เป้าล้มรัฐบาล-โอกาสจับมือ ปชป. อนุดิษฐ์-เลขาธิการ พท.มีคำตอบ
เสร็จสิ้นไปแล้วกับการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้เวลารวม 2 วัน คือ 25-26 ก.ค. ซึ่งภาพรวมของการประชุม บางช่วงเวลาการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้านและการชี้แจงของพลเอกประยุทธ์ก็ดุเดือดเข้มข้นอย่างที่เห็นกัน โดยเฉพาะฉากปะทะคารมกันกลางห้องประชุมรัฐสภาระหว่างพลเอกประยุทธ์กับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่คงถูกพูดถึงกันไปอีกนาน
ส่วนบทบาทการขับเคลื่อนทางการเมืองของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ต่อจากนี้ ในยุคที่มีสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรคและว่าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นอย่างไรต่อไป น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย-ส.ส.กรุงเทพมหานคร ที่มารับตำแหน่งต่อจากภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการคนก่อนหน้านี้ ได้บอกเล่าทิศทางไว้หลายเรื่อง
เกริ่นถามถึงท่าทีของเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่พรรคฝ่ายค้านจะเข้าชื่อกันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคนหลังจากนี้ในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมสภากลางเดือนกันยายน เรื่องดังกล่าว น.อ.อนุดิษฐ์ แสดงท่าทีซึ่งตีความได้ไม่ยากทางการเมือง
“สิ่งที่จะนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจได้คือ การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลจะต้องล้มเหลว ขาดประสิทธิภาพหรือตรวจพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาผ่านไปแล้วก็ต้องให้รัฐบาลเขาทำงานก่อน และหากการทำงานของรัฐบาล ถ้าเราจะวัดผลในมุมของความล้มเหลวหรือขาดประสิทธิภาพก็ต้องให้เวลา ไม่ใช่ว่าทำงานไปได้หนึ่งสัปดาห์แล้วเราจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คงไม่ยุติธรรมกับเขา ก็ต้องให้เวลาเขาบริหารราชการไป แต่เรื่องที่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่คือทุจริตคอร์รัปชันที่หวังว่าจะไม่เกิด แต่หากมีใครคนใดคนหนึ่งในรัฐบาลไปกระทำการแล้วมีหลักฐานว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน หากใครทำก็นำไปสู่การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ทันที”
เมื่อถามย้ำไปว่า หากมีรัฐมนตรีบางคนเคยเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแล้วถูกองค์กรอิสระตรวจสอบ หรือบางคนเคยเป็นอดีตบอร์ดธนาคารแล้วเกี่ยวโยงกับการปล่อยเงินกู้อะไรต่างๆ เรื่องแบบนี้ขอยื่นอภิปรายได้หรือไม่ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความชัดเจนไว้ว่าเรื่องนั้นต้องแยกกัน เรื่องที่เป็นความกังวลสงสัยของประชาชน ว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้อาจจะมีบุคลากรที่ถูกเลือกให้มาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีแล้วมีคุณสมบัติต้องห้าม มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตรงนี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของฝ่ายค้านที่จะทำการตรวจสอบ ที่จะอภิปรายขอความชัดเจน แล้วก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีคนนั้นๆ ด้วยที่ต้องมาตอบคำถามในข้อสงสัยนั้นๆ เพราะข้อสงสัยนั้นๆ เป็นข้อสงสัยที่สังคมตั้งคำถาม ฝ่ายค้านจึงไม่ถามไม่ได้ ฝ่ายค้านก็ต้องถาม แต่ในวิธีการก็ต้องไปดูกัน ที่ก็เป็นเรื่องยุติธรรมเพราะสภาไม่ใช่สถานที่จะมากล่าวหาใคร สภาเราพูดในสิ่งที่เป็นข้อกังวลข้อสงสัย แล้วสภาก็เปิดโอกาสให้คนที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงเช่นเดียวกัน โดยมีประชาชนเป็นคนตัดสิน
-เป้าหมายทางการเมืองของเพื่อไทยในฐานะแกนนำฝ่ายค้านเป็นอย่างไร ต้องการล้มรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ให้ได้หรือไม่?
พรรคฝ่ายค้านก็ต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ณ วันนี้ฝ่ายบริหารก็ทำหน้าที่ของเขาไป หลังจากแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้น เมื่อเรารู้แนวทางการบริหารราชการแผ่นดินเสร็จเรียบร้อย ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านในการติดตามการทำงานของรัฐบาล การที่รัฐบาลจะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ก็อยู่ที่ผลงานการบริหารราชการแผ่นดิน ว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาของประชาชนได้หรือไม่ หากรัฐบาลไม่สามารถทำตามนโยบายที่แถลงได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาตอบโจทย์ของประชาชนได้ และยังไปสร้างปัญหาให้ประชาชน เช่นเกิดความถดถอยของเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง ก็จะเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลบริหารล้มเหลวเอง
ส่วนสิ่งเหล่านี้จะทำให้ฝ่ายค้านไปล้มหรือไปทำให้รัฐบาลหมดเสถียรภาพ เราเป็นเพียงตัวแทนประชาชนที่สะท้อนปัญหาความบกพร่องความผิดพลาด หรือแม้แต่ในอนาคตหากมีการพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน แต่คนที่จะให้คำตอบคือประชาชน
การทำงานตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น พรรคเพื่อไทยจะทำแน่นอนเพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ ส.ส.ทุกคนต้องรับผิดชอบ ทางฝ่ายค้านจะปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ตัวเองคงไม่ได้ ดังนั้นจะทำอย่างเต็มกำลังความสามารถแน่นอน แต่กระบวนการวิธีการทำหน้าที่ของเราจะทำแบบไหนอย่างไร ก็จะมีการปรับปรุงและพัฒนาไปเป็นระยะเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจะมีการตั้ง ครม.เงาหรือไม่ก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่เบื้องต้นขอฟังก่อนว่ารัฐมนตรี 36 คนเขาจะทำอะไรให้ประเทศบ้าง
ฝ่ายค้านมีหน้าที่ต้องติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทุกกระทรวง ซึ่งหากกระทรวงไหนทำดี กระทรวงไหนสามารถบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบาย สร้างประโยชน์ให้ประชาชน ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเลย ฝ่ายค้านก็คงไม่ไปกล่าวหาหรือไปหาเรื่อง แต่ตรงกันข้ามหากกระทรวงไหนไปบริหารงานแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนได้ เกิดความล้มเหลว ขาดประสิทธิภาพหรือมีการทุจริตคอร์รัปชัน ฝ่ายค้านจะไม่ปล่อย
-เสียง ส.ส.รัฐบาลปริ่มน้ำเกินมาแค่สามเสียง จุดนี้จะทำให้ฝ่ายค้านสามารถทำให้การเมืองพลิกผันเปลี่ยนขั้วได้หรือไม่?
เป็นความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่าย เรายืนยันว่าเราจะไม่ใช้สภาเป็นที่เล่นเกม เราจะใช้สภาเป็นสถานที่เพื่อตรวจสอบรัฐบาล หากรัฐบาลมีความรับผิดชอบ ใช้สภาเป็นที่สำคัญในการแก้ปัญหาประชาชน เหตุการณ์ที่ถามมาคงไม่เกิดแน่ แต่เมื่อใดก็ตามคนที่เป็นตัวแทนประชาชนปล่อยปละละเลยและไม่ให้ความสำคัญกับการทำงานให้ประชาชน เหตุการณ์ที่ถามก็อาจเกิดขึ้นได้
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์รัฐนาวาของพลเอกประยุทธ์หลังจากนี้ว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมากถึง 19 พรรค ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การรวมตัวกันของรัฐบาลผสมชุดนี้เมื่อมาจากหลายพรรคการเมืองก็ต้องมีนโยบายที่แตกต่าง มีความหลากหลายมากมาย เพราะฉะนั้นการที่จะบริหารราชการแผ่นดินต่อจากนี้ คนที่เป็นผู้นำรัฐบาลถือเป็นส่วนสำคัญ หากทำให้ทุกพรรคการเมืองร่วมบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปในทิศทางตามแนวนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ โดยหากรัฐบาลแก้ไขปัญหาของประชาชนจนนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองให้ประเทศ ก็มองว่าถึงจะเป็นรัฐบาลผสมที่มีหลายพรรคการเมืองก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าตรงกันข้ามการบริหารเกิดความล้มเหลว คือไม่สามารถทำให้การบริหารงานแต่ละกระทรวงสอดประสาน ไม่สามารถทำให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ โดยบริหารราชการแผ่นดินไปแล้วทำให้เศรษฐกิจถดถอย ข้าวยากหมากแพง มีปัญหาต่างๆ ถาโถมเข้ามาโดยไม่สามารถแก้ไขได้ ถ้าเป็นแบบนี้รัฐบาลก็มีโอกาสอยู่ได้ไม่นาน
ผมคงไม่ขอก้าวล่วงไปคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน แต่ในฐานะฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ว่าเขาสามารถที่จะสร้างประโยชน์แก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้หรือไม่
-ในฐานะเลขาฯ หากอนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ขึ้น จนมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองโดยไม่มีการยุบสภา มีโอกาสหรือไม่ที่เพื่อไทยจะไปจับมือกับประชาธิปัตย์?
เรื่องสูตรทางการเมือง สิ่งที่ถามมาเป็นเรื่องสมมุติ ก็คงต้องไปดูเหตุการณ์วันนั้น หากว่าจะเกิดเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องหลายอย่างเกิดขึ้นเป็นลำดับ เมื่อถึงวันนั้นแล้วหากเกิดเหตุการณ์แบบที่ถามขึ้นจริง ก็ต้องไปดูรายละเอียดกันอีกครั้งว่า ณ เวลานั้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไรในการจะไปร่วมรัฐบาลกับใคร แต่ว่าโดยทั่วไปแล้วก็ต้องไปดูรายละเอียด ดูสิ่งที่มันเกิดขึ้นว่า ณ เวลานั้นประชาชนประสงค์อะไร อยากเห็นอะไร
พรรคเพื่อไทยเราประกาศชัดเจนอยู่แล้วว่า เราไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับใคร แต่เราก็มีหลักการและมีจุดยืนของเรา พรรคการเมืองใดที่ไม่ได้มีอุดมการณ์ ไม่ได้มีจุดยืนแบบเดียวกับพรรคเพื่อไทย เราก็ขอสงวนและปฏิเสธที่จะร่วมกับเขาก็เท่านั้นเอง
อย่างช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เรายืนยันว่าเราไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐ เราก็ไม่สามารถร่วมกับพรรคพลังประชารัฐได้
จากคำแถลงนโยบายรัฐบาลที่มีการระบุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ด้วย เมื่อเราถามความเห็น น.อ.อนุดิษฐ์ในเรื่องการแก้ไข รธน.ว่ารัฐบาลพลังประชารัฐจะมีความจริงใจในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ย้ำไว้ว่าคงไม่ไปก้าวล่วงว่าเขาจะจริงใจหรือไม่อย่างไร แต่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในสายตาประชาชนทั้งประเทศ และเมื่อเป็นความประสงค์ความต้องการของประชาชนจริงๆ และเมื่อพรรครัฐบาลที่บอกว่าก็เป็นตัวแทนที่มาจากประชาชน ดังนั้นเมื่อเป็นตัวแทนของประชาชน และเรื่องนี้เป็นความต้องการของประชาชน ก็ต้องดูกันต่อไปว่าเขาจะตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่
...จากที่คนของพรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่ ทำให้เราเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความประสงค์ อยากให้มีการแก้ไข รธน. เมื่อเป็นความต้องการของประชาชนและเป็นนโยบายที่เราหาเสียง เราก็จะเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่จะร่วมกับรัฐบาลในการนำไปสู่การแก้ไข รธน.
-จุดยืนของพรรคในเรื่องแก้ไข รธน.เป็นอย่างไร ต้องการให้แก้บางมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ และเกรงไหมว่าเรื่องนี้อาจทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น?
ทั้งหมดเป็นเรื่องรายละเอียด จะให้แก้ไข รธน.ทั้งฉบับหรือแก้บางมาตราเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือจะดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแต่ไปแก้ไขบางมาตรา ก็เป็นรายละเอียดที่ต้องไปหารือและพูดคุยกัน โดยต้องดูความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
...สำหรับ 16 ล้านเสียงที่เคยผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการทำประชามติเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ที่ผมคิดว่าการทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นประชาชนอีกครั้งหนึ่งก็อยู่ในวิสัยที่ควรจะทำ ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่แก้ไขไม่ได้ ก่อนหน้านี้ประชาชนอาจจะมีความประสงค์อย่างหนึ่ง แต่ผ่านมาหลายปีที่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ แล้วมีข้อขัดข้องและมีข้อสงสัยมากมายว่ารัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาและอุปสรรค วันนี้ประชาชนก็อาจมีความเห็นที่แตกต่างจากตอนนั้น
.......................................................................
เลขาธิการ พท.กับเสียงวิจารณ์
เพื่อไทย พรรคของทักษิณ-ตระกูลชินวัตร
สำหรับ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ-เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ถือเป็นคนที่เกิดมาในครอบครัวนักการเมืองอย่างแท้จริง เพราะบิดา น.ต.ฐิติ นาครทรรพ ก็เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคสามัคคีธรรม พรรคการเมืองขนาดใหญ่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2535 ขณะที่อาแท้ๆ คือ ปราโมทย์ นาครทรรพ ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวการเมืองกับพันธมิตรฯ ก็เป็นอดีตเลขาธิการพรรคพลังใหม่ที่เคยโด่งดังในอดีต และยังมีอีกหลายคนในครอบครัวที่เป็นนักการเมืองเช่นเดียวกัน
กับการเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย พรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภาแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล น.อ.อนุดิษฐ์ ออกตัวว่า การที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอนาคต ซึ่งความสำเร็จก็ไม่ได้เกิดจากคนคนเดียว ผมมีความเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมงาน หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยทุกคน ว่าทุกคนจะเป็นกำลังสำคัญของพรรคเพื่อไทยในการทำงาน เพื่อให้พรรคเพื่อไทยสามารถที่จะปรับปรุง ปรับตัว ทำงานให้ประชาชนได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ภายใต้แนวความคิด ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ
...แนวคิดดังกล่าวหากไปดูสมัยที่พรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคไทยรักไทย เรามีกระบวนการในการที่จะทำหน้าที่ในฐานะการเป็นพรรคการเมือง โดยมีความเชื่อในเรื่องการบริหารว่าเราไม่เห็นด้วยกับการยึดเอาราชการเป็นส่วนกลาง คอนเซปต์แนวคิดของไทยรักไทยตั้งแต่ต้นคือ คิดใหม่ทำใหม่เพื่อไทยทุกคน เพราะก่อนหน้านี้การบริหารราชการยึดเอาระบบราชการเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการ เราเปลี่ยนจากการใช้หน่วยราชการเป็นศูนย์กลาง เราเปลี่ยนเป็นการใช้ความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลาง
เราเชื่อว่าในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายของประชาชน ดังนั้นปัญหาของประชาชนจึงไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด อย่างภาคอีสานเองก็มีทั้งปัญหาของจังหวัดในภาคอีสานกลาง อีสานใต้ที่แตกต่างกัน เมื่อเรายึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ก็ทำให้เราต้องลงไปดูปัญหา เจาะลึกไปในความหลากหลายนั้น ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาของคนในแต่ละสาขาอาชีพ เช่น คนทำงานออฟฟิศ คนทำมาค้าขาย แต่ละกลุ่มเขามีปัญหาอะไร ก็จะทำให้การกำหนดการแก้ไขปัญหาของประชาชนในแต่ละสาขาอาชีพก็จะตรงจุดมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้คือหลักคิดจากการยึดเอาราชการเป็นศูนย์กลางมาเป็นประชาชนเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้แม้เราจะสามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนแต่ละอาชีพ แต่ละอายุ แต่ว่าการกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาในการจัดการต่างๆ ก็ยังมาจากความคิดของหน่วยราชการหรือฝ่ายการเมืองที่คิดเป็นนโยบาย แต่ครั้งนี้เราคิดว่าองค์ประกอบของปัญหาที่มันเกิดขึ้น บวกไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้มีความอ่อนตัวสูงขึ้นมากขึ้น มันจะดีกว่าหรือไม่หากเราจะบริหารจัดการพรรคการเมืองโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยประชาชนสามารถคิดและเสนอแนะเรื่องการแก้ปัญหาของเขาได้ตรงจุดมากขึ้น นี่คือที่มาของประชาชนคิดเพื่อไทยทำ
-จนถึงตอนนี้คนก็ยังมองว่าเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร ของคนในตระกูลชินวัตร ที่ผ่านมาก็มักมีข่าวแกนนำพรรคบินไปหานายทักษิณที่ต่างประเทศ จะมีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ?
ผมคิดว่าความเห็นเรื่องดังกล่าวก็เป็นความเห็นที่คนที่สงสัยก็สามารถตั้งคำถาม ก็เป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวต้องทำหน้าที่ในการตอบคำถาม แต่หากถามผมในฐานะเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็น ส.ส.ของพรรคและวันนี้เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ก็ต้องบอกว่าวันนี้พรรคเพื่อไทยเรามีคณะกรรมการบริหารพรรค รวมถึงคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ทำงานกันอยู่ในพรรคเพื่อไทย โดยการบริหารจัดการพรรคเพื่อไทยเวลานี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เราถือว่าเราเป็นพรรคการเมืองของประชาชน โดยแต่ละเรื่องที่พรรคได้ข้อยุติ คนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเช่นกรรมการบริหารพรรคชุดที่แล้ว หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ก็ลงมาแถลงต่อสื่อมวลชนถึงแนวทางการบริหารจัดการพรรคมาตลอด ตรงนี้ต่างหากที่เป็นข้อเท็จจริง
ดังนั้นใครจะนำเรื่องดังกล่าวมาใช้เพื่อสื่อสารหรือพยายามที่จะบิดเบือน หรือพยายามที่จะบอกว่าพรรคเพื่อไทยโดนครอบงำด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าเหนือกว่าเรื่องนี้ก็คือข้อเท็จจริง ที่พรรคเพื่อไทยได้ทำหน้าที่พิสูจน์ตัวเองอยู่ในสนามการเมืองของประเทศไทยมากกว่า
-ในฐานะเลขาฯ ต้องการทำให้พรรคได้เป็นสถาบันการเมืองจริงๆ หรือไม่ เพื่อจะไม่ต้องถูกพูดถึงหรือถูกมองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นของนายทักษิณหรือตระกูลชินวัตร?
ผมคิดว่า 21 ปีที่เราเริ่มจากการตั้งพรรคไทยรักไทยจนมาถึงปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยในความเชื่อและความเห็นของผม ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันการเมืองอย่างแน่นอน เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปแต่ละช่วงเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นสถานการณ์ที่เป็นลบกับพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น เราโดนยุบพรรคมาสองครั้งแต่เราไม่เคยแพ้การเลือกตั้งเลย สาเหตุที่เราไม่เคยแพ้การเลือกตั้งเลย การเป็นสถาบันการเมืองของพรรคเพื่อไทยคือคำตอบ และเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งทุกครั้ง
เมื่อถามถึงว่ายังจะมีความพยายามเพื่อหาโอกาสยุบพรรคเพื่อไทยอยู่หรือไม่ และเหตุใดถึงมารับเป็นกรรมการบริหารพรรคที่มีความเสี่ยงอาจโดนตัดสิทธิ์การเมืองหลายปี น.อ.อนุดิษฐ์ ให้คำตอบว่า ผมคิดว่าในฐานะของพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส.มากที่สุด ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้จะทำให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือหลายพรรคการเมืองคิดว่าพรรคเพื่อไทยคือปัญหาและอุปสรรคเขาหรือไม่ แต่ผมจะไม่ไปกล่าวหาใครและจะไม่ไปก้าวล่วง พรรคเพื่อไทยก็ทำหน้าที่ไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของเรา
ส่วนการตัดสินใจมาเป็นเลขาธิการพรรค ก็เมื่อผมได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกให้ทำหน้าที่ ผมก็คิดว่าผมรับตำแหน่งและทำหน้าที่ตามที่ได้รับความไว้วางใจ ก็คิดว่าการทำการเมืองเมื่อเรายึดมั่นในกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับโดยไม่ได้ไปฝ่าฝืนมัน ก็คงไม่ต้องไปกังวลกับความน่ากลัวที่หลายคนคิดว่าเป็นความน่ากลัว
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่าจากรายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดล่าสุด จะพบว่ามีองค์ประกอบครบสำหรับคนทุกรุ่นที่เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคที่มีทั้งความรู้และประสบการณ์ อีกทั้งพรรคยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคและคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรค ที่มีประสบการณ์และความรู้ ทั้งหมดก็จะได้ช่วยกันในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนพรรคให้ตอบโจทย์พรรคที่ยึดเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง
สำหรับจุดแข็งของผู้นำพรรคเพื่อไทย อย่างเช่น หัวหน้าพรรค-สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จะเห็นได้ว่า ตัวนายสมพงษ์คงไม่มีใครตั้งคำถาม หรือสงสัยในเรื่องความพร้อมการขึ้นมาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพราะนายสมพงษ์อยู่ในการเมืองมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีประสบการณ์ มีมนุษยสัมพันธ์รู้จักกับเพื่อนร่วมงานฝ่ายการเมืองด้วยกันมากมาย จึงเป็นความพร้อมที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคได้เป็นอย่างดีในสถานการณ์แบบนี้ เพราะวันนี้จากกลไกของรัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยวทำให้พรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส.มากที่สุด แต่ในทางกลับกันเราไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย แล้วคุณสมพงษ์ก็เป็นผู้อาวุโสมีความรู้ความสามารถ มีความพร้อมในสภา ในฐานะเราเป็นพรรคฝ่ายค้านมากสุด ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านก็มีความสำคัญ การปรับปรุงคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้คุณสมพงษ์มาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ยังสามารถไปทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาได้ด้วย
ส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรค น.อ.อนุดิษฐ์-เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกว่า เลขาธิการพรรคการเมืองก็เหมือนแม่บ้าน ในการดูแลกิจการภายในของพรรคการเมืองทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันก็ต้องบอกว่าจากวัตถุประสงค์แนวคิดเรื่องประชาชนคิด เพื่อไทยทำ ทางพรรคก็ต้องปรับปรุงกิจการภายในพอสมควร ในการเชื่อมโยงเชื่อมต่อกับประชาชนเพื่อนำแนวคิดที่มีอยู่ไปสู่การปฏิบัติให้ได้มีประสิทธิภาพ
ตัวผมก็ไม่ได้เป็นคนใหม่ เป็นคนที่อยู่กับพรรค เป็น ส.ส.มาแล้วทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายบริหารและเคยเป็นรัฐมนตรีอยู่ฝ่ายบริหารมาแล้ว ก็คงเป็นส่วนสำคัญในการได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทยให้มาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรค
เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ย้ำว่าจากรายชื่อกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จะเห็นได้ว่ากรรมการบริหารพรรคที่มีคนรุ่นใหม่ รุ่นกลางๆ เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค ทั้งหมดคือการผสมผสานของคนสามรุ่นในพรรคเพื่อไทย คือคนที่เป็นผู้อาวุโส มีความรู้มีประสบการณ์ เป็นอดีตรัฐมนตรีก็หลายคน อีกส่วนหนึ่งก็เป็นนักบริหารมืออาชีพ เคยบริหารจัดการองค์กรต่างๆ มาจนสำเร็จ ก็เป็นคนรุ่นกลาง ก็มีหลายคน และอีกส่วนหนึ่งที่เป็นสมาชิกพรรคที่เข้ามาทำงานกับพรรค ที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งต้องใช้คำว่า เกิดเติบโต เข้ามาในช่วงเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นนี้ก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวและสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อประสานทั้งสามกลุ่ม ในการปรับปรุงและมีข้อเสนอต่อพรรคไม่ให้พรรคตกยุคได้ ทั้งสามส่วนก็น่าจะเป็นองคาพยพ เป็นองค์ประกอบที่สมดุลในการทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถขับเคลื่อนไปในบริบทใหม่กติกาใหม่
สำหรับบทบาทของนักการเมือง คนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปิดตัวกลุ่มดังกล่าวอย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มเพื่อไทยพลัส ที่มีทั้งผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติเดิม เป็นต้น โดย น.อ.อนุดิษฐ์ ย้ำว่า บทบาทของคนรุ่นใหม่ในพรรคเพื่อไทยจะอยู่ที่การปรับปรุงกระบวนการบริหารพรรค อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็ประชุมกับทีมรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย หลักการก็คือเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความเห็นและมีส่วนร่วม เมื่อเปิดโอกาสดังกล่าวก็จะไม่ใช่การประชุมโต๊ะเล็กของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการประชุมเปิดเผย ทุกคนสามารถมาแสดงความเห็นมาเสนอแนะได้ ก็เป็นการสร้างการมีส่วนร่วม แล้วผู้บริหารพรรคก็สามารถหยิบจับสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปประยุกต์ ปรับปรุงใช้ได้กับงานของเรา เพราะหลายเรื่องที่คนรุ่นใหม่ในพรรคเพื่อไทยเสนอมาก็เข้าท่าเยอะ
...พรรคจะมีการสนับสนุนให้คนของพรรคใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารทางการเมืองกับประชาชนมากขึ้น ที่ผ่านมา ส.ส.ของเราอาจยังมองไม่เห็นความจำเป็นในการเชื่อมต่อระหว่างตนเองกับประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ว่าในช่วงหลังเราเห็นว่าการสื่อสารกับประชาชน และหากมีความประสงค์อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น คนที่เป็นตัวแทนประชาชนเป็น ส.ส.เขาก็ควรที่จะรู้จักใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจึงมีการเปิดคอร์สหลักสูตรขึ้นมาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานการเมืองของพรรค ส.ส.ของพรรคได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสื่อสารกับประชาชนภายนอก นอกจากนี้เรายังใช้จุดเด่นของเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระบบอีกหลายเรื่อง เช่น ระบบฐานสมาชิกพรรคเพื่อไทย หรือระบบการลงไปรับรู้เรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชน พรรคก็มีการออกแบบระบบเพื่อให้สมาชิกของเรานำไปใช้เพื่อจะได้รับรู้ปัญหาประชาชน ที่ต่อไปจะมีการทยอดเปิดตัวเทคโนโลยีเหล่านี้ออกมา
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวตอบหลังเราถามถึงความเป็นไปได้ในการปฏิรูปพรรคเพื่อไทย การรีแบรนด์พรรค เพราะที่ผ่านมามีหลายคนในพรรคพูดเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่เห็นการทำให้เกิดขึ้นจริง โดยเขาแจงไว้ว่า การปฏิรูปพรรคเพื่อไทยจริงๆ มีการดำเนินการมาเป็นระยะๆ เพียงแต่ก่อนหน้านี้มีคำสั่ง คสช.ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองอย่างมาก จนต่อมาเมื่อ คสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองได้ พรรคเพื่อไทยก็มีการปรับตัวทันที เช่น มีการอบรมเพิ่มศักยภาพให้สมาชิกพรรคในด้านต่างๆ เช่นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงกับประชาชน
-วันนี้ดูเหมือนฐานเสียงของเพื่อไทยเริ่มเปลี่ยนไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องปรับตัวไปด้วยหรือไม่?
เป็นเรื่องปกติของประชาชน เป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนจะไปเลือกบุคคลหรือพรรคการเมืองที่คิดว่าจะตอบโจทย์เขามากที่สุด ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ปัญหาของประชาชน วันนี้เราต้องคิดว่าประชาชนมีปัญหาอะไร และประชาชนมีความต้องการอย่างไร พรรคการเมืองต่างหากที่ต้องค้นความต้องการของประชาชนให้เจอ และต้องคิดกระบวนการที่จะไปตอบโจทย์ความต้องการเหลานั้น เราจึงไม่ได้ดูเลยว่าฐานเสียงไปเลือกใคร ย้ายไปจริงหรือไม่ ผมคิดว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องรู้เรื่องเหล่านั้นด้วยซ้ำไป
สิ่งที่พรรคควรต้องรู้และต้องทำการบ้านอย่างต่อเนื่อง ก็คือความต้องการของประชาชน และพรรคจะมีกระบวนการอย่างไรที่จะไปตอบโจทย์เหล่านั้นของประชาชน เพราะหากเราตอบโจทย์ได้ ถึงเวลา เราก็จะเป็นตัวเลือกสำคัญที่ประชาชนจะใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณา
ส่วนที่มีการมองกันว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจเป็นกลุ่มฐานเสียงของเพื่อไทยด้วย ตอนนี้หันไปเลือกพรรคอนาคตใหม่กันหมดแล้ว เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองประเด็นนี้ว่า หากเราดูจากฐานเสียงของกลุ่ม First Time Voter แล้วเราตั้งสมมุติฐานจากคำถามดังกล่าวว่ากลุ่ม First Time Voter ดังกล่าว จำนวนน้อยที่เลือกเพื่อไทย เราก็ต้องไปดูว่าจริงๆ แล้วความต้องการที่แท้จริงของคนกลุ่ม First Time Voter คืออะไร แล้วพรรคจะมีนโยบายอย่างไรที่จะไปตอบโจทย์เขาหรือไม่อย่างไร เราคงไม่ไปดูว่าพรรคการเมืองไหนเป็นคู่แข่งเรา ไม่ไปดูว่าพลังประชารัฐ อนาคตใหม่เขาเป็นคู่แข่ง เพราะเป็นคนละพรรคการเมือง เราคงไม่ไปก้าวล่วงกระบวนการ วิธีการบริหารของแต่ละพรรคการเมืองได้ สิ่งที่เราต้องทำคือเราต้องทำให้พรรคไปตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน อย่างเช่นก็ต้องไปทำการบ้านกับกลุ่ม First Time Voter ว่าผู้ใช้สิทธิ์ดังกล่าวเขาต้องการอะไร
-มองว่าจุดขายเพื่อไทยตั้งแต่ยุคไทยรักไทย มาถึงพลังประชาชน จนมาเป็นเพื่อไทยในปัจจุบัน วันนี้ยังแข็งแรงดีอยู่?
วันนี้ก็ยังแข็งแรงอยู่ เพราะประชาชนเพิ่งให้คำตอบเราผ่านการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา แม้จะมีกติกาที่ถูกตั้งข้อสงสัยมากมายว่ายุติธรรมหรือไม่ แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมาพรรคเพื่อไทยก็ยังเป็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มาอันดับหนึ่ง
น.อ.อนุดิษฐ์ ที่เป็น ส.ส.กทม.และเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทยด้วย ยังกล่าวถึงความชัดเจนเรื่องการส่งคนลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคเพื่อไทยด้วยว่า ณ เวลานี้เราได้แต่เพียงทราบเรื่องที่เป็นข่าวจากสื่อมวลชนว่าจะมีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเมื่อเราทราบรายละเอียดแล้ว กรรมการบริหารพรรคก็จะได้ประชุมกัน
สำหรับสนามผู้ว่าฯ กทม.คิดว่าพรรคการเมืองทุกพรรคก็คาดหวังในการเสนอตัวกับคนกรุงเทพฯ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่ประชาชนคนกรุงเทพฯ จะให้โอกาสพรรคการเมืองไหน
ถามถึงความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะส่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในนามเพื่อไทย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตอบชัดๆ ว่า ส่วนตัวผมคิดว่าคุณชัชชาติ มีความพร้อม เป็นคนเก่ง เพราะเคยร่วมงานกันอยู่ก็เห็นความรู้ความสามารถ ซึ่งตัวผมเองก็สนับสนุนคุณชัชชาติอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาของพรรคเพื่อไทย ตอนนี้ก็รอเวลาที่ชัดเจนว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อใด เมื่อถึงเวลานั้นกรรมการบริหารพรรคก็จะตั้งคณะกรรมการสรรหามาพิจารณาเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวก็มองว่าคุณชัชชาติก็สมบูรณ์แบบและมีความพร้อมมากที่สุด.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
วิจักรพันธ์ หาญลำยวง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |