ชุดโขน ในส่วนของผ้าห่มนางสีดา
โขนเป็นศิลปะชั้นสูงของไทย ที่มีองค์ประกอบสำคัญมากมาย ทั้งตัวละคร เพลงประกอบเครื่องดนตรี อุปกรณ์ที่ใช้ทำการแสดง รวมไปถึงเครื่องแต่งกายโขน หรือที่เรียกว่า พัสตราภรณ์ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์โขน โดยเฉพาะการเย็บปักชุดโขนที่ต้องมีการทอ และปักอย่างประณีตและยึดตามหลักแบบโบราณ ที่ถือได้ว่าเป็นงานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่า อีกทั้งยังส่งต่อไปถึงช่างฝีมือทางด้านเย็บปัก จำนวนไม่น้อย ให้มีแรงกาย แรงใจ ในการสืบสานการทำเครื่องแต่งกายโขนมาจนถึงปัจจุบัน
โดยในงาน “SACICT Mobile Gallery 2019” ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นโดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) หรือ SACICT ภายใต้แนวคิด “Sense of Siam : สืบสานมรดกแห่งภูมิปัญญาสัมผัสงานหัตถศิลป์อันล้ำค่าของแผ่นดิน ได้นำผลงาน ผ้าปักโบราณ (ชุดโขน-ละคร) ในชุดยืนเครื่องนาง ของนางสม คิดหลาวทอง หรือ แม่เปี๊ยก ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2560 มาจัดแสดงโชว์ โดยได้ สองช่างฝีมือที่ทำงานกับแม่เปี๊ยกมากว่า20 ปี ร่วมสาธิตการปักผ้าห่มนางสีดา สะท้อนคุณค่าแห่งภูมิปัญญาของครูศิลป์ของแผ่นดิน เพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่รวมถึงผู้ที่สนใจ และรักในงานศิลปหัตถกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้สัมผัสองค์ความรู้แห่งภูมิปัญญาไทยมีโอกาสชื่นชมผลงานศิลปหัตถกรรมของ SACICT อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ์พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่น ที่จะสืบสานรักษา และต่อยอดการส่งเสริมศิลปาชีพให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และยังมีผลงานของครูศิลป์ อาทิ บาตรน้ำมนต์ลายวิจิตร, ซอสามสาย รวมถึงผลิตภัณฑ์เชิงนวัตศิลป์จากโครงการต่างๆ ของ SACICT อาทิ Collective Item ทศกัณฑ์, ผลงานArt Tpy, ผลงานโขลงจากบ้านเบญจรงค์บางช้าง, ฟักทองดุนลายดอกไม้(Pumpkin Flower Motif), ขันโองานเขียนลวดลายด้วยรักสี, ราชสีห์แผ่นทองแดงตกแต่งจากศิลปะอังกอร์ และอื่นๆอีกมากมาย ณ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือSACICT กล่าวว่า นับว่าเป็นการแนะนำองค์กรของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมองค์ความรู้อนุรักษ์ สืบสานคุณค่าแห่งหัตถศิลป์ไทย และมุ่งมั่น ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยการต่อยอดภูมิปัญญาอย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนให้งานหัตถศิลป์ไทย มีความร่วมสมัย สามารถประยุกต์เป็นหนึ่งเดียวกับการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมไทย นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดพระราชจริยาวัตรที่งดงามของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร โดยเสด็จฯตาม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันหลวง ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆด้วย
“ในส่วนของไฮไลท์ การจัดครั้งนี้ คือการนำผลงานของ นางสมคิด หลาวทอง ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2560 ผู้เปรียบเสมือนแม่ครู ที่เป็นต้นแบบให้ความรู้ด้านงานปักชุดโขน-ละคร ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันให้เป็นอาชีพ ที่ยังคงแบบฉบับของกรมศิลปากร ที่มีความสวยงามละเอียดอ่อน อนุรักษ์ไว้ตามมาตรฐาน ละครรำของกรมศิลปากรอย่างครบถ้วน” รองผู้อำนวยการฯกล่าว
ชัญญภัค(ซ้าย)-วรรณา(ขวา)
ชัญญาภัค แก่นทอง น้องสะใภ้ของแม่เปี๊ยก ที่เรียนรู้วิธีการปักชุดโขน มาตั้งแต่ยังสาวได้เล่าว่า เห็นแม่เปี๊ยกทำงานเกี่ยวการเย็บปักชุดโขนมาตลอด ทำให้รู้สึกชอบ คิดว่าตนเองเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ และตั้งใจที่จะทำงานตรงนี้ไปจนกว่าจะทำไม่ไหว เพราะชุดโขนไม่ใช่แค่ความสวย หรือลวดลายที่งดงาม แต่ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวของผู้ทำ ที่ต้องอาศัยความอดทน ความใส่ใจ และระยะเวลาในการทำ ซึ่งตนเองก็ฝึกเป็นปีกว่า ที่แม่เปี๊ยกจะยอมปล่อยมือให้ทำเอง หลังทำสำเร็จ และส่งให้ผู้ที่สั่งตัดและได้เห็นชุดที่เราทำได้อยู่บนตัวนักแสดง ในฐานะคนทำมันรู้สึกปลื้มปริ่มและภูมิใจมากๆ
“สำหรับการสาธิตการปัก ที่เรียกว่าถมลายผ้าห่มนางสีดาความยาวประมาณ2.30 เมตรในงานครั้งนี้ ซึ่งเป็นลายโบราณที่มีรูปแบบมาจากจิตรกรรมผนังวัด ที่ทางกรมศิลป์ได้ทอดลายไว้ ซึ่งเป็นลายโบราณ และเทคนิคการปักแบบดั้งเดิมที่แม่เปี๊ยกได้ถ่ายทอดไว้ อยากให้ทุกคนได้เห็นได้สัมผัสว่าก่อนที่ชุดจะทำออกมาได้อย่างสวยงาม ต้องมีขั้นตอนอย่างไร โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ที่ตอนนี้มีความสนใจในเรื่องการเย็บปักน้อยมาก จึงอยากให้ซึมซับและนำไปสานต่อเพื่อให้สิ่งเหล่านี้คงอยู่ต่อไป เพราะนี่คืออีกสิ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงให้อนุรักษ์และส่งเสริมตลอดมา และหากใครสนใจก็สามารถไปเรียนได้ที่บ้านแม่เปี๊ยก เปิดสอนฟรีทุกวันเสาร์-อาทิตย์” ชัญญาภัค บอกอย่างมีความหวัง
อีกหนึ่งช่างปักมือฉมัง วรรณา นิ่มประเสริฐ ที่ทำชุดโขนมากว่า 20 ปี ได้มาสาธิตการปักดิ้นข้อหรือที่เรียกว่า ล็อคลาย ได้เล่าเสริมว่า ตั้งเด็กๆ เป็นคนที่ชอบงานเย็บปักถักร้อยมาก แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ หรือใกล้ชิดกับงานพวกนี้เลย จนวันหนึ่งแม่เปี๊ยกได้ย้ายมาอยู่บ้านตรงข้าม เราเอาหลานไปเล่นที่บ้านเขา ได้นั่งเล่น นั่งช่วยร้อยเข็ม เวลาทำก็จะคอยแอบจำวิธีการปักเรียกได้ว่าครูพักลักจำมาตลอด จนได้มีโอกาสปักลวดลายจริงๆ แม่เปี๊ยกเห็นว่ามีแววก็ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้ หากสังเกตดีๆจะเห็นว่าลายของบ้านแม่เปี๊ยก มีเอกลักษณ์ซึ่งเป็นลายกนกไทยส่วนใหญ่ ซึ่งลายปักบ้านอื่นๆก็จะมีเอกลักษณ์ที่ต่างกัน การปัก1 ชุดก็จะใช้เวลาในการทำ1-2 เดือน เพื่อให้สมบูรณ์แบบที่สุด เวลาคนสั่งตัดเห็นชุดที่เราทำแล้วยิ้ม มันมีความสุขใจอย่างมาก และอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มาสนใจ ไม่ใช่การบังคับในการสืบสานงานหัตถศิลป์ที่มีคุณค่าของไทย
ผู้ร่วมงานชมการสาธิตการปัก
ใครที่พลาดงาน SACICT Mobile Gallery 2019 ที่ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ สามารถติดตามไปชมได้ในการจัดงานครั้งที่ 3 ที่ อาคารจัตุรัสจามจุรี ระหว่างวันที่ 5 - 9 สิงหาคม 2562 และครั้งที่4 ที่บ้านนครใน จังหวัดสงขลาระหว่างวันที่14 - 18 สิงหาคม 2562 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.sacict.or.th, Facebook Page : ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) www.facebook.com/sacict และ SACICT Call Center : 1289
-----------------------