ผวา!วิกฤติแล้ง ลากยาวถึงปี63 สั่ง4เขื่อนตุนน้ำ


เพิ่มเพื่อน    

 กรมชลฯ หวั่นวิกฤติแล้งลากยาวถึงปี 63 สั่งลดระบายน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ กักน้ำใช้ถึงต้นฤดูฝนปีหน้า ลุ้นฝนตก ส.ค.-ก.ย. ก.เกษตรฯ เตรียมของบ 90 ล้าน พร้อมชง ครม.คลอดมาตรการเยียวยาเกษตรกร 

    เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสถานการณ์น้ำว่า กรมชลประทานจะปรับลดการระบายน้ำเขื่อนใหญ่ 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เพื่อเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการฤดูแล้ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2562 ถึง 30 เม.ย.2563 เป็นเวลา 6 เดือน และต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนหน้า ตั้งแต่ 1 พ.ค.2563 ถึง ก.ค. 2563 อีก 3 เดือน รวมเป็น 9 เดือน
    ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้ใช้สถิติน้ำไหลลงอ่างของ 4 เขื่อนใหญ่ปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่มีฝนน้อยมาเทียบเคียง โดยตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.ถึง 31 ต.ค.2558 มีน้ำไหลลงอ่างรวม 5,231 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากนั้นคาดการณ์การจัดสรรน้ำฤดูฝนที่เหลือ ตั้งแต่ 16 ก.ค.ถึง 31 ต.ค.2562 จะมีความต้องการน้ำ 2,066 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งวันที่ 1 พ.ย.2562 จะคงเหลือน้ำใช้การได้ 4,904 ล้าน ลบ.ม. 
    นายทองเปลวกล่าวว่า เมื่อคำนวณความต้องการน้ำขั้นต่ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศ โดยไม่รวมภาคการเกษตร จะใช้ประมาณวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. หากต้องวางแผนการใช้น้ำตั้งแต่เริ่มฤดูแล้งต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า รวมทั้งสิ้น 9 เดือน คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมีประมาณ 5,040 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำใช้การได้ที่เหลือ 4,904 ล้าน ลบ.ม. จึงพบว่าลุ่มเจ้าพระยายังขาดน้ำอีก 136 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้ความเห็นว่ากรมชลประทานต้องประหยัดน้ำให้ได้ไม่น้อยกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานจึงปรับแผนการจัดสรรน้ำใหม่ จากเดิมจะจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 2,066 ล้าน ลบ.ม. ลดลงเหลือ 1,766 ล้าน ลบ.ม. 
    อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฝนเริ่มตกลงมาในหลายพื้นที่ และจากคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ต้นเดือน ส.ค.ถึงปลายเดือน ก.ย. ฝนจะตกใกล้เคียงค่าเฉลี่ย ซึ่งจะช่วยนาข้าวในลุ่มเจ้าพระยาฟื้นตัวได้ พร้อมกับส่งน้ำเป็นรอบเวรอย่างเคร่งครัด และกำหนดรอบเวรสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สูบน้ำจากแม่น้ำสายหลักอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หากทุกภาคส่วนรักษากติกาการรับน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มั่นใจว่าจากนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2563 น้ำจะมีพอใช้
    รายงานจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการน้ำฯ ว่า ตัวแทนกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าในช่วงเดือน ส.ค.และก.ย. โอกาสจะมีพายุเข้าไทยอาจน้อยลง หากไม่มีพายุสถานการณ์น้ำค่อนข้างวิกฤติมาก เพราะใช้น้ำเขื่อนลากยาวไปอีก 9 เดือน อาจจะแล้งรุนแรงกว่าปี 2558 ที่เคยแล้งรุนแรงที่สุดของประเทศไทย
    ด้านนายทวีศักดิ์ ธนะเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวภายหลังการประชุมมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตกรกรประสบภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือมาตรการเยียวยาเกษตรกรระยะสั้น ช่วยเรื่องอาชีพเสริมแทนการทำนา พร้อมทั้งให้สหกรณ์ขอวงเงินสนับสนุนสมาชิกสหกรณ์ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และจัดหาแหล่งน้ำในส่วนช่วยเหลือเกษตรกร นาข้าวเสียหายสิ้นเชิง จะแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวเจ้า ทั้งนี้ กรมชลฯ จัดช่วยเหลือเรื่องน้ำให้กับประชาชนและเกษตรกรทั่วประเทศ รถสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เปิดทางส่งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำแผนใช้น้ำเขื่อน ส่งหมุนเวียนสลับคลองให้กับพื้นที่เกษตร เพื่อประหยัดน้ำในเขื่อนไว้ให้กับทุกกิจกรรมถึงฤดูแล้งหน้าด้วย ซึ่งเสนอ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 ก.ค.นี้
          ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีภาวะฝนทิ้งช่วงในเขตชลประทานเกษตรกรรอน้ำ โดยใช้วิธีหมุนเวียนน้ำใช้เป็นคลอง และปล่อยน้ำ 4 เขื่อนหลักเข้าลุ่มเจ้าพระยา 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ทั้งน้ำอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ไม่ให้เกษตรกรเดือดร้อน เมื่อมีฝนตกจะลดเหลือ18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อน ได้มีการวางแผนการจัดการน้ำตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งแผนน้ำฤดูแล้งช่วงวันที่ 1 พ.ค.61 ถึง 30 เม.ย.62 โดยวางแผนส่งน้ำให้พืชฤดูแล้ง 2.3 หมื่นล้าน ลบ.ม.พร้อมกับวางแผนสำรองน้ำในเขื่อน เพื่อเตรียมแปลงเกษตรตกกล้า 6.3 พันล้าน ลบ.ม. น้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ 6 พันล้าน ลบ.ม. และยังให้ความสำคัญในการสำรองน้ำไว้เผื่อฝนทิ้งช่วงอีก 3.9-4 พันล้าน ลบ.ม. สำรองไว้ใช้ช่วงเดือน พ.ค-ก.ค.
    อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่ามีพายุเข้า 1-2 ลูก หากเข้าช่วงเดือน ส.ค. ต้นเดือน ก.ย. จะได้น้ำเข้าเขื่อน แต่ถ้ามาปลายเดือน ก.ย. น้ำมาภาคกลาง ภาคอีสานล่าง เพราะมีอากาศหนาวมากดอิทธิพลพายุหมุนลงล่าง ไม่ส่งผลดีต่อเขื่อน อากาศหนาวกดลงมา เตรียมแผนบริหารน้ำหลากด้วยฝนตกช่วงกลางประเทศ 
         สำหรับมาตรการฉุกเฉินโดยกระทรวงเกษตรฯ เตรียมช่วยพื้นที่ประสบภัยแล้งจากภาวะฝนทิ้งช่วงทั่วประเทศ โดยให้กรมฝนหลวงและการเกษตรทำงานร่วมกับกองทัพภาคทุกภาค จัดหาเพิ่มเครื่องบิน จัดหากำลังพล สำรวจค่าใช้จ่ายที่จะขอจากงบกลาง รวมทั้งกรมชลประทาน ระดมรถน้ำรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ ไปช่วยประชาชนและเกษตรกร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรสำรวจพื้นที่ไหนขาดแคลนน้ำกินใช้ น้ำการเกษตร เสนอของบกลางส่งสำนักงบประมาณพิจารณาสัปดาห์หน้า ในเบื้องต้นกรมชลประทานของบ 90 ล้านบาท 
          ในส่วนมาตรการเร่งด่วนเยียวยาเกษตรกร และเป็นพื้นที่ยังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติ แต่พื้นที่เพาะปลูกเกิดความเสียหาย กำลังพิจารณาจะดำเนินการช่วยเหลือให้พืชปลูกใช้น้ำน้อย ช่วยปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,000 บาท เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง จ่ายเงินชดเชยไร่ละ1,113 บาทไม่ได้ อาจจะแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวในปีหน้า เพราะขณะนี้กรมการข้าวไม่มีเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากพ้นฤดูเพราะปลูกนาปีไปแล้ว ทั้งนี้ จากการประเมินพื้นที่นาข้าว คาดว่าจะเสียหาย 10 ล้านไร่ 20 จังหวัด หากถึงสิ้นเดือนนี้ฝนไม่มาตกทั่วทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พอมีฝนเริ่มตกหลายจังหวัด กระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งสำรวจพื้นที่ว่าฝนรอบนี้ช่วยนาข้าวได้เท่าไหร่ พร้อมกับจะมีมาตรการให้ปลูกพืชอื่นไปช่วยเสริมทดแทนการทำนา เพื่อเสนอของบจาก ครม.ช่วงต้นเดือน ส.ค.อีกครั้ง
    วันเดียวกัน ระหว่างการประชุมรัฐสภา ในวาระที่ครม.แถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น สมาชิกรัฐสภาได้สอบถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีแผนการดำเนินการทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะการผลักดันในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล เข้าสู่ภาคเกษตรในทุกหมู่บ้าน แต่ปัญหาที่พบคือไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ แต่รัฐบาลยังคงต้องเดินหน้าศึกษาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป 
    ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า ได้รับฟังทุกความเห็น เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการแก้ไข ต้องยอมรับว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาฝนทิ้งช่วง แต่โชคดีที่มีมรสุมพัดผ่านเข้ามา ทำให้ฝนตกในภาคเหนือตอนบนและอีสานตอนกลาง จนมีน้ำเติมเข้ามาในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ประมาณ 40 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น มีทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว ต้องเร่งจัดการบริหารน้ำให้มีประสิทธิภาพ ปริมาณเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยเฉพาะพืชหลัก เช่น ข้าว จะทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"