"มทภ.4" ตั้ง "กก.อิสระ" เป็นคณะกรรมการชุดใหม่สอบเหตุ "อับดุลเลาะ" หมดสติในศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร ลั่นหากทหารบกพร่องเอาผิดทั้งวินัยและอาญา "แพทย์" ยันก่อนส่งตัวเข้าค่ายร่างกายปกติ หลังถูกส่งตัวมา รพ.พบสมองบวมจากขาดออกซิเจนนาน "ภรรยา" ร้องศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานีช่วยเหลือ "องค์กรภาคประชาสังคม" ออกแถลงการณ์จี้กองทัพเลิกใช้ กม.พิเศษ
เมื่อวันที่ 23 ก.ค. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (โฆษก กอ.รมน.ภาค4) ส่วนหน้า พร้อมด้วยคณะแพทย์จากโรงพยาบาลปัตตานีและโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหารปัตตานี ร่วมกันแถลงข่าวกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูดอ ผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกในค่ายอิงคยุทธบริหาร ถูกพบหมดสติในศูนย์ซักถามของค่ายและถูกนำส่งโรงพยาบาลปัตตานีพบอาการสมองบวมว่า ขณะนี้ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ ประกอบด้วย องค์กรภาคประชาสังคม, คณะสิทธิมนุษยชนและภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับเข้ามาตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
พ.อ.ปราโมทย์กล่าวว่า เราได้ตั้งกรรมการ 2 คณะ คือ คณะกรรมการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการด้านวินัยหรืออาญาทหาร หากพบความบกพร่องในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหาร และคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน อย่างเป็นอิสระให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน และป้องกันและลดเงื่อนไขการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง อำนวยความยุติธรรมให้แก่พี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ขอยืนยัน หากตรวจพบเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะไม่ปกป้อง และจะลงทัณฑ์สถานหนักทั้งวินัยและอาญาทหาร แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปความจริงและความไม่จริงได้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุดที่จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง เราเปิดโอกาสให้ทุกองค์กรมาตรวจสอบอย่างโปร่งใส และทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่มีนโยบาย หรือไม่มีแนวทางควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา ตามที่นอกเหนือนโยบายโดยประเด็นด้านสิทธิมนุษชน ซึ่งกองทัพให้ความสำคัญที่สุด" พ.อ.ปราโมทย์กล่าว
ขณะที่ตัวแทนคณะแพทย์กล่าวถึงอาการของนายอับดุลเลาะว่า ตอนรับผู้ป่วยเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา แพทย์จากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธฯ มาตรวจร่างกาย ก่อนส่งตัวไปยังศูนย์ซักถามมีอาการปกติ แต่เมื่อเวลา 03.00 น. มีอาการหมดสติ ไม่มีชีพจร จึงปั๊มหัวใจ จนชีพจรกลับมาเป็นปกติ จึงส่งต่อโรงพยาบาลปัตตานี
"เมื่อถึง รพ.ปัตตานีคนไข้ไม่รู้สึกตัว ชีพจรคงที่ ไม่พบภาวะหัวใจหยุดเต้น แต่พบสมองบวมขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน ขณะนี้ผู้ป่วยลดยากระตุ้นหัวใจ อาการทรงตัว จึงส่งคนไข้ต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา" ตัวแทนคณะแพทย์ระบุ
วันเดียวกัน น.ส.ซุไมยะ ภรรยานายอับดุลเลาะเดินทางเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานี เพื่อที่จะให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงในการร้องเรียนกรณีเกิดเหตุกับนายอับดุลเลาะ
นายอับดุลกอฮา อาแวปูเต๊ะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานี กล่าวว่า ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์มาดำเนินการ ซึ่งเราต้องฟังความเห็นจากแพทย์ก่อนว่ามาจากสาเหตุอะไร จะต้องหาพยานหลักฐานว่าเขาได้ถูกทำร้ายหรือถูกทรมานหรือเปล่า ถ้าเกิดมีพยานหลักฐาน จะต้องแนะนำเข้าแจ้งความดำเนินคดี
"ในชั้นนี้ต้องให้ทางแพทย์ให้ความเห็นออกมาก่อน ในขณะเดียวกันศูนย์ทนายความมุสลิมจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีอาการแบบนี้มันเกิดจากอะไร ซึ่งจะนำไปสู่การหาตัวผู้กระทำความผิดในกรณีที่พบว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น" ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมปัตตานีกล่าว
ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอีก 7 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมสิทธิของประชาชน, กลุ่มด้วยใจ องค์กร, เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี, เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง "องค์กรภาคประชาสังคมขอให้ตรวจสอบกรณีผู้ถูกควบคุมตัวขาดอากาศจนหมดสติ ในค่ายทหาร และเร่งตรากฎหมายป้องกันและต่อต้านการซ้อมทรมาน"
แถลงการณ์ระบุว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับข้อมูลว่า นายอับดุลเลาะมีอาการสมองบวมอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากการขาดอากาศหายใจเป็นเวลานานในระหว่างการควบคุมตัว ขณะนี้ยังคงไม่รู้สึกตัว และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 7 ข้อ คือ 1.ขอให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ โดยมูลนิธิเสนอให้มีนักวิชาการ ผู้นำชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือนเป็นผู้นำการตรวจสอบ 2.หากพบมีการกระทำอันใดที่ละเมิดต่อร่างกายของนายอับดุลเลาะจริง ขอให้ออกมาตรการชดเชยเยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวให้สภาพร่างกายและจิตใจกลับมาสู่สภาพเดิม หรือใกล้เคียงสภาพเดิมที่สุด พร้อมลงโทษเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งในทางวินัยและอาญา
3.เจ้าหน้าที่และหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องเคารพยึดถือและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน 4.ขอให้รัฐบาลไทยเร่งรัดในการตรากฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการทรมานและการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน 5.มูลนิธิขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงพิจารณายุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้อง สงสัยโดยขอให้ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติแทน 6.ในระหว่างพิจารณาการยุติการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ขอให้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนและจัดตั้งกลไกป้องกันการซ้อมทรมานและการกระทำใดๆที่อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และ 7.ขอให้รัฐบาลออกกฎระเบียบในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |