ข้อเป็นห่วง ในจังหวะ เปลี่ยนผ่าน กกต.
กระบวนการนับหนึ่งใหม่เพื่อให้มี 7 เสือ กกต. ของคณะกรรมการสรรหา กกต.และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กำลังจะเริ่มต้นในเร็ววันนี้ หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติคว่ำ 7 ชื่อว่าที่ กกต.ที่ส่งไปก่อนหน้านี้เมื่อ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็ย้ำอีกรอบเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จะมีการเลือกตั้งแน่นอนไม่เกิน ก.พ.2562
กับจังหวะที่กำลังรอการเปลี่ยนผ่านจาก กกต.ชุดปัจจุบันที่รักษาการอยู่กับ กกต.ใหม่ 7 คนที่จะเข้ามารับไม้ต่อ
รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง ที่ตอนนี้เป็นหนึ่งในแคนดิเดตผู้สมัครเป็น เลขาธิการ กกต.คนใหม่ ย้ำเช่นกันว่า ไม่ว่าจะมี กกต.หรือไม่มี กกต.ใหม่ กกต.ชุดปัจจุบันที่ทำหน้าที่อยู่ก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับใดก็ตาม รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ชุดที่ทำหน้าที่อยู่ในช่วงนั้นเป็นผู้ดำเนินการเพียงแต่ว่า สิ่งที่กังวลคือจังหวะการเข้ามาของ กกต.ใหม่จะเข้ามาตรงไหน ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ที่เล็งไว้ก็จะมีอยู่ 2 ช่วงเวลา
...ช่วงแรกคือตอนสิงหาคม-กันยายนปีนี้ ที่ตอนนี้แนวโน้มน่าจะเป็นกันยายน ไม่ใช่สิงหาคม โดยหากช่วงนั้นถ้าได้ กกต.ครบ 7 คน หากเข้ามาช่วงนั้นแล้วมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนสิงหาคม ก็เท่ากับ กกต.ชุดปัจจุบันจะทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ส่วนการส่งมอบส่งต่อก็อาจลำบาก เพราะคนจัดเลือกตั้งเห็นปัญหา เห็นคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นของการเลือกตั้ง แต่กลับไม่ได้คอยวินิจฉัยให้ใบเหลือง ใบแดง หรือคอยติดตามเรื่องคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อเนื่องต่อไป นี่คือการมองปัญหาที่อาจเกิดขึ้น แต่ยืนยันว่ามีคนจัดเลือกตั้งได้ และมีคนแจกใบเหลือง ใบแดงได้
แต่จะกลายเป็นว่า ฝ่ายหนึ่งจัด อีกฝ่ายหนึ่งแจก การเชื่อมโยงต่อเนื่องกันบางครั้งก็อาจลำบาก สมชัยระบุ
สมชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับจังหวะที่สอง คือกรณีการสรรหา กกต.รอบใหม่ หากได้อย่างน้อย 5 คน จาก 7 คน จะไม่มีปัญหา แต่หากเลือกแล้วยังได้ กกต.ไม่ครบองค์ประชุม เช่น น้อยกว่า 5 คน ก็ต้องไปดำเนินการสรรหาใหม่มาให้ครบอีก ที่ก็จะใช้เวลาอีกร่วม 6 เดือน ก็นับจากเดือนกันยายนปีนี้ไป ก็จะอยู่ในช่วงมีนาคม ปี 2562 แล้วหากมีการเลือกตั้งทั่วไป ก็จะเกิดปัญหาอีกคือ การจัดเลือกตั้งจะทำโดย กกต.ชุดปัจจุบัน แต่การแจกใบเหลือง ใบแดง และการดำเนินคดีต่างๆ จะทำโดย กกต.ชุดใหม่ อันนี้คือความขรุขระที่อาจจะเกิดขึ้นทั้ง 2 จังหวะ
ซึ่งหากตอน สนช.โหวตเมื่อ 22 ก.พ. ถ้าได้ กกต.ใหม่มาครบหมด แล้วมาเริ่มทำงานทันที ก็จะสวยงามมากกว่า แต่เมื่อไม่ได้ เพราะอาจเรื่องคุณสมบัติหรือกังวลในเรื่องกระบวนการสรรหา ก็เลยทำให้ยังไม่ได้ กกต.ใหม่ จังหวะก็อาจพลาดไปสักเล็กน้อย
“ผมใช้คำว่า การจัดการเลือกตั้งให้เสร็จ จะไม่มีปัญหา แต่การจัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม และดำเนินการกับการทุจริตเลือกตั้ง ผมว่าอาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ คำว่าไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์คือ เนื่องจากเป็น 2 ชุด ดังนั้นการส่งมอบ มันไม่ต่อเนื่องกับสนิทแบบเนื้อเดียวกันแน่นอน”
กกต.-สมชัย ให้มุมมองต่อไปว่า ในจังหวะเดียวกัน โดยพฤติการณ์การทำงานในจังหวะที่ กกต.ชุดหนึ่งกำลังจะหมดวาระ และ กกต.ใหม่กำลังจะมา พฤติการณ์การทำงานของทุกฝ่าย มันคาดเดาไม่ได้ว่าเขาจะทำงานแบบไหน จะทำงานทุ่มเทหรือไม่ หรือจะรอบางอย่างเพื่อให้ชุดใหม่ที่จะเข้ามาเป็นคนคิดคนทำ ก็ทำให้การที่เราริเริ่มทำอะไรบางอย่างหรือทำอะไรเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ บางทีก็อาจมีการคิดว่า รอไว้ก่อน ตรงนี้ก็อาจเป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
“การเลือกตั้ง คือจัดให้ได้ จัดให้เสร็จ แต่ว่าจัดแล้ว จะสุจริตเที่ยงธรรม ป้องกันการทุจริตเลือกตั้งได้หรือไม่ เราคิดว่ามันคงจะด้อยกว่าการที่มี กกต.ชุดใดชุดหนึ่งทำตั้งแต่ต้นจนจบ ที่หากมีชุดใดชุดหนึ่งทำตั้งแต่ต้นจนจบ มันก็จะต่อเนื่อง เพราะถ้าชุดหนึ่งทำ แล้วอีกชุดหนึ่งเข้ามาทำต่อ คือโดยกฎหมายและความรับผิดชอบหน้าที่ไม่มีปัญหา ไม่มีขาดตอนแม้แต่นาทีเดียว แต่ว่าความเป็นจริงมันไม่ใช่เรื่องแบบนั้น”
ถามย้ำว่า หมายถึงอาจเกิดปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านการได้มาซึ่ง กกต. สมชัย ตอบว่า ใช่ คือการส่งมอบหรือการส่งต่อ ก็เหมือนกับการสับเปลี่ยนกำลังคนในช่วงสงคราม กับการสับเปลี่ยนกำลังคนในช่วงสุขสงบ ก็จะแตกต่างกัน
สมมุติเช่น หากคุณไปโยกย้ายแม่ทัพภาคต่างๆ ในช่วงที่ไม่มีสงคราม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องส่งมอบกันอย่างเร่งรีบ ค่อยๆ ศึกษาได้ เตรียมรับกับศึกที่อาจเกิดในภายภาคหน้าได้ แต่หากสมมุติว่ากำลังรบกันอยู่แล้วมีการมาสับเปลี่ยนแม่ทัพนายกอง วุ่นวายกันหมด การส่งต่อส่งมอบดังกล่าวก็จะเป็นแบบที่สำนวนเรียกว่า การเปลี่ยนม้ากลางศึก ถึงขนาดที่ คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่า ไม่ใช่แค่เปลี่ยนม้ากลางศึก แต่เป็นการเปลี่ยนม้ากลางแม่น้ำ ที่ก็อาจเป็นปัญหาซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้ ในฐานะที่ผมดูแลตรงนี้ ผมก็พอมองเห็นปัญหานี้อยู่
รอ 7 เสือ กกต.ไร้สุญญากาศ
สมชัย ย้ำว่า ในช่วงการรอให้มี กกต.ใหม่เข้ามา การทำงานของ กกต.จะไม่มีสุญญากาศ รอยต่อพอดีกันหมด ไม่มีที่ว่างที่จะไม่มี กกต.ดูแลแม้แต่นาทีเดียว เพราะตามกฎหมายคือว่า วันใดที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา วันนั้น กกต.ชุดปัจจุบันก็จะทำงานจนถึง 24.00 น. แล้วพอพ้นวันไป กกต.ชุดใหม่ก็เข้ามารับหน้าที่ จึงไม่มีช่องว่างแม้แต่นาทีเดียว
สมชัย กล่าวถึงบทบาทหลักของ กกต.หลังจากนี้ในช่วงรอ กกต.ใหม่เข้ามาสานต่องานว่า เราต้องอ่านสถานการณ์ต่อจากนี้ให้ออกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น และหน้าที่เราซึ่งเราต้องเตรียมการให้เกิดผลดีที่สุดคืออะไร
...ผมอ่านสถานการณ์ว่าหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนสิงหาคม กกต.ชุดนี้ก็ต้องทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้จะมีการบอกว่าสามารถมอบให้หน่วยงานอื่นทำ แต่ก็ต้องกำกับดูแล หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนสิงหาคม เราก็ต้องเตรียมการทุกอย่าง เช่น เรื่องระเบียบต่างๆ รวมถึงการเตรียมกลไกที่เกี่ยวข้อง เช่น กำลังคน เราต้องเตรียมให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงกลไกใหม่ เช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็เป็นครั้งแรกที่จะทดลองกลไกดังกล่าว จะได้เห็นจุดอ่อน ข้อบกพร่องว่าเมื่อทำงานแล้วมีปัญหาอย่างไร ทำให้เมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่ในต้นปีหน้า เราก็จะได้ใช้กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บางคนบอกว่า จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะกฎหมายไม่ได้บอกไว้ แต่ผมเห็นว่าควรที่ กกต.ต้องใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อจะได้เรียนรู้ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น จะได้รู้ว่าการที่เราจะส่งคนนอกพื้นที่ไปอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งพื้นที่หนึ่ง เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม เป็นอย่างไร จะติดขัดในเรื่องการทำงาน หรือเรื่องการอำนวยความสะดวกจากคนในพื้นที่หรือไม่ หรือการหาข่าวจากในพื้นที่หรือไม่ จะได้เรียนรู้ ถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นเดือนสิงหาคม กกต.ชุดปัจจุบันก็จะเดินหน้าเต็มที่ ไม่มีลดราวาศอก
กกต.เราทุกคน ในวันที่ถูกเซตซีโร ก็ทำใจรับสภาพ ที่ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปภายใต้เหตุผลว่าเขาต้องการคนใหม่ ที่มีคุณสมบัติขั้นสูงที่เรียกว่าขั้นเทพ สิ่งที่เราคิดก็คือต้องเตรียมการเตรียมใจที่จะส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชุดใหม่ แต่เมื่อตอนนี้ชุดใหม่ยังไม่มา แล้วยังให้ชุดเราเป็นคนทำ ก็ต้องย้อนถามคนที่มีอำนาจว่าเมื่อประสงค์ให้เป็นแบบนี้ แล้วต้องการปลาน้ำเดียว ต้องการคนที่มีคุณสมบัติขั้นสูงมาทำงานแล้วทำไมยังให้เราทำงานต่อ ตรงนี้ก็อาจขัดวัตถุประสงค์การเซตซีโร กกต. แต่ถามว่าโดยหน้าที่เราต้องทำหรือไม่ ก็ต้องทำและทำเต็มที่
“เราไม่ปฏิเสธหน้าที่ แต่ถามว่าในเชิงการทำงานให้เกิดผลสำเร็จเต็มที่ คำตอบคือเราหวั่นเกรงพอสมควรว่า อาจทำให้เกิดความสำเร็จได้ไม่เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ใจเราอยากจะร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม”
สมชัย ยกเหตุผลมาอธิบายข้อเป็นห่วงข้างต้นว่า เพราะว่าหลายอย่าง เช่น คนที่ทำงานกับเรา เขาคิดแบบเราไหม หรือเขาคิดว่า เดี๋ยวเราก็ออกไป จะหมดหน้าที่ ดังนั้นสั่งอะไรไปอาจจะทำหรืออาจไม่ทำ หรืออาจต้องรอ กกต.ชุดใหม่ ลักษณะแบบนี้ คือความไม่ราบรื่น ไม่ลงตัว ความอิหลักอิเหลื่อระหว่างชุดใหม่กับชุดเก่าจะเกิดขึ้น มันก็ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
...ทุกองค์กรจะเป็นหน่วยงานราชการหรือเอกชนก็ตาม ในจังหวะการเปลี่ยนผ่าน พนักงานจะมีการเกียร์ว่าง รัฐบาลทุกรัฐบาลรู้ดี ในปลายรัฐบาลทุกรัฐบาล เมื่อรู้ว่ารัฐบาลนี้จะไป จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ข้าราชการก็จะวางตัวอย่างไร ก็จะทำหน้าที่แบบเพลย์เซฟ ไม่ทำเต็มที่ ซึ่งคนเรียกว่าเกียร์ว่างเพื่อรอรัฐบาลใหม่เข้ามา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในราชการประเทศไทย
- หาก กกต.ชุดปัจจุบัน ทำหน้าที่ช่วงเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วมีการแจกใบเหลือง ใบแดง จะเกิดปัญหาอะไรขึ้น?
ถ้ามีเลือกตั้งท้องถิ่นเดือนสิงหาคม แล้ว กกต.ใหม่มาเดือนกันยายน การจัดเลือกตั้งก็ทำโดย กกต.ชุดปัจจุบัน แต่การแจกใบเหลือง ใบแดงจะทำโดยชุดใหม่ คนที่รู้เรื่องคดีความต่างๆ มีการไปลงพื้นที่จริง จังหวัดไหนมีปัญหาอย่างไร แต่ถึงตอนที่ต้องวินิจฉัย กลับเป็นคนที่ไม่ได้รู้อะไรเลย หรือไม่ได้รู้สถานการณ์ต่างๆ ก็จะวินิจฉัยจากเอกสาร รายงานที่เขียนขึ้นมา แล้วคุณคิดหรือว่าจะไม่เกิดขบวนการที่เหมือนกับหวย 30 ล้านบาท ที่เรียกว่า ”ผ่าสำนวน” คุณคิดหรือว่าจะไม่เกิดสิ่งนั้น
...ถ้าข้างบนมีหน้าที่แค่รอ และนั่งสำนวนการสอบสวนจากข้างล่างส่งขึ้นมา แล้วพิจารณาจากสำนวนโดยที่ตัวเองไม่ได้ไปสัมผัสจริงในพื้นที่ ไม่ได้รับรู้ต่อเนื่อง กกต. 7 คนที่มาใหม่ ก็จะเป็นแค่คนที่รอสำนวนการสอบสวน ซึ่งแล้วแต่การเขียนเข้ามาว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งพอเราไปเชื่อสำนวนที่เขียนขึ้นมา การวินิจฉัยก็จะเป็นไปในทิศทางนั้น
ผมมาเป็น กกต.ผมเคยเห็นสำนวนการสอบสวนที่มีคนร้องว่าซื้อเสียง 200 บาท แล้วสำนวนเขียนมาจากตั้งแต่ต้นในระดับจังหวัดว่าไม่ผิด มาที่ กกต.จังหวัดก็บอกว่าไม่ผิด แล้วส่งมาที่อนุกรรมการวินิจฉัย ก็บอกไม่ผิด แล้วมาที่เลขาฯ ที่สรุปสุดท้ายก่อนมาที่ กกต. ก็บอกไม่ผิด ผมขอดูหลักฐานที่เป็นดีวีดีว่าหลักฐานเป็นอย่างไร เพราะตอนแรกบอกว่ามีภาพบันทึกเหตุการณ์ ผมขอให้นำภาพเหตุการณ์มาฉายให้ กกต. 5 คนดู หลังจากฉายแล้วผมถามที่ประชุม กกต.ว่าผิดหรือไม่ผิด ทุกคนบอกผิดหมด
ผมถามเลขาฯ ตอนนั้นว่าผิดหรือไม่ กรณีนี้เลขาฯ ก็บอกผิด หลังเห็นภาพเหตุการณ์ แต่สำนวนบอกไม่ผิดมาตลอด คือเป็นการซื้อเสียง แต่สำนวนบอกว่าเป็นการจ่ายค่าจ้างตัดหญ้า 200 บาท โดยเรื่องนี้มีการร้องว่าซื้อเสียง 200 บาท คนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้หญิงซื้อเสียงกับผู้หญิงอีกคน แต่สำนวนการสอบสวนตั้งแต่ต้นบอกว่า ผู้หญิงคนแรกจ้างผู้หญิงคนที่สอ ตัดหญ้า เงิน 200 บาท จึงเป็นค่าตัดหญ้า ผมดูเทปแล้ว ไม่ใช่การจ่ายต่อหน้า แต่เป็นการยืนด้วยกัน 2 คน มองไปข้างหน้าทั้งคู่แล้วเอามือล้วงไปในกระเป๋า แล้วแอบส่งให้กับคนที่อยู่ข้างๆ สิ่งนี้ไม่ใช่วิธีการจ่ายค่าจ้าง แต่เป็นการแอบให้เงินซื้อเสียง
สมชัย ย้ำว่า จากตัวอย่างสำนวนการสอบสวนที่ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า หากเราเชื่อเจ้าหน้าที่ สำนวนก็ขาว ขาว ขาว ขาว สี่ขั้นตอน แต่มาถึง กกต. มีการให้ใบแดงแบบเดียวกัน คือถ้า กกต.จัดการเลือกตั้งแล้วลงไปคลุกกับปัญหา เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เห็นความรุนแรงของปัญหาแต่ละจังหวัด กกต.เวลามีเลือกตั้งต้องลงพื้นที่ แล้วก็ตัดสินได้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง
...ถามว่าชุดหนึ่งจัด และอยู่ในพื้นที่ แล้วอีกชุดหนึ่งก็นั่งรอรายงาน แล้วคอยวินิจฉัยจากเอกสาร มันจะเกิดความต่อเนื่อง และการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
ผมยังอยากได้โมเดลที่ว่า ชุดไหนทำแต่แรก ก็ทำไปเถอะครับ แล้วก็ทำให้มันจบไป แต่ตอนนี้มันจะไม่เป็นแบบนั้น มันกลายเป็นจังหวะที่เสียไป 2 จังหวะ คือจังหวะแรก ถ้าเลือกตั้งท้องถิ่นมีจริงในเดือนสิงหาคม และถ้ามีเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ก็จะเสียอีกหนึ่งจังหวะ อันนี้ก็คือความไม่สบายใจ
- การเลือก กกต.ชุดใหม่ เกรงไหมว่าจะเกิดปัญหาซ้ำอีกครั้ง ทั้งในชั้นกรรมการสรรหาฯ-ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และเมื่อส่งมาที่ สนช.?
คือกติกาไม่เปลี่ยน เพราะการเปลี่ยนกติกาไม่ใช่ง่าย ต้องไปแก้กฎหมายว่าด้วย กกต. และก็ยังมีแนวทางคำวินิจฉัยตามกติกา เปลี่ยนหรือไม่ คำตอบก็คือถ้าจะไม่เปลี่ยน คำว่าแนววินิจฉัยกติกาก็คือ แนวความเห็นของกรรมการสรรหาฯ กกต. ให้ความเห็นว่า แบบนี้ได้ แบบนี้ไม่ได้ เช่น มีเจ้ากรมของทหารมาสมัครเป็น กกต. ทางกรรมการฯ เคยวินิจฉัยว่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้ากรมไม่ใช่หัวหน้าฝ่ายบริหารสูงสุด โดยที่เจ้ากรมเทียบได้กับอธิบดี แต่กรรมการสรรหาฯ ตีความว่าหน่วยงานทหารในระดับที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการมีแค่ 5 ตำแหน่ง คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม-ผบ.ทบ.-ผบ.สส.-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ. แต่เจ้ากรมต่างๆ ที่อยู่ระดับล่างลงมาจึงไม่ถือว่าเป็นหัวหน้าส่วนราชการ นี่คือแนววินิจฉัยของกรรมการสรรหาฯ ที่ผมเชื่อว่าคงไม่เปลี่ยน หรือแนววินิจฉัยที่บอกว่า ที่เป็นรองปลัดกระทรวงไม่ถือว่าเป็นหัวหน้าส่วนราชการ หรือเป็นอธิบดีมา 4 ปี แล้วไปเป็นรองปลัดฯ 1 ปี ถือว่าขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นอธิบดีไม่ถึง 5 ปี แนววินิจฉัยแบบนี้ก็จะไม่เปลี่ยน
...หรือเรื่องการวินิจฉัยการถือหุ้นในกิจการสื่อสาร สิ่งพิมพ์ รอบที่แล้ว กรรมการไปวินิจฉัยว่าผู้สมัครบางคนขาดคุณสมบัติ เพราะไปถือหุ้นในธุรกิจด้านสื่อสารมวลชน ทั้งที่การถือหุ้นดังกล่าวเป็นการถือหุ้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร แต่ไปถือหุ้นหนึ่งหุ้นในแสนหุ้นล้านหุ้น ในฐานะทนายความ แนววินิจฉัยคือถือหุ้น จึงไม่ได้
กรณีแบบนี้จึงเป็นปัญหาในแง่การวินิจฉัยของกรรมการสรรหา ที่ถือเป็นที่สุดแล้ว และแนวดังกล่าว ทางกรรมการก็คงยึดแนวเดิม เพราะหากไปเปลี่ยนแนววินิจฉัย ก็จะเกิดคำถามว่าคุณเป็นใคร เปลี่ยนได้ทุกวันหรือ เพราะกรรมการสรรหาที่เป็นโดยตำแหน่ง ก็จะมาเป็นกรรมการสรรหารอบใหม่อีก ทำไม 2 ครั้งจึงคิดแตกต่างกัน ก็จะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เมื่อกติกาไม่เปลี่ยน แนววินิจฉัยไม่เปลี่ยน การวินิจฉัยแบบเคร่งครัดเข้มงวด ผิดนิดเดียวไม่ได้ จะเกิดขึ้นแบบเดิม
สมชัย กล่าวต่อไปว่า ถามว่าจะเกิดอะไรกับการสรรหาคราวนี้ ผมคิดว่าคนที่เคยไม่ผ่านรอบที่แล้ว เขาจะรู้แล้วว่าสมัครไม่ได้ เขาก็จะไม่มาสมัคร ขณะเดียวกันคนอื่นที่ติดเงื่อนไขเดียวกันก็จะไม่สมัคร ก็จะมีแต่คนอื่นที่คุณสมบัติครบจะมาสมัคร โดยคนที่จะมาสมัคร เขาก็ต้องคิดว่าเขากล้าที่จะเผชิญการตรวจสอบหรือไม่ ถ้ากล้าที่จะเผชิญการตรวจสอบคุณสมบัติ กล้าที่จะให้ สนช.ตรวจสอบเชิงลึกทั้งหมด เขาก็เข้ามา ตรงนี้ก็อาจทำให้คนเกิดความลังเลใจในการสมัคร
หรือแม้แต่คนซึ่งสมมุติว่า คนซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นคนใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ไปสัญญาทาบทามให้ความหวัง ว่ามาเถอะมาแล้วได้แน่ๆ คำถามคือประโยคดังกล่าวจะสามารถสร้างความไว้วางใจเชื่อถือไว้ให้กับคนที่ถูกทาบทามได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็ดูคล้ายๆ ว่า หลายคนก็ได้รับการติดต่อจากคนที่ดูใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ตรงนี้ก็จะเป็นความยากในการได้มาซึ่งคนที่จะเข้ามาสมัคร”
...แต่อย่างไรเสีย ผมก็เชื่อว่าจะมีคนมาสมัครเป็น กกต.อยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องที่กรรมการสรรหาต้องหาสิ่งที่ดีที่สุดในสิ่งที่มีอยู่ และขณะเดียวกันก็จะต้องไม่เป็นฝ่ายทำให้เสียเสียเอง คือหาสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่และไม่ทำให้เสียด้วยตัวกรรมการสรรหาเอง
สมชัย ขยายความประเด็นที่บอกว่า ต้องไม่ทำให้เสียด้วยตัวกรรมการสรรหา ว่า คำดังกล่าวหมายถึงอย่างเช่น เรื่องการลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะทางศาล แต่ความจริงแล้วในซีกกรรมการสรรหาก็เช่นกัน เพราะในรายงาน 369 หน้า ที่กรรมการสรรหาส่งให้ สนช.ตอนพิจารณาโหวตเห็นชอบ กกต. ในหน้าสุดท้ายของการสรุปรายงาน พบว่าทำแบบเดียวกัน คือบอกแค่ว่าคนที่ได้รับเลือก ใครได้กี่คะแนน แต่ไม่บอกว่ากรรมการสรรหาโหวตให้ใคร ไม่มีการบอกไว้ แล้วจะเป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผยได้อย่างไร
จุดนี้ยังไม่มีใครชี้ขึ้นมา แต่ผมชี้ให้เห็นว่า จุดดังกล่าวต้องปรับปรุงแก้ไข ในรายงานต้องแสดงให้เห็นว่า กรรมการสรรหาใครโหวตให้ผู้สมัครคนไหนด้วย ความจริงมันเสียสองฝั่ง ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า สนช.อาจจะโหวตไม่เอาชื่อที่ส่งไปทั้ง 7 คน เพราะมีปัญหาในกระบวนการสรรหาทั้ง 2 ฝั่ง เพราะเปิดเผย ก็อย่างที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่าง รธน.บอกไว้คือ ต้องรู้ว่าใครลงคะแนนให้ใครด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง
...ดังนั้นในการสรรหาทั้ง 2 ซีกฝั่ง อะไรที่จะปรับปรุงวิธีการ กติกา เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้นได้ ก็ทำไป ก็จะได้ไม่เกิดการเสียโดยกรรมการสรรหาเอง ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นการเสียครั้งที่สอง แล้วการเสียแต่ละครั้ง ประเทศมีต้นทุน ทั้งเรื่องของเวลาที่เสียไป การจะได้คนมาทำงานใหม่ที่เร็วขึ้น และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
ถามถึงว่าทางศาลฎีกาฯ ควรมีการปรับปรุงอย่างไรเพื่อไม่ให้การสรรหาเลือกคนไปเป็น กกต.เกิดปัญหา สมชัย กล่าวว่า ก็เช่นเดียวกัน คือหากเราเห็นข้อบกพร่องในการลงมติของศาลฎีกาครั้งที่แล้วที่ยังไม่ใช่การลงคะแนนโดยเปิดเผย อะไรที่ปรับได้ก็ควรปรับแก้
- ประเมินว่า มีโอกาสเกิดกรณีกรรมการสรรหาและศาลฎีกาส่งไปแล้ว ทาง สนช.จะคว่ำอีกหรือลงมติเห็นชอบไม่ครบ 7 คน มีโอกาสจะเกิดอีกได้หรือไม่?
อันนี้คงไม่ประเมิน เพราะเรายังไม่เห็นอะไรเลย ไม่เห็นแม้กระทั่งตัวผู้สมัครว่าจะเป็นใคร เพียงแต่ผมบอกให้เห็นถึงการได้มาซึ่งคนรอบใหม่ เมื่อกติกาและแนวคำวินิจฉัยของกรรมการสรรหาจะเป็นแบบเดิม และความลังเลใจของผู้สมัครก็จะมีมากกว่าเดิม ดังนั้นก็อาจได้ตัวผู้สมัครยากขึ้นกว่าครั้งก่อน
- หาก กกต.ถูกการเมืองแทรกแซง หรือเป็นนอมินีของผู้มีอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีผลเสียอย่างไร?
ผมให้ความเห็นแบบนี้คือ ก่อนวันจะเข้ามาเป็น กกต. ถ้าท่านอยากเป็นมากๆ ท่านอาจไปใกล้ชิดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีพลัง มีความสามารถผลักดันให้เข้าไปเป็น กกต.ได้ มันก็เป็นพฤติกรรมโดยทั่วไปของสังคมไทย ที่ต้องวิ่งเข้าหาคนที่มีอำนาจในการช่วยผลักดันช่วยสนับสนุน
ผมเองสมัยที่เข้ามาไม่ได้ไปวิ่งหาใคร ผมจึงไม่ติดหนี้บุญคุณใคร แต่ในทุกตำแหน่งในบ้านเมืองก็จะเป็นคล้ายๆ แบบนี้ คือเมื่อประสงค์จะเข้าไปสู่ตำแหน่งก็ต้องหาช่องทางต่างๆ ประสงค์มากก็หาช่องทางมาก ประสงค์มากก็เป็นหนี้บุญคุณเขามาก ก็เป็นระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย
ผมอยากให้แง่คิดว่า ณ วันที่เข้ามาเป็น กกต.แล้ว หรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานตามที่ต้องการแล้ว ถ้าท่านจะอยู่โดยปลอดภัยในอนาคตไกลๆ ท่านต้องลืมหนี้บุญคุณให้หมด ต้องลืมว่าใครช่วยท่านทั้งหมด แล้วก็ทำงานให้ตรงกับหน้าที่และกฎหมาย บนหลักเหตุและผล ท่านก็จะอยู่รอดปลอดภัย
ดังนั้นผมไม่ค่อยเป็นห่วงว่า กกต.ใหม่ใครส่งมาแล้วจะเป็นนอมินีของใคร เพราะผมเชื่อว่า กกต.ใหม่ที่มาพอถึงเวลาเข้ามาเป็น กกต. เขาจะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพราะมีบทเรียนในอดีตแล้วว่า คนที่ทำงาน กกต.แบบไม่ตรงไปตรงมาชีวิตบั้นปลายไม่ดี คือถ้าเข้ามาแล้วก็ต้องรู้จักคิดแล้วกัน ว่าต้องทำงานตามหน้าที่ ตามหลักกฎหมายและตรงไปตรงมา นี่คือสิ่งที่จะคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัย การเป็นนอมินีให้ใครหรือเอนเอียงให้ใคร ท้ายสุดมันไม่ได้จบด้วยดี
เรื่องเล่าสมัยจัดเลือกตั้งช่วง กปปส.
สมชัย เล่าข้อมูลที่น่าสนใจให้ฟังช่วงจัดเลือกตั้งครั้งสุดท้ายก่อนจะมีรัฐประหาร คสช.ว่า กกต.ชุดปัจจุบันที่อยู่มาได้ถึงตอนนี้ เราก็อยู่บนหลักของกฎหมาย เพราะถ้าเราไปเอนเอียงเข้ากับฝ่ายการเมืองตั้งแต่เริ่มต้น ใครมีอำนาจเราเอนเอียงตั้งแต่ตอนนั้น ผมว่าเราไม่ได้อยู่ถึงทุกวันนี้
“วันนั้นพรรคเพื่อไทยมีอำนาจ หลายสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการ หรือทางรัฐบาลต้องการ เป็นความต้องการที่เราทำไม่ได้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่นบอกว่า ก็เขาปิดล้อมหน่วย ปิดล้อมที่สมัคร คุณก็ไปหาที่สมัครใหม่สิ ประโยคแบบนี้ หรือเขาปิดตอนแปดโมง คุณก็ไปสมัครตอนตีห้า อะไรอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจในบ้านเมืองพยายามบอกว่าเราต้องทำแบบโน้นแบบนี้ หรือบัตรเลือกตั้งถูกล้อมที่ภาคใต้ คุณก็พิมพ์บัตรใหม่สิ ยากอะไร ประโยคแบบนี้มาจากระดับรัฐมนตรีทั้งสิ้น ถามว่าหาก กกต.ในวันนั้นทำตามสิ่งนี้ ถึงวันนี้ กกต.ทุกคนอยู่ในคุกหมดแล้ว เพราะทำไม่ได้”
...การเปลี่ยนสถานที่รับสมัครต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา การจัดพิมพ์บัตรใหม่ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหาโรงพิมพ์ พิมพ์เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ต้องมีกระบวนการในการตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้าง ต้องหาโรงพิมพ์ที่มีความปลอดภัย ไม่ใช่ประเภทว่าบัตรถูกยึดก็ไม่เห็นยากเย็นอะไร ก็ไปหาโรงพิมพ์เอกชนพิมพ์บัตรใหม่ทันทีซึ่งทำไม่ได้ ประโยคทำนองแบบนี้ซึ่งผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเห็นว่าทำได้ แต่ กกต.เรายึดหลักกฎหมายว่าเราทำให้ไม่ได้ เราก็บอกว่าไม่ได้
ดังนั้นสิ่งที่ กกต.เราดำเนินการมาตลอดก็คือ เราไม่สนใจว่าใครคือผู้มีอำนาจในบ้านเมือง แต่เราสนใจว่าท่านทำถูกหรือไม่ วันนี้แม้จะเป็น คสช. ในบางคำถามที่ คสช.หรือหัวหน้ารัฐบาลถามต่อสังคม ผมก็ตอบภายใต้หลักการของกฎหมาย เช่นถามว่า คสช.สามารถสนับสนุนพรรคการเมืองได้หรือไม่ ฝ่ายนักกฎหมายที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลอ้ำๆ อึ้งๆ ไม่กล้าบอกตรงๆ ว่าทำได้หรือไม่ได้ พูดไปทำนองก็เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ที่เป็นการให้ความจริงครึ่งเดียว ผมก็ออกมาบอกว่าถ้า คสช.เป็นตัวบุคคล คุณสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ได้ แต่ถ้า คสช.เป็นองค์อำนาจ เป็นคนซึ่งต้องชี้เป็นชี้ตายให้บ้านเมือง สามารถสั่งการหน่วยงานต่างๆ ได้ คสช.จะไปสนับสนุนพรรคการเมืองไม่ได้ นี่คือตัวอย่างที่เราแสดงให้เห็นว่าเรายืนบนหลักการที่ถูกต้องตามกฎหมาย.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
...........................
ล้อมกรอบ หน้า 4-5
พรรคการเมืองเก่า
อาจหายไป 20 พรรค
คึกคักกันตั้งแต่วันแรกสำหรับการคิกออฟให้ประชาชน กลุ่มการเมืองยื่นขอจดแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่วันแรกเมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีมายื่นเรื่องแล้วถึง 42 พรรค
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร-กกต. กล่าวถึงกระบวนการต่อจากนี้ว่า สำหรับพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ เมื่อมายื่นต่อ กกต.ก็เป็นการรับเบื้องต้นว่าชื่อพรรคได้ถูกจองแล้ว คนอื่นจะมาจดชื่อซ้ำไม่ได้ หลังจากนั้นพรรคต้องไปทำหนังสือขออนุญาต คสช.เพื่อจัดประชุมสมาชิกก่อตั้งพรรค เพื่อจะไปพิจารณาอนุมัติข้อบังคับพรรค การเลือกกรรมการบริหารพรรค เป็นเรื่องของการเตรียมการจัดตั้งพรรคต่างๆ ก็ต้องขออนุญาต คสช. แต่ คสช.ให้ขอผ่าน กกต. โดย กกต.ก็จะถามรายละเอียดต่างๆ ว่าการขออนุญาตดังกล่าวกิจกรรมที่จะทำมีอะไรบ้าง วัน เวลา สถานที่ จัดที่ไหน และคาดว่าจะมีคนเข้าร่วมกี่คน กกต.จะกรองเบื้องต้นแล้วส่งเรื่องไปยัง คสช. ซึ่งหาก คสช.อนุมัติ พรรคก็จะดำเนินการได้
สำหรับพรรคการเมืองที่มีอยู่ปัจจุบัน ตั้งแต่ 1 เมษายนจะต้องทำการสำรวจสถานภาพของสมาชิกพรรค ว่ามีผู้ประสงค์จะยังเป็นสมาชิกพรรคเหลือกี่ราย โดยนอกจากต้องแจ้งการเป็นสมาชิกพรรคต่อแล้ว จะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคด้วย ทั้งสองเรื่องต้องทำให้เสร็จภายในไม่เกิน 30 เมษายน โดยหากหลังพ้น 30 เม.ย.ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น และหลัง 30 เม.ย.ก็ยังสมัครเข้ามาใหม่ได้ แต่จะปิดบัญชีที่ 30 เม.ย. เช่นถึงวันที่ 30 เม.ย.ระดมได้หนึ่งแสนคน แล้วอีก 2 ล้าน 7 แสนคนมาไม่ทัน ก็พ้นไปก่อนแล้วหากจะสมัครใหม่ก็สมัครเข้ามาเมื่อใดก็ได้
- ในทางนิตินัยการยื่นจัดตั้งพรรคก็ยื่นไป แต่ในทางการเมืองที่ผ่านมา มักมีข่าวหรือข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำพรรคอะไหล่ พรรคนอมินี กกต.จะตรวจสอบได้หรือไม่?
เราไม่รู้หรอก เพราะเราก็ต้องว่าไปตามเอกสารที่ยื่นมา เราไม่รู้ว่าคนนี้เป็นคนสวนใคร คนขับรถของใคร เราไม่รู้เรื่อง ท่านก็ใช้สิทธิ์จดจัดตั้งมา แต่พรรคการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้ 69 พรรค ผมยังคิดว่าจากจำนวนที่มีอยู่ ที่บอกว่าจะต้องมีสมาชิกพรรคขั้นต่ำ 500 คน ผมคิดว่า 20 พรรคหายไปแล้ว เพราะใน 20 พรรคจากที่มีอยู่ตอนนี้ 69 พรรค มีสมาชิกพรรคไม่ถึง 500 คน บางพรรคมีสมาชิก 16 คน บางพรรคมี 12 คน บางพรรคมี 9 คนก็ยังมี พรรคการเมืองเหล่านี้ผมเชื่อว่าภายใต้กฎหมายพรรคการเมืองปัจจุบันก็จะหายไป
ส่วนจะมีพรรคใหม่หรือพรรคใหญ่ที่เข้าไปสนับสนุน แล้วใช้เป็นพรรคนอมินีเพื่อเป็นทางเลือกกรณีพรรคใหญ่มีปัญหา ก็อาจมีการหนุนเสริมกันให้กลายเป็นห้าร้อยได้ แต่หากมองจากพฤติกรรมที่ผ่านมา ตั้งพรรคมาไม่รู้กี่ปีมีสมาชิกแค่ 9 คน แล้วภายในเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะต้องเพิ่มภายใน 180 วันข้างหน้าเพื่อให้เป็น 500 คน มันดูเป็นไปได้ยาก
- ข้อสงสัยเรื่องกรณีกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 28 ที่บัญญัติว่าหากพรรคการเมืองใดยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิก กระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา พรรคการเมือง อาจถูกยุบพรรคได้ จะตรวจสอบได้อย่างไร?
หากเป็นสมาชิกพรรคไม่เป็นไร หากเป็นสมาชิกพรรคถือว่าเป็นคนในพรรค เงื่อนไขอยู่ตรงนี้ หากเป็นสมาชิกพรรคต้องถือว่าเป็นคนในพรรค
ยกตัวอย่างเช่นคุณสุเทพไม่ตั้งพรรค แต่น้องชายตั้งพรรค ถามว่าคุณสุเทพเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ หากเป็นสมาชิกพรรคก็มีสิทธิ์ให้ความเห็น แต่กรรมการบริหารพรรคจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็อยู่ที่กรรมการบริหารพรรค
คุณทักษิณก็เหมือนกัน ถามว่าเขาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ถ้าเป็นเขาก็มีสิทธิ์ให้ความเห็น คดีความไม่เกี่ยว ผมไม่ทราบผมคิดแบบนี้ คือต้องดูว่าเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ หากไม่ได้เป็นถือว่าเป็นการแทรกแซง เป็นบุคคลภายนอก
ในทางกลับกันสมมุติเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หากท่านไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดเลย แล้วไปมีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองบางพรรค อย่างนี้ก็จะผิด หลักคือต้องดูว่าเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ หากไม่ได้เป็นถือว่าเป็นบุคคลนอกพรรค
ชิงเก้าอี้เลขาธิการ กกต.
เมื่อถามกรณีที่ไปสมัครเป็นเลขาธิการ กกต.จากจำนวนผู้สมัคร 6 คน และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา เรื่องนี้ สมชัย ย้ำว่าไม่ได้สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะรู้ว่าต้องมีอยู่แล้ว แล้วก็ไม่ได้สนใจที่จะเป็นหรือไม่เป็น เพียงแต่ต้องการสร้างทางเลือกให้ กกต.ชุดนี้ สร้างทางเลือกให้สำนักงาน ถ้าเห็นว่าจากประสบการณ์ความรู้ของผมที่มีอยู่ก็เลือกผม ถ้าไม่เลือกผมก็ไม่เสียใจ แล้วผมก็อาศัยจังหวะของการสมัครเลขาธิการ กกต.เผยแพร่แนวความคิดการทำงานในฐานะเลขาธิการ กกต. ผมเผยแพร่วิสัยทัศน์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ลงลิงก์ในเฟซบุ๊กให้ทุกคนอ่านได้
...จริงๆ แล้วผิดวิสัยทัศน์คนสมัคร เพราะคนสมัครเขาจะปิดไว้ไม่บอกกัน เพราะเป็นจุดขายของเขา เพราะเวลาไปพรีเซนต์คนที่มีอำนาจตัดสินใจ ผมไปพูดเรื่องใหม่เรื่องแปลกที่น่าจะทำ แล้วจะเป็นคะแนน แต่ผมไม่ได้สนใจ ผมก็เผยแพร่สิ่งนี้ไป เพื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามหากเข้าไปเป็นเลขาธิการ กกต. หรือคุณเป็นผู้สมัครจะเอาไปใช้ก็ไม่ว่า และเป็นผลดีเพราะผมสะท้อนว่าเลขาธิการควรทำงานอย่างไร ภายใต้ความคิดของ กกต. เพราะผมเป็น กกต.ผมรู้ว่ามีปัญหาภายในสำนักงาน แล้วผมรู้สึกว่าผมยังไม่พอใจหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ดีในระดับที่ผมต้องการ
- เห็นในเอกสารบอกใน กกต.ยังมีระบบอุปถัมภ์ เช่นเวลามีงานอะไรก็จะมีคนหิ้วกระเช้าของขวัญมาให้?
ก็เป็นธรรมชาติของทุกหน่วยงาน มาตั้งแต่ปีแรกแล้ว ปีใหม่ก็จะมีกระเช้าจากทุกสำนักมาอวยพร เราก็รับกันไม่ทัน ผมก็นำไปแจกให้ลูกน้อง ก็ยังเหลืออีกเกือบสิบกระเช้า ผมก็ไปบ้านเด็กด้อยโอกาส เอาไปแจกพี่เลี้ยงเขา ให้นำไปให้เด็กทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ กลายเป็นเรื่องของการที่จะต้องสร้างความพึงพอใจให้ผู้บังคับบัญชาเท่านั้นเองไม่ได้มีอะไรมากมาย หรือไปต่างจังหวัดผมมีข้อห้ามหลายข้อมากมาย เช่นไม่ต้องขึ้นป้ายไวนิลภาพใหญ่ๆ ต้อนรับ ผมไม่ให้มี เพราะการทำป้ายก็เป็นเงินสำนักงาน แล้วผมไปงานแค่สองชั่วโมง เสร็จงานป้ายที่เป็นวัสดุทำลายไม่ได้ สุดท้ายก็ถูกเก็บไว้ห้องเก็บของหรือหากนำไปทิ้งก็เป็นที่บังแดดของร้านขายของ ผมเลยไม่ให้ทำ หรือผมบอกว่าห้องพักเวลาไปต่างจังหวัด ผมไม่เอาห้องพักที่เป็นห้องสูทเพราะจะไม่รับแขก จึงไม่จำเป็นต้องหาห้องพักอย่างดีให้ อย่างหน้าห้องทำงานของผมก็ติดป้ายว่าไม่รับกระเช้าของขวัญ ก็สองปีแล้วผมไม่ได้ของขวัญ ก็ดีใจมาก
- หากได้เป็นเลขาธิการ กกต. ภารกิจเร่งด่วนเรื่องแรกๆ ที่จะเข้าไปทำ?
อย่าเพิ่งคิดเลย ผมไม่ได้คิดว่าผมเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ แต่ผมอาจเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบมากกว่าด้วยซ้ำ
ถามปิดท้ายว่า หากสุดท้าย กกต. 4 คนไม่เลือกเป็นเลขาธิการจะทำอย่างไร สมชัย บอกว่าก็เป็นกกต. ก็ทำงานได้ไม่มีปัญหา เพราะตอนประชุม กกต.ผมก็ชี้แจงด้วยวาจาแล้วว่าท่านเลือกหรือไม่เลือกผม ผมไม่ได้ดีใจหรือเสียใจและไม่ได้โกรธอะไรท่านเลย ขอให้ท่านตัดสินใจโดยอิสระ ตามเนื้อผ้า หากเห็นว่าผมดีก็เลือก แต่หากเห็นว่าผมไม่ดี ผู้สมัครคนอื่นดีกว่า ท่านก็เลือกคนอื่น แล้วผมก็จะไม่เกิดความรู้สึกในทางที่เป็นลบต่อท่านเลยเพราะเคารพการตัดสินใจ.
...............
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |