สัปดาห์นี้กรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางการเมืองระหว่างประเทศอีกรอบหนึ่ง
การพบปะระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เมืองไทยจะตามมาด้วยการเสวนากับรัฐมนตรีต่างประเทศของคู่สนทนาอีกหลายชาติ
เรียกการประชุมประจำปีนี้ว่า Asean Regional Forum (ARF) ซึ่งเป็นการพูดคุยเรื่องความมั่นคงของภูมิภาคนี้เป็นประจำ...หนีไม่พ้นว่าปีนี้ประเด็นหลักคือเรืองเกาหลีหนือและทะเลจีนใต้
เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ ของสหรัฐ กับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวาง อี้ ของจีนจะมาพบกันที่นี่
เดิมทีมีข่าวว่ารัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ รี ยองโฮ ก็ได้รับคำเชิญมาร่วมวงพูดคุยด้วย ทำให้เกิดการคาดการณ์คึกคักว่าประเทศไทยเราอาจจะเป็นเวทีสร้างสันติภาพโลกได้ทีเดียว
เพราะหากรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ, จีน, เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้ รวมถึงรัสเซีย มาตั้งวงพูดคุยกันที่นี่, อาจจะสามารถทำให้เกิดการต่อยอดไปถึงการแก้วิกฤติโลกได้หลายประเด็น
เช่น สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ
และการบรรลุข้อตกลงเรื่องลดอาวุธนิวเคลียร์และการเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ
รวมไปถึงการสรุปข้อตกลงว่าด้วยหลักปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับอาเซียน
แต่เมื่อ คิม จองอึน สั่งทดลองยิงจรวดพิสัยใกล้ลงทะเลตะวันออกเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้นเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับโดนัลด์ ทรัมป์ บรรยากาศของการพูดจาระหว่างคู่กรณีก็หดหายไปต่อหน้าต่อตา
เดิมที่คิดว่าอาจจะให้รัฐมนตรีต่างประเทศมาปูทางเพื่อนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงระหว่างผู้นำสูงสุดก็เป็นอันต้องเลื่อนออกไปก่อน
แต่ไทยเราก็ไม่ควรจะลดละความพยายามที่จะดำเนินวิเทโศบายทางการทูตระหว่างประเทศที่จะทำให้เรามีบทบาทเป็นผู้ประสานทุกฝ่ายให้กลับมานั่งโต๊ะเจรจาเพื่อคลายความตึงเครียดของโลกให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปีนี้ที่เรายังมีตำแหน่งประธานอาเซียนหรือปีต่อๆ ไป
เพราะหากเราฟื้นความเป็นตัวของตัวเราเองในเวทีระหว่างประเทศ ไทยก็สามารถจะเล่นบท “สายใยแห่งความเข้าใจกันและกัน” หรือ honest broker ได้เหมือนที่เราเคยเป็น “เพื่อนผู้น่าไว้วางใจ” สำหรับประเทศต่างๆ ในเวทีสากลมาแล้ว
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจะมาถึงประเทศไทยวันพฤหัสฯ นี้ โดยมีกำหนดพบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และถือโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่งรับตำแหน่งนายกฯ อีกรอบหนึ่ง
ก่อนจะบินเข้าไทย ปอมเปโอได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อประเทศไทยที่มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง และแสดงความพร้อมที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ให้กลับสู่ภาวะเดิม อีกทั้งเสริมสร้างให้เหนียวแน่นขึ้นจากเดิม
ในจังหวะเดียวกันผู้นำสหภาพยุโรปก็ออกแถลงการณ์แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่ได้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งหลังอยู่ใต้รัฐบาล คสช.มา 5 ปี
แน่นอนว่าหลายฝ่ายมีคำถามว่า รัฐบาลใหม่ของไทยเป็น “ประชาธิปไตย” จริงแท้แค่ไหน เพราะยังมีรัฐธรรมนูญที่ทำให้อำนาจเก่าสามารถคงอำนาจเดิม หรือ “สืบทอดอำนาจ” ต่อเนื่องมาได้
คำถามก็คือว่า ทำไมสหรัฐกับสหภาพยุโรปยอมรับความเป็น “ประชาธิปไตย” ในโครงสร้างนี้โดยปราศจากคำถามหรือเงื่อนไข?
คำตอบก็คือจีนครับ....และผลประโยชน์ทางการเมือง, เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศตะวันตกในยามที่ปักกิ่งสยายอิทธิพลในด้านต่างๆ มาในย่านนี้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
หากประเทศตะวันตกรอช้าหรือตั้งเงื่อนไขเรื่องประชาธิปไตยต่อเนื่อง ผู้นำประเทศเหล่านั้นก็หวั่นเกรงว่าจีนจะสามารถแทรกตัวเข้ามาเสริมสร้างอิทธิพลบารมีในภูมิภาคนี้อย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น
พูดง่ายๆ คือทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปต้องปกปักรักษาผลประโยชน์ของตนในย่านนี้ไว้ด้วยการรีบกลับเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับไทยและอาเซียนอื่นๆ แม้ว่าเงื่อนไขด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับหลักการของเขาทั้งหมด
หันไปดูระบอบการเมืองของเพื่อนบ้านไทยอย่างกัมพูชา, เวียดนาม, สปป.ลาว ก็จะเห็นว่ายังมีประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไม่น้อย แต่สหรัฐก็เหมือนจะทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะเห็นชัดว่าจีนได้รุกเข้าไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ด้านการเมืองและเศรษฐกิจโดยไม่ตั้งเงื่อนไขเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
แน่นอนว่า คนไทยเองไม่ควรจะตัดสินว่าเราได้มาตรฐานของคุณภาพการเมืองหรือไม่ ด้วยการประเมินจากการที่โลกตะวันตกจะคบกับเราหรือไม่หรือตั้งเงื่อนไขอะไรกับเรา
และเราก็ไม่ควรจะคบกับจีนเพียงเพราะเขาไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตย
ท้ายที่สุดคนไทยเราเองจะต้องเป็นคนสร้างมาตรฐานทางการเมือง, ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากลและส่งเสริมให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าตามความใฝ่ฝันและมุ่งมั่นของคนไทยเรากันเองเท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |