“ออมสิน” แจงไทยยังเจอปัญหารายได้เหลื่อมล้ำ ชี้ภาคเหนือน่าห่วงสุด


เพิ่มเพื่อน    

30 ก.ค.2562 รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ระบุว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เพิ่มขึ้น สะท้อนจากปี 2560 ค่าสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ (ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่) อยู่ที่ 45.30 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีค่าอยู่ที่ 44.50 แม้ว่าสัดส่วนคนจนของประเทศไทยในปี 2560 จะลดลงอยู่ที่ 7.78% จากปี 2558 อยู่ที่ 8.61% เนื่องจากประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร อาชีพอิสระ และด้านบริการ ซึ่งมีระดับรายได้ที่ได้จากการทำงานไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ นโยบายการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อลดความยากจน และความเหลื่อล้ำด้านรายได้ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านสวัสดิการ การให้ความรู้ การต่อยอดด้านอาชีพ เป็นต้น ก็สามารถลดคนจนได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเห็นผลของนโยบายต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้ยังคงเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ปรากฎอยู่

“จากกลุ่มประเทศที่ทำการศึกษาและมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลงต่างก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ภาครัฐอาจพิจารณานโยบายที่เกี่ยวกับการให้การศึกษากับประชาชนตั้งแต่ระดับเด็กเพื่อเป็นพื้นฐานที่มั่นคงและเพื่อให้ได้ผลอย่างต่อเนื่องแนวทางการปฏิบัติของนโยบายที่เกี่ยวข้องควรมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง” ศูนย์วิจัย ระบุ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้ของประชากรหรือการถือครองรายได้ของกลุ่มประชากรตามระดับรายได้ พบว่า การถือครองรายได้ของประชากรภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้มากที่สุด โดยปี 2560 ประชากร 10% ที่มีรายได้มากที่สุด มีรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือน 33,933 บาท ถือครองรายได้รวม 35.29% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 32,759 บาท และมีสัดส่วนการถือครองรายได้รวม 34.98% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกลุ่มประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดพบว่า ในปี 2560 มีความแตกต่างของรายได้ 9.96 เท่า โดยกลุ่มรายได้ต่ำสุดมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 3,408 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวน 3,353 บาท และมีสัดส่วนการถือครองรายได้รวม 14.18% ลดลงจากปี 2558 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 14.32%

โดยจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่าระดับรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนของประชากรไทยมีจำนวนมากขึ้นแต่การกระจายรายได้ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน สาเหตุอาจมาจากลักษณะของกลุ่มรายได้ต่ำที่ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนหรือคนเกือบจน อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานไม่มีรายได้หรือประกอบอาชีพอิสระซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน รวมถึงส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ทักษะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ส่งผลให้โอกาสในการหารายได้ของคนกลุ่มนี้มีไม่มากนัก และเป็นตัวผลักดันที่ทำให้ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้

ทั้งนี้ เมื่อศึกษาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นรายพื้นที่ พบว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากกว่าภูมิภาคอื่น โดยจังหวัดน่านและจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่เผชิญปัญหาดังกล่าวในอันดับต้น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ในภาคเหนือเป็นอันดับต้น ๆ ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้โดยเฉพาะในจังหวัดน่านและจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“ภาพรวมความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550-2560 พบว่า แนวโน้มคนจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีการปรับลดลง โดยในปี 2560 สัดส่วนคนจนยังมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กลับสวนทางกัน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยที่มีเพิ่มขึ้น” ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

อย่างไรก็ดี ธนาคารออมสินมีโครงการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) แก่ผู้มีรายได้น้อยและบุคคลทั่วไป ดังนั้น ธนาคารอาจพิจารณาให้ความสำคัญในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อให้คนในพื้นที่เกิดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการการเงินและตระหนักถึงการออมมากขึ้น และจากสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นภูเขาและพื้นที่สูงและมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ธนาคารอาจพิจารณาสินเชื่อ GSB Homestay โดยจัดแคมเปญหรือโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และเกิดการกระจายรายได้ เพื่อให้ประชาชนฐานรากมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและอาจจะทำให้สัดส่วนคนจนลดลงได้ในอนาคต
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"