วันก่อนผมได้รับเชิญให้ไปร่วมเสวนาวิชาการในหัวข้อ "กองทัพไทยในทศวรรษหน้า" โดยวิทยาลัยการทัพสัมพันธ์ 62 โดยที่ผู้จัดบอกว่าให้วิจารณ์กองทัพได้เต็มที่เพราะเป็นการตั้งวงพูดคุยกันภายใน
ผมจึงได้วิเคราะห์บทบาทกองทัพหลายประเด็น โดยเฉพาะกองทัพจะต้องฟังความเห็นของคนนอกกองทัพมากขึ้น และจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมไทยส่วนอื่นๆ
เพราะไม่มีองค์กรไหนในประเทศที่ไม่ถูก "ป่วน" หรือ Disrupt โดยเทคโนโลยีและการปรับเปลี่ยนของพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่
คนในกองทัพจะยึดติดกับชุดความคิดเฉพาะของตนไม่ได้อีกต่อไป
รายละเอียดของการเสวนาเป็นอย่างไรคงจะมาบอกเล่าทั้งหมดไม่ได้
แต่น่าสังเกตว่านายทหารยุคปัจจุบันหลายคนตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องปรับต้องเปลี่ยน ก่อนที่กองทัพจะถูกเปลี่ยนโดยแรงเหวี่ยงของความเปลี่ยนแปลงจากข้างนอก
ในวันนั้นมีผู้ร่วมเสวนาอีกสามท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ที่น่าสนใจ อยู่ในฐานะที่จะเสนอให้มีการสร้างความเปลี่ยนแปลงในกองทัพให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมไทยและสังคมโลก
อีกสามท่านที่ร่วมเวทีก็มี
พลตรี ดร.นพนันต์ ชั้นประดับ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง สำนักปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายใน กองทัพบก
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธาน กสทช. และปัจจุบันกำลังจะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคภูมิใจไทย
และพันเอกเกียรติชัย โอภาโส อาจารย์อำนวยการส่วนวิชายุทธวิธี โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
การสนทนาวันนั้นได้เนื้อหาสาระที่น่าสนใจหลายประการ
จะไม่บอกว่าใครพูดอะไร แต่สรุปได้ว่าทุกคนเห็นพ้องกันว่า กองทัพไทยในทศวรรษหน้าจะเผชิญกับความท้าทายที่หนักหน่วงและรุนแรง
ประการแรกคือ การปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมืองและความมั่นคงในเวทีระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากวิธีคิดและบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
จีนกำลังผงาดในเวทีสากล ขณะที่อเมริกาทำท่าจะถอยไปตั้งหลักเพื่อดำเนินนโยบาย Make America Great Again และ America First ซึ่งเปิดช่องว่างให้จีนเข้ามาถมช่องว่าง กลายเป็นผู้นำโลกในหลายๆ ด้านที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ยืนของสหรัฐฯ
เอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ล่าสุดที่มีหัวข้อว่า Indo-Pacific Strategy 2019 สะท้อนชัดเจนว่า อเมริกามองว่าจีนกับรัสเซียและเกาหลีเหนือเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นคู่แข่งสหรัฐฯ ในแง่ของการสร้างและขยายอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง
สหรัฐฯ ต้องการจะสร้างเครือข่ายเพื่อต้านอิทธิพลจีน และเครือข่ายที่เขาเรียกว่า Promotion of a Networked Region นั้นประกอบด้วยสหรัฐฯ, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์ และไทย
อีกสองแนวทางที่ "หนังสือปกขาว" ฉบับนี้ระบุไว้คือ Preparedness คือความพร้อมทางด้านการทหารและ Partnerships หรือหุ้นส่วนที่จะร่วมกันสกัดกั้นจีนในวันนี้และวันข้างหน้า
แต่เอกสารนี้ก็ย้ำว่าประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ จะต้อง "ช่วยกันแบ่งเบาภาระ" ซึ่งหมายถึงการที่ประเทศต่างๆ จะต้องควักกระเป๋าเพื่อดูแลค่าใช้จ่ายร่วมกันด้วย ไม่ใช่ให้อเมริกาเป็นคนออกสตางค์เพื่อสร้างระบบความมั่นคงของภูมิภาคนี้แต่เพียงผู้เดียว
นั่นเป็นจุดยืนของทรัมป์มาตั้งแต่ต้น เพราะเขาอ้างว่าอเมริกาถูกเอาเปรียบมาตลอด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วอเมริกาได้ประโยชน์จากการที่ประเทศต่างๆ เหล่านี้พร้อมใจที่จะให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้ประโยชน์ทางทหาร เศรษฐกิจ และสังคมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ระหว่างการเสวนาวันนั้น มีการพูดถึงเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนวิธีคิดและการจัดหาอาวุธของกองทัพไทยในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน เพราะการทำสงครามในอนาคตอาจจะหันไปเป็น cyber war มากกว่าจะเป็นสงครามแบบดั้งเดิมที่ใช้ปืนใหญ่และเครื่องบินรบอย่างที่เห็นกันอยู่วันนี้
และคำว่า "สงคราม" ก็ไม่ได้หมายถึงการสู้รบด้วยอาวุธอย่างเดียวอีกต่อไป
เพราะวันนี้จีนกับอเมริกาก็ "รบ" กันทางด้านการค้าอย่างหนักหน่วง โดยขยายผลออกไปเป็นสงครามเทคโนโลยี
จาก Trade War เป็น Tech War และ Cyber War
คำถามใหญ่ก็คือว่า กองทัพไทยมีความตระหนักและความพร้อมทั้งในแง่วิสัยทัศน์และการปรับปรุงโครงสร้าง ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมีผลกระทบต่อทุกวิชาชีพในทุกประเทศหรือไม่
เราไม่ได้ยินคำตอบจากผู้เข้าฟัง แต่มีคำถามจากนายทหารท่านหนึ่งว่า
"เราตระหนักถึงความสำคัญที่กองทัพไทยจะต้องปรับเปลี่ยน แต่เราอยากรู้ว่าจะต้องปรับต้องเปลี่ยนอย่างไร"
แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่รัฐบาลก่อนเขียนไว้และแปะไว้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคำตอบให้หรือไม่
เป็นคำถามที่ต้องแสวงหาคำตอบกันต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |