24 ก.ค.62 - ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการจัดกิจกรรมผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. พบสื่อมวลชนในหัวข้อ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน โดยมีนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. และนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นวิทยากร
นายวรวิทย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ประเด็นการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่กลายเป็นประเด็นในสังคมที่ผ่านมาว่า บ้านเรายังติดหล่มกันอยู่ตรงนี้ ก่อนอื่นต้องดูเรื่องของวัตถุประสงค์ของการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าพนักงานของรัฐยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างความโปร่งใสให้กับระบบการเมืองและระบบราชการ ส่วนหัวใจสำคัญในการตรวจสอบของ ป.ป.ช. คือ ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง เขาได้ใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญ แต่ขณะเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการทำงานของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมา มักมุ่งเน้นไปเรื่องแสดงถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ยังไม่ได้ไปดูเรื่องความเคลื่อนไหวระหว่างดำรงตำแหน่ง
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ส่วนกรณีของการยืมบัญชีทรัพย์สิน หากยึดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุไว้ แบ่งเป็น 2 แบบคือ 1.ยืมใช้คงรูป เช่น การขอยืมทรัพย์สินแบบให้เปล่า แต่มีภาระที่ต้องคืนเมื่อถึงกำหนด กรรมสิทธิ์ไม่โอน สมมติมีรถใช้ เผอิญรถเสีย แต่ต้องการใช้รถ มีเพื่อนสนิทเลยขอยืมรถเพื่อนมาใช้ ตนมีภาระที่ต้องคืนรถคันนั้นเมื่อใช้เสร็จ แต่รถคันดังกล่าวไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน และ2.การยืมใช้สิ้นเปลือง เช่น การยืมเงิน กรรมสิทธิ์ของวัตถุที่ยืมคือเงิน กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ยืมเลย ถ้าเกิดคนที่ยืมไม่จำเป็นต้องใช้ธนบัตรฉบับเดิม ใช้ธนบัตรฉบับใหม่ได้ เมื่อกรรมสิทธิ์โอน มีหนี้ ในแบบบัญชีทรัพย์สินระบุว่าไว้ชัดเจนในส่วนของการแสดงรายการหนี้สิน
“ส่วนประเด็นเรื่องยืมนานๆ หากกลับไปอ่านข้อเท็จจริงในแถลงข่าวของ ป.ป.ช. ว่า ยืมนานแค่ไหน ข้อเท็จจริงมีการยืมนาฬิกาทั้งหมด 21 เรือน ในช่วงระยะเวลาต่างๆ ไม่ได้ยืมกันนานๆ ยืมเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็คืน เปลี่ยนใหม่ไปเรื่อย ๆ จนถึง 21 เรือน อาจมีประเด็นสื่อมวลชนสงสัยว่า บางเรือนนานผิดปกติ ข้อเท็จจริงในสำนวนระบุว่า มีการคืนแล้ว แต่เจ้าของไม่สะดวกที่จะรับคืน ก็เป็นระยะเวลาที่อาจกลายเป็นประเด็น” นายวรวิทย์ กล่าว
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า กรณีการยืมทรัพย์สิน ถ้าเกิดขึ้นก่อน และถือว่าอยู่ในบริบทที่ควรจะต้องแจ้งหรือไม่นั้น นี่คืออยู่ในประเด็นที่คณะทำงานศึกษาอยู่ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป แต่ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่ายืมแล้วแจ้งบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ประเด็นอยู่ที่ว่าใช่การยืมหรือไม่ หรือเป็นของตัวเองแล้วบอกยืมหรือไม่ นี่เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการค้นหาความจริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |