สภาองค์กรชุมชนฯ ยื่นข้อเสนอ 10 ด้านให้ 4 กระทรวงแก้ไขปัญหา เน้นกระจายอำนาจ-แก้ไขปัญหาทรัพยากร-ลดความเหลื่อมล้ำ


เพิ่มเพื่อน    

ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนฯ ยื่นข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อนายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน

 

นิด้า/ สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติรวบรวมข้อเสนอจากเวทีสภาฯ และเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ  ยื่นข้อเสนอต่อ 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง  คือ  เกษตร-การพัฒนาสังคม-ทรัพยากร-พลังงาน แก้ไขปัญหา 10 ด้าน  เช่น  การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  ป่าไม้  ที่ดิน  แหล่งน้ำ  กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  เสนอเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง  ปัญหาประมง  แก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ  หาตลาดยางใหม่นอกจากจีน  และแก้ไขผลกระทบจากโครงการรัฐขนาดใหญ่  ฯลฯ

 

ระหว่างวันที่ 21-22 กรกฎาคม  ที่ห้องประชุมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศและภาคีที่เกี่ยวข้องประมาณ 140 คน  ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสรุปและรวบรวมปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  คุณภาพชีวิต  และสิ่งแวดล้อม  ที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ  และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551   เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการต่อไป

 

นายชูชาติ  ผิวสว่าง  ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ  กล่าวว่า  การจัดประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับตำบลระดับชาติ พ.ศ. 2561 (จัดเมื่อ 30-31 มกราคม 2562) เพื่อรวบรวมปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ผ่านการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ  หลังจากนั้นจึงได้มีการสังเคราะห์ปัญหา  จัดหมวดหมู่ปัญหา  และพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายของสภาองค์กรชุมชน  รวมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 

 นายชูชาติ  ผิวสว่าง

 

นายชูชาติกล่าวว่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็ง  สมาชิกองค์กรชุมชนและประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  โดยการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมาในแต่ละตำบล  ซึ่งขณะนี้จัดตั้งขึ้นแล้วประมาณ 7,300 สภาฯ ทั่วประเทศ  เพื่อเป็นเวทีในการปรึกษาหารือ  เวทีในการวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่น  และสามารถนำเสนอข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานรัฐ ทั้งในระดับจังหวัด  รวมถึงคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการได้ โดยจะมีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถือเป็น ‘สภาของประชาชน’ อย่างแท้จริง

 

ทั้งนี้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ มาตรา 32 (2) กำหนดให้สภาองค์กรชุมชน ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด  ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม  และ(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

 การประชุมสภาองค์กรชุมชนที่นิด้า

 

นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ จากเครือข่ายประชาชน และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ  เช่น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE)  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)   ฯลฯ  โดยมีประเด็นสำคัญในการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ 10 ด้าน   โดยในวันนี้ (22 กรกฎาคม) ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนได้เข้ายื่นข้อเสนอและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ คือ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และกระทรวงพลังงาน   โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

1.นโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  / 1.1 นโยบายที่ดิน  มีข้อเสนอ  เช่น  กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม  มาตรการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินที่เหมาะสมกับการทำเกษตรถูกใช้ไปดำเนินการผิดประเภท, ยกเลิก พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพราะไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต สิทธิชุมชน และการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน, ผลักดันให้มี พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร (ในรูปแบบโฉนดชุมชน), การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรกรรมของเกษตรกรรายย่อย, ออกกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อป้องกันที่ดินกระจุกตัวกับกลุ่มนายทุน, ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกมิชอบ (มาตรา 61) และที่ดินทิ้งร้างว่างเปล่า (มาตรา 6) กระจายที่ดิน 1 ล้านไร่ให้ชุมชนไร้ที่ดิน 10 ล้านคน, คืนสัมปทานที่ดินต่างชาติ/นายทุนให้คนจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

1.2 นโยบายป่าไม้  มีข้อเสนอ  เช่น  ยุติ / ยกเลิกนโยบายและกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน, ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้, การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน  เพราะการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด/คุกคามชีวิต/ทรัพย์สินและส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ, ยุติการนำนโยบาย มติ และระเบียบของ คทช. มาบังคับใช้กับชุมชนที่มีรูปแบบการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่, ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541  รวมทั้งมติอื่นที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน อาทิ มติคณะรัฐมนตรีในการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ, ยกเลิกพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562  เนื่องจากร่างกฎหมายทั้งสามฉบับมีเนื้อหาที่ลิดรอนและละเมิดสิทธิชุมชนในเขตป่า, ยกเลิกเขตเศรษฐกิจพิเศษในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ประกาศทับซ้อนพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีและพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม

1.3 แก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย  เช่น   ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2561, ผลักดันพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราก้าวหน้า พ.ศ. ......., พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับกลไกและกระบวนการเข้าถึงกองทุนยุติธรรมของผู้ยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม, พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ให้มีการปรับปรุงกลไกมาตรการและกระบวนการอนุญาตและลดข้อจำกัดการจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน (อาทิ มาตรา 9 และ มาตรา 12), พระราชบัญญัติป่าชุมชน   ต้องทบทวนเรื่องหลักการ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เปลี่ยนจากการควบคุมเป็นส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้  ฯลฯ

 

2. การกระจายอำนาจ  มีข้อเสนอ  เช่น  ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม  เพื่อลดการรวมศูนย์ของรัฐส่วนกลางที่มีการผูกขาดทางอำนาจและระบบเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น   โดยมีข้อเสนอการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง   เช่น  ให้ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค (ผู้ว่าราชการจังหวัด,อำเภอ และกำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจของส่วนกลางและขึ้นตรงต่อสายการบังคับบัญชาของรัฐส่วนกลาง ไม่มีอิสระในการบริหารงานและงบประมาณ ให้มีเพียงการปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.,เทศบาล,อบจ., กทม.,เมืองพัทยา,..) และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรงจากประชาชน เพื่อความเป็นอิสระในการบริหารงานและงบประมาณ

 

3. นโยบายสังคมสูงวัย  มีข้อเสนอ  เช่น  ให้รัฐบาลร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย  และการเตรียมความพร้อมทั้ง 4 มิติ (เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม สุขภาพ), ให้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ภายใต้กรมกิจการผู้สูงอายุ สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในชุมชนให้เข้มแข็ง, ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  กระทรวงมหาดไทย  แก้ไขระเบียบการจ่ายเงิน การสมทบ ให้สามารถดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตและการจัดสวัสดิการประชากรในพื้นที่ได้, ขอให้รัฐบาลส่งเสริมการออมในรูปแบบการออมต้นไม้เพื่อสวัสดิการบำเหน็จบำนาญ  โดยให้สภาองค์กรชุมชนเป็นหลักในการดำเนินงานร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง  ฯลฯ

 

4.นโยบายเศรษฐกิจชุมชน  มีข้อเสนอ  เช่น  ให้รัฐบาลสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณกับสภาองค์กรชุมชนตำบลกว่า 7,000 สภาฯ ให้จัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  หรือแผนธุรกิจชุมชน  กับกลุ่มองค์กรวิสาหกิจชุมชน  ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และการตลาด ที่สอดคล้องกับภูมินิเวศและวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น, ให้รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนตำบลในการปลูกไม้เศรษฐกิจชุมชน  เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มพื้นที่สีเขียว  ฯลฯ

 

5. นโยบายภัยพิบัติ  มีข้อเสนอ  เช่น  ส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน  เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุและการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ โดยเสริมความรู้ความสามารถร่วมกันทุกภาคส่วนในการจัดการภัยพิบัติ เสริมศักยภาพอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ การจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ตามแผนรับมือภัยพิบัติไปที่ชุมชนโดยตรง, จัดตั้งกองทุนและคณะกรรมการบริหารกองทุนจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่น, ปรับปรุงกลไกคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.), ปรับปรุงกฎหมาย  โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เพื่อให้เอื้อในการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย  ฯลฯ

 

6. นโยบายภัยการบริหารจัดการน้ำ  มีข้อเสนอ  เช่น  รัฐบาลควรทบทวนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน  ให้ดําเนินการให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส  และมีส่วนร่วมของประชาชน  โดยกําหนดให้โครงการขนาดใหญ่ต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  และสภาองค์กรชุมชนตำบลเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงรัฐบาลควรปฏิรูประบบการจัดการน้ำ  โดยเปลี่ยนจากการจัดทําแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำ  เป็นการจัดทํา “แผนยุทธศาสตร์พัฒนาลุ่มน้ำของประเทศ” ให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ในท้องถิ่น  โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสภาองค์กรชุมชนตำบลเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผน, รัฐบาลควรออกกฎหมายการเก็บภาษีการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำจากธรรมชาติ  และการพัฒนามาตรการของภาษีสิ่งแวดล้อม หรือภาษีภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำจากธรรมชาติ  ฯลฯ

 

7.นโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนและคุ้มครองพื้นที่การเกษตร  มีข้อเสนอ  เช่น  ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการควบคุมการใช้และจำหน่ายสารเคมีและปัจจัยให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย 2551 ยุติการใช้สารเคมีการเกษตรกำจัดศัตรูพืชอันตรายทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต คลอร์ไพริฟอส คาร์โบฟูราน และเมทโทมิล, ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. ……… , ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ. ……… ,  แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ให้เอื้อต่อการผลิต เก็บรักษา ขยายพันธุ์ และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย เพื่อลดการผูกขาด, ปฏิรูป แก้ไข  และบังคับใช้ พ.ร.บ.ค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้สามารถคุ้มครองสิทธิเกษตรกรได้อย่างเป็นธรรม ฯลฯ

กรีดยาง

 

8.นโยบายการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบ  มีข้อเสนอ  เช่น  1.ปฏิรูปเกษตรกรชาวสวนยาง  เช่น  ใช้กลไกมาตรา 49 (5) จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง  ลักษณะสังคมสวัสดิการ ในรูปแบบสมัครใจจ่ายสมทบ, ให้ขึ้นทะเบียนชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์  เพื่อเป็นเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4, ให้รัฐบาลและการยางแห่งประเทศไทยจัดทำยุทธศาสตร์ยางพาราหรือแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชาวสวนยาง 

2.ปฏิรูปสวนยาง  เช่น  เปลี่ยนการทำสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นการทำสวนยางอย่างยั่งยืน โดยการลดจำนวนต้นยางเหลือ 40 ต้นต่อไร่, ให้ กยท.ส่งเสริมและสนับสนุนให้ปลูกพืชร่วมยาง  ทำเกษตรผสมผสาน และการทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยาง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร  3. ปฏิรูปการผลิต และการแปรรูป  เช่น  ส่งเสริมให้ผลิตและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า, ให้รัฐบาลประกาศนโยบายการใช้ยางในประเทศให้ถึง 25% ภายใน 2 ปี  โดยกำหนดเป็นระเบียบตามกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม  ฯลฯ 4. ปฏิรูปการตลาด  เช่น  ให้การยางแห่งประเทศไทยตั้งบริษัทค้ายางตามมาตรา 10 เพื่อถ่วงดุลและรักษาเสถียรภาพราคายางพารา, ให้ลดการพึ่งพาตลาดประเทศจีน  และหาตลาดใหม่รองรับ  5. ปฏิรูปหน่วยงานของรัฐและการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)  ให้รัฐบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 อย่างเคร่งครัด, ให้รัฐบาลแต่งตั้งบอร์ดการยางเฉพาะกิจ เพื่อทำการปฏิรูป กยท. โดยต้องคัดเลือกจากคนดี มีความสามารถ มีคุณธรรม มีความเชี่ยวชาญเรื่องการยาง  ฯลฯ

 

9. นโยบายการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการประมง  / การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  มีข้อเสนอ  เช่น จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบมีส่วนร่วม, ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS), แก้ไขกฎหมายอุทยานแห่งชาติเพื่อใช้ประโยชน์ทางทะเลในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  ให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการ  เพื่อการพัฒนาอนุรักษ์ฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน, ให้รัฐบาลมีการทบทวนยกเลิกกิจการโครงการขนาดใหญ่  โรงงานอุตสาหกรรมหนักอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  เส้นทางขนส่ง Land bridge ที่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญตลอดแนวชายฝั่งทะเลและส่งผลกระทบกับชุมชน, ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายระบบนิเวศน์และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งเพิ่มเติมจากอวนลาก ได้แก่ อวนรุน และเรือที่ใช้เครื่องปั่นไฟ

 ประมงชายฝั่ง

 

พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และ ฉบับเพิ่มเติม พ.ศ. 2560  เช่น  1.ให้จัดตั้งกองทุนประมงพื้นบ้าน  เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการประมง  ส่งเสริมนวัตกรรมด้านการตลาด  2.กรณีการประมงในเขตอุทยานแห่งชาติ แม้ได้รับการผ่อนปรนในทางปฏิบัติ แต่ยังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนในการประกอบอาชีพ   จึงเห็นควรให้กรมอุทยานแห่งชาติเร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลเสนอรัฐบาลให้ทันกับเวลาที่กำหนด โดยเปิดให้การประมงที่ยั่งยืนสามารถทำประมงได้โดยไม่ผิดกฎหมาย  ฯลฯ

 

10.นโยบายผลกระทบจากนโยบายของรัฐและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ / ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีข้อเสนอ  เช่น  ให้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางของคณะกรรมการผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการพิจารณารายงาน EIA และระบบใบอนุญาต EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC)  เช่น  รัฐบาลควรปรับปรุงนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ในประเด็นด้านการจัดทำผังเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วม “อย่างแท้จริง” ในการกำหนดทิศทาง  เป้าหมายหรือออกแบบการพัฒนาร่วมกัน  และให้มีกลไกตัวแทนองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนมีส่วนร่วมในกลไกการดำเนินงานในทุกระดับ

 

โครงการอุตสาหกรรมอ้อย/น้ำตาล  ให้ยกเลิกมติ ครม. ว่าด้วยการอนุมัติกำลังหีบอ้อยและน้ำตาลทราย โครงการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ทั้งหมด 29 โครงการที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ให้รัฐบาลสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนจัดเวทีสาธารณะเพื่อเปิดเวทีกลางรับฟังความคิดเห็นและการเสนอข้อมูลนโยบายการพัฒนา อ้อย น้ำตาล และอุตสาหกรรมชีวภาพระดับภาค

 

โครงการรถไฟทางคู่  ให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจุดก่อสร้างรถไฟทางคู่ทุกเมือง โดยมีองค์ประกอบของภาคประชาชนและสภาองค์กรชุมชนอยู่ด้วย, ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  วางแผนการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน  และศึกษาผลกระทบทางสังคม (SIA) ร่วมกับตัวแทนภาคประชาชน   สภาองค์กรชุมชน  ฯลฯ

โรงงานไฟฟ้า    ภาพจาก energydigital.com

 

โครงการโรงงานไฟฟ้าชีวมวล  เช่น  การกําหนดสถานที่และพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล จําเป็นต้องกําหนดระยะห่างเป็นข้อกําหนดกฎระเบียบที่ชัดเจน  เช่น  ระยะห่างจากบ้านเรือนประชาชนอย่างน้อยเท่าไหร่, การประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ ให้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทุกโครงการ โดยปรับข้อกําหนดเรื่อง EIA จากตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน  ให้เป็น 1 เมกะวัตต์ขึ้นไปต้องทํา EIA ทุกโครงการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สามารถใช้อํานาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 กําหนดให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่่อาจเป็นอันตราย  แล้วออกข้อกําหนดเกี่ยวกับการขออนุญาตและติดตามตรวจสอบโครงการได้, ให้รัฐบาลสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการให้ข้อมูลนโยบายโรงงานไฟฟ้าชีวมวลระดับพื้นที่  ฯลฯ

การแถลงข้อเสนอของสภาองค์กรชุมชนฯ ต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"