เรือดำน้ำรำลึก (จบ) : อวสานการเดินทาง


เพิ่มเพื่อน    


เรือลาก EDI ตอนกำลังเดินทางเข้าฝั่งเมืองเอสแบร์กของเดนมาร์ก

             เราได้ทราบกันไปในฉบับที่แล้วว่าเรือที่ผู้รับจ้างใช้ลากเรือดำน้ำนั้นไม่ใช้เรือลากจูง (Tugboat) หากแต่เป็นเรือชราสำหรับล่าปลาวาฬ (Whaler) อายุถึง 80 ปี แต่เมื่อการณ์มาถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องปล่อยเลยตามเลย ถ้ายายแก่ EDI นี่สามารถประคองเรือดำน้ำ U-194 ถึงปลายทาง ก็ต้องยกความดีให้กับความสูงอายุที่ยังเก๋าเกม เข้าตำราขิงแก่หรือมะพร้าวห้าวอะไรทำนองนั้น

                หลังจากเชือกที่เชื่อมเรือลาก EDI กับเรือดำน้ำ U-194 ขาดลงจนเรือดำน้ำหายไปกลางดึกและกลับมาผูกต่อกันได้ใหม่ในเวลาต่อมา เชือกที่ติดอยู่กับใบพัดใต้ท้องเรือก็ถูกนักดำน้ำลงไปแงะขึ้นมาได้สำเร็จ ทว่าการโรมรันเริ่มยกที่ 2 ได้ไม่นานก็ต้องชะงักลงไปอีกเพราะระบบหางเสือไฮดรอลิกส์พังลงไม่เป็นท่า น้ำมันพุ่งขึ้นมากองบนพื้นห้องควบคุมเรือ กัปตันแฮรี่สั่งให้อามิน-ลูกเรืออินโดฯ ทอดสมอทันที

                เรือเสียตอนบ่ายวันศุกร์ยิ่งทำให้แย่ลงไปเพราะวันเสาร์และวันอาทิตย์ ร้านขายอะไหล่ปิด การซ่อมเรือจะเริ่มได้ในวันจันทร์ ยังดีที่วันเสาร์ติโม-เจ้าของเรือดำน้ำคนเก่าโทรมาแจ้งว่าจะนำข้าวของลงเรือมาให้พวกเรา โดยเฉพาะกระเป๋าเสื้อผ้าที่เรารอคอยมานานหลายวันแล้ว แต่ติโมบอกว่าเรือ Alice of Råå ของกัปตัน Stig สตาร์ทไม่ติดเป็นวันที่สองติดต่อกัน หากบ่ายนี้ยังสตาร์ทไม่ติดเขาจะขโมยเรือใครก็ได้แถวๆ นั้นมาหาพวกเราให้ได้ ผมก็เลยเชียร์ เพราะว่าจะได้อาบน้ำเสียที เสื้อผ้าที่ติดตัวมาใช้ไปหมดแล้ว ติโมสวนว่าอาบน้ำไม่เห็นต้องใช้เสื้อผ้า ผมก็บอกกลับไปว่าอาบเสร็จแล้วจะให้ใส่อะไร

 


ผู้ช่วยกัปตันชาวอินโดฯ ยิ้มออกเป็นครั้งแรก

                ตอนเย็น ขณะเข้าห้องน้ำ ผมมองออกไปทางช่องหน้าต่าง เห็นร่างอวบอ้วนของติโมยืนอยู่บนหัวเรือ Alice of Råå ด้วยมาดทรนงองอาจ ดูคล้ายกัปตันเรือโจรสลัดยืนบัญชาการรบ เมื่อเรือทั้ง 2 ลำถูกเชือก 2 เส้นล่ามไว้ด้วยกัน ทุกคนต่างมีแต่ความยินดีปรีดา ทันทีที่ติโมข้ามมายังเรือ EDI พี่หมู (ผุดผาดน้อย วรวุฒิ อดีตยอดมวยไทย) โผไปเข้าสวมกอด ไวน์แดง 10 กล่องที่แกสั่งไปติโมขนมาครบ สมทบกับ 5 กล่องเมื่อวันก่อน ข้าวของค่อยๆ ถูกขนลำเลียงข้ามลำเรือมา และที่น่าดีใจสำหรับตัวผมเองก็คือกีตาร์โปร่ง แม้ว่าพอลองดีดดูแล้วก็ยังสงสัยว่าจะแข่งกับเสียงเรือ เสียงคลื่น ได้หรือเปล่า

                อูดิง-ผู้ช่วยกัปตันเรือชาวอินโดฯ ที่ภรรยาตั้งท้องได้ 7 เดือน ได้จังหวะเดินเข้าไปคุยกับกัปตันสติ๊ก ขอขึ้นเรือเข้าฝั่งและเดินทางไปสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องกลับประเทศ หมายจะไปดูหน้าลูกตอนคลอด ผมได้ยินกัปตันสติ๊กตอบแว่วๆ ว่าอยากจะช่วยแต่ไม่สามารถทำได้ รอยยิ้มที่ไม่ปรากฏบนใบหน้าของเขามาตั้งแต่ต้นเราก็ยังไม่เห็นกันต่อไป

                ดึกคืนนั้นระหว่างการดื่มกันตามปกติในห้องกินข้าว กัปตันแฮรี่อ่านหนังสือพิมพ์ที่ติโมซื้อมาฝากหลายฉบับ มีฉบับหนึ่งที่เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเสนอข่าว U-194 มีภาพเรือดำน้ำที่ถูกถ่ายจากฝั่ง กัปตันพูดขึ้นว่าจะโทรบอกเพื่อนนักข่าวของเขาให้มาทำข่าวเรือลาก EDI ด้วย และให้พวกเราคนไทย 3 คนบอกนักข่าวว่าเป็นลูกเรือ ไม่ได้มาทำสารคดีบันทึกการเดินทาง เพราะไม่เช่นนั้นความสนใจของนักข่าวจะเปลี่ยนไป

                อ่านไปอ่านมา กัปตันเจอข้อความที่ติโมให้สัมภาษณ์ ข่าวเขียนว่าเรือ EDI ลำนี้มีอ็อตโต-นักธุรกิจหนุ่มชาวสวีดิชเป็น Owner หรือเจ้าของ กัปตันบอกว่าอ็อตโต้ไม่ได้เป็น Owner แต่เป็น Investor หรือผู้ลงทุน พรุ่งนี้เขาจะโทรไปหาติโมให้แก้ข่าว ผมถามว่าถึงขั้นต้องแก้ข่าวเลยหรือ กัปตันตอบว่าอ็อตโตอาจมีปัญหาได้

 


กะลาสีคนขยันชาวอินโดฯ ที่พวกเราสนิทสนมชมชอบ

                หลังกัปตันปลีกตัวไปนอนได้ไม่เท่าไหร่ คริส-พ่อครัว ผู้เป็นหลานของกัปตันแฮรี่ก็พูดกับ “วลาดิสลาฟ” ชีฟเอ็นจิเนียร์ หรือต้นกลชาวรัสเซียนเรื่องค่าจ้างว่าเพิ่งจะรู้ตัวเลขตอนที่ลงเรือมาแล้ว หากรู้ก่อนก็คงจะไม่ร่วมงานนี้ เช่นเดียวกับวลาดิสลาฟที่ไม่ค่อยพอใจค่าจ้างของตัวเองเช่นกัน

                ลูกเรือทยอยลาไปนอนจนเหลือแต่ผมกับพี่หมู ผมก็เปิดเพลงไทยจากเครื่องเล่นดีวีดีพกพาให้พี่หมูฟังแก้คิดถึงบ้านเกิด แกไม่ได้กลับเมืองไทยนานแล้วตั้งแต่แต่งงานครั้งหลังสุดกับสาวไทยในสวีเดน กระทั่งแบตเตอรี่ของเครื่องเล่นดีวีดีหมดก็ได้เวลาเปิดตัวกีตาร์เมดอินไชน่า พี่หมูขอเพลง “พรานทะเล” ของวงสุนทราภรณ์ แกจำเนื้อเพลงได้อย่างเหลือเชื่อ ผมเองเคยฟังมาบ้าง จำทำนองได้

                “ชีวิตที่คร่ำกลางน้ำเวียนวน ลอยล่องกลางชลไม่พ้นทนไป อยู่กับเรือเบื่อใจ ผองพรานทะเลไร่ไป อยู่ห่างไกลกลางสายชล......”

                จบพรานทะเลแล้วพี่หมูขอต่อด้วย “ตังเก” ของน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เข้ากับความเป็นคนขอนแก่นแดนอีสานของแก

                “ฉันเกิดอยู่แดนอีสาน ถิ่นกันดารที่เขาดูหมิ่นดูแคลน จากไกลไปหากินต่างแดน ก็อาลัยแสนเมื่อจำต้องพรากบ้านมา....”

                ร้อง-เล่น-ดื่ม กันจนเลยเที่ยงคืน ผมเห็นว่ามือที่ถือแก้วไวน์แดงนั้นไม่ขยับแล้วก็หันไปมองหน้า ใบหน้าก็ไม่ขยับเช่นกัน ตาปิดลงแล้วแต่มือยังประคองแก้วไวน์ให้ตรงเด่ได้ พี่หมูนี่ตอนดื่มก็มีความเป็นมืออาชีพไม่แพ้ตอนชกมวย

 


ผุดผาดน้อย วรวุฒิ กับกิจวัตรประจำคืน

                วันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2550 วันนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจมากไปกว่าการมาของช่างจากสต็อกโฮล์ม 2 คน กัปตันแฮรี่โม้ว่าพวกนี้ฝีมือดีที่สุดในประเทศ ก่อนมื้อเย็นคริสรายงานคำวินิจฉัยโรคเรือ EDI ถ่ายทอดจากปากคำของช่างชุดหมีสีฟ้าให้ฟังว่าอาจต้องใช้เวลาซ่อมเป็นสัปดาห์และซ่อมในทะเลไม่ได้ ต้องลาก EDI เข้าไปซ่อมใน Shipyard หรืออู่ซ่อมเรือ เพราะเครื่องเสียทั้งระบบ

                ตอนที่คริสพูดนี้กัปตันแฮรี่ไม่อยู่ เมื่อกัปตันเข้ามากินมื้อค่ำจนอิ่มแล้วเขาบอกพวกเราว่าจะไม่ลาก EDI เข้าฝั่ง เพราะกลัวว่าช่างจะไม่กระตือรือร้นเร่งซ่อม แต่ผมคิดว่ากัปตันไม่อยากจ่ายค่าจอดเรือมากกว่า และแล้วการซ่อมก็กระทำกันกลางทะเล ในช่องแคบโอเรซุนด์ ระหว่างเมืองเฮลซิงบอร์กของสวีเดนและเฮลซิงเงอร์ของเดนมาร์ก

                วันที่ 31 มกราคม 2550 ก่อนมื้อเที่ยงไม่นาน เรือ Alice of Råå เข้ามาหาพวกเราอีกครั้งหลังจากหายไปหลายวัน ผมกำลังถือกล้องวิดีโออยู่นอกตัวเรือ EDI พอดี นอกจากอะไหล่จำนวนหนึ่งแล้วก็ยังมีสาวฟิลิปปินส์มากับเรือด้วย ใช่แล้ว เธอคือหลานสาวอดีตรองประธานาธิบดีแดนตากาล็อก ภรรยาของคริส

                พอเธอข้ามพ้นกราบเรือ EDI มาได้ ฝ่ายสามีเข้าไปสวมกอด แล้วพากันหายเข้าไปในห้องนอนของพ่อครัว ทิ้งกระเป๋าสัมภาระไว้ตรงจุดสวมกอด วันนี้เราได้กินมื้อเที่ยงช้ากว่าปกตินิดหน่อย

 


มุมหนึ่งของกรุงโคเปนเฮเกเกน เมืองหลวงประเทศเดนมาร์ก

                วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 เรือลาก EDI ได้รับการซ่อมจนเสร็จ เปลี่ยนอะไหล่ใหม่เรียบร้อย แม้มีพยากรณ์อากาศว่าจะมีลมพายุและคลื่นขนาดยักษ์รออยู่ที่ทะเลเหนือตลอด 4-5 วันข้างหน้า แต่กัปตันแฮรี่ไม่ฟังเสียง อ้างว่าเสียเวลาซ่อมเรือมานานแล้ว อยากไปให้ถึงเมืองไทยเต็มที ประสบการณ์ในทะเล 40 ปีจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

                ออกเดินทางจากปราการสุดท้ายของทะเลบอลติกเข้าสู่ทะเลเหนือ (ส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก) ซึ่งจุดเชื่อมกันของสองทะเล กระแสคลื่นแรงกว่าปกติ ผสมกับพายุที่เข้ามาบวกเสริม ปรากฏการณ์ลมในท้องดันอาหารค้างเก่าออกจากปากเกิดขึ้นทั้งวันทั้งคืนจนหมดแรง กินอะไรเข้าไปก็ออกมาหมด ต้องนอนสถานเดียว คนอื่นๆ ก็คล้ายกัน เรือกลิ้งไปกลิ้งมาบนยอดคลื่นที่สูง 5 เมตร, 6 เมตร และสูงสุด 7 เมตรในบางจังหวะ (จากปากคำของอูดิงที่ผมถามเขาตอนหลัง) เสียงโครมครามดังขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เครื่องมืออุปกรณ์ที่ไม่มีที่ล็อกลอยว่อน

 


ภาพหนังสือพิมพ์แจกฟรีอาจหาไม่ได้ง่ายๆ แล้วในทุกวันนี้

                ผมกับพี่หมูนอนในห้อง Hospital (ห้องรับแขก) ซึ่งเป็นห้องที่เก็บชุดชูชีพ คลื่นกระแทกเรือจนเรากระเด็นตกจากเตียงหลายครั้ง ผมต้องบอกว่า “พอแล้วครับ ยอมแล้วครับ” พี่หมูที่นอนกำพระเครื่องอยู่หันมาถาม “เพ้อแล้วเหรอ”

                กระทั่งเช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นาฬิการะบุเลข 07.38 น. วลาดิสลาฟรับคำสั่งจากกัปตันแฮรี่ แล้วไปบอกอามิน-กะลาสีคนขยันว่า “Cut the wire” อามินทำตามคำสั่ง ตัดเชือกที่ลากเรือดำน้ำอยู่เบื้องท้ายทิ้ง

                พวกเราขึ้นไปบนห้องควบคุมเรืออย่างทุลักทุเลเพราะเรือยังโคลงไปมาไม่หยุดหย่อน มองออกไปด้านหลัง เรือดำน้ำ U-194 ค่อยๆ มุดลงทะเล ไม่กี่นาทีก็หายวับ เหมือนไม่เคยมี U-194 อยู่ตรงนั้น ทุกคนในเรือตกอยู่ในอาการใจหาย แต่อาจยกเว้นอูดิง-ผู้ช่วยกัปตันที่เมียท้องแก่

                พี่ธรรมนูญ-ผู้ประสานงานของเจษฎาเทคนิคมิวเซียมโทรรายงานคุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ เจ้าของเรือดำน้ำคนใหม่ ไม่อยากนึกเลยว่าคุณเจษฎาจะมีสีหน้าอย่างไรเมื่อได้ยินข่าวร้าย

                สาเหตุที่ทำให้เรือจมนั้นยังไม่เป็นที่สรุปแน่ชัดนับจนบัดนี้ แน่นอนว่ากัปตันแฮรี่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะกัปตันและฝืนคำพยากรณ์อากาศ แต่คงไม่ตั้งใจจะพาเรือดำน้ำไปตัดเชือกทิ้งกลางทะเลเหนือตามที่บางคนสงสัย ไม่งั้นคงไม่เตรียมสระน้ำผ้าใบเผื่อไว้จัดปาร์ตี้ในวันอากาศดี และเพิ่งสั่งซื้อทีวีและเครื่องเล่นดีวีดีไม่กี่วันก่อน ไม่น่าจะเอาประสบการณ์ในทะเล 40 ปีไปขายราคาถูกๆ ส่วนอูดิงที่อาจจะเป็นคนเดียวที่ยินดีกับเหตุการณ์นี้เพราะจะได้กลับไปดูหน้าลูกตอนคลอดได้ทันดังหมาย แต่ก็ไม่น่าจะมีจังหวะเวลาไปทำอะไรกับเรือดำน้ำ กรณีเดียวที่จะทำได้คือแอบไต่เชือกลอยทะเลไปเปิดประตูเรือดำน้ำตอนกลางคืน ซึ่งผมไม่เชื่อว่าเขาจะบ้าระห่ำเป็นพระเอกหนังแอคชั่นขนาดนั้นได้

 


ผุดผาดน้อย วรวุฒิ ขณะรอขึ้นเครื่องกลับเมืองไทย

                ผมมาวิเคราะห์ตอนหลัง นอกจากสาเหตุที่อาจเกิดจากพายุและคลื่นลมแล้ว ก็ไม่ควรมองข้ามกรณีที่เรือดำน้ำขาดหายไปกลางดึกแล้วกลับมาชนเข้ากับเรือลากอย่างจัง อาจทำให้เรือดำน้ำมีแผล และค่อยๆ รับน้ำทะเลเข้าไปในเวลาต่อมา

                คุณเจษฎาได้จ้างทีมนักประดาน้ำลงไปดูสภาพ U-194 ถึง 2 ครั้งในเวลาต่อมา ครั้งแรกมองเห็นไม่ชัด ครั้งที่สองเห็นชัด พบว่าตัวเพรียงเกาะอยู่ทั่วลำเรือแล้ว และหากจะกู้ขึ้นมาก็มีภาระทั้งค่ากู้ ต้องพาเข้าฝั่ง ต้องซ่อมอีกรอบ ต้องจ้างทีมลากใหม่ สรุปคือซื้อใหม่ง่ายกว่า ปล่อยให้ U-194 เป็นสาขาพิพิธภัณฑ์ของเจษฎาเทคนิคมิวเซียมอยู่ที่ก้นทะเลเหนือ นอกฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเดนมาร์ก  

                ความรู้สึกตอนนี้คืออาลัยเสียดายที่ภารกิจไม่สำเร็จ อีกความรู้สึกคือเหมือนคนรอดตาย กัปตันบอกว่าถ้าไม่ตัดเชือกทิ้ง เราในเรือลากก็ต้องถูกดึงลงไปด้วย และนึกต่อว่าหากใช้วิธีการลากแบบนี้ไปเรื่อยๆ พวกเราจะสามารถเผชิญคลื่นลมในมหาสมุทรอีกราว 4 เดือนไปตลอดรอดฝั่งจนถึงเมืองไทยได้จริงหรือ

 


จากซ้ายไปขวา อนันตศักดิ์ รฟท., ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา, เจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ (ไม่ได้เป็นนักมวย), อภิเดช ศิษย์หิรัญ, เขียวหวาน ยนตรกิจ และผุดผาดน้อย วรวุฒิ (ยืนบังก้องเวหา ลูกปัญจมา)

                งานนี้ผู้ที่เศร้าเสียใจไม่น้อยอีกคนหนึ่งก็คือติโม เพราะแม้จะได้เงินค่าเรือดำน้ำไปแล้ว แต่เขาปรารถนาจะส่งต่อ U-194 ให้ได้ทำหน้าที่ “อนุสรณ์สงครามเย็น สื่อกลางสันติภาพ” ในเมืองไทยมากกว่าจะต้องจบชะตากรรมเช่นนี้

                วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เรือลากพาคนไทยเข้าฝั่งที่เมืองเอสแบร์ก (Esbjerg) ของเดนมาร์ก พวกเรา 3 คนเดินชมเมืองจนถึงเย็นแล้วร่ำลาทีมเรือลาก EDI ขึ้นรถไฟไปกรุงโคเปนเฮเกน พี่ธรรมนูญยังคงอยู่ทำหน้าที่ประสานงานต่อไป

                พี่หมูโทรศัพท์หานักมวยเก่ารุ่นน้องชื่อ “ต้อย” เขาสอนมวยอยู่ที่โคเปนเฮเกนได้หลายปีแล้ว พี่ต้อยมารับที่สถานีรถไฟแล้วพาไปกินข้าวที่ร้านคนไทยชื่อ “บ้านแก้ว” พวกเราเที่ยวกลางคืนในเมืองหลวงของเดนมาร์กจนเกือบสว่าง พบเจอคนไทยหลายคน

                วันต่อมาพี่หมี (ปัจจุบันคือพระสุธรรม ฐิตธัมโม) ชวนนั่งเครื่องบินไปเยอรมนีเพื่อจะโดยสารรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียไปจีน แล้วค่อยกลับเมืองไทย ผมเห็นด้วย แต่พี่หมูค้าน บอกว่าอยากไปให้ถึงเมืองไทยเร็วๆ ก็เลยไปหาตั๋วกลับกรุงเทพฯ ที่สำนักงานการบินไทยประจำกรุงโคเปนเฮเกน

                เช้าวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2550 พวกเราลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ คุณเจษฎาและทีมงาน ประกอบด้วย อภิเดช ศิษย์หิรัญ, เขียวหวาน ยนตรกิจ, ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา, ก้องเวหา ลูกปัญจมา และ อนันตศักดิ์ รฟท. มาคอยต้อนรับ ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เคยชก (บนเวที) กับพี่หมูมาแล้ว

                คุณเจษฎาเป็นเจ้าของไอเดียนำคณะนักมวยมาต้อนรับนักมวย แกยังยิ้มแย้มแจ่มใสแม้เพิ่งเสียเรือดำน้ำไปหนึ่งลำ.  

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"