเหลือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แน่นอนว่าต้องแลกกับผลประโยชน์จากผู้มีส่วนได้เสีย

ปัญหาเช่นนี้เป็นที่รับรู้กันมานาน แต่มาปรากฏเป็นข่าวชัดแจ้งในคดีนี้ ซึ่งที่ผ่านมา สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ เคยสะท้อนปัญหาด้วยความอึดอัดใจว่า พงส.ไม่สามารถสอบสวนให้เป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนได้ เนื่องจากในคดีสำคัญมักถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้สอบสวนบิดเบือนทำลายพยานหลักฐานเพื่อช่วยผู้กระทำผิดได้ และเรียกร้องขอแยกเป็นอิสระจากตำรวจ

แต่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ก็ยังไม่นำพาต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว

เช่นเดียวกับคดี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ พร้อมพวกรวม 4 คน ถูกจับกุมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก พบของกลางซากสัตว์ป่าคุ้มครองเสือดำถูกชำแหละถลกหนัง พร้อมอาวุธปืน เครื่องกระสุน จำนวนมาก และถูกดำเนินคดี 9 ข้อหา ต่อมานายเปรมชัยถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหา ทารุณกรรมสัตว์ แต่มีการถอนแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว

ที่น่าแปลกใจ พ.ต.อ.วุฒิพงศ์ เย็นจิตต์ ผกก.สภ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้มีคำสั่ง ลงโทษ ภาคทัณฑ์ ร.ต.อ.สุมิตร บุญยะนิจ พนักงานสอบสวน ที่รับแจ้งความร้องทุกข์จาก นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี ให้ดำเนินคดีกับนายเปรมชัยกับพวกตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 แต่ได้ถอนคำร้องทุกข์เมื่อพบว่า คำว่าสัตว์ตามมาตรา 3 ให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีกำหนด และได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า รัฐมนตรียังมิได้ประกาศกำหนดสัตว์ตามธรรมชาติว่าต้องเป็นสัตว์ชนิดใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดี และกล่าวถึงกรณีนายเปรมชัยหลุดคดีข้อหาทารุณกรรมสัตว์ว่า “ข้อหาดังกล่าวไม่ได้หลุด แต่เนื่องจากข้อหานี้ไม่มีในข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 จึงได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนไปพิจารณาว่าผู้ที่ร้องทุกข์เข้าข่ายมีเจตนากลั่นแกล้ง หรือแจ้งความเท็จหรือไม่”

ทำให้หลายฝ่ายมองว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ ส่งสัญญาณให้ลงโทษพนักงานสอบสวนดังกล่าว และมีการโต้แย้งในข้อกฎหมายว่า ตาม ป.วิอาญา เมื่อมีผู้แจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามกฎหมายในทุกกรณี พงส.มีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษนั้น และบันทึกเลขคดีเข้าสู่สารบบของสถานีทันที และรีบดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงโดยมิชักช้าตาม มาตรา 130

นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความว่า "ถ้าผมเป็น "น้องตำรวจ" ที่ถูกลงโทษภาคทัณฑ์...ผมจะแกล้งเปิด "ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 122 และ 127" ไปวางไว้ที่โต๊ะผู้ออกคำสั่งฯ แล้ว..จะรอดูว่า "เจ้านาย" จะว่าอย่างไร ผมเคยไปแจ้งความที่โรงพักว่าถูกโกง ผมไม่เห็นต้องบอกตำรวจเค้าเลยว่า ผู้ที่โกงผม..ผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญามาตราไหนเลย..เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนเมื่อรับคำร้องทุกข์แล้ว..เค้าจะปรับกฎหมายเองว่า..ผู้ถูกกล่าวหาควรจะผิดกฎหมายอะไร/มาตราอะไร...เองครับ"

ทั้งนี้ ป.วิอาญา มาตรา 127 ระบุว่า เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับคำกล่าวโทษ จะไม่บันทึกคำกล่าวโทษในกรณีต่อไปนี้ก็ได้ (1) เมื่อผู้กล่าวโทษไม่ยอมแจ้งว่าเขาคือใคร (2) เมื่อคำกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์

โดยเฉพาะคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 เรื่อง ”การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการ การควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา” ในบทที่ 2 เขียนไว้ว่า เมื่อมีผู้มาแจ้งความที่เกี่ยวกับคดีอาญา ให้พนักงานสอบสวนทุกนายพึงระลึกเสมอว่า ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ หรือผู้กล่าวโทษอาจกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้ และพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษตามกฎหมาย ไม่ว่าเหตุจะเกิดหรืออ้างหรือเชื่อว่าเกิด ภายในเขตอำนาจการสอบสวนของตนหรือไม่ก็ตาม ห้ามปฏิเสธว่ามิได้เกิดในเขตอำนาจตนและให้ดำเนินการ ดังนี้...

ตัวบทกฎหมายและคำสั่งก็เขียนไว้ชัดเจน เป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานที่ทุกฝ่ายรับรู้ เมื่อประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำ มีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามกฎหมาย รับเลขคดีอาญาแล้ว เมื่อประมวลพยานหลักฐานทั้งหมดสรุปความเห็นเสนอให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง 

การลงทัณฑ์ข้าราชการ เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ถือได้ว่า เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเสียเอง แต่ พงส.ยศ ร.ต.อ.คงไม่กล้าใช้สิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้บังคับบัญชา หรือ ก.ตร. หรือศาลปกครอง เพราะคงไม่อยากทำให้ผู้บังคับบัญชาหมายหัว! ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตราชการไม่เจริญก้าวหน้า

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปตำรวจที่ล้มเหลวได้ชัดเจนยิ่ง ซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “แยกพนักงานสอบสวนออกมาจาก สนง.ตำรวจแห่งชาติ แล้วให้ไปขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม” เพื่อที่จะได้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ต้องมาคอยรอตอบสนองการสั่งซ้ายหันขวาหันจากผู้บังคับบัญชาในระบบเก่าๆ ของ สนง.ตำรวจแห่งชาติ และจะเป็นการถ่วงดุลในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ดีกว่าระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย และหากการแยกอำนาจการสอบสวนให้เป็นอิสระไม่เกิดขึ้น กรณีคดีความล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวรก็จะล้มเหลว การปฏิรูปตำรวจก็จะล้มเหลว และในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หน.คสช.และนายกรัฐมนตรี ก็จะล้มเหลวต่อการทำรัฐประหารในครั้งนี้อีกด้วย

เช่นเดียวกับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง โพสต์ข้อความว่า "คำสั่งดังกล่าวออกมาภายหลังจากที่ตำรวจระดับสูงผู้คุมสำนวนกล่าวกับสื่อมวลชนว่าจะตรวจสอบผู้ที่แจ้งความข้อหานี้ ผมเกรงว่าประชาชนทั่วไปจะคิดไปว่าการลงโทษตำรวจชั้นผู้น้อยเช่นนี้ เป็นการเอาใจผู้ที่มีอำนาจบารมี เป็นการแสดงให้เห็นว่าได้มีความพยายามที่จะเขียนเสือให้วัวกลัวแล้ว เพื่อห้ามปรามการขยายวงข้อหาความผิด และเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องว่าอย่าล้ำเส้น จริงหรือไม่ ถ้าคำสั่งนี้เป็นจริง ผมคิดว่าถึงเวลาที่สังคมจะเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ ให้เกิดขึ้นจริงจังได้แล้ว แบบฟ้าผ่า แบบถอนรากถอนโคน"

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงความเห็นต่อคดีลอตเตอรี่ 30 ล้าน และคดีนายเปรมชัย ว่าเป็นเรื่องของบุคคล ไม่ได้มองว่าเกิดจากปัญหาระบบโครงสร้างที่ล้าหลังที่ต้องเร่งปฏิรูปแต่อย่างใด และยังเรียกร้องให้ทุกคนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่ผลสำรวจนิด้าโพลพบว่า ประชาชน 68.88% ไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่จะเอาผิดคดีล่าสัตว์ป่าได้ เช่นเดียวกัน กรุงเทพโพล ที่ถามว่าเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี ส่วนใหญ่ 71.7% เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

นี่คือวิกฤติองค์กรตำรวจและระบบงานสอบสวนต้นทางกระบวนการยุติธรรม ที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่นศรัทธามาเนิ่นนาน จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูป แต่ผู้มีอำนาจกลับฟังแบบเอาหูทวนลม ขาดวิสัยทัศน์และยังหลงอำนาจ ปล่อยให้เกิดความอยุติธรรมเต็มไปทั่วแผ่นดิน สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกหย่อมหญ้า และหากไม่ปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน บ้านเมืองคงต้องลุกเป็นไฟ!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"