พอช. : พอช.ร่วมกับผู้แทนชุมชนทั่วประเทศจัดทำแผนปฏิบัติงาน 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) ยึดกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมียุทธศาสตร์ ‘ใช้องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนา และใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” เน้นงานหลัก 4 ด้าน คือ สภาองค์กรชุมชนตำบล เศรษฐกิจชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และการพัฒนาที่อยู่อาศัย ด้านที่ปรึกษาสำนักงบประมาณแนะ ปีงบฯ 2563 จะมีการกระจายงบประมาณลงสู่พื้นที่เป็นหลัก ซึ่งขบวนองค์กรชุมชนและชุมชนสามารถทำแผนชุมชนเชื่อมโยงแผนจังหวัด เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณได้โดยตรง
ระหว่างวันที่ 21 – 23 กรกฎาคม 2562 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 - 2565) และแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อทบทวนและนำเสนอแผนการพัฒนาและสนับสนุนชุมชนสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง มีผู้แทนชุมชนที่ทำงานเรื่องที่อยู่อาศัย สวัสดิการชุมชน เศรษฐกิจฐานราก และสภาองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช. เข้าร่วมประมาณ 150 คน
นโยบายชาติกับการขับเคลื่อนงาน พอช. ในทิศทางการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
นายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ พอช. เพื่อวางกรอบแนวทางการทำงานในระดับพื้นที่อย่างรอบด้าน ประกอบด้วย 1. นโยบายรัฐบาล ได้แก่ 1.1 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ พอช. ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ว่าด้วยการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเฉพาะประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง ซึ่งในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์จังหวัดของขบวนชุมชนนั้น จะต้องมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการดำเนินงานในระดับพื้นที่ รวมทั้งการประสานภาคีให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนแผนงาน งบประมาณ และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
นายไมตรี อินทุสุต
1.2 แผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ มีความสอดคล้องกับการทำงานของ พอช. จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 15 พลังทางสังคม ประเด็นที่ 16 เศรษฐกิจฐานราก ประเด็นที่ 17 ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม 1.3 แผนการปฏิรูปประเทศ มีความสอดคล้องในประเด็นที่ 9 ด้านสังคม โดยเฉพาะระบบการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง (Social Empowerment) เช่น สิทธิ/บทบาทชุมชน การจัดการทรัพยากร/ทุนชุมชน เศรษฐกิจชุมชน และสวัสดิการชุมชน
2. ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ พอช. ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2560 - 2564) โดยมียุทธศาสตร์ คือ ‘องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง’ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ตำบลใช่เลย” ภายใต้ประเด็นยุทธศาสตร์ 4 ประเด็น ซึ่งวางแนวทางในการสนับสนุนการทำงานขององค์กรชุมชน การประสานภาคีความร่วมมือ ตามบริบทพื้นที่ในระดับจังหวัดและตำบล
3. แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) มีวิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว” ภายใต้ 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ ซึ่งการทำงานในพื้นที่เพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะต้องบูรณการหน่วยงานในระดับจังหวัดเพื่อสนับสนุนการทำงานให้ได้
“ในการขับเคลื่อนงานพัฒนานั้นจะต้องทำ ‘3 ร’ คือ ‘ราษฎร ราชการ รัฐบาล’ ทำฐานรากให้เข้มแข็งสุดแรงเกิด สอดรับกับการสนับสนุน 3 ร อย่างพึ่งตนเอง มีฐานทุน ความเข้มแข็ง และสิ่งที่ขอเน้นย้ำให้ดำเนินการคือ การทำข้อมูลพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทุนในพื้นที่ คน ทรัพยากร กลุ่ม องค์กร และมีการวิเคราะห์ฐานทุนของตนเอง” นายไมตรีกล่าว
ทิศทางการจัดทำงบประมาณประจำปีตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ
นางสาวอลิสา ปิ่นประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ กล่าวถึงทิศทางการจัดทำงบประมาณประจำปีตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติว่า วิธีการงบประมาณรูปแบบใหม่ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเน้นสนับสนุนงบประมาณลงสู่พื้นที่ และให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการได้รับงบประมาณ ฉะนั้นการจัดทำแผนของหน่วยงานจะต้องมีความชัดเจน มีเป้าหมาย ตัวชี้วัด และผลลัพธ์ที่สะท้อนให้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับมากน้อยเพียงใด โดยหน่วยงานจะต้องดำเนินการทบทวนภารกิจของหน่วยงานให้คงเหลือเฉพาะที่สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ระดับชาติโดยตรง (Redeploy) และมีการจัดลำดับความสำคัญ (Prioritize)
นางสาวอลิสา ปิ่นประเสริฐ
นอกจากนี้จะต้องทบทวนภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือที่ได้รับมอบหมาย มีลักษณะเป็นงานประจำ ทบทวนค่าใช้จ่ายของแต่ละภารกิจที่สามารถประหยัดได้ มีการบูรณาการ และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงพิจารณาความสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561- 2580 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.ฏ.วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ 2)
“การจัดทำงบประมาณสามารถดำเนินการได้ในลักษณะบูรณาการ ทั้งในมิตินโยบาย โดยกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบเขตภารกิจ เป้าหมาย ตัวชี้วัด แนวทางการดำเนินงาน หน่วยงาน มีการกำหนดระยะเวลา และงบประมาณ ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์เน้นการจัดทำเป็น Project Base และมิติพื้นที่ คือ มีการบูรณาการภารกิจระหว่างส่วนราชการกับจังหวัด /กลุ่มจังหวัด สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ โดยใช้แผนพัฒนาจังหวัด / กลุ่มจังหวัดเป็นกรอบในการพิจารณา มีหลักเกณฑ์การกระจายงบประมาณอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 กำหนดให้มีการติดตามประเมินผลก่อนการดำเนินงาน ระหว่างดำเนินงาน และหลังดำเนินงาน ดังนั้นหน่วยงานจะต้องมีการรายงานต่อสำนักงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ” ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณกล่าว
นางสาวอลิสากล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จะมีการกระจายงบประมาณลงสู่พื้นที่เป็นหลัก ซึ่งขบวนองค์กรชุมชนและชุมชนสามารถที่จะทำแผนชุมชนเชื่อมโยงแผนของจังหวัด เพื่อเป็นการขอสนับสนุนงบประมาณได้โดยตรง อีกทั้งปัจจุบันสำนักงบประมาณให้ความตระหนักถึงการพัฒนาประเทศจากพื้นที่เป็นหลัก โดยกระจายสำนักงานทั่วประเทศ 18 เขต ซึ่งหากมีปัญหาข้อติดขัดหรือมีเรื่องหารือสามารถประสานรับการปรึกษาได้กับสำนักงานเขตต่างๆ
วางแผนปฏิบัติงาน 4 ด้าน เป้าหมายชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง
การจัดประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการครั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มตามประเด็นงานและพื้นที่การขับเคลื่อนงานโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อวางแนวทางและแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 - 2565) จากการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมระหว่างขบวนองค์กรชุมชนและผู้ปฏิบัติงาน พอช. มีการนำเสนอทิศทางข้างหน้าการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนและการออกแบบบทบาทของ พอช. ดังนี้
1.สภาองค์กรชุมชน มีวิสัยทัศน์ “สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” มีแนวทางการทำงาน เช่น 1. การพัฒนาพื้นที่ใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาคนในพื้นที่ 2. การใช้พื้นที่ระดับตำบลเป็นพื้นที่เชื่อมโยงงานทุกประเด็น เกิดการบูรณาการ และจังหวัดเป็นผู้สนับสนุนแนวทางการขับเคลื่อนในระดับตำบล 3. สร้างสถาบันการเรียนรู้งานสภาองค์กรชุมชนของภาคประชาชนในทุกภาค เป็นการยกระดับการพัฒนาผู้นำ และสร้างการรับรู้และเข้าใจในการขับเคลื่อนงานสภา ฯลฯ
ส่วนเป้าหมายและวิธีการทำงานระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) มี 4 ยุทธศาสตร์ 21 แผนงาน ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสนับสนุนให้องค์กรชุมชนขับเคลื่อนงานในทุกมิติ เช่น พัฒนาระบบการออมและสร้างรายได้ โดยการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและจัดทำแผนธุรกิจชุมชน การพัฒนาที่อยู่อาศัยทุกมิติ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างความเข้มแข็งของสภาองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน เช่น สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาตำบล/ชุมชน การพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยฐานราก ฯลฯ ยุทธศาสตร์ที่ 3. สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง เช่น รณรงค์นโยบายสาธารณะประจำปี(ในทุกระดับ) พัฒนาความเข้มแข็งองค์กรชุมชนและสภาองค์กรชุมชน ฯลฯ ยุทธศาสตร์ที่ 4. การพัฒนาระบบข้อมูล การสื่อสาร และการจัดการความรู้ เช่น เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ การใช้สื่อ Online เพื่อเผยแพร่งานของสภาองค์กรชุมชน ฯลฯ
2.เศรษฐกิจฐานราก แนวทาง ภายใน 3 ปีข้างหน้าอยากเห็น 3,500 ตำบลทั่วประเทศที่มีการยกระดับ เศรษฐกิจฐานรากที่ทำอยู่แล้วให้มากขึ้น คือ 1. ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากเป็นระบบ ทั้งผู้ผลิต, แปรรูป, ตลาด, ผู้บริโภค 2. จากเก่งเดี่ยวที่เหลือไม่รอด ปรับเป็นระบบกลุ่มให้เข้มข้น 3. เป็นผู้ประกอบการ รู้ทุกข์ รู้ทุน และ 4. ต่อยอดฐานความร่วมมือที่มี เช่น พาณิชย์, หอการค้า, เกษตร ,SME และใช้นวัตกรรม
ส่วนเป้าหมายและวิธีการทำงานระยะ 3 ปี คือ 1. ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและทุนชุมชนเดิมให้มีศักยภาพในการขับเคลื่อน ระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีทิศทาง (การผลิต, การแปรรูป, การตลาด) เพื่อเกื้อกูล แบ่งปัน อย่างมีส่วนร่วม 2. ขยายพื้นที่ใหม่สู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก 3. วิเคราะห์ศักยภาพและพัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่, องค์กรชุมชน เพื่อวางแผนในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของพื้นที่
4. ส่งเสริมการจัดทำแผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากระดับตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด 5. การเชื่อมโยงและบูรณาการแผนเศรษฐกิจและทุนชุมชนในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด 6. สนับสนุนและส่งเสริมศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจและทุนชุมชน และ 7. พัฒนาคนเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ให้เป็นผู้ประกอบการทางสังคม
3.สวัสดิการชุมชน แนวทาง การสร้างความเข้มแข็ง 6,000 กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศในระยะเวลา 3 ปี มีการพัฒนาคุณภาพของกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นกลไกในการจัดระบบสวัสดิการชุมชนของประชาชนในพื้นที่ตำบล/เมือง/เทศบาล ส่วนเป้าหมายและวิธีการทำงานระยะ 3 ปี คือ 1. เสิรมสร้างบทบาทและความสามารถกองทุนระดับตำบล พัฒนาศักยภาพแกนนำกองทุนสวัสดิการ จัดตั้งคลีนิคการเรียนรู้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล 2. พัฒนาศักยภาพเครือข่ายทุกระดับ ส่งเสริมความร่วมมือภาคีทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ธุรกิจ สถาบันการศึกษา ประชาสังคม เพื่อสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน มีการเชื่อมโยง ยกระดับแผนพัฒนาสวัสดิการชุมชนสู่แผนยุทธศาสตร์จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด เป็นต้น
3.พัฒนาความมั่นคงทางการเงินของกองทุนสวัสดิการชุมชน รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาและสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยประชาชนร่วมสมทบ 4. พัฒนาระบบและชุดความรู้ พัฒนาระบบข้อมูลกลางของกองทุนสวัสดิการชุมชน เชื่อมโยงกับระบบสวัสดิการของรัฐ งานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน ผลิตสื่อเพื่อการเผยแพร่ รณรงค์ การจัดสวัสดิการที่มีประชาชนมีส่วนร่วม และ 5. พัฒนานโยบายให้เป็นระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ ปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้เชื่อมต่อการพัฒนาคุณภาพสวัสดิการชุมชน
4.การพัฒนาที่อยู่อาศัย แนวทาง ทำทั้งเมืองและชนบท ส่วนเป้าหมายและวิธีการทำงานระยะ 3 ปี คือ 1. การทำทั้งเมือง/ชนบท 2. บูรณการทุกภาคส่วน (เจ้าหน้าที่ทุกส่วน/หน่วย ขบวนองค์กรชุมชน หน่วยงานภาคี) 3. สำรวจข้อมูลทุกมิติเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานที่อยู่อาศัยทุกบ้านและคุณภาพชีวิต 4. สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกเป็นพื้นที่กลางในการขับเคลื่อนงานทั้งเมือง/ตำบล 5. เครือข่ายเป็นกลไกในการพัฒนา/ฟื้นฟูเพื่อสร้างความเข้มแข็งของขบวนองค์กรชุมชน มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์/ต่อยอดการพัฒนาทุกมิติ/เชื่อมโยงเครือข่ายด้วยประเพณีวัฒนธรรม
6. พื้นที่เมือง/ตำบล เกิดการพัฒนาคน/กลไก/องค์กร/โครงการ/กองทุน 7. คณะทำงานที่อยู่อาศัยจังหวัดเป็นกลไกในการผลักดันเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน และงบประมาณ 8. การจัดองค์ความรู้จากพื้นที่ปฏิบัติการจริงสู่การขยายผลอย่างจริงจังและกว้างขวาง (ทำทั้งเมือง บ้านมั่นคงชนบท การจัดการที่ดิน) 9. พัฒนาศักยภาพคนทำงานทุกด้าน ให้เป็นนักจัดกระบวนการ เกิดการเชื่อมโยงแผนกับหน่วยงาน และ 10. พัฒนาคุณภาพองค์กร/สหกรณ์/กองทุน เน้นการส่งเสริมการออมและสร้างทุนชุมชนและเมือง
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า ภารกิจงานของ พอช. ต้องช่วยกันให้เกิดการดำเนินงานที่มีความรวดเร็ว โดยในปี 2563 พอช. มี 7 แผนงาน แผนงานหลัก เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัย และสวัสดิการชุมชน และแผนงานที่สำคัญอีกเรื่องคือ การเริ่มทำงบประมาณเชิงพื้นที่ โดยใช้พื้นที่ตำบลและพื้นที่จังหวัดเป็นหลัก เริ่มนำร่อง 100 ตำบลในปี 2563
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ
“คนในพื้นที่ต้องวางแผนและนำไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานท้องที่ท้องถิ่นภายใต้ชุมชนเข้มแข็ง ในการเสนองบประมาณนั้น นอกจากที่เราจะเสนอท้องที่ ท้องถิ่น ภาค จังหวัด เราควรเปิดรับการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยการที่เราจะเสนอหรือหาแนวร่วมภาคเอกชนบ้าง เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนได้โดยทุกวิธี จัดองค์กรเชิงประสานงาน ให้เกิดการทำแผนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสภาองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน บ้านมั่นคง ทำให้การขับเคลื่อนงานหรือแผนยุทธศาสตร์ในพื้นที่จะประสบผลสำเร็จ และจะทำให้ พอช. ก้าวกระโดดไปข้างหน้า เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการก้าวต่อไป” นายสมชาติระบุในตอนท้าย
ทั้งนี้ผลการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 - 2565) และแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในครั้งนี้ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสถาบันฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ และจะนำไปสู่การปฏิบัติและขับเคลื่อนงานทั่วประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |