เปิดจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองวันแรกคึกคัก! ยอดทะลุ 42 พรรค กกต.ระบุคุณสมบัติเข้ม ส่งเอกสารให้ 9 หน่วยงานตรวจสอบ แกนนำพรรคใหม่ประสานเสียงไม่ปิดประตู "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ คนนอก พรรคเมียบิ๊กจ๊อดชูภาพปรองดอง ฮือฮา! ชื่อพรรค "เห็นแก่ตัว" ด้าน "วิษณุ" แนะพรรคใหม่จะประชุมหรือเคลื่อนไหวต้องขออนุญาต คสช.ก่อน "วิรัตน์" เย้ยพรรค กปปส.เฉพาะกิจมั่นใจไม่ซ้ำรอย 10 มกรา ขณะที่ "แกนนำนิติราษฎร์" ผสมพันธุ์กับ "ไพร่หมื่นล้าน" จัดตั้งพรรคหวังช่วยคนออกจากเผด็จการ
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงเช้าวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่ กกต.ได้เปิดจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีกลุ่มการเมืองหลากหลายกลุ่มเดินทางมาตั้งแต่เช้าตรู่ โดยทางนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต., นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. พร้อมด้วยนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ได้เดินมาตรวจความพร้อมก่อนเปิดจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองใหม่
นายศุภชัยกล่าวว่า ได้กำชับให้สำนักงาน กกต. อำนวยความสะดวกให้กับผู้มายื่นจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองอย่างเต็มที่ รวมถึงขอให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเคร่งครัด ซึ่งภายหลังจากที่พรรคการเมืองใหม่มายื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคแล้ว ทาง กกต.จะตรวจสอบเอกสารที่นำมาในวันนี้ ซึ่งบางเรื่องทาง กกต.ต้องขอให้หน่วยงานอื่นช่วยตรวจสอบ เช่น เรื่องล้มละลาย หรือต้องคำพิพากษาหรือไม่ โดยต้องไปสอบถามที่ศาลล้มละลายหรือถามสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งนี้หากพรรคการเมืองมายื่นจดแจ้งชื่อพรรคเป็นจำนวนมาก ก็ถือว่าประชาชนให้ความสนใจในเรื่องการเมือง และทุกคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งแต่ละพรรคที่มายื่นนั้นมีเจตจำนงที่ไม่เหมือนกัน
จากนั้น พล.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต. ในฐานะรักษาการเลขาฯ กกต. และนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ด้านรับผิดชอบพรรคการเมือง แถลงว่า เบื้องต้นนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับเอกสารและใบรับจองให้กับกลุ่มการเมืองทั้งหมด และหลังจากนี้ก็จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร โดยเฉพาะคุณสมบัติของสมาชิกพรรค ที่ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองกำหนดไว้ค่อนข้างสูงกว่ากฎหมายเดิม โดย กกต.จะส่งรายชื่อผู้ขอจดจัดตั้งไปตรวจสอบลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคกับ 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กรมราชทัณฑ์ สำนักงาน ก.พ. ศาลยุติธรรม สำนักงานเลขาวุฒิสภา สำนักงาน ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ
"คาดว่าจะดำเนินการในเรื่องของการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารภายใน 30 วัน ก่อนจะมีการออกใบหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อให้กลุ่มการเมืองไปดำเนินการในเรื่องการหาผู้ร่วมจัดตั้งไม่น้อยกว่า 500 คน ประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 250 คน รวบรวมเงินทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่ได้รับหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง"
พล.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า กลุ่มการเมืองสามารถยื่นหนังสือขออนุญาตดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อ คสช. ผ่านสำนักงาน กกต.ได้เลย เพื่อใช้ในขั้นตอนการหาผู้ร่วมก่อตั้ง 500 คน และการจัดประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง จะได้ไม่เกิดปัญหากระทำขัดต่อคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง โดยในใบที่ยื่นขออนุญาตนั้น จะต้องระบุประเภทกิจกรรม ห้วงเวลา สถานที่ จำนวนผู้เข้าร่วมโดยประมาณ ผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง และขออนุญาตด้วยตนเอง ซึ่งขณะนี้มี 2 กลุ่มการเมืองที่ได้ยื่นขออนุญาตกับ กกต.แล้ว แต่การอนุญาตทาง คสช.จะแจ้งตรงไปยังพรรคการเมือง การยื่นจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ แม้พ้นวันที่ 30 มี.ค. สามารถดำเนินการได้ตลอด ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่บังคับใช้อยู่
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงกรณีมีพรรคการเมืองมาจดจองชื่อจำนวนมาก จะสะท้อนได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.62 ว่าไม่เกี่ยวกัน วันนี้เป็นเรื่องของการให้มาจดจองชื่อพรรคการเมือง ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายลูก ซึ่งวันนี้กับวันเลือกตั้งเป็นคนละเรื่องกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพรรคการเมืองที่ได้ยื่นจดแจ้งชื่อเป็นพรรคแรกคือพรรคพลังชาติไทย ที่มี พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ว่าที่หัวหน้าพรรค อดีตนายทหารประจำสำนักงานปลัดกลาโหม และอดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ซึ่งเดินทางมาถึงตั้งแต่เวลา 03.00 น.
พร้อมชู"บิ๊กตู่"นายกฯคนนอก
ทั้งนี้ พล.ต.ทรงกลดไม่ได้เดินทางมาในวันนี้ โดยนายวีระ รักธรรม ว่าที่โฆษกพรรคพลังชาติไทย กล่าวว่า การที่พรรคจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากในสภาหรือ นายกฯ คนนอก หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้รอการแถลงเปิดตัวพรรคอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนกรณีวิพากษ์วิจารณ์ พล.ต.ทรงกลด มีความเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมนั้น พล.ต.ทรงกลดเคยเป็นคณะทำงานด้านการปฏิรูปประเทศของ คสช. และเป็นหัวหน้าคณะทำงานรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน จึงทราบปัญหาของประชาชน จึงเป็นที่มาของการตั้งพรรคด้วย โดยสมาชิกพรรคมาจากหลากหลายอาชีพ เพื่อมาร่วมกันทำการเมืองสีขาว
เมื่อถามถึงการเป็นพรรคเป็นนอมินีสืบทอดต่อท่อของ คสช. นายวีระชี้แจงว่า เราดำเนินการตามครรลองประชาธิปไตยลงสู่การเลือกตั้ง ประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้ตัดสินว่านโยบายของพรรคที่นำเสนอนั้นก็ได้รับการยอมรับหรือไม่ และได้เป็นผู้แทนหรือไม่ด้วย สำหรับ พล.ต.ทรงกลด ยังไม่ได้มาในวันนี้ แต่จะเปิดแถลงข่าวตอบคำถามต่างๆ กับสื่อเร็วๆ นี้ แต่จะต้องขออนุญาต คสช.ก่อน
ด้านพรรคพลังธรรมใหม่ นำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล ว่าที่หัวหน้าพรรค กล่าวว่า พรรคของตนจะเลือกคนดีขึ้นมาเป็นนายกฯ ผ่านการเสนอ 3 ชื่อจากพรรคให้ประชาชนเลือก แล้วพรรครวมเสียงในสภาให้ได้มากที่สุด เพื่อโหวตเลือกนายกฯ จากพรรคในสภาต่อไป หากสภาไม่สามารถเลือก ส.ส.ในสภาได้ ก็ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญในการเลือกนายกฯ จากพรรคอื่น แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ พรรคคงไม่ปฏิเสธนายกฯ คนนอก ที่มีชื่อคนอื่น หรือชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของอนาคต ส่วนคาดหวังจะได้เก้าอี้มากเท่าใดต้องรอให้ถึงช่วงการเลือกตั้งก่อน
ส่วนพรรคพลังพลเมืองไทย นำโดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัติ ว่าที่หัวหน้าพรรค กล่าวว่า วันนี้เราเพิ่งเริ่มต้นจดทะเบียนจัดตั้งพรรค โดยพรรคพลังพลเมืองไทยมีจุดยืนคือลดความขัดแย้งเป็นหลัก ส่วนการสนับสนุนใครเป็นนายกฯ นั้น ให้ถึงวันเลือกตั้งก่อนจึงจะพูดคุยกันและเป็นมติพรรคออกมา โดยตนอยากได้คนที่ดีกว่าคนเก่า ซึ่งคนดีมีเยอะ แต่วันนี้ยังไม่แสดงตัว
เมื่อถามว่า พร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือไม่ นายสัมพันธ์กล่าวว่า ต้องรอ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจว่าจะเป็นนายกฯ อีกหรือไม่ ส่วนตัวไม่ขัดข้องหากเป็นการทำตามรัฐธรรมนูญ ใครที่มีคุณสมบัติก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ ทั้งนี้ ตนไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพราะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองก่อนตั้งพรรค พรรคพลังพลเมืองก่อตั้งโดยผู้อาวุโส แต่หลังจากนี้จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วม หลายคนพร้อมเปิดตัว รอการเมืองนิ่งก่อน แต่หลายคนยังไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง
นายธนพัฒน์ สุขเกษม แกนนำพรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบลูย์ นิติตะวัน ว่าที่หัวหน้าพรรค เปิดเผยว่า พรรคประชาชนปฏิรูปจัดตั้งขึ้นตามอุดมการณ์ของประชาชน ยืนยันไม่ได้พรรคเฉพาะกิจเป็นฐานเสียงหรือนอมินีของ คสช. ส่วนการเสนอนายกฯ ตนเห็นว่าบ้านเมืองในขณะนี้ไม่สามารถพึ่งพานักการเมืองได้ ซึ่งด้วยอำนาจบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ได้ทำมา ถือเป็นคนดีในสายตาของพรรค จึงเห็นด้วยที่จะมีนายกฯ คนกลางที่ไม่ได้สังกัดพรรค แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไปสังกัดพรรคการเมือง ทางพรรคก็ต้องทบทวนในประเด็นนี้
ขณะที่ ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ ผู้จดจัดตั้งพรรคเพื่อชาติไทย กล่าวว่า วันนี้นางอัมพาพันธุ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือบิ๊กจ๊อด อดีตคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ไม่ได้เดินทางมายื่นขอจดจัดตั้งพรรคด้วยตัวเอง เนื่องจากป่วย แต่นางอัมพาพันธุ์จะเป็นหัวหน้าพรรคอย่างแน่นอน ซึ่งนโยบายของพรรค นอกจากเน้นในเรื่องของการพัฒนาของทุกด้านแล้ว ก็จะเน้นในเรื่องของการปรองดอง ซึ่งนางอัมพาพันธุ์มีความใกล้ชิดกับทหาร และการรัฐประหารจะทราบเป็นอย่างดี ถึงเข้าใจว่าทำไมถึงปฏิบัติอย่างนี้ ดังนั้นก็เชื่อว่าตนเองจะสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่างพรรคที่มีตามแนวทางประชาธิปไตย และพรรคที่มีทหารคอยสนับสนุน เพื่อที่จะได้จับมือกันที่จะพัฒนาประเทศ และพร้อมที่จะสนับสนุนผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ ทุกคนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
วันแรกยอดทะลุ 42 พรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานของกลุ่มเพื่อชาติไทยขนกองเชียร์ใส่เสื้อยืดขาว ที่สกรีนด้านหลังเป็นรูปใบหน้าของนักการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งสีเสื้อต่างๆ เช่น นายทักษิณ ชินวัตร, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นต้น และมีข้อความ ”ปรองดอง” สร้างความสนใจต่อสื่อและประชาชนได้มาก
นอกจากนี้ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และนายณัชพล สุพัฒนะ หรือมาร์ค พิทบูล เน็ตไอดอล แกนนำกลุ่มไทยศรีวิไลย์ ก็มาจดแจ้งขอตั้งพรรคไทยศรีวิไลย์ โดยยืนยันพรรคไม่ได้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่สนับสนุนให้มีการปราบทุจริตคอร์รัปชัน และขอให้มีการยึดทรัพย์สินนักการเมืองที่ทุจริตโกงกินให้ตกเป็นของรัฐ และพร้อมจะสนับสนุนเลือกนายกฯ จากพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง
ที่ฮือฮาคือ นายกฤช ตรรกบุตร ที่มายื่นขอจดชื่อ "พรรคเห็นแก่ตัว" เป็นพรรคที่ 41 สร้างสีสันได้เป็นอย่างมากจากชื่อพรรค ที่สร้างความสงสัยว่า กกต.จะรับจดแจ้งหรือไม่ โดยนายกฤชอธิบายสั้นๆ ว่า ที่ชื่อพรรคเห็นแก่ตัว เพราะอยากให้ทุกคนเห็นแก่ตัว คือทำตัวเองให้ดีก่อน ก่อนที่จะทำเพื่อประเทศชาติ ทั้งนี้ ยอมรับว่าที่ใช้คำตรงๆ ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างกระแสให้คนจดจำ โดยนโยบายของพรรคเหมือนเช่นนโยบายของ กทม.คือ ถ้าพัฒนา กทม.ได้ดี ก็เหมือนพัฒนาประเทศ พร้อมย้ำไม่มีปัญหาเรื่องการหาสมาชิก 500 คน และเงินทุนประเดิม 1 ล้าน
ช่วงเย็น นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เปิดเผยภายหลังตรวจสอบความเรียบร้อยในการเปิดให้มีการยื่นคำขอจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นวันแรกว่า พอใจในภาพรวมของการดำเนินการ หลังมีกลุ่มการเมืองเดินทางมายื่นคำขอจัดตั้งพรรคการเมืองในวันแรกกว่า 42 พรรค ประกอบด้วย 1.พรรคพลังชาติไทย ผู้ยื่นคำขอ นางกิ่งฟ้า อรพันธ์ 2.พรรคประชาไทย ผู้ยื่นคำขอ นายบุญยงค์ จันทร์แสง 3.พรรคพลังประชารัฐ ผู้ยื่นคำขอ นายชวน ชูจันทร์ 4.พรรคประชาชนปฏิรูป ผู้ยื่นคำขอ นายธนพัฒน์ สุขเกษม 5.พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน ผู้ยื่นคำขอ นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ 6.พรรคประชาชาติ ผู้ยื่นคำขอ นายสุรพล นาควานิช 7.พรรคชาวนาไทย นายสัมฤทธิ์ แก้วทน 8.พรรคพัฒนาไทย ผู้ยื่นคำขอ นายโสภณวิชญ์ สีมาสกุลชัย 9.พรรคเครือข่ายประชาชนไทย ผู้ยื่นคำขอ นายธนานินทร์ ชะฎาแก้ว 10.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ผู้ยื่นคำขอ นายสุภดิช อากาศฤกษ์
11.พรรคพลังพลเมืองไทย ผู้ยื่นคำขอ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัติ 12.พรรคพลังธรรมใหม่ ผู้ยื่นคำขอ นพ.ระวี มาศฉมาดล 13.พรรคไทยเอกภาพ ผู้ยื่นคำขอ นายโสรัจจ์ ดาศรี 14.พรรคประชาภิวัฒน์ ผู้ยื่นคำขอ พล.ต.ไชยนาจ ญาติฉิมพลี 15.พรรคสหประชาไทย ผู้ยื่นคำขอนายสพันธ์นัณ เยี่ยมเมธากร 16.พรรคทางเลือกใหม่ ผู้ยื่นคำขอ นายราเชน ตระกูลเวียง 17.พรรคชาติพันธุ์ไทย ผู้ยื่นคำขอ นายพลศุภรักษ์ ศิริจันทรานนท์ 18.พรรครักษ์แผ่นดินไทย ผู้ยื่นคำขอ นายวิริยะ ช่วยบำรุง 19.พรรคแผ่นดินธรรม ผู้ยื่นคำขอ นายกรณ์ มีดี 20.พรรคเพื่อชาติไทย ผู้ยื่นคำขอ ว่าที่ พ.ต.กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์
21.พรรคกรีน ผู้ยื่นคำขอ นายพงศา ชูแนม 22.พรรคประชานิยม ผู้ยื่นคำขอ นางสาวภิญญาดา ไพรัช 23.พรรคพลังสยาม ผู้ยื่นคำขอ นายวิษณุ อินทรพยุง 24.พรรคสยามธิปัตย์ ผู้ยื่นคำขอ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล 25.พรรคของประชาชน ผู้ยื่นคำขอ นายสุรวัชร สังขฤกษ์ 26.พรรคพลังอีสาน ผู้ยื่นคำขอ นายทนงศักดิ์ วงศ์ณรัตน์ 27.พรรครวมใจไทย ผู้ยื่นคำขอ นายนพดล อมรเวช 28.พรรคไทยศรีวิไลย์ ผู้ยื่นคำขอ นายมงคล สุขสินธารานนท์ 29.พรรคประชามติ ผู้ยื่นคำขอ นายอนุชิต งามพัฒนพงศ์ชัย 30.พรรคพลังไทยยุคใหม่ ผู้ยื่นคำขอ นายมนัส คงสะอาด
31.พรรคไทยรุ่งเรือง ผู้ยื่นคำขอ นายฉัตรชัย แนวพญา 32.พรรคเพื่อสตรีไทย ผู้ยื่นคำขอ นางสาวรวิภา กองแก้ว 33.พรรครากแก้วไทย ผู้ยื่นคำขอ นายรักษิต ศักดิ์ผิวฝาด 34.พรรคน้ำใจไทย ผู้ยื่นคำขอ นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ 35.พรรคไทยเสรีประชาธิปไตย ผู้ยื่นคำขอ นายมณฑล บุญวรรณ 36.พรรคคนสร้างชาติ ผู้ยื่นคำขอ นายล้วน นามสอน 37.พรรครวมไทยใหม่ ผู้ยื่นคำขอ นายบุญสวยโสภณ สกุลกิจเจริญชัย 38.พรรคสามัญชน ผู้ยื่นคำขอ นายปธานิน กล่อมเอี้ยง 39.พรรคสยามไทยแลนด์ ผู้ยื่นคำขอ นายสยามบารมี บารมีสยาม 40.พรรคปฏิรูปประเทศไทย ผู้ยื่นคำขอ นายนันธวัฒน์ ปรารภกุล 41.พรรคเห็นแก่ตัว ผู้ยื่นคำขอ นายกริช ตรรกบุตร และ 42.พรรคภาคีเครือข่ายไทย ผู้ยื่นคำขอ นายกิตติศักดิ์ กุนอก
ต้องขออนุญาต คสช.
นายศุภชัยกล่าวว่า กรณีมีอดีตสมาชิกพรรคการเมืองเก่ามาร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ อาจถูกมองเป็นนอมินีของกลุ่มการเมืองเก่าได้ ซึ่ง กกต.ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินในเรื่องนี้ เพราะหากมีเอกสารและคุณสมบัติที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้ สำหรับการยื่นคำขอจัดตั้งพรรคการเมืองยังสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องไม่ได้สิ้นสุดแค่สิ้นเดือนนี้ แต่หากมีการดำเนินการขอจัดตั้งพรรคการเมืองล่าช้า ก็อาจจะทำให้ไม่สามารถดำเนินการทางธุรการของพรรคได้ทันตามกรอบเวลาเลือกตั้งในเดือน ก.พ.62 ได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พรรคการเมืองใหม่สามารถประชุมผู้ก่อตั้งพรรค 250 คนได้เพื่อสรรหากรรมการบริหารพรรคและร่างกฎระเบียบของพรรค เมื่อร่างเสร็จจะต้องดำเนินการจดทะเบียนพรรค แต่ระหว่างนี้ หากจะประชุมพรรคจะต้องขออนุญาต คสช.ก่อน โดยใช้ช่องทางขออนุญาตผ่าน กกต.ที่ทำหน้าที่สอดส่องดูแลก่อนจะส่งให้ คสช.พิจารณา ซึ่ง คสช.จะพิจารณาเป็นกรณีไป นอกจากนี้ คสช.จะดูการเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ให้เกินขอบเขต เพราะยังไม่ได้ปลดล็อกให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมือง ส่วนที่บางพรรคประกาศสนับสนุนบุคคลต่างๆ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ แล้วนั้น เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ เพียงแต่จะยังไม่สามารถเสนอนโยบายของพรรคได้ในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ตอบไม่ถูกว่าพรรคการเมืองที่จดทะเบียนใหม่จะสามารถเคลื่อนไหวได้มากน้อยแค่ไหน แต่ให้ถือหลักว่าถ้าจะทำอะไรให้แจ้ง คสช.ไว้ก่อน
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. จะจัดตั้งพรรคการเมือง สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกครั้งว่า การที่นายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี ในฐานะน้องชาย ออกมาประกาศแล้วก็เชื่อได้ว่าจะมีการไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองเพื่อมาสนับสนุน พล อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อแน่ๆ ซึ่งขัดกับแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยไม่สามารถประกาศจุดยืนสนับสนุนคนอื่นได้ นอกจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กรณีลักษณะแบบนี้เคยเกิดขึ้นสมัย 10 มกรา ตอนนั้นทุกคนกังวลว่าพรรคประชาธิปัตย์จะล่มสลาย เพราะนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตเลขาธิการพรรค เป็นแกนหลัก มีอดีต ส.ส.พรรคไปร่วมด้วยหลายสิบคน และมีทุนใหญ่คอยสนับสนุน แต่ต่างกับรอบนี้ เท่าที่สอบถามแกนนำ กปปส.ต่างยืนยัน จะต่อสู้ยืนหยัดกับพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนายธานีที่ประกาศชัดเจน นอกนั้นก็น่าจะไม่มีอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คนอื่นไปสังกัดพรรคของนายสุเทพ หรือถ้ามี ก็เป็นจำนวนเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสมัย 10 มกรา จึงเชื่อว่าประชาธิปัตย์สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้
“ส่วนผมขอบอกว่าอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ล้านเปอร์เซ็นต์ และได้กล่อมสมาชิกว่าอย่าหลงคารมพรรคเฉพาะกิจ แต่ต้องยอมรับความจริงว่านายสุเทพกับมวลสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มีความใกล้ชิดสนิทสนม ดังนั้นการที่นายสุเทพประกาศเช่นนี้ย่อมสร้างความหวั่นไหวให้พอสมควร ดังนั้นอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ จึงอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนและมวลสมาชิก ว่าจะยืนหยัดตามแนวทางพรรค หรือจะไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าดูตามสภาพ พล.อ.ประยุทธ์คงเล่นการเมืองสมัยเดียว พรรคดังกล่าวน่าจะเป็นพรรคเฉพาะกิจเท่านั้น และที่สำคัญนายสุเทพประกาศไว้แล้วว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป" นายวิรัตน์กล่าว
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกลุ่ม กปปส.จะจดตั้งพรรคการเมืองว่า วันนี้ความนิยมของ กปปส.หมดไปแล้ว กปปส.เกิดจากการระดมคนขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่มาจากพื้นที่ภาคใต้ ส.ส.ภาคใต้ถ้าออกจากพรรคประชาธิปัตย์ จะกลับมาเป็น ส.ส.ยาก เช่นเดียวกับ ส.ส.ภาคเหนือและอีสาน ถ้าออกจากพรรคเพื่อไทย ก็กลับมาเป็น ส.ส.ได้ยาก วันนี้จึงเห็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่มาอยู่ กปปส.ส่วนใหญ่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์หมดแล้ว คงไม่มีใครไปอยู่กับพรรคกปปส. คะแนนนิยมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หมดลงแล้ว เพราะนายสุเทพพูดตลอดว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่การบริหารประเทศไม่สามารถทำให้ชีวิตประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ดีขึ้น หากมีคนไปอยู่กับนายสุเทพก็คงเป็นญาติพี่น้องเพียงไม่กี่คน สุดท้ายพรรคกปปส.คงมี ส.ส.ไม่เกิน 5 คน และคงไม่มีพลังในการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกครั้ง
นิติราษฎร์ผสมไพร่หมื่นล้าน
นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงการประกาศเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้าสู่เวทีการเมือง โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารหนุ่มไทยซัมมิท กรุ๊ป เจ้าของฉายา "ไพร่หมื่นล้าน" รวมอยู่ด้วยว่า มีความคิดเรื่องการสร้างพรรคทางเลือกใหม่มานานแล้ว แต่มาแจ่มชัดระหว่างลาไปค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ประเทศไทยอ่อนล้า เหนื่อยล้ากับความขัดแย้งมากว่าสิบปี พรรคไหนชนะ อีกข้างหนึ่งก็จะต่อต้าน พรรคหนึ่งชนะ อีกข้างต่อต้าน แบบนี้ตลอดเวลา คนมีความรู้สึกว่าเลือกตั้งแล้วไม่จบ เลือกตั้งแล้วจะเจอการชุมนุม เกิดความวุ่นวาย ถ้ามีนายทหารคนหนึ่งขึ้นมาในนามของ 'การรักษาความสงบ' ขจัดความขัดแย้ง ทำให้บ้านเมืองสงบกลับมาเข้ารูปเข้ารอย มาในลักษณะแบบนี้ คนก็จะคิดว่าอย่างนี้เรา 'ยอมพักประชาธิปไตยไว้ชั่วคราว' กลับไปอยู่กับเผด็จการดีกว่า
บีบีซีไทยรายงานว่า นี่จึงเป็น "ช่วงเวลาสำคัญ" ในการแจ้งเกิดพรรคทางเลือกใหม่ตามทัศนะของปิยบุตรกับเพื่อน โดยหวังใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้คนออกจาก "ระบอบเผด็จการ" กลับสู่การเมืองในระบบปกติหลังผ่าน "ทศวรรษที่สูญหาย" อย่างไรก็ตาม ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคทางเลือกใหม่ยังไม่ขอเปิดชื่อพรรค แต่แย้มว่าจะสะท้อนอุดมการณ์ความเป็น "พลเมืองรุ่นใหม่" และ "การเมืองแบบใหม่" เช่นเดียวกับตำแหน่งในพรรคที่ยังไม่มีการจัดวางตัวบุคคล เนื่องจากติดเงื่อนไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามประชุมพรรค แต่เขาพร้อมยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคและดำเนินการตามข้อกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อันดีกับนักการเมืองฝั่งนายทักษิณ ชินวัตร ย่อมทำให้พรรคของปิยบุตร-ธนาธร สุ่มเสี่ยงต่อการถูกสงสัยว่าเป็น "พรรคตัวแทนทักษิณ" นายปิยบุตรยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้อง เราทำของเราเอง ไม่ได้มาเป็นนอมินีของใคร ใครส่งมาไม่มี เราทำของเราเอง เดี๋ยวเปิดตัวไป เห็นรายชื่อ ก็จะรู้เองว่าไม่เกี่ยวอะไรเลย เป็นคนใหม่ทั้งหมด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมรู้จักปิยบุตร จากบทบาทนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 2549 เพื่อทวงคืนนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายปิยบุตรชี้แจงว่า หัวใจหลักของข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ออกมาต่อเนื่อง คือต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติรัฐที่ร่ำเรียนกันมา จึงไม่คิดจะลบภาพลักษณ์หรือล้างภาพจำใดๆ ทั้งสิ้น มันก็คือตัวเรามันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แล้วพูดไปด้วยความสุจริตทั้งสิ้น ไม่ได้อาฆาตมาดร้ายที่จะอะไรทั้งสิ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |