หลังจากสถานทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ ไม่มีคนมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตมาเกือบปี (อุปทูต Peter Hammond รักษาการตำแหน่งนี้มาตลอด) ล่าสุดมีข่าวว่าทรัมป์ได้เสนอชื่อนาย Michael George DeSombre มารับตำแหน่งนี้แล้ว
นายกลินน์ เดวีส์ เบอร์ 1 ที่ถนนวิทยุคนก่อนกลับไปวอชิงตันมาหลายเพลาแล้ว
Michael George DeSombre เป็นใคร?
เขามาปักหลักที่ฮ่องกงตั้งแต่ 1997 คือปีที่อังกฤษส่งฮ่องกงกลับให้จีน
เขาจบกฎหมายจากฮาร์วาร์ด
เขามีอาชีพเป็นนักกฎหมายทั้งที่นิวยอร์กและฮ่องกงมากว่า 20 ปี
เขามาจากรัฐอิลลินอยส์
เขาเป็นหุ้นส่วนของบริษัทกฎหมาย Sullivan & Cromwell, LLP เชี่ยวชาญเรื่องการเข้าซื้อและการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions หรือ M&A) ในเอเชีย
ในแง่ความโน้มเอียงทางการเมือง เขาเป็นกรรมการใน Board of Governors ของ Worldwide President of Republicans Overseas Inc. ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศมีสาขาและหน่วยงานเชื่อมโยงใน 40 ประเทศที่โยงใยกับพรรครีพับลิกัน
อีกตำแหน่งหนึ่งคือ ประธานคณะกรรมการขององค์การการกุศล Save the Children ในฮ่องกง
เขาจบมาด้านเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ และปริญญาโทด้านเอเชียศึกษา จากมหาวิทยาลัย Stanford และได้รับปริญญากฎหมายเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัย Harvard ด้วย
เขาพูดภาษาจีนกลางได้คล่องแคล่ว และอย่าแปลกใจหากเขาพูดกวางตุ้งได้ด้วย
น่าสนใจว่าทรัมป์เห็นเขามีส่วนเชื่อมโยงกับไทยอย่างไร และเขามีความเห็นเกี่ยวกับการประท้วงที่ฮ่องกงเช่นใด
การเสนอชื่อใครเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐไปประเทศใดต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐก่อน
หลังจากข่าวเรื่องทรัมป์เสนอชื่อเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำไทยคนใหม่ได้ไม่กี่วัน ก็มีแถลงการณ์ทางการจากรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ไมค์ ปอมเปโอ ว่ากำลังรอคอยที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง
สารสำคัญจากวอชิงตันครั้งนี้คือ การตอกย้ำความสัมพันธ์กว่า 200 ปี ระหว่าง 2 ประเทศ และพร้อมจะสนับสนุนบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนปีนี้
มาถึงวันนี้ยังไม่แน่ชัดว่านโยบายต่างประเทศของไทยต่อมหาอำนาจและความเปลี่ยนแปลงในเวทีสากลเป็นอย่างไรจริงๆ
คนไทยยังไม่รู้ว่ารัฐบาลไทยมีแนววิเคราะห์ต่อแนวโน้มใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐกับจีนอย่างไร
เรายังไม่ได้รับทราบว่าไทยจะเล่นบทบาทในอาเซียนไปทางไหน และจะตั้งรับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นระหว่าง 2 ค่ายใหญ่อย่างไร
ค่ายแรกที่สหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตี ปรากฏในเอกสารทางการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่เรียกว่า Indo-Pacific Strategy Report 2019 ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนปีนี้
สมุดปกขาวของสหรัฐฉบับนี้เน้นนโยบายสหรัฐที่ต้องการเห็น Free and Open Indo-Pacific (FOIP) หรือภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ “เสรีและเปิดกว้าง”
เอกสารฉบับนี้เน้นว่าสหรัฐต้องการสร้างพันธมิตรในย่านนี้เพื่อต้านอิทธิพลจีน, รัสเซียและเกาหลีเหนือ
พันธมิตรของสหรัฐที่ว่านี้มีอินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์และประเทศไทย
ในขณะเดียวกันเราก็เห็นเอกสารของผู้นำอาเซียนที่ประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 22-23 มิถุนายนที่ผ่านมา เรียกอย่างเป็นทางการว่า Asean Outlook on Indo-Pacific (AOIP)
สาระของคำประกาศของอาเซียนนี้ต้องการจะแสดงจุดยืนที่ไม่ถูกหางมหาอำนาจข้างใด แต่ต้องการให้อาเซียนวางบทบาทเป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ที่เรียกภาษาอาเซียนว่า Centrality
พอกระทรวงกลาโหมสหรัฐออกเอกสารยุทธศาสตร์ว่าด้วยอินโดแปซิฟิกออกมาได้ไม่กี่วัน จีนก็โต้ด้วยการวิเคราะห์ว่านี่คือนโยบาย “ปิดล้อมจีน” ของสหรัฐ
แปลว่าอาเซียนและไทยต้องวางตัวให้เหมาะเจาะเพื่อสามารถถ่วงดุลอำนาจของภูมิภาคนี้
สัปดาห์ก่อน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศว่าด้วยกิจการเอเชียและแปซิปิกคนใหม่ชื่อ David Stilwell มาเยือนไทยเพื่อปูทางสำหรับการมาเยี่ยมไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศ Mike Pompeo ในสัปดาห์นี้
มีความหวังเล็กๆ ในบางวงการด้วยซ้ำว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนและผู้นำพันธมิตรที่กรุงเทพฯ ในเดือนพฤศจิกายนด้วยซ้ำไป
จีนกับอเมริกากำลังแก่งแย่งอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจรอบบ้านเรา คำถามใหญ่สำหรับคนไทยคือ
รัฐบาลใหม่มีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์เรื่องนี้อย่างไร?
วันนี้เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |