"นำศาสตร์พระราชา" สู่จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการพัฒนา"ทุเรียน" คุณภาพระดับส่งออก


เพิ่มเพื่อน    

 

ทุเรียนใต้สูงมาก ต้องปีนป่ายขึ้นไปตัด


         แนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”  ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระ และสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ ได้สืบสานแนวพระราช ดำริ มาอย่างต่อเนื่อง และนำไปขยายผลสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยสร้างกระบวนการทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น สะท้อนปัญหาของตนเองและชุมชนสร้างผู้นำใหม่ในพื้นที่ ทำให้แผนงานพัฒนาชุมชนเกิดจากความต้องการของชาวบ้านจริง สามารถเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ

        เมื่อไม่นานนี้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนาปิดทองหลังพระ นำคณะสื่อมวลชนพื้นที่ในอ.กรงปีนัง จ.ยะลา หนึ่งในพื้นที่ของโครงการทุเรียนคุณภาพ   “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนใต้”  ต่อเนื่องรุ่นที่ 2 ปี 2562  โดยได้ดำเนินงานตามมติของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบแห่งใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแก้ไขปัญหาเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาของชาวบ้านและหน่วยงานภาคี   

ทุเรียนจากสวนในอำเภอกรงปีนัง สีเหลืองนวล


          โดยเป็นผลมาจากความสำเร็จในการนำร่องโครงการเมื่อปีที่แล้ว  ในพื้นที่ต้นแบบบ้าน กม. 26 ใน ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ที่มีเกษตรกรเข้าร่วม 18 ราย ทุเรียนจำนวน 324 ต้น จำนวนผลผลิต 35 ตันสร้างรายได้รวม 2.7 ล้านบาท มีรายได้เพิ่มตันละประมาณ 3.5 เท่า ทำให้ในปีนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมเพิ่มขึ้น  664 ราย จาก 38 ตำบล จำนวน 22,508 ต้น แบ่งเป็น จังหวัดยะลา 382 ราย  ทุเรียน 13,831 ต้น จังหวัดปัตตานี 185 ราย ทุเรียน 3,997 ต้น และจังหวัดนราธิวาส 97 ราย ทุเรียน  4,680 ต้น โดยมีการทำประชาคมให้เกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งคัดเลือก อาสาทุเรียนคุณภาพ 91 คน เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่แบบพหุวัฒนธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนแนวนโยบายการพัฒนาศักยภาพประชาชนในพื้นที่อย่างทั่งถึง
  

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล 


          ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และเลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่เป็นแบบพหุวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจน คนรวย และ เมืองกับชนบท อย่างเป็นธรรม จึงได้นำศาสตร์พระราชาเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบประณีต ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นวิธีการดูแลเอาใจใส่ทุกอย่าง อย่างการพ่นน้ำทุเรียน ที่ต้องพ่นให้ทั่วถึง ซึ่งต้นทุเรียนในภาคใต้มีความสูงถึง 15 เมตร ดังนั้นจึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่อย่างดี  เป็นการเพิ่มคุณภาพจากต้นทุเรียนเดิมของชาวบ้าน  วิธีการนี้นำร่องไปแล้วที่อ.บันนังสตา และขยายไปยังพื้นที่ อ.กรงปินังเป็นปีแรก มีเกษตรเข้าร่วม 43 ราย ต้นทุเรียนที่ผ่านการคัดเลือก 870 ต้น   


ม.ร.ว.ดิศนัดดา กำลังบรรยายความเป็นมาของสวนทุเรียนชายแดนใต้ และการเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาของปิดทองฯ


          "สิ่งที่ปิดทองฯ ได้เรียนรู้จากชาวบ้านคือ 1.ขาดองค์ความรู้ คือ ทำตามมีตามเกิด ไม่มีองค์ความรู้ในการปลูก 2.ขาดตลาด คือ พ่อค้าคนกลางไปซื้อถึงสวน ดังนั้นเมื่อพ่อค้าเรียกราคา ต้องการกำไร จึงทำให้เกิดการกดราคา ไม่สนใจต้นทุน ถูกเรียกราคาเท่าไหร่ชาวบ้านก็ต้องขาย ไม่ใช่แค่ยะลา แต่รวมไปถึงปัตตานีและนราธิวาสด้วย 3. ขาดเงินลงทุน  ผลผลิตแต่ละปีไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีหนอนเจาะทุเรียน และ 4.ขาดการบริหารจัดการ  ดังนั้นในการทำงานตรงนี้จึงต้องเริ่มจากการทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อใจ เพราะมีเจ้าหน้าที่จำนวนไม่น้อยที่ยืนมือมาให้ความช่วยเหลือ และหายไป อย่าง การเอาต้นกล้ามาให้ แต่ไม่สอนวิธีการปลูก การดูแล หรือช่องทางการค้า ก็เท่ากับสูญเปล่า เราจึงต้องเลือกคนในพื้นที่ที่พร้อมมาเรียนรู้งานกับเรา และนำไปบอกชาวบ้าน ซึ่งจะได้ผลมากกว่า"เลขามูลนิธิปิดทอง  ฯ กล่าว 

เลขแทร็คที่ต้นทุเรียนในโครงการฯต้องมี


            ความช่วยเหลือของปิดทอง ฯ ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า คือการสนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ ปุ๋ยบำรุงต้นใบผลสารป้องกันโรคและแมลงเครื่องพ่นแรงดันสูงระบบกระจายน้ำในแปลง เป็นการช่วยเหลือในลักษณะยืมและเก็บเงินคืนภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรูป กองทุนกลุ่มทุเรียนคุณภาพ และสรรหาคนที่รู้เรื่องของทุเรียนไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดชุมพร ระยอง หรือจันทบุรี มาฝึกฝนและให้ความรู้กับชาวบ้าน และส่งชาวบ้านไปเรียนที่สวนจริงอย่างสม่ำเสมอ   และที่สำคัญคือการตรวจเช็คต้นทุเรียนทุกต้นโดยอาสาทุเรียน ซึ่งมีการติดเลขแทร็คกับต้นทุเรียน เพื่อให้รู้ต้นนี้จะออกผลกี่ลูก กี่กิโลกรัม ในอนาคตคาดว่าจะมีการพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นในการติดตามผลทุเรียนในแต่ละต้นด้วย  ในขณะที่ภาคเอกชนอย่าง CP นอกจากส่งนักวิชาการมาร่วมให้ข้อมูลอบรมเกี่ยวทุเรียนคุณภาพที่ตลาดต้องการแล้วยังรับไปจัดจำหน่ายให้

ผลทุเรียนจากสวน ยูโซะ 


          “ในการทำโครงการนี้ ต้องมองที่ตลาดเป็นตัวตั้ง ปิดทองฯ เป็นตัวกลาง และมองมาที่เกษตร เพื่อให้เกษตรกรนำผลผลิตทุเรียนคุณภาพทั้ง ในเรื่องของ GMP และ GAP  ไปขายต่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการในราคาที่ต้องสูงขึ้น โดยจะเน้นไปที่การส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นหลัก ซึ่งซีพี ได้รับซื้อทุเรียนในโครงการในราคากิโลละ 101 บาท ซึ่งมากกว่าตลาดที่ซื้อในราคาประมาณ 45-80 บาท  ซึ่งในปีนี้คาดว่าจำนวนผลผลิตจะได้ประมาณกว่า 2.4 พันตัน คาดการณ์รายได้ไม่ต่ำกว่า 160 ล้านบาท แบ่งเป็นทุเรียนที่เป็นเกรด A B C ปริมาณกว่า 1.7พันตัน ตกเกรด 488.04 ตัน ลูกตำหนิ 244.02 ตัน นอกจากการพัฒนาเกษตรกรแล้ว ตนก็คิดและหวังจะทำให้มุสลิมภาคใต้ ใช้ศาสตร์พระราชา การทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบประณีต เป็นแม่แบบในการแก้ไขปัญหามุสลิมโลก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 10-20 ปี โดยมีหัวใจสำคัญก็คือการสร้างคน เพื่อมาทำงานต่อไปในอนาคต” เลขาธิการปิดทองฯ กล่าว

นายสุชิน ห้องสุวรรณ  เล่าถึงความรู้สึกที่ได้ร่วมโครงการ
             ด้านเกษตรกร นายสุชิน ห้องสุวรรณ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา และอาสาทุเรียนในโครงการฯ เล่าว่า  ทุเรียนที่นี่ ไม่เหมือนที่อื่น เพราะการออกผลในแต่ละปีไม่สม่ำเสมอ บางปีดกบางปีก็ไม่ดก ราคาขายก็จะไม่ได้มากเคยขายได้กิโลกรัมละ 8 -85 บาท ดังนั้น เมื่อมีโครงการทุเรียนคุณภาพเข้า มา ก็ไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมเพื่อเป็นตัวแทนเกษตรกรด้วย โดยเราต้องทำตามกระบวนการและวิธีใส่ปุ๋ยตามสูตรของโครงการฯ อย่างเคร่งครัด และดูแลสวนของเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ  ซึ่งสวนของตนมีต้นทุเรียนที่ได้คัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 20 ต้น  ผลผลิตล็อตแรกเพิ่งขายไป 407 กิโลกรัม  คัดเป็นเกรด A, B   293 กิโลกรัม เกรด C  52 กิโลกรัม และตกไซต์อีก 62 กิโลกรัม  ได้เงิน 36,000 บาท  ซึ่งคาดว่าใน 3 เดือนตั้งแต่กรกฎาคม-กันยายน จะมีผลผลิตออกอีกหลายรุ่น  แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย  นอกจากนี้ก็ยังมีผลไม้อื่นๆ อาทิ เงาะ มังคุด ที่จะมาเสริมรายได้ด้วย 

ยูโซะ ดอเลาะบองอ 
            นายยูโซะ ดอเลาะบองอ ตัวแทนเกษตรกร อ.กรงปินัง จ.ยะลา เล่าว่า สวนทุเรียนของตนมี 6 ไร่ มีประมาณ 60 ต้น และได้เข้าร่วมโครงการ 20 ต้น ซึ่งใน 1 ต้น มีผลผลิตประมาณ 150 กิโลกรัม  ซึ่งถือว่าการดูแลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  จากที่เข้าสวนมาดูแลเฉพาะในช่วงต้นออกผล ใส่ปุ๋ยไม่ถูกวิธี ใส่ครั้งเดียวบ้าง  แต่พอเข้าเริ่มโครงการฯกับปิดทอง  ก็ดูแลเอาใจใส่มากกว่าเดิม เข้าสวนทุกวัน  ทั้งใส่ปุ๋ยตามสูตรบำรุงดอก บำรุงต้น และบำรุงผล การตัดแต่งกิ่ง การรดน้ำให้ทั่วต้น  ซึ่งทำให้ผลทุเรียนมีเนื้อเยอะขึ้น  ลูกสวย รสชาติอร่อย และน้ำหนักดีขึ้น แม้ว่าจะเหนื่อยกว่าเมื่อก่อน แต่ก็อดทนได้เพราะอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

สุลกิฟลี สะกะแย
            นายสุลกิฟลี สะกะแย อาสาทุเรียนใน อ.กรงปินัง จ.ยะลา เล่าเสริมว่า การได้เข้าไปเรียนรู้การปลูกทุเรียนในพื้นที่อื่น ทำให้ตนเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน อย่างที่จ.ระยอง ต้นทุเรียนเตี้ยประมาณ 8-10 เมตร แต่ที่จ.ยะลาต้นทุเรียนจะสูง 15-30 เมตร บางต้นก็สูงไปเลยไม่มีกิ่ง เวลาเก็บผลก็จะต้องปีนกิ่งซึ่งจะลำบาก ความรู้ที่เรานำมาใช้คือ การปรับแต่งกิ่งไม่ให้สูงเกินไป  ซึ่งการไปดูแลสวนทุเรียนของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯต้องออกไปดูแลทุกวัน   ปัญหาก็มีบ้าง อย่างบางคนอาจจะไม่เชื่อสูตร ที่เรียนมาก็ต้องมีการทำความเข้าใจ และชี้ให้เห็นประโยชน์ด้วย 

ล้งในพื้นที่คัดทุเรียนจากสวนก่อนส่งออกนอก

ต้นทุเรียนภาคใต้ต้องปีนเก็บอย่างระมัดระวัง เพราะต้นสูงมากกว่าต้นทุเรียนภาคอื่นๆ



 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"