ใครมีอำนาจ 'ปรับทัศนคติ' ใคร?


เพิ่มเพื่อน    

    ใครมีสิทธิ์จะเรียกใครไป “ปรับทัศนคติ” เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบอบ คสช. สู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
    ฟังรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ว่า กอ.รมน.ยังสามารถเรียกมา “ปรับทัศนคติ” ได้แต่ไม่มีอำนาจกักขัง ซึ่งเขาบอกว่าน่าจะดีกว่าให้ทหารประกาศกฎอัยการศึก
    คำเตือนสำหรับผู้มีตำแหน่งในรัฐบาล ไม่ว่าเป็นใครก็ตาม ขอให้ระวังการใช้ “ตรรกะวิปริต” อย่างนี้
    ถ้านำมาใช้บ่อยๆ ก็จะทำให้สังคมเลิกเชื่อถือคำอธิบายของผู้ที่อ้างว่าเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หรือทำเพื่อประชาชน แต่ไม่สนใจว่าสังคมทั่วไปจะคิดอย่างไรกับการตีความทุกอย่างให้ผู้มีอำนาจได้ประโยชน์
    โฆษกของ กอ.รมน.บอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่ง คสช. 2/2558 เพราะมีกฎหมายความมั่นคงภายในอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีสาระที่จะเรียกใครมาปรับทัศนคติแต่อย่างไร เป็นเพียงเชิญคนที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเท่านั้น อาจจะเป็นเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติหรือเรื่องสร้างฝาย สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในท้องถิ่นเท่านั้น
    ฟังทั้งสองท่านก็น่าจะเป็นคนละเรื่องกัน
    แต่สำหรับประชาชนทั่วไป คำว่า “ปรับทัศนคติ” ยังมีความหมายที่น่าเกรงขามอยู่ไม่น้อย
    คำนี้เพิ่งจะเกิดในช่วง คสช. ซึ่งในทางปฏิบัติคือการเชิญหรือเรียกตัวไปพบ เพราะเห็นว่าคนคนนั้นมีความเห็นไม่ตรงกับผู้มีอำนาจ
    ที่ผ่านมาคนที่ได้รับเกียรติเช่นนั้นส่วนใหญ่เป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. 
    การพูดจาระหว่างการ “ปรับทัศนคติ” เป็นอย่างไร ผมไม่ทราบ แต่ก็น่าสนใจสำหรับผม
    เพราะแต่ก่อนในยุคสงครามเย็น ประเทศคอมมิวนิสต์จะมีการเรียกประชาชนที่ผู้มีอำนาจเห็นว่ายังมีความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับรัฐบาลไปกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
    เช่น สั่งให้เข้าค่ายเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดให้ตรงกับที่รัฐบาลต้องการ
    ช่วงจังหวะทางการเมืองหนึ่ง ประเทศจีนเรียกกระบวนการนี้ว่า “ศึกษาเรียนรู้ใหม่” หรือ re-education
    ชาวบ้านเรียกว่า “ล้างสมอง”
    ที่ประเทศเพื่อนบ้านเราบางแห่งเรียกมันว่า “สัมมนา”
    สมัยเหมา เจ๋อตุง มีอำนาจเต็มพิกัด ใครที่มีความเห็นต่างไปจากพรรคก็ต้องส่งเข้าค่ายอบรมใหม่
    หรือไม่ก็ให้ทำการ “วิพากษ์ตนเอง” หรือ self-criticism 
    แม้กระทั่งเติ้ง เสี่ยวผิง ยังถูกเหมาส่งไปทำงานต่างจังหวัด ต้องเขียนหนังสือวิพากษ์ตัวเองเป็นตุเป็นตะกว่าจะได้กลับมาทำงานรับใช้ชาติ และฉีกแนวออกจากเหมา เจ๋อตุง จนสามารถสร้างจีนในรูปแบบ “สังคมนิยมแบบการตลาดที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวแบบจีน” ที่มีผลมาถึงทุกวันนี้
    เผด็จการของไทยเราไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพลเรือนก็คงจะลอกเลียนจากทั้งตะวันตกและตะวันออก เพราะคิดอะไรเองไม่ค่อยเป็น 
    วิธีเรียกคนที่เห็นต่างไป “ปรับทัศนคติ” ก็เข้าทำนองนั้น
    นั่นคืออยากจะให้ฟังดูดี เหมือนไม่ใช่เผด็จการ แต่เป้าหมายก็คือการกดดันและบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้คิดเห็นตรงกับคนมีอำนาจ
    ลงท้ายก็น่าขัน
    เพราะการจะ “ปรับทัศนคติ” ของคนอื่นนั้นแปลว่าทัศนคติของตัวเองถูกต้องมากกว่าของคนที่ถูก “ปรับ” เอาเข้าจริงๆ ผู้มีอำนาจเองนั่นแหละที่อาจจะมีทัศนคติที่ผิดเพี้ยน บ้าอำนาจ และไม่เข้าใจความคิดอ่านของประชาชน
    บ่อยครั้งคนที่เรียกเขาไปปรับทัศนคติเองนั่นแหละควรจะถูกปรับทัศนคติของตัวเองให้สอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการจะเห็น
    ยิ่งเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่ากติกาจะบิดเบี้ยวอย่างไร และการต่อรองเจรจาระหว่างพรรคการเมืองจะน่าเกลียดเพียงใด รัฐบาลใหม่ก็ไม่มีสิทธิ์จะเรียกใครไป “ปรับทัศนคติ” อีกต่อไป
    เพราะคนที่ควรจะต้องถูกปรับทัศนคตินั้นคือนักการเมืองเองที่กำลังยื้อแย่งเก้าอี้กันต่างหาก มิใช่ประชาชนที่กำลังเฝ้ามองปรากฏการณ์นี้ด้วยความห่วงใยต่ออนาคตของประเทศ
    กฎหมายความมั่นคงนั้นมิได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ที่จะเรียกใครไป “ปรับทัศนคติ” เพราะทุกอย่างจะต้องมีกรอบแห่งกฎหมายและเหตุผลที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน
    ดังนั้น คำว่า “ปรับทัศนคติ” จะต้องถูกลบล้างออกจากสารบบของการปกครองประเทศ
    ในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีแต่การ “แลกเปลี่ยนทัศนคติ” และการ “เปิดกว้างสำหรับทัศนคติที่แตกต่าง”
    ไม่มีใครมีสิทธิ์ “ปรับทัศนคติ” ของใครเพียงเพราะคนหนึ่งมีอำนาจทางการเมืองมากกว่าอีกคนหนึ่งเท่านั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"