เอกชนยี้ขึ้นค่าแรง400บ. แนะ8แนวทางผ่าทางตัน


เพิ่มเพื่อน    

  เอกชนออกโรงแล้ว! “หอการค้าฯ-สภาหอการค้าฯ-ผู้ประกอบการ” ยี้นโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาท โพลชี้ชัด 94% ไม่เอาด้วย บอกกระทบเชื่อมั่นและแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ชง 8 ข้อเสนอแนะผ่าทางตัน

เมื่อวันศุกร์ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์แรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน แถลงถึงนโยบายค่าแรงของรัฐบาลที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวันทั่วประเทศ  ว่าสร้างความสับสนและความกังวลใจต่อทุกภาคส่วนที่มีการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนทั่วไปก็ห่วงว่าค่าครองชีพจะสูงขึ้น ต่างมีเสียงสะท้อนแสดงความไม่เห็นด้วย จนมีการตั้งคำถามเรื่องความเหมาะสมและความถูกต้องถึงวิธีการที่ได้มาของการใช้อัตราค่าจ้างตามกระแสข่าว
“หากขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเกิน 400 บาทจริงถือเป็นการเพิ่มเงินจากผู้ประกอบการเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 20,000 ล้านบาท หากเป็นปีกว่า 200,000 ล้านบาท ถือเป็นเงินเข้าระบบไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันสร้างภาระต้นทุนต่างๆ มากขึ้น และยังจะกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ต่างชาติจะไม่กล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย” นายพจน์กล่าว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ ได้สำรวจความคิดเห็นต่อประเด็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากสมาชิกทั่วประเทศ ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัด 76 จังหวัด, หอการค้าต่างประเทศ 35 ประเทศ, สมาคมการค้า 138 สมาคม, สมาชิกผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,355 กลุ่ม ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งผลสำรวจยืนยันไปในทิศทางเดียวกัน คือ 93.9% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 400 บาทต่อวันตามกระแสข่าว 
ทั้งนี้ ยังมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลที่เกี่ยวข้องอัตราค่าจ้าง คือ 1.การปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง ควรยึดตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยผ่านกลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ควรมาจากการสรรหาที่แท้จริง และควรเป็นองค์กรอิสระที่สามารถดำเนินการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และขอให้ทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการไตรภาคี
2.การปรับอัตราค่าจ้างโดยไม่ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ซึ่งปัจจุบันไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดในอาเซียน 3.การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง เป็นปัจจัยลบส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท และสงครามการค้าระหว่างประเทศต่างๆ เป็นต้น
4.การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการจ้างงานทั้งระบบ และทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมี 3,046,793 ราย โดยปี 2560 สร้างมูลค่าให้ประเทศ 6.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 42.4% ของสัดส่วน GDP ทั้งประเทศ และยังจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานเดิม พนักงานรายเดือน กลุ่มพนักงานราชการ และพนักงานของรัฐในตำแหน่งต่างๆ ด้วย 5.การปรับอัตราค่าจ้างที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลให้ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้นตาม 6.การปรับค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงานตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้กระทรวงแรงงาน เร่งส่งเสริมการกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้นให้ครบทุกอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันมี 241 สาขา 
7.รัฐบาลควรเร่งกำหนดใช้อัตราค่าจ้างแรกเข้าในการประกาศใช้อัตราค่าจ้างครั้งต่อไปแทนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทันที ตามนโยบายเร่งด่วนเรื่องการยกระดับศักยภาพของแรงงาน และควรกำหนดนิยามของอัตราค่าจ้างแรกเข้าที่ชัดเจน ซึ่งหลังจากกำหนดใช้อัตราค่าจ้างแรกเข้าแล้ว กระทรวงแรงงานต้องเร่งจัดทำโครงสร้างกระบอกเงินเดือนมาตรฐานที่สัมพันธ์กับค่าจ้างแรกเข้าของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแต่ละภาคส่วนที่ใช้แรงงาน และส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถนำไปใช้ปรับค่าจ้างประจำปีให้เหมาะสมกับการจ้างงานได้ และ 8.รัฐบาลควรส่งเสริมการจัดอบรม และมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill Re-Skill และ New-Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานเพื่อมุ่งไปสู่การปรับค่าจ้างตามโครงสร้างกระบอกเงินเดือน
“หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ และสมาชิกผู้ประกอบการทุกจังหวัดทั่วประเทศ เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในการยกระดับศักยภาพของแรงงาน รวมทั้งรายได้ของแรงงาน เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงานทั้งหมด แต่การปรับขึ้นค่าจ้างควรคำนึงถึงทักษะฝีมือแรงงาน สภาพเศรษฐกิจ อัตราค่าครองชีพ ยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัดเป็นสำคัญ และควรเป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยกัน” นายธนวรรธน์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"