"บิ๊กตู่" ไม่หวั่นฝ่ายค้านจ้องถล่มแถลงนโยบาย ลั่นเอาความดีบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง ปัดจัดทีมองครักษ์ แต่ช่วยให้รัฐบาลทำงานต่อไปได้ ยังกั๊กนั่งหัวหน้า พปชร. แบะท่าให้ผ่านตรงนี้ไปก่อน "พุทธิพงษ์" เตรียมข้อมูลเชิงลึกโต้กลับฝ่ายค้านหากนำเรื่องที่อยู่ในชั้นศาลมาถล่ม ส.ส.พปชร.ขู่ใครพูดเท็จอาจถูกปลดออกจากตำแหน่ง ปธ.วิปฝ่ายค้านขอขยายเวลาถึง 27 ก.ค. อ้าง "ชวน-วิษณุ" เปิดช่องอภิปรายคุณสมบัตินายกฯ ได้ สภาหวิดล่ม! "สุชาติ" สั่งปิดสภาหลังองค์ประชุมเหลือ 249 คน บช.น.สั่งห้ามชุมนุมรัศมี 50 ม.รอบทีโอที ป้องกันผู้ไม่หวังดีก่อเหตุ
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 24 กรกฎาคม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ในวันที่ 25-26 ก.ค.นี้ว่า ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นวิถีทางทางการเมือง ขอให้เข้าใจ เป็นนายกฯ ใหม่และรัฐบาลใหม่นะจ๊ะ หลังจากแถลงนโยบายรัฐบาลแล้วจะมาทำงานร่วมกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เอาเรื่องทั้งหมดมาปรึกษาหารือกัน หาวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม มีมาตรการที่เหมาะสม แก้ปัญหา ลดความเสี่ยง ไม่สร้างปัญหาใหม่จากการแก้ปัญหาเดิม ทั้งนี้ไม่มีอะไรที่ทำแล้วจบเลย ทุกรัฐบาลต้องทำต่อเนื่อง เหมือนทำถนนเส้นหนึ่ง ต้องมีเส้นที่ 1, 2, 3 และ 4 รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องทำต่อๆ ไปในทุกมิติทั้ง 19 กระทรวง มีรองนายกฯ กำกับดูแลทั้งหมด
"ทั้งหมดมีกฎเกณฑ์อยู่แล้ว ในประเทศไทยทุกเรื่อง ไม่ว่าจะการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ที่มีปัญหา เราต้องแก้ไปสิ เพราะโลกเปลี่ยนทุกวัน และปรับเปลี่ยนได้โดยแผนบริหารราชการ นโยบายแห่งรัฐ และหน่วยงาน แผนโครงการต่างๆ ที่ทุกกระทรวงจะต้องเพื่อให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้เกิดเม็ดงานออกมาและแก้ไขเดิมๆ เรื่องอะไรที่อยู่ในการพิจารณาของศาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ว่ากันไป แค่นั้นเอง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ต่อมาช่วงเที่ยง ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการแถลงนโยบายที่ฝ่ายค้านตั้งเป้าอภิปรายตัวนายกฯ และรัฐมนตรีว่า วันนี้สิ่งที่ได้คุยกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหลายเรื่อง ทั้งการศึกษา คมนาคม ก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆไป จะดำเนินการตามที่ได้คุยไว้แล้ว กรอบนโยบายที่ออกมาก็เป็นแบบนี้ ที่หลายคนตั้งข้อสังเกตมันใช่หรือไม่ ทำไมไม่ลงรายละเอียด ซึ่งนโยบายรัฐบาลไม่เคยลงรายละเอียดแบบนั้น เพราะฉะนั้นมันอยู่ในแผนบริหารราชการ โครงการงบประมาณก็ทำให้สอดคล้องกันตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ ก็เดินหน้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย ลองไปเปิดดูคำว่านโยบายคืออะไร ถ้าเข้าใจคำว่านโยบายมันก็จบ
ถามว่า การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายกฯ จะชี้แจงทุกประเด็น หรือให้องครักษ์พิทักษ์นายกฯ ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตั้งไว้เป็นผู้ตอบคำถาม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "อีกฝ่ายเขาบอกว่าจะถล่มผมนิ คนรักผมเขาก็รักผม แต่ผมไม่ได้เป็นคนจัดทีมองครักษ์ เป็นเรื่องที่ทุกคนช่วยกัน ไม่ใช่ช่วยผม แต่เป็นการช่วยรัฐบาลให้ทำงานต่อไปได้"
เมื่อถามว่า ไม่ได้กังวลใจอะไรใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า ทำไมจะต้องกังวล ถ้าเราจะทำความดีอะไรสักอย่าง คิดว่าไม่ต้องกังวล ความบริสุทธิ์ใจ ความตั้งใจของตน และตนก็มีเพื่อนๆ เข้ามาทำงาน ตนรู้หลายอย่างไม่เหมือนเดิม ตนไม่ได้ทำงานกับคนเก่าๆ คนเดิมๆ ในรัฐบาลที่แล้ว ต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานใหม่ ก็ต้องไว้ใจท่าน และทุกคนก็สัญญาแล้วว่าจะทำให้ดีที่สุด เพื่อตอบสนองประชาชน
เตรียมโต้กลับฝ่ายค้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ประชาชนมองไปไกลกว่าการแถลงนโยบาย แต่อยากรู้ท่าทีนายกฯ จะสมัครเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จังหวะนี้ พล.อ.ประยุทธ์หมุนตัวและหัวเราะ รวมถึงรัฐมนตรีที่ยืนอยู่ด้วยกันก็หัวเราะด้วย ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะกล่าวว่า "เรื่องอันตรายมาแล้ว แต่ผมคิดว่าอยู่ตรงไหนถ้าทำความดีทุกคนก็ต้องช่วยผม" เมื่อถามย้ำว่าจะสมัครเข้าพรรคหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "ยังไม่รู้"
เมื่อถามว่า ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร.แล้วหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า "ยังไม่คิด เดี๋ยวก่อน ให้ผ่านตรงนี้ไปก่อนค่อยว่ากัน" เมื่อถามอีกว่าดูเหมือนนายกฯ เตรียมตัวแถลงนโยบายรัฐบาลหนักพอสมควร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องเตรียมบ้าง แต่ไม่ได้อะไรใหญ่โต ทำมาตลอด และไม่เป็นไรตนมีความสุขดี
ถามว่าหลายฝ่ายเป็นห่วงการรับมือการอภิปรายการแถลงนโยบาย นายกฯ กล่าวว่า จะมาห่วงตนทำไม ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเป็นเรื่องของกลไก ก็ว่ากันไป ซึ่งตนรับฟังได้อยู่แล้ว ทนฟังได้หมด
แหล่งข่าวระดับสูงในพรรค พปชร.เปิดเผยภายหลังมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กรอกแบบฟอร์มสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร. แบบตลอดชีพ โดยมีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เดินเรื่อง ว่าไม่เป็นความจริง พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นั้นได้ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร.แล้วตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา และจะมาดำรงตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. ดูภาพรวมทั้งหมด ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไม่ได้ตัดสินใจร่วมงานกับพรรค พปชร.แต่อย่างใด
"ขณะนี้ตำแหน่งหัวหน้าและเลขาธิการพรรคพปชร. ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งในอนาคต ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าพร้อมรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ ถ้านายกฯ ยินดีมารับหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าว ทางพรรคก็พร้อมจะไปเทียบเชิญ" แหล่งข่าวระบุ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเตรียมการแถลงนโยบายของรัฐบาลว่า ฝ่ายรัฐบาลมีความพร้อม ขณะที่นายกฯ ได้เน้นย้ำกับ ครม.ให้เตรียมตัวให้พร้อมในการชี้แจงทุกเรื่องต่อรัฐสภา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา ทุกอย่างจะเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม และเราเชื่อในตัวประธานรัฐสภาว่าจะสามารถควบคุมการประชุมให้อยู่ในข้อบังคับ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกกังวลหรือไม่ที่อาจนำคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส.มาพูดในการอภิปรายครั้งนี้ด้วย นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวล เพราะหากเรื่องที่นำมาพูดกันในการอภิปรายเป็นเรื่องที่อยู่ในข้อบังคับ และหัวข้อที่จะอภิปรายตนก็พร้อมจะตอบ ซึ่งทุกอย่างมีความชัดเจนมาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าเขาจะอภิปรายในเรื่องใดบ้าง อาจมีหลายเรื่องที่คนยังไม่เข้าใจ แม้กระทั่งเรื่องคุณสมบัติที่ได้มีการตรวจสอบมาระดับหนึ่งแล้ว และยังมีรายละเอียดอีกหลายเรื่องที่ยังไม่เคยมีใครนำออกมาพูดถึง ซึ่งตนได้เตรียมเอกสารในเรื่องเหล่านั้นไว้ ทั้งที่เป็นเอกสารสำคัญ และเอกสารเบื้องลึก อยากให้ ส.ส.ที่จะลุกขึ้นอภิปรายไปศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ เพราะเมื่อเขาจะมาตรวจสอบคนอื่น ก็ต้องระมัดระวังในการที่จะถูกคนอื่นตรวจสอบกลับด้วยเช่นกัน
"ใช่ครับ หากมีการนำเหตุการณ์หรือเรื่องที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลแต่ถูกนำมาบิดเบือนข้อเท็จจริง ฝ่ายเราก็ต้องชี้แจงแน่นอน ซึ่งจะต้องพูดถึงสาเหตุว่าสิ่งที่พวกตนได้ทำไปในวันนั้นคืออะไร เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงที่มาที่ไป" นายพุทธิพงษ์กล่าวเมื่อถามว่ามีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายตรงข้ามไว้เพื่อเตรียมพูดในสภาด้วยใช่หรือไม่
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมคงไม่ตกเป็นเป้าหมายในการอภิปรายของฝ่ายค้าน เพราะทราบว่ามีรัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้าอยู่แล้ว แต่ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ได้เตรียมความพร้อมข้อมูลในด้านนโยบาย ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาและไม่หนักใจ เพราะข้อมูลที่ฝ่ายข้าราชการประจำเตรียมไว้ให้ก็เพียงพอที่จะตอบคำถามได้ทุกประเด็น ไม่มีประเด็นใดที่รุนแรง
ผู้สื่อข่าวถามถึง "กลุ่ม 3 ป." พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของฝ่ายค้าน นายสมศักดิ์กล่าวว่า รัฐมนตรีแต่ละท่านทำงานในภารกิจที่รับผิดขอบมานานถึง 5 ปี เชื่อว่าจะสามารถชี้แจงได้ แต่จะชี้แจงอย่างไรเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล และคงจะต้องเลือกตอบ เพราะมีเวลาค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐยังได้เตรียมองครักษ์เพื่อช่วยนายกฯ ตอบคำถามไว้ 6-7 กลุ่ม จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาและสามารถชี้แจงทุกประเด็น
ไม่มีไก่อ่อนแน่นอน
น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. พรรค พปชร.กล่าวว่า องครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรีน่าจะเป็นคำกล่าวที่สร้างสีสันให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลคึกคักมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีความหมายโดยนัยอะไร จริงๆ แล้วเป็นการทำงานร่วมกันภายในพรรคมากกว่าในเชิงที่ช่วยกันชี้แจงถึงนโยบายของแต่ละกระทรวง ส่วนที่ฝ่ายค้านมีพูดถึง ส.ส.ที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ในทำนองว่าไก่อ่อนนั้น ไม่ติดใจอะไร ดีเสียอีก เพราะช่วยให้เรายิ่งรอบคอบมากยิ่งขึ้น การที่เราเพิ่งเข้ามาทำงานในสภาเป็นสมัยแรกนั้น ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าอ่อนหรือแข็งเพราะเชื่อว่า ส.ส.ที่เป็นน้องใหม่ทุกท่านก็มีประสบการณ์นอกสภากันมาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นไม่มี ไก่อ่อนใน พปชร.และสภาแน่นอน
นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรค พปชร.กล่าวว่า อยากเตือนสติให้ทุกคนอภิปรายภายในกรอบกฎหมาย เพราะขณะอภิปรายนั้นจะมีทีมกฎหมายที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกที่ประชุมสภา เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อดีว่าหากผู้อภิปรายออกมาระบุข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือทำให้เสียหาย อาจจะมีโทษถึงขั้นปลดออกจากตำแหน่งเลยก็เป็นได้ และหากมีการอภิปรายออกนอกกรอบ ส.ส.ก็มีสิทธิลุกขึ้นประท้วง รวมทั้งหากประธานรัฐสภาเปิดโอกาสให้อภิปรายนอกกรอบ ทาง ส.ส.เองก็จะลุกขึ้นทักท้วงประธานรัฐสภาเช่นกัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า หลังการหารือร่วมกันในพรรคเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ได้ตัดทอนจำนวน ส.ส.ที่ต้องการอภิปรายในสภาเหลือเพียง 10 คน เนื่องจากได้เวลาในการอภิปรายประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะอภิปรายเรื่องนโยบายเป็นหลัก ทั้งการชี้แจงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพรรคและการอภิปรายสนับสนุน ยืนยันว่า ส.ส.ของพรรคจะอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ ส่วนการเตรียมความพร้อมเรื่องนโยบายการแก้ไขปัญหาเกษตรกรนั้น ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่หากมีข้อสงสัย พรรค ปชป.ก็พร้อมอธิบายเพิ่มเติมได้
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย เรามีความพร้อม เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาทั้งรัฐมนตรีและส.ส.ต่างก็เตรียมพร้อมทั้งข้อมูล ฟิตร่างกายให้พร้อม เพราะจะต้องมีการประชุมแบบข้ามวันข้ามคืน ซึ่งมีข้อมูลทั้งในเชิงลึก รอบด้าน ในนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นว่าจะเราจะอธิบายให้ประชาชน ให้ฝ่ายค้านได้เข้าใจ และขอให้ช่วยกันทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้การเมืองเข้าสู่ระบบที่ควรจะเป็นอย่างสง่างาม
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การจัดสรรเวลา 13 ชั่วโมงที่พรรคฝ่ายค้านจะใช้อภิปรายฯ ถือว่ายังไม่เพียงพอ แต่เราก็จะต้องจัดสรรเวลาให้พอดีกับบุคคลที่จะร่วมอภิปราย มีบางเรื่องที่เรายังเสียดาย เพราะบางเรื่องจะต้องมีการตรวจสอบ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ จึงอยากขอไปยังรัฐบาลและประธานรัฐสภาว่า ถ้าสามารถเพิ่มเติมระยะเวลาให้อภิปรายไปได้ถึงวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะเป็นการดี
จ่อถล่มคุณสมบัตินายก
เมื่อถามถึงความกังวลในกรณีอภิปรายคุณสมบัติพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลอาจอ้างว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายสุทิน กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะมีผู้ขออภิปรายจำนวนมากจนต้องตัดคนออก โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจองคิวที่จะอภิปรายกว่า 10 คน จึงขอปรับลดลงเหลือ 5 คน ไม่ว่าจะเป็นนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ระบุว่าสามารถพูดได้ แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบ ซึ่งเราได้ทำความเข้าใจแล้วว่าการอภิปรายจะต้องไม่พูดไปในเชิงลักษณะชี้นำ และเรื่องที่จะอภิปรายคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ หลายเรื่องหลายคนก็อาจจะยังไม่รู้ เพราะไม่ได้อยู่ในสำนวนของศาลรัฐธรรมนูญ
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องของจริยธรรมบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในการแถลงนโยบายรัฐบาลด้วย เพราะมีหลายคนถูกกล่าวหาถือครองหุ้นสื่อ และประเด็นนี้เคยมีผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคการเมืองหนึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง สั่งให้ขาดคุณสมบัติมาแล้ว รวมทั้งจะอภิปรายคุณสมบัติของนายกฯ เริ่มตั้งแต่ที่มาว่ามาถูกต้องหรือไม่ เพราะการเป็นหัวหน้า คสช. เคยถูกศาลชี้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เมื่อได้รับการเลือกเป็นนายกฯ กลับบอกว่าไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และในเรื่องนี้รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายก็ตอบไม่ชัดเจน และพูดกลับไปกลับมา ดังนั้นนายกฯ ควรต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจน
"ผมจะอภิปรายภาพรวมของนโยบายว่าในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะการบริหารงานที่ผ่านมา 5 ปี นายกฯ มีอำนาจเต็ม และยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ด้วย แต่ก็ยังไม่สามารถบริหารหลายเรื่องได้ประสบผลสำเร็จ แล้วครั้งนี้ไม่มี ม.44 จะทำได้จริงหรือไม่" นายสมพงษ์กล่าว
บ่ายวันเดียวกัน ที่หอประชุมใหญ่ทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาระเบียบวาระต่างๆ จำนวนหลายเรื่อง แต่ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้นำเรื่องต่างๆ เข้าหารือ โดยใช้เวลาเกือบ 2 ชม. ทำให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นทักท้วงว่าเมื่อไหร่จะเข้าสู่ระเบียบวาระ หรือเป็นเพราะองค์ประชุมไม่ครบหรือไม่อย่างไร
ทำให้นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นชี้แจงในฐานะที่เป็นวิปรัฐบาล ว่าที่ผ่านมาที่ประชุมก็เปิดให้หารือเป็นเวลาถึง 3 ชม. แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เหลือ 1 ชม. แต่วันนี้มีปัญหาของประชาชนจำนวนมาก จึงให้สมาชิกอภิปรายได้ ทำให้นายสุชาติไกล่เกลี่ยว่าขณะนี้มีสมาชิกขอหารืออีกฝ่ายละ 5 คนเท่านั้น ทำให้นายพิเชษฐ์ระบุว่าหากหมดสมาชิกที่ขอหารือแล้วขอให้ประธานวินิจฉัยด้วย
ต่อมา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นขอความชัดเจนจากประธานในที่ประชุม เรื่องการนับองค์ประชุม ซึ่งมีสมาชิกที่มาร่วมประชุม จำนวน 249 คน
ปิดประชุมหนีสภาล่ม!
จากนั้น นายสุชาติได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายทรงศักดิ์ ทองศรี และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ส่งหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ส. ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มีจำนวน ส.ส. 497 คน โดยองค์ประชุมคือ 249 คน จากนั้นนายสุชาติได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในส่วนของญัตติต่างๆ บางญัตติมีสมาชิกลงชื่ออภิปรายไว้กว่า 20 คน แต่ขณะนี้เนื่องจากสมาชิกบางส่วนอาจจะกำลังเตรียมความพร้อมในการรับฟังการแถลงนโยบายรัฐบาลระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค.นี้ ดังนั้นจึงขอเลื่อนการพิจารณาญัตติต่างๆ ในสัปดาห์หน้า ก่อนสั่งปิดประชุมในเวลา 15.00 น.
หลังจากนั้น ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านแถลงข่าวกรณีประธานสภาฯ สั่งปิดการประชุม โดยนายจิรายุกล่าวว่า ส.ส.ฟากรัฐบาลเห็นว่าการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนั้นเป็นอย่างไร ส่อให้เห็นถึงอนาคตของประเทศ รวมถึงการผ่านกฎหมายต่างๆ ว่าจะเห็นชอบในการพิจารณากันได้อย่างไร
ด้านนายสุทินกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สมาชิกทุกคนงง ทั้งที่องค์ประชุมครบเพราะฝ่ายค้าน 8 คนไปช่วยเซ็นชื่อให้จนครบ แต่เราก็เสียเวลาไปเปล่าๆ ถึง 6 ชั่วโมง ทำให้ไม่ได้อภิปรายถึง 2 วาระ เพราะประธานสั่งให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน จึงขอฝ่ายรัฐบาลว่าอย่าให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก
ขณะที่นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯ แถลงว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายชวนให้มาชี้แจงเกี่ยวกับองค์ประชุมของสภา ซึ่งตามข้อบังคับที่ 18 ระบุว่า ก่อนเข้าประชุมทุกครั้งให้สมาชิกมาลงชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นองค์ประชุม หรือหมายความว่าหากจะเปิดการประชุมได้สมาชิกต้องมาลงชื่อ แต่หากระหว่างการประชุมเกิดต้องลงมติหรือเช็กองค์ประชุม ให้นับจำนวนสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมนั้น ซึ่งนายชวนวินิจฉัยถูกต้องแล้ว แต่วันนี้เกิดเหตุการณ์ผิดปกติของการประชุมสภา
"ก่อนปิดประชุมมีสมาชิกลงชื่อจำนวน 297 คน ถ้ามีใครไปลงชื่อหลังปิดประชุม แสดงว่ามีเจตนาแอบแฝง การทำหน้าที่ ส.ส.ควรทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อย่ามีวัตถุประสงค์ทางการเมือง มิเช่นนั้นสภาจะเดินไปยาก โดยเฉพาะในวันที่ 25 ก.ค. ที่จะมีวาระสำคัญคือแถลงนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นขออย่าใช้การตีรวนในเรื่องระเบียบข้อบังคับ เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้ว" นายสมบูรณ์กล่าว
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รอง ผบช.น. ได้ออกคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 218/2562 เรื่อง ประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตร รอบพื้นที่ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมรัฐสภา (ชั่วคราว) ภายในบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 7 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
คำสั่งระบุว่า ด้วยในวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ประธานรัฐสภาได้กำหนดให้มีการประชุม ส.ส.ขึ้น ที่หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุกลุ่มผู้ไม่หวังดีอาจลักลอบเข้ามาก่อเหตุสร้างสถานการณ์ หรืออาจนัดรวมตัวกันชุมนุมทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณพื้นซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมรัฐสภา (ชั่วคราว) ซึ่งหากมีการชุมนุมขึ้น อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และเกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้สัญจรบนท้องถนน โดยเฉพาะเส้นทาง ถนนแจ้งวัฒนะ หรืออาจส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงนั้น จึงประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบพื้นที่ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมรัฐสภา (ชั่วคราว) ภายในบริษัท ทีโอที ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.2562 เป็นต้นไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |