รัฐบาล VS ฝ่ายค้านตรึงกำลัง ก่อนระเบิดศึกแถลงนโยบาย


เพิ่มเพื่อน    

            โหมโรง-เผาเครื่องกันมาหลายวัน โดยเฉพาะจาก 7พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่การันตีความเข้มข้น-ดุเดือด แต่ไม่รู้ว่าถึงเวลาขึ้นชกกันจริงๆ เวที แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา 25-26 ก.ค. จะมันส์ทะลุจอ–ห้องประชุมทีโอที เดือด อย่างที่คุยไว้หรือไม่

                เพราะดูแล้ว ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะ ส.ส.พลังประชารัฐ อย่างไร ก็ต้องพร้อมใจกันเสนอหน้ากางปีกปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะได้เจอหน้า ฟังเสียงสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก ไม่ให้โดนฝ่ายค้านรับน้อง ไล่ทุบ บิ๊กตู่ จนช้ำระบมกลางห้องประชุมรัฐสภา ตึกทีโอที ชนิดต้องกินยาพาราฯ พากันประคองออกจากห้องประชุมหลังตี 1 คืนวันศุกร์ที่ 26 ก.ค. ยามเมื่อการประชุมดังกล่าวเสร็จสิ้นลง

                การเตรียมตัวของฝ่ายรัฐมนตรีแต่ละคน ที่คาดกันว่า จะถูก ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายเลียบๆ เคียงๆ เอาเรื่องนโยบายรัฐบาล เช่น เรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน –เรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจ มาอภิปรายโยงไปให้ถึงตัวรัฐมนตรีบางคนโดยเฉพาะรัฐมนตรีที่อยู่ในลิสต์ของฝ่ายค้าน ซึ่งบางคนเป็นอดีตรัฐมนตรีที่อยู่ในรัฐบาล ประยุทธ์ 1 ก็น่าจะถูก ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายพาดพิงกลางห้องประชุมก็น่าจะได้เห็นแน่ เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ถึงวันนี้เปิดตัวแล้วว่า คือหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตัวจริง ก็จะเป็นอีกหนึ่งเป้าใหญ่ของ ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะหาประเด็นไล่ทุบ ยิ่งล่าสุดมาเกิดกรณีไปร่วมงานสัมมนา ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ณ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ท ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งมีปัญหาข้อพิพาทบุกรุกพื้นที่ป่า ก็ยิ่งทำให้บิ๊กป้อมตกเป็นเป้าหมายสำคัญของฝ่ายค้านมากขึ้นไปอีก รวมถึงยังน่าจะมีรัฐมนตรีอีกหลายคนที่อาจจะถูกฝ่ายค้านอภิปรายพาดพิง ทำนองว่า เคยล้มเหลวในการทำงานมาก่อนสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 โดยเฉพาะ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ก็กลับมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกรอบ ซึ่งอาจจะถูกอภิปรายทำนอง เคยเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจมาแล้วเกือบห้าปี ทำชาวบ้านเดือดร้อน เศรษฐกิจแย่ แล้วโยงไปว่านโยบายด้านเศรษฐกิจที่เขียนไว้ ถึงเวลาจริงๆ ก็ทำไม่ได้

                โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่อาจถูกฝ่ายค้านอภิปรายโยงทำนองว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ มีชนักติดหลังเรื่องคดีความ-ถูกองค์กรอิสระตรวจสอบในช่วงก่อนเป็นรัฐมนตรี ที่เชื่อว่าเมื่อฝ่ายค้านเริ่มเปิดประเด็นอภิปรายเรื่องดังกล่าวกับรัฐมนตรีบางคนที่มีปัญหา ที่ไม่ใช่แค่รัฐมนตรีจากพลังประชารัฐเท่านั้น แต่ยังมีรัฐมนตรีจากประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยด้วย อันคาดการณ์ไว้ก่อนว่า รูปแบบการอภิปรายของฝ่ายค้านในประเด็นนี้ อาจไม่ถึงกับเปิดมาก็ซัดกันโต้งๆ แต่อาจค่อยๆ รอจังหวะ ประคองเกมไปก่อน แล้วรอเวลาที่เหมาะสม เช่นช่วงไพรม์ไทม์ คือหลัง 17.00  เป็นต้นไป ก็อาจเริ่มอภิปรายเชิงการเมือง เพื่อเรียกน้ำย่อย สร้างเรตติ้งให้ฝ่ายค้าน แล้วซัดตูม โดยเฉพาะการยิงหมัดตรงเข้าไปที่ตัวพลเอกประยุทธ์ ที่ฝ่ายค้านก็ยังติดใจเรื่องปัญหาคุณสมบัติ การเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไปแล้ว

                เมื่อถึงตอนนั้น ประเมินได้ว่าจะมีความพยายามจากส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลลุกขึ้นเบรก ประท้วงตัดเกม ด้วยการยกประเด็นมาว่า เวทีแห่งนี้คือการแถลงนโยบายรัฐบาล หากฝ่ายค้านติดใจสงสัยคุณสมบัติรัฐมนตรีบางคน ก็สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือตั้งกระทู้ถามได้ ซึ่งหาก ส.ส.รัฐบาลยืนกรานขวางไม่ให้ฝ่ายค้าน อภิปรายเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี ก็อาจทำให้การอภิปรายของฝ่ายค้านติดไฟแดง ไปต่อไม่ได้ แต่หากฝ่าไฟแดงไปได้ บรรยากาศการประชุมคงร้อนแรงแน่นอน

                สำหรับแท็กติกการเมือง การรับมือฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างมากนัก ซึ่งกลเกมการตั้งรับแล้วสวนกลับในห้องประชุมรัฐสภา ก็มีไม่กี่รูปแบบ โดยแท็กติกที่ได้ผลมากสุดและเป็นวิธีการแบบเป็นทางการมากสุดก็คือ การประท้วงโดยใช้ข้อบังคับการประชุม ที่ระบุว่า

                “การอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ ต้องไม่วนเวียน ซ้ำซาก ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด"

                ที่ก็คือ ส.ส.รัฐบาลต้องลุกขึ้นประท้วงกลางห้องประชุมว่า เวทีแห่งนี้คือการประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาล ฝ่ายค้านไม่สามารถอภิปรายเรื่องอื่นได้ 

                คาดการณ์ไว้ว่า ตลอดการประชุมช่วง 25-26 ก.ค. คงได้เห็นกรณี ส.ส.รัฐบาลขอใช้สิทธิ์ประท้วง โดยงัดข้อบังคับการประชุมดังกล่าวมาสกัดฝ่ายค้าน เพื่อให้ฝ่ายค้านเสียกระบวนทัพในห้องประชุม จนแท็กติกที่ฝ่ายค้านวางไว้ติดขัด ซึ่งต้องดูว่าประธานในที่ประชุม ทั้งชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา จะคุมการประชุมให้ราบรื่นได้ดีเพียงใด

                สำหรับการเตรียมพร้อมของแต่ละพรรคการเมือง ก่อนระเบิดศึกแถลงนโยบายรัฐบาล พบว่าแต่ละพรรคก็เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว เช่น พลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล มีการตั้งทีม ตอบโต้แบบรวดเร็ว ซึ่งถูกมองว่าเป็นทีมองครักษ์พิทักษ์นายกฯ และรัฐมนตรีพลังประชารัฐ อันพบว่า มี ส.ส.พลังประชารัฐไม่พลาด ขอแสดงผลงาน เกิดต่อหน้านายกฯ แบบฟูลทีม ถึง 20 คน ส่วนแกนนำฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก็ขู่ฟอดๆ ศึกนี้ ฝ่ายค้านขนหนักจัดเต็ม ทั้ง ส.ส.รุ่นใหญ่-หน้าใหม่ ขอควงหมัดไล่ยำรัฐบาล ร่วม 80 คน ตลอด 13 ชั่วโมงครึ่งของการประชุมตามที่ฝ่ายค้านได้โควตา

                สุดท้าย ผลที่ออกมาฝ่ายค้านจะได้แต้มเพราะอภิปรายดี ข้อมูลแน่น ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ มีหมัดหนักชกเข้าเป้า จนประชาชนได้ยินได้ฟังแล้วร้อง ซี้ดซ้าด โดยเฉพาะบางพรรคอย่าง “อนาคตใหม่” แจ้งเกิดในฐานะฝ่ายค้านได้สำเร็จในเวทีนี้ หรือจะเป็นแค่การเขียนเสือให้วัวกลัวของฝ่ายค้าน ที่ถึงเวลาทำศึกจริง งานกร่อย ออกหมัดป้อแป้ แต่กลับเป็นฝ่าย นายกฯ ประยุทธ์-รัฐบาล โกยคะแนน อภิปราย ชี้แจงเรื่องนโยบายดี เข้าใจง่าย ให้ความหวังประชาชนได้ ก็รอดูกันเอง 25-26 ก.ค.นี้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"