ตีปี๊บค่ารถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายส่อฝันค้าง "ศักดิ์สยาม" สั่งทุกหน่วยงานไปศึกษาใน 1 เดือน รฟม.เผยได้ชดเชยเอกชนกันอานแน่ ขณะที่ TDRI ประเมิน 30 บาทต่อเที่ยวเป็นราคาที่เหมาะสม "อุตตม" ลุยถกบิ๊กคลัง มอบการบ้าน สศค.ศึกษาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% สรรพากรขานรับแต่ชงเพิ่ม VAT 8% ชดเชย
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่ากระทรวงคมนาคมจะปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 15 บาทตลอดสายว่า หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจะเรียกประชุม 23 หน่วยงานในสังกัดเพื่อมอบนโยบาย โดยจะมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปพิจารณาหาแนวทางและมาตรการปรับลดภาระค่าครองชีพด้านการเดินทางให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน
"แต่ละหน่วยงานต้องกลับไปศึกษาและพิจารณาดูภาระขององค์กรว่าปัจจุบันมีภาระมากน้อยแค่ไหน และยังพอมีช่องว่างเหลือพอที่จะออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพหรือลดค่าโดยสารได้หรือไม่อย่างไร โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องนำเสนอผลการศึกษาและมาตรการส่งกลับมาให้พิจารณาภายใน 1 เดือน จึงจะรู้ว่าสามารถปรับลดค่าโดยสารอะไรได้บ้างหรือไม่อย่างไร" นายศักดิ์สยามกล่าว
นายศักดิ์สยามเปิดเผยภายหลังเรียกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมเข้าพบว่า เรื่องงบประมาณปี 2563 ของกระทรวงคมนาคม วงเงิน 4.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 2.1 แสนล้านบาท และงบประจำ 2.1 แสนล้านบาทนั้น จะขอดึงกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าแผนของบประมาณที่เสนอไปยังรัฐบาลนั้นเหมาะสมหรือไม่ และมีแผนไหนที่ต้องปรับแก้ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ส่วนการพัฒนาโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (TER 2) วงเงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท ตามแผนแม่บทใหม่ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.นั้น เห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ แม้จะยึดแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (TER 2) ใกล้กับอาคารผู้โดยสารหลังเดิม เนื่องจากปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิประสบปัญหาผู้โดยสารล้นสนามบินหรือเกินขีดการรองรับมากกว่า 15 ล้านคนต่อปี
ทั้งนี้ ประกอบกับตัวเลขการเติบโตของผู้โดยสารในอนาคตมีแนวโน้มขยายตัวเร็วมาก โดย ทอท.คาดว่าในปี 2567 จะมีผู้โดยสารมากถึง 170 ล้านคน จึงเห็นว่าต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะแผนก่อสร้างไม่ได้ทำแค่วันเดียว แต่ต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ติดใจกับการพัฒนาพื้นที่ TER 2 ในจุดดังกล่าว แม้จะไม่ได้ทำตามแผนแม่บทเดิมที่วางไว้คือการก่อสร้าง TER 2 ทางทิศใต้ของสนามบิน
นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้ ทอท.ไปเร่งแผนงานพัฒนาโครงการสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 วงเงินลงทุน 7.5 หมื่นล้านบาท รองรับ 10 ล้านคน/ปี โครงการสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท รองรับ 10 ล้านคน/ปี เพื่อแก้ปัญหาผู้โดยสารล้นสนามบิน
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 15 บาทว่า รฟม.จะรอความชัดเจนนโยบายของกระทรวงคมนาคมเพื่อเป็นกรอบการดำเนินการ เนื่องจากสัญญาสัมปทานในอดีต เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-เตาปูน มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ถือสัมปทาน รวมถึงอยู่ระหว่างก่อสร้างซึ่งลงนามไปแล้ว
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย และสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง หากภาครัฐมีนโยบายกำหนดกรอบเก็บค่าโดยสารไม่เกินราคาที่กำหนด 15 บาท หรือเท่าใดก็แล้วแต่ ก็ต้องนำไปเป็นประเด็นที่ต้องเจรจากับเอกชนคู่สัมปทาน เพราะเป็นเรื่องปกติที่เมื่อรายได้เอกชนลดลง จะต้องมีการถามหาแนวทางที่ภาครัฐต้องชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการแน่นอน
ผู้ว่าการ รฟม.ยอมรับว่า เมื่อกระทรวงคมนาคมให้นโยบายชัดแล้วก็พร้อมเจรจากับผู้ประกอบการ ส่วนจะได้ข้อสรุปอย่างไรคงต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่จะเสนอมาด้วย
ขณะที่นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในส่วนของทีดีอาร์ไอเห็นว่าการกำหนดราคาค่าโดยสารเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม จำเป็นต้องศึกษาจากองค์ประกอบรอบด้าน เช่น ฐานรายได้ต่อเดือนของผู้ใช้บริการ, รายละเอียดของโครงข่ายเส้นทาง และอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ฐานข้อมูลในต่างประเทศ ต้นทุนค่าเดินทางในระบบรถไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายต่อเดือน สิงคโปร์ค่าเดินทางจะอยู่ที่ 4-5%
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนไทยนั้นข้อมูลเบื้องต้นค่าโดยสารเดินทางไปกลับต่อวันของรถไฟฟ้าไม่ควรเกิน 100 บาท เมื่อวางเป็นโจทย์แล้วมาคิดต่อว่า ถ้าค่าเฉลี่ยของรถไฟฟ้าเดินทางต่อเที่ยวอยู่ที่ 30 บาท หรือไปกลับวันละไม่เกิน 60 บาท ประชาชนที่มีฐานเงินเดือนประมาณเดือนละ 18,000 บาท มีต้นทุนค่าโดยสารต่อเดือนประมาณ 1,200 บาท ถือเป็นต้นทุนที่ผู้ใช้บริการจะพอแบกรับไหว
"ประเมินเบื้องต้นว่าค่าเดินทางระบบรถไฟฟ้าทั้งโครงข่าย 30 บาทต่อเที่ยว ถือเป็นราคาที่เหมาะสม" นายสุเมธกล่าว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ต้องนำไปสู่การชดเชยให้เอกชนผู้ถือสัมปทานนั้น ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบอยู่ในพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระมากเกินไป ส่วนประเด็นว่าหากมีการกำหนดกรอบค่าโดยสารไม่ว่าจะเป็น 15 บาทต่อเที่ยวหรือ 30 บาทต่อเที่ยว ในส่วนสัมปทานเดินรถไฟฟ้าที่ภาครัฐกับเอกชนมีในปัจจุบันจะต้องจ่ายชดเชยมากแค่ไหนนั้น
"อย่างกรณีกำหนดค่าโดยสารต่อเที่ยว 15 บาทนั้น คิดง่ายๆ ว่าหากคำนวณจากผู้โดยสาร เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอสวันละ 800,000 คน รถไฟฟ้าใต้ดิน 300,000 คน รถไฟฟ้าสีม่วงอีก 100,000 คน แอร์พอร์ตลิงก์ 100,000 คน ไปคำนวณกับค่าโดยสารเฉลี่ยของผู้โดยสารปัจจุบันคนละ 30 บาท เห็นชัดเจนว่าจะต้องไปชดเชยให้แก่การเดินทางของประชาชนเฉลี่ยคนละ 15 บาทต่อวัน ส่วนนี้ถือว่าเป็นภาระค่อนข้างหนัก" นายสุเมธกล่าว
วันเดียวกันนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังทุกหน่วยงาน โดยก่อนหน้านี้ทีมงานของนายอุตตมได้ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาการประชุมดังกล่าวจะไม่มีขึ้นจนกว่ารัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน
โดยนายอุตตมเปิดเผยว่า การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ตามที่รัฐบาลหาเสียงไว้จะมีการดำเนินการ แต่จะทำแบบเป็นขั้นตอนและต้องดูทั้งระบบ ซึ่งได้สั่งผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปแล้ว ให้ศึกษาเรื่องนี้ทั้งระบบว่าฐานภาษีและรายได้หายไปมากน้อยขนาดไหน
อย่างไรก็ดี รมว.การคลังได้ชี้แจงกรณีที่ถูกถามว่าจำเป็นจะต้องมีการขึ้นภาษีตัวอื่นเพื่อชดเชยการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ โดยนายอุตตมระบุว่า "ผมไม่ได้บอกเลยว่าจะต้องขึ้นภาษีตัวอื่น เพื่อมาชดเชยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ตามที่รัฐบาลหาเสียงไว้"
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% จะต้องไม่เป็นภาระทางการคลัง ถ้าจำเป็นต้องทำจะทำลักษณะไหน ซึ่ง สศค.เพิ่งได้การบ้านมาเมื่อวานนี้เอง ต้องดูว่าหากรายได้หายไปจากการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และจะได้รายได้เพิ่มมาจากตัวไหน" นายลวรณกล่าว
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หากมีการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ตามที่รัฐบาลหาเสียงไว้จริง จะทำให้ฐานภาษีหายไป 3 ล้านราย และสูญเงินภาษีต่อปี 1.8 แสนล้านบาท ทำให้ต้องหาวิธีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ให้ได้เพื่อไม่ให้รัฐบาลผิดสัญญาที่หาเสียงไว้
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องการลดภาษีเงินได้บุคคล อยู่ระหว่างให้ สศค.ทำการศึกษาปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ทั้งหมดในภาพรวม ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรกรมสรรพากรคงตอบไม่ได้ ส่วนจะให้สรรพากรพิจารณาขึ้นภาษีชนิดอื่น โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เป็น 8% มาชดเชยรายได้หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ยินว่ามีการสั่งนโยบายนี้ออกมา
ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงถึงนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงพลังงานว่า เบื้องต้นได้เตรียมประสานงานไปยังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายเวลามาตรการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับหาบเร่แผงลอย ในส่วนลดราคา 37.50 บาทไปอีก 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.62) รวมถึงการหยุดปรับราคาส่วนลดก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ในรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถตู้ หรือรถแท็กซี่ จากเดิมที่จะขึ้นอีกวันที่ 16 ก.ย.อีก 1 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อเป็นการดูแลภาระค่าครองชีพของประชาชนระหว่างนี้ และรอพิจารณานำนโยบายการช่วยเหลือประชาชนครั้งนี้ไปเชื่อมโยงกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง
ส่วนราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีสำหรับครัวเรือนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 363 บาทต่อถัง 15 กก.นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ดูต้องรอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งการพิจารณาน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ B20 จากมาตรการเดิมลดราคาต่ำกว่าดีเซลทั่วไป 5 บาท ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ก.ค.ก็ยังไม่มีการพิจารณาเช่นกัน เนื่องจากต้องรอพิจารณาภาพรวมทั้งหมดทั้ง เกรด B7, B10 และ B20 ว่าจะบริหารอย่างไรให้เป็นมาตรการระยะยาว ช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างแท้จริง คงไม่ดูเป็นประเภทๆ ไป คาดว่าจะได้ความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |