กางฎีกาคสช.เจ้าพนักงาน


เพิ่มเพื่อน    

 วิษณุกางคำพิพากษาศาลฎีกาคดี บ.ก.ลายจุด ตบหน้าพรรคฝ่ายค้านที่ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แจงทุกบรรทัดทั้ง 34 หน้ามีแค่คำว่าเจ้าพนักงาน แฉตั้งแต่ศาลชั้นต้นก็ไม่มี เรืองไกรยังตื๊อบอกเจ้าพนักงาน=เจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อช่วงเวลาประมาณ 01.00 น. ของวันที่ 26 ก.ค. ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการประชุมรัฐสภาวันแรก ในการพิจารณาวาระที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้อภิปรายถึงกรณีคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยพยายามอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 คดีของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ที่ฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งได้ระบุในคำพิพากษาว่า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้แจ้งว่าเรื่องคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรพูด ไม่ควรไปก้าวก่าย ขอให้อภิปรายในประเด็นเกี่ยวข้องกับนโยบาย สามารถสนับสนุน ทักท้วงได้ตามข้อบังคับ ทำให้นายวันกล่าวก่อนจะนั่งลงว่า ไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ เถื่อนหรือไม่ แต่ทราบว่าท่านเป็นนายกฯ ที่ไม่สง่างาม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ใช้สิทธิ์ชี้แจงว่า ประเด็นเรื่องคุณสมบัตินายกฯ อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเพิ่งเอาคำให้การไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตอบประเด็นที่ ส.ส. 110 คนได้ยื่นคำร้องไป จึงจะไม่ก้าวล่วง แต่อยากขอแก้ไขความคลาดเคลื่อนนิดเดียวเท่านั้นเอง ว่าเมื่อท่านยกเอาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 ขึ้นมา ในคดีนายสมบัติในคดีนี้ ซึ่งมักจะเอามาอ้างกันนั้น ไม่มีที่ใดในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เลยที่บอกว่า คสช.หรือหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่บอกว่าเป็นเจ้าพนักงาน 
“คดีนี้ได้มีการฟ้องว่าจำเลยนั้นขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ซึ่งบัญญัติว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ขีดเส้นใต้คำว่าเจ้าพนักงาน มีความผิดลหุโทษ คราวนี้ก็มาเกิดความเข้าใจว่าเจ้าพนักงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐชะรอยจะเป็นอันเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ เจ้าพนักงานก็เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐก็เจ้าหน้าที่ของรัฐ คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 98 (15) นั้น พูดถึงเรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน” นายวิษณุระบุ
นายวิษณุยังชี้แจงต่อว่า เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554 มีการจับเจ้าอาวาสวัดหนึ่งในข้อหาว่าเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ของวัด เพราะว่าตามกฎหมายคณะสงฆ์ถือว่าเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน คดีนั้นที่พระเป็นเจ้าอาวาสหรือจำเลยได้สู้คดีว่าไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่ควรจะเป็นเจ้าพนักงาน ศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายคณะสงฆ์ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอื่น เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานเป็นคนละเรื่องคนละอย่างกัน ถ้ากฎหมายประสงค์จะเอาผิดบุคคลใดเพราะเป็นเจ้าพนักงานก็จะระบุว่าเป็นเจ้าพนักงาน
“บังเอิญฎีกานี้ก็เป็นฎีกาที่ผู้ร้อง 110 คนได้อ้างต่อศาลรัฐธรรมนูญ และยกขึ้นมาว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว และผมขอกราบเรียนท่านประธานอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่มีที่ใด บรรทัดใด ในจำนวนทั้งหมดของคำพิพากษาศาลฎีกา 34 หน้านี้ และไล่มาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จนถึงศาลฎีกาเลยแม้แต่นิดเดียวที่บอกว่า คสช.หรือหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขออนุญาตกราบเรียนประเด็นนี้ ส่วนประเด็นอื่นว่าจะหลุดไปเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอื่นหรือไม่ หรือตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว” นายวิษณุระบุ
        ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เคารพในกระบวนการยุติธรรม เมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็พร้อมรับคำตัดสินทุกประการของศาล ทั้งนี้มีคดีเดียวกันที่เกิดขึ้นกับหลายคนขอให้ยอมรับ และจะยอมรับตามคำตัดสินของศาล
ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ในฐานะเป็นคนยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนแรก ระบุว่า นายวิษณุได้ชี้แจงต่อรัฐสภา โดยไม่ได้พูดถึงประเด็นฎีกาที่ตัดสินว่าการเป็นเจ้าพนักงานก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงได้นำมายื่นให้แก่สมาชิกรัฐสภา เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าข่ายหรือไม่ แต่ไม่ได้ก้าวล่วงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
วันเดียวกัน นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชี้แจงว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้สมัครสมาชิกพรรค พปชร. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. ว่าเมื่อพรรครับสมัครสมาชิกแล้วจะคีย์ข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูล กกต.จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าเมื่อครบ 1 ไตรมาสหรือ 3 เดือนต้องรายงานให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบ ซึ่งขณะนี้มีการรายงานการรับสมัครสมาชิกในไตรมาสที่ 2 มาแล้ว โดยเป็นข้อมูลการสมัครสมาชิกตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ดังนั้นถ้าพรรคบอกว่า พล.อ.ประวิตรสมัครเป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่ 19 ก.ค. ก็ต้องอยู่ในรายงานการรับสมัครสมาชิกในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะมีการแจ้งมายังนายทะเบียนพรรคการเมืองในเดือน ต.ค. ไม่เกินวันที่ 15 ซึ่งหากนายทะเบียนพรรคการเมืองมีเหตุสงสัย ก็สามารถสอบถามไปยังพรรคการเมืองก่อนได้
ถามถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องว่า พล.อ.ประวิตรไปปิดประชุมสัมมนาพรรค พปชร.ทั้งที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค เข้าข่ายครอบงำพรรค นายทะเบียนพรรคการเมืองได้สอบถามกับพรรค พปชร.แล้วหรือยัง นายแสวงกล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะเรื่องดังกล่าวต้องเป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบจะพิจารณา ถ้าเห็นว่าต้องถามไปยังพรรค พปชร. ก็จะมีหนังสือสอบถามไป ซึ่งความเป็นสมาชิกเกิดตามกฎหมาย ไม่ได้เกิดจากฐานข้อมูล ซึ่งฐานข้อมูลเป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวก ถ้าหากเกิดปัญหาเรื่องสมัครเป็นสมาชิก ก็จะเรียกให้นำหลักฐานใบสมัคร ใบตอบรับการสมัครมาตรวจสอบ และการสมัครสมาชิกพรรคเป็นเรื่องภายในของพรรค เราจะไปบอกว่าเขาทำก่อนหรือหลังนั้นไม่ได้.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"