7พรรครุมยำรบ.ก่อนอภิปราย!


เพิ่มเพื่อน    


    อุ่นเครื่องซักฟอกนอกสภา 7 พรรคฝ่ายค้านปลุก ปชช.เป็นแนวร่วมแก้ รธน. "เฮียพงษ์" ชวนปักธูปสาปแช่งผู้ร่าง รธน. 80 คน "วันนอร์" ซัดชัด รธน.มะเร็งร้าย ถ้าไม่แก้ตายทั้งประเทศ "ธนาธร" หวั่นหากแก้ รธน.เสี่ยงเกิดรัฐประหาร ยุรากหญ้ารวมตัวที่สภา พรรคเล็กได้ทีล่ารายชื่อแก้ รธน. 25 ก.ค. "ตู่" ด่า "ตู่" ข้องใจไม่ใช่ จนท.รัฐสงสัยเป็น "หมา" ขณะที่ "พ่อฟ้า" อ้างคำร้อง ม.49 ศาล รธน.ไม่มีอำนาจยุบพรรค ครป.จี้ปรับ ครม.สีเทากู้ภาพลักษณ์ ชง 11 ข้อแก้ปัญหาชาติ วิปรัฐบาลเผย 70 ส.ส.ร่วมอภิปราย นายกฯ กำชับ รมต.ช่วยกันชี้แจง
    ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ วันที่ 21 กรกฎาคม พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมจัดงานเสวนา “ทางออกในการแก้ไขปัญหาวิกฤติของชาติ” มีหัวหน้า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อประชาชนเข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นพ.นิยม วิวรรธนดิษฐกุล รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่,  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย มีนายศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ภายในงานยังได้รับความสนใจจาก ส.ส., อดีต ส.ส. รวมถึงแกนนำจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน เดินทางมาร่วมรับฟังกันอย่างคับคั่ง
    โดยนายสมพงษ์กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ประชาชนอ้าปากไม่ได้ เดือดร้อนอย่างมาก สิทธิมนุษยชนถูกลิดรอน ฝ่ายตรงข้ามทำอะไรก็ไม่ถูกไปหมด ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ หรือถูกคุกคาม ถูกจับ ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ฝ่ายเดียวกันทำได้หมด สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยผู้มีอำนาจเอารัฐธรรมนูญที่ร่างเอง กำหนดเอง มาทำให้ประชาชนลำบาก หากเจอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะบอกว่าสิ่งที่ทำให้ท่านมาอยู่ตรงนี้ ไม่ถูกครรลองคลองธรรม ไม่ถูกกฎหมาย
     "รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ตามบทกฎหมาย เพราะต้องอาศัยเสียง 1 ใน 3 จากส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ก็เห็นแล้วไม่เห็นมีสักคนที่โหวตไปอีกทาง ดังนั้นการแก้ไข รธน.จึงต้องขึ้นอยู่ประชาชนทั้งประเทศ การจะไปยื่นญัตติในสภาคงเป็นไปไม่ได้ เรากับประชาชนจึงต้องช่วยกันเพื่อให้เกิดการแก้ไข ไม่เช่นนั้นก็จะจมปลักอยู่แบบนี้ตลอดไป" นายสมพงษ์กล่าว 
    ระหว่างนี้ผู้ดำเนินรายการถามว่า จากนี้ไปฝ่ายค้านจะเคลื่อนไหวนอกสภามากขึ้นหรืออย่างไร นายสมพงษ์กล่าวว่า รัฐบาลอาจจะออกได้ทันที แต่ก็จะได้รับการเลือกเข้าไปใหม่ เพราะมีเสียง 250 ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ทั้งฝ่ายค้านและประชาชนจะต้องร่วมจิตร่วมใจเพื่อแก้รัฐธรรมนูญนี้ให้ได้ ฝ่ายค้าน 7 พรรค จะผนึกกำลัง รักและสามัคคี จะต่อสู้เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมกับสังคม วันนี้เรามีศัตรูร่วมกัน เป้าหมายคือหาทางทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม การเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ไม่ติดขัด  
    “พรรคร่วมฝ่ายค้านจะประสานกับประชาชน เราไม่ได้ปลุกระดม เพียงแค่เราเสริมต่อ การแก้ไขไม่ให้เกิดรัฐธรรมนูญบ้าๆ บอๆ แบบนี้อีก เลยขอปรึกษาพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด ให้เขียนชื่อผู้ร่วมร่าง รธน.กว่า 80 คน ให้เราสลักชื่อพวกนี้ไว้ด้วยตัวอักษรโตๆ แล้วมีกระถางธูป 2 กระถาง คือกระถางที่สนับสนุน กับสาปแช่ง แล้วก็ติดไว้แบบนี้ แล้วมาดูกัน กระถางไหนธูปเยอะกว่า เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าตระกูลไหนมีส่วนเกี่ยวข้องกับร่าง รธน.ฉบับนี้ หากคนในตระกูลเห็นว่าโอ๊ยแบบนี้ไม่ไหว แล้วจะไปเปลี่ยนนามสกุล ก็ เป็นเรื่องของเขา” นายสมพงษ์กล่าว
    นายธนาธรกล่าวว่า วิกฤติที่หนักมากและน่าเศร้า เรากำลังส่งสังคมที่แย่กว่านี้ให้ลูกหลาน ถ้าไม่ทำอะไร ลูกหลานจะได้รับมรดกของสังคมที่แย่กว่าปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจีดีพีโต 15% แต่รายได้ภาคแรงงานลดลง 5% รายได้ภาคการเกษตรติดลบ 3% หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 28% แต่ 50อันดับคนที่รวยที่สุดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 64% ทุนผูกขาดกับความเหลื่อมล้ำคือเหรียญเดียวกันที่อยู่คนละด้าน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เอื้อกลุ่มทุน นักการเมืองพรรคที่อยู่กับคุณประยุทธ์จะพูดตลอดว่าไม่ต้องสนใจประชาธิปไตย จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจคือเรื่องโกหก เพราะระบอบการเมืองที่ดีนั้นถึงจะสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจได้ 
รธน.ระเร็งร้ายต้องแก้ไข
    ผู้ดำเนินรายการได้ถามว่า ฝ่ายค้านมีวิธีป้องกันการรัฐประหารอย่างไร นายธนาธรกล่าวว่า ถ้าไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ ก็มีคนอื่นอีก คุณประยุทธ์คือตัวแทนของอภิสิทธิ์ชน ตนยังกังวลว่าจะมีรัฐประหารอีก เพราะรัฐธรรมนูญคือหัวใจของการครองอำนาจของเขา ถ้าเราแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีความเสี่ยงเกิดรัฐประหาร สถานที่ที่เราจะรวมตัว ไม่ใช่สนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ไปสภา เพื่อยืนยันว่าอำนาจยังอยู่ที่สภา ดึงความศักดิ์สิทธิ์ของผู้แทนฯ เข้ามา แล้วแสดงสัญลักษณ์ ถ้ามีการคัดค้าน เชื่อว่าพรรคฝ่ายค้านจะร่วมต่อสู้กับประชาชน ครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิมแน่นอน นอกจากนี้ถ้าไม่ปฏิรูปกองทัพ เขียนรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็โดนล้ม
    นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า สิ่งที่วิกฤติแก้ไม่ได้คือความศรัทธา นายกฯ อาจจะดูแลความสงบได้ แต่ต้องทำให้ปากท้องประชาชนกินอิ่มด้วย เมื่อไปดูรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) ระบุชัดต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แต่พอไปกลายเป็นว่าเอารัฐมนตรีบางคนที่มีความทุจริตอันเป็นที่ประจักษ์มาเป็น ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ที่ต้องมาดูแลเงินคนทั้งประเทศ มีตำหนินิดเดียวก็ไม่ได้ เรื่องปล่อยเงินกู้คนที่ลงนามติดคุก แต่กลับมีบางคนไม่ติดคุก ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางกฎหมาย
    นายวันมูหะมัดนอร์ตอบคำถามถึงการทำงานของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่มักวินิจฉัยตามนายพรเพชร ประธานวุฒิสภา ว่าขอย้อนกลับไปคำถามก่อนหน้า หากเจอ พล.อ.ประยุทธ์ จะถามว่า ท่านครับ ท่านพอแล้วครับ ประชาชนเป็นทุกข์เดือดร้อนมาก เดาว่าเขาคงจะตอบว่า ผมขออีก 8 ปี เราไม่ได้กลัวคนฉลาด ไม่ได้กลัวคนโง่ แต่สิ่งที่ไม่อยากพูดด้วยคือคนหน้าด้าน เมื่อด้านมา 5 ปีแล้ว จะด้านอีก 8ปีแล้ว คงไม่ไหวแน่ ส่วนนายชวน ที่ทำหน้าที่มา ก็ผ่านแบบปริ่มน้ำ คงดูบทบาทหน้าที่ต่อไป ท่านคงรักษาชื่อเสียงที่สะสมมานาน เพราะสภาคือสภาประชาชน ไม่ใช่สภาประชาธิปัตย์ หรือของฝ่ายใด 
     "รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุด ทำให้เราได้ประชาธิปไตยแบบปลอมๆ รัฐบาลปลอมๆ ถ้าคนเราป่วย กินยาก็จบ แต่สิ่งนี้คือมะเร็งร้ายของประเทศ ถ้าเราไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ประยุทธ์ตายคนเดียว จะพากันตายทั้งประเทศ เมื่อมีรัฐธรรมนูญปลอมๆ ยุบสภาเลือกใหม่ เขาก็ได้อีก เพราะ 250 ส.ว.คือมะเร็งร้าย ทำลายประชาธิปไตยทั้งประเทศ เราต้องรักษามะเร็งนี้ให้ได้คือมาตรา 272 ขับไล่รัฐบาลไม่น่ากลัว เพราะเขาจะมาใหม่ ดังนั้นจึงต้องแก้มะเร็งร้ายคือรัฐธรรมนูญ" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว 
    นายสงครามกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อประเทศ ประกอบกับผู้มีอำนาจเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเจ้าสัวคนใดคนหนึ่ง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เกิดการผูกขาด คนร้อยละ 1 ครอบครองทรัพย์สินของประเทศถึง 66.9% ขณะที่คนส่วนใหญ่ร้อยละ 99 ถือครองทรัพย์สินเพียง 1 ใน 3 ของประเทศ ตอนนี้ความเหลื่อมล้ำของไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก
    "นอกจากเราร่วมกันทำงานในสภาแล้ว นอกฝ่ายค้านก็จะฟังเสียงของประชาชน สิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เราจะรับไปปฏิบัติ เราไม่ได้ปลุกระดมให้พี่น้องประชาชน การก่อม็อบถูกกฎหมาย รัฐธรรมนูญให้สิทธิ เสรีภาพประชาชน เพียงแต่เราต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย มาตรา 44 ไม่มีแล้ว" นายสงครามกล่าว 
    พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือปัญหาของประเทศ หากออกไปสักคนเดียว ประเทศไปได้ ที่มีคนบอก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าไม่ใช่ เป็นหมาหรืออย่างไร เรื่องคุณสมบัติตอนนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะเอาประเทศชาติไว้หรือไม่ พูดกี่ครั้งก็ไม่เห็นมีใครเรียกไปปรับทัศนคติ บอกถ้าจะมาเยี่ยมเดี๋ยวจะยิงให้ ตอนนี้ต้องเอาประยุทธ์ออกไปให้ได้ หรือดำเนินการให้ ส.ว.พ้นให้ได้ 
ศาล รธน.ไม่มีอำนาจยุบ อนค.
    นพ.นิยมกล่าวว่า วิกฤติของชาติ เกิดจากรากเหง้าทั้งระบบการ การเมืองช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการสืบทอดอำนาจมาถึงปัจจุบัน ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เหมือนเดิม คงเปรียบเหมือนทีมฟุตบอลชุดเดิม พราะมีประตูคนเดียว แค่เพิ่มตัวผู้เล่น 
    ส่วนนายนิคมกล่าวว่า รอบนี้เราคงไม่ต้องบอกให้พี่น้องประชาชนออกมา เขาคงออกมาเอง เพราะถ้าไม่ออกมา อดตายแน่ ตนยังรู้มาวันที่ 25 ก.ค.จะมีการล่ารายชื่อประชาชนเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
     ด้านนายธนาธร ให้สัมภาษณ์หลังงานเสวนาถึงกรณีเตรียมการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมในเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าพรรคอนาคตใหม่และคณะกรรมการบริหารพรรค ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า ไกลที่สุดที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำได้คือ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เราหยุดการกระทำดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะยุบพรรคภายใต้คำร้องนี้ จึงอยากเรียนไปยังพ่อแม่พี่น้อง รวมถึงประชาชนที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ว่าขอให้ไว้วางใจได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจนี้ 
    "ประชาชนไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย และเห็นว่าเอะอะอะไรก็มีการยุบพรรค เอะอะก็ใช้กระบวนการยุติธรรมมาเล่นงานพรรคการเมืองที่มีจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ จึงอยากตั้งคำถามไปว่า เหตุใดประชาชนจำนวนมากจึงคิดอย่างนี้ และศาลยุติธรรมต่างๆ มีความยุติธรรมจริงหรือไม่ ผมยังไม่เห็นคำร้อง ซึ่งหากมีการพิจารณานอกเหนือจากมาตรา 49 ก็คือเป็นการพิจารณาเกินเลยอำนาจไปแล้ว เพราะการร้องในมาตรา 49 ให้อำนาจศาลในการพิจารณา แต่ไม่ได้ให้อำนาจในการยุบพรรค" นายธนาธรกล่าว
    เมื่อถามว่า ที่พูดบนเวทีเสวนาว่าหากมีการรัฐประหารจริง สถานที่ที่จะนัดรวมกันคือเป็นการส่งสัญญาณอะไร นายธนาธรกล่าวว่า เป็นการส่งสัญญาณแน่นอน แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าพรรคอนาคตใหม่และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ พร้อมที่จะต่อสู้กับการทำรัฐประหารหากมีขึ้นในอนาคต
    วันเดียวกัน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน มีการจัดงานภิปรายข้อเสนอคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กับคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ 2 โดยมีนายพิชาย รัตดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป., นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป., นายกษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษา ครป.  และนายปรีดา เตียสุวรรณ ที่ปรึกษา ครป. ร่วมเสวนา
    นายพิชายกล่าวว่า เรื่องภาพลักษณ์ของ ครม. ค่อนข้างไปทางลบ มีรัฐมนตรีที่มีเรื่องอื้อฉาวมากมาย แม้แต่ตัวนายกฯ เอง ที่ต้องอาศัยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ ซึ่งกรณีภาพลบอาจมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รีบแก้ไขโดยการปรับ ครม. ขณะที่ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล มีการแย่งชิงตำแหน่ง ทะเลาะกันเอง  สะท้อนให้เห็นถึงความตกต่ำของรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ทำให้รัฐบาลต้องมีต้นทุนต่ำ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งเพิ่มต้นทุนให้กับตัวเอง ไม่อย่างนั้นรัฐบาลอาจประสบชะตากรรมที่ไม่คาดฝันขึ้นได้ ในอนาคตอันใกล้ ยังมีสัญญาณออกมาให้เห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีแนวโน้มจะไม่รักษาสัญญาประชาคมที่เคยให้ไว้ในช่วงหาเสียง อย่างเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ การลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% หรือการเพิ่มเงินเดือนให้คนจบ ป.ตรีเป็น 20,000 บาท ทำให้บั่นทอนความน่าเชื่อถือของตนเอง
ครป.ชง 11 ข้อแก้ปัญหาชาติ
    นายปรีดากล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูญวัย เกือบจะถึง 20% ของประเทศที่จะอายุมากกว่า 60 ปี และภายในปี 2535 จะสูงถึง 30% ปัญหาที่ต้องแก้คือการเพิ่มรายได้รัฐจากสิ่งที่เรามีอยู่ เปิดโอกาสให้มีการขยายขนาดธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เนื่องจากธุรกิจแทบทุกประเภทในประเทศไทยถูกครอบคลุมโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นอำนาจเหนือตลาด เหนือสังคม ซึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้ก็ต้องมีความเสียสละด้วยโดยแบกรับภาษีที่ต้องจ่ายมากขึ้น และไม่อนุญาตให้เอกชนกลุ่มใดถือครองตลาดในสินค้านั้นๆ เกินกึ่งหนึ่งของตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง  
    นายกษิตกล่าวว่า ตนเคยมีโอกาสเจรจาซื้อขาย เครื่องบินรบกับเยอรมนี ที่ประเทศไทยชี้แจงว่าเป็นความลับของกระทรวงกลาโหม แต่ในส่วนของผู้ขายอย่างประเทศเยอรมนี กลับเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างโปร่งใส ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ในฐานะที่เราเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน จึงไม่เห็นสาเหตุใดๆ ว่าการที่เราซื้ออาวุธนั้นจะเป็นความลับไปทำไม การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐได้ เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการในทุกกระทรวงทบวงกรม กองทุนต่างๆ และรัฐวิสาหกิจ นับเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ความโปร่งใสเกิดขึ้น
    นายสมชายกล่าวว่า ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยการยกเลิกหลักการจับเองสอบเอง อย่างกรณีที่ไม่ให้ตำรวจเป็นผู้สอบสวน โดยต้องแยกพนักงานสอบสวนออกจาก สตช. โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูและอย่างใกล้ชิดกับอัยการสูงสุด ขณะที่ศาลต้องทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นมีอยู่ 2 จุด คือความขัดแย้งของคนในชาติ และความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่า การให้ความสำคัญในหลักสิทธิมนุษยชน และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ก่อนจะร่วมออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยต้องผ่านการปรึกษาหารือ และการยอมรับของทุกฝ่ายอย่างรอบด้านก่อน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นอย่างทุกฝ่าย
    หลังจากนั้น นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.แถลงข้อเสนอ ครป. 11 ข้อต่อรัฐบาลใหม่ ดังนี้ 1.เรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติที่หมิ่นเหม่ต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และกรอบมาตรฐานทางจริยธรรมตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ออกจากการเป็นรัฐมนตรีโดยเร็วพลัน 2.ให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นระบบ 3.ให้ยกเลิกคำสั่งคสช. ที่อาจขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชนโดยเร่งด่วน  เช่น คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 4.ให้มีการแก้ปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการค้า และสนับสนุนการค้าที่เป็นธรรมอย่างเป็นระบบโดยเร็วที่สุด 5.ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีธรรมาภิบาล มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเข้มงวด โดยให้มีการลงนามปฏิญญาต้านคอร์รัปชันของคณะรัฐมนตรี ข้าราชการในระดับปลัดกระทรวง อธิบดีทุกกรม และผู้ว่าราชการทุกจังหวัด
     6.ให้รัฐบาล รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่รัฐ เคารพและยอมรับนับถือหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม 7. ให้มีการกระจายอำนาจการปกครองไปยังจังหวัดตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง 8.ให้มีการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างจริงจัง กระทรวงแรงงานต้องเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นผู้แทนของกลุ่มนายทุน 9.ให้มีการปฏิรูปการศึกษาโดยการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกมิติและทุกคุณภาพ 10.แก้ปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการพัฒนาหรือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐโดยเร่งด่วน 11.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายประสานพลังและร่วมมืออย่างจริงจังเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า โดยร่วมกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง 
พปชร.ถกรับมือฝ่ายค้าน
     ที่ 88 กามองเต้ อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จัดสัมมนา "เสริมศักยภาพ ส.ส." ระหว่างวันที่ 21-22  ก.ค. โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมืออภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาลระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค. มีแกนนำพรรค พปชร.เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร.และ รมว.การคลัง กล่าวว่า ในเรื่องของเนื้อหาการอภิปรายก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่เรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับทีมต่างๆ ที่จะทำหน้าที่ในสภาก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อน เป็นเรื่องของเทคนิคในสภา 
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า วันนี้เรียกว่าเป็นการปิดคอร์สการสัมมนา โดยจะแบ่งกลุ่ม ส.ส.เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอภิปรายนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2.กลุ่มดูกฎระเบียบข้อบังคับ เบื้องต้นใช้เวลาอภิปราย 30 ชั่วโมง โดยฝ่ายค้านมีเวลาอภิปราย 13 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งมากกว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ให้เวลาเพียง 10 ชั่วโมง ส่วนเวลาฝั่งของเราจะแบ่งเป็น ส.ส.รัฐบาล, พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา เบื้องต้นของพรรคมีคนลงชื่อแล้ว 25 คน พรรคประชาธิปัตย์ 15 คน พรรคภูมิใจไทย 15 คน เมื่อรวมกับพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคร่วมอื่นๆ ได้มีผู้แจ้งความประสงค์ที่จะอภิปรายแล้ว 70 คน ถือว่ามากพอสมควร แต่เนื่องจากเรามีเวลาเพียง 30 ชั่วโมง ก็อาจจะต้องมีการจัดสรรคนกันใหม่ 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะติวเข้มรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายถูกอภิปรายหรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า รัฐมนตรีที่ถูกคาดการณ์ว่าจะถูกอภิปรายคงมีการเตรียมข้อมูลและเอกสารส่วนตัวไว้แล้วส่วนหนึ่ง ในส่วน ส.ส.ก็จะทำหน้าที่ดูกฎระเบียบข้อบังคับเท่านั้น ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายเรื่องคุณสมบัตินายกฯ ส่วนตัวมองว่าได้มีการอภิปรายเรื่องนี้ในช่วงโหวตเลือกนายกฯ ไปแล้วกว่า 10 ชั่วโมง จึงเห็นว่าฝ่ายค้านน่าจะพิจารณาตามความสมควรว่าจะต้องอภิปรายซ้ำอีกหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ก็อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จนถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้ติดต่อมาทางพรรคให้เตรียมการอะไรเป็นพิเศษ ส่วนตัวมองแล้วว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
    ส่วนกระแสว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางมาร่วมงานสัมมนาพรรค นายวิรัชกล่าวว่า วันพรุ่งนี้น่าจะทราบขอให้รอดูดีกว่าว่าจะมาหรือไม่ ให้รอดูดีกว่า ถ้ามาก็เห็น เมื่อถามว่าถ้าหาก พล.อ.ประวิตรจะมาร่วมงานน่าจะเป็นในวันที่ 22 ก.ค.ใช่หรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า “ก็น่าจะนะ”
    เมื่อถามว่า พรรคได้จัดเตรียมเอกสารแบบฟอร์มสมัครสมาชิกให้ทั้ง 2 คนแล้วใช่หรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า “ก็อยู่ที่ตัวท่าน วันนี้ถ้าดูตามกฎหมายแล้ว ท่านสามารถดำเนินกิจกรรมร่วมกับพรรคการเมืองได้ ตั้งแต่วันที่ท่านเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน เพราะฉะนั้นในส่วนตรงนี้ก็ถือว่าท่านเป็นส่วนหนึ่งของพรรคแล้ว และท่านก็ส่งข่าวมาตลอด หากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน สัปดาห์หน้าก็จะได้มีโอกาสได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนา ได้มีการจัดทัพ ส.ส. จำนวน 25 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก จะเป็นผู้อภิปรายสนับสนุนนโยบายรัฐบาล 12 ข้อเร่งด่วน และ 12 นโยบายหลัก โดยจะอภิปรายคนละ 7-8 นาที ส่วนอีกกลุ่ม จะทำหน้าที่เป็นองครักษ์รัฐมนตรี แต่ละคนที่ถูกอภิปราย รวมถึงรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล หากมีการพูดถึงนโยบาย เช่น กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีนโยบายด้านการเกษตรที่คล้ายคลึงกัน โดยจะเป็นอดีต ส.ส.มีประสบการณ์ ในเวทีสภา เป็นอดีต ส.ส.เก่า เพื่อเตรียมไว้รับมือในกรณีที่ถูก ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายนอกเหนือจากนโยบาย โดยหยิบยกเรื่องคุณสมบัติมาโจมตี นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เก็งข้อสอบว่าฝ่ายค้านจะหยิบยก เริ่มตั้งแต่การตีความนิยามนโยบายแต่ละด้าน เป็นต้น
"บิ๊กตู่"จี้ รมต.ช่วยแจง
    รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม ครม.นัดแรก เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ย้ำให้รัฐมนตรีแต่ละคนชี้แจงในนโยบายที่รับผิดชอบ และกล่าวติดตลกใน ครม.ว่า “อย่าทิ้งผม อย่าปล่อยให้ผมพูดคนเดียว ขอให้ทุกคนช่วยกันพูด”
    ส่วนในเรื่องของการลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของบุคคลที่ได้เป็นรัฐมนตรีของพรรคพปชร.นั้น ล่าสุด มีแนวโน้มว่ารัฐมนตรี 5 คนที่อยู่ในระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสันติ พร้อมพัฒน์ จะไม่ลาออกจากการเป็น ส.ส. เพราะถือเป็นแกนนำคนสำคัญ
    ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายคุณสมบัติของตนในการแถลงนโยบายว่า ตนได้แถลงข่าวชี้แจงกับสื่อมวลชนไปหมดแล้ว และเชื่อว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ได้รับความกระจ่างไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความกังวลใจในเรื่องนี้ เพราะประเด็นสำคัญในวันดังกล่าวคือการแถลงนโยบาย ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่ จึงอยากให้ไปเน้นตรงนั้น
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนได้เชิญ ส.ส.ประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการอภิปรายนโยบายในวันที่ 23 ก.ค.นี้ เวลา 13.30 น. ในส่วนของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีผู้ให้ความสนใจที่จะอภิปรายนโยบายของรัฐบาลจำนวนมาก ซึ่งต้องการกระจายแบ่งเวลาให้ทั่วถึงทุกพรรค อย่างไรก็ตาม พรรคจะประชุมพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ 
    สำหรับแนวทางการอภิปรายนโยบายของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ มี 3 แนวทางดังนี้ 1.นโยบายที่พรรคร่วมรัฐบาลหาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง ได้ถูกนำมาบรรจุไว้ในนโยบายครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่อย่างไร 2.นำเสนอข้อมูล มาตรการ การปฏิบัติตามนโยบาย ให้ได้ผลจริงในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อการทำงานของรัฐบาล และ 3.ตรวจสอบความเป็นไปได้ของนโยบาย ทั้งนโยบายเร่งด่วนและนโยบายหลัก เชื่อมั่นว่าการอภิปรายนโยบายของ ส.ส.ประชาธิปัตย์อย่างสร้างสรรค์ รอบด้าน จะช่วยทำให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ครบถ้วนหลากหลาย นำไปใช้กับการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมต่อไป
    น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ได้เรียกประชุม ส.ส.และรัฐมนตรีของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีกันอยู่ 10 คน ในวันอังคารที่ 21 ก.ค. เวลา 14.00 น. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมสภา ซึ่งครั้งนี้คงขอกำชับเป็นพิเศษให้นั่งอยู่ฟังการประชุมแถลงนโยบายรัฐบาลโดยตลอดไม่แวบไปไหน และขอให้ฟังอย่างวิเคราะห์ถี่ถ้วน และลุกขึ้นอภิปรายนโยบายทั้งในส่วนที่เป็นของพรรคชาติไทยพัฒนาเอง และของพรรคร่วมรัฐบาลในภาพรวม โดยเน้นให้เป็นรูปแบบของการเสนอแนะ ปฏิบัติและติดตามผลให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริงด้วย นอกจากนั้นยังจะต้องสามารถตรวจสอบได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"