(หมวกเรือดำน้ำ U-194 ที่เจษฎาเทคนิคมิวเซียมทำขึ้นเป็นพิเศษ)
เรือดำน้ำรำลึก (5) : เรือลากมากเรื่อง
เชือกที่ลากเรือดำน้ำ U-194 ขาดออกจากเรือลาก EDI เมื่อค่ำวันที่ 23 มกราคม 2550 ขณะล่องมาจะถึงบริเวณช่องแคบโอเรซุดน์ ใกล้ๆ กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์กและเมืองมัลโมของสวีเดน สักพักเรือดำน้ำยุคสงครามเย็นก็ลอยลำกลับมาหาเรือลากด้วยตัวเอง แถมจูบกับเรือลากเสียโครมใหญ่ ต่อมาเรือเล็กอีกลำก็เข้าคุมตัวเรือดำน้ำไว้ได้ แต่เชือกที่ขาดส่วนหนึ่งได้เข้าไปพันอยู่ในใบพัดท้ายลำเรือ
เที่ยงวันรุ่งขึ้น เรือขนาดเล็กอีกลำชื่อ Alice of Råå (อลิซ ออฟ รอ) ได้มาพร้อมกับฝรั่งอ้วนคนหนึ่ง ปีนขึ้นมาในเรือลาก EDI แล้วถามผมว่า “คุณคือคนที่พาสปอร์ตหายใช่มั้ย?” จากนั้นก็ล้วงกระเป๋าเสื้อหยิบพาสปอร์ตยื่นให้ เขาชื่อ “คริส” กุ๊กคนใหม่ของเรา จะมาทำหน้าที่แทนกุ๊กคนเก่าไปจนถึงลาสปาลมาส หมู่เกาะคานารี ของสเปน (Las Palmas de gran Canaria) ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ใกล้ชายฝั่งทางใต้ของประเทศโมร็อกโก แล้วกุ๊กคนเก่าก็จะกลับมาแตะมือสลับกันที่นั่นอีกครั้ง
เป็นไปดังคาด พาสปอร์ตของผมถูกลืมไว้ในเครื่องถ่ายเอกสารในห้างที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน พี่ณรงค์ซึ่งเป็นเพื่อนพี่หมู (ผุดผาดน้อย วรวุฒิ อดีตยอดมวยไทย) กรุณาไปตามมาให้แล้วฝากติโม เจ้าของเรือดำน้ำ U-194 คนเก่ามากับคริส ตอนนี้ติโมขับรถไปดักรอพวกเราอยู่ที่เมืองเฮลซิงบอร์ก เมืองที่อยู่ตรงข้ามเมืองเฮลซิงเงอร์ของเดนมาร์ก ส่วนที่แคบที่สุดของช่องแคบโอเรซุนด์ ประมาณ 4 กิโลเมตร
ติโมฝากของมาให้ส่วนหนึ่งก่อน จำพวกอาหารแห้งและของใช้จำเป็นบางอย่าง เขายังไม่ยอมส่งกระเป๋าเสื้อผ้ามาให้ อ้างปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักเรือ แต่ดันส่งไวน์แดงมาก่อน 5 กล่อง คงถูกพี่หมูโทรกำชับ เพราะไวน์ที่เหลืออยู่ตอนนี้อาจหมดลงภายในไม่กี่มื้อ
นอกจากกุ๊กคนใหม่แล้ว เรือ Alice of Råå ก็ยังปรากฏตัวนักประดาน้ำชื่อ “แพทริค” ที่กัปตันแฮนรี่โทรสั่งมาจากสตอกโฮล์ม เขาสวมชุดพร้อมอยู่แล้ว หงายหลังดำลงไปใต้เรือลาก EDI ด้านบนมีชายคนหนึ่ง ชื่อ “อูเว” สวมอุปกรณ์ฟังเสียงและสื่อสารกับนักประดาน้ำ ชายคนนี้เป็นมิตรและช่างเจรจาเหลือเกิน พูดกับกล้องวิดีโอของผมว่า “เฮลโล ไทยแลนด์” พร้อมโบกมือให้หลายรอบ
แพทริคหายไปใต้น้ำประมาณ 20 นาที เชือกยาว 3-4 เมตรหลุดออกมาลอยอยู่หลังเรือลาก EDI หันไปมองบนเรือ Alice of Råå แพทริคขึ้นจากน้ำมานั่งเหนื่อยหอบใกล้ๆ กับอูเว ผมถ่ายวิดีโออยู่ก็เลยตะโกนถามเขาว่า “หนาวมั้ย” แพทริคตอบว่า “ไม่หนาวเท่าไหร่เพราะมีชุดช่วย แต่กระแสคลื่นแรงมากจนเข็มขัดหลุดหายไป” ผมถามต่อว่า “ไม่ลงไปหาหรือ?” เขาตอบว่า “ซื้อใหม่ง่ายกว่า”
จากนั้นพ่อครัวคนใหม่ผนึกกำลังกับพ่อครัวคนเก่า ช่วยกันทำมื้อเที่ยงเลี้ยงลูกเรือของ Alice of Råå พวกเราในเรือ EDI ก็ช่วยกันส่งจานอาหารข้ามลำเรือไปให้ พออิ่มกันแล้วกัปตันของเรือ Alice of Råå ชื่อ “สติ๊ก” โผล่ออกมาพูดกับผมว่าเขาอยู่เมืองไทยได้หลายปีแล้ว ปีละประมาณ 6 เดือน ปลูกบ้านอยู่กับเมียคนไทยที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช คริสกระซิบบอกผมว่ากัปตันสติ๊กอายุราว 60 ปีแล้ว ส่วนเมียคนไทยของแกอายุเพิ่งจะ 21 เท่านั้น
ก่อนเรือ Alice of Råå จะจากไป อูเวพูดว่า “I love Thailand” หลายครั้งมาก ผมถามแกเมื่อเจอกันในวันหลังว่าทำไมถึงได้ Love Thailand แกตอบว่า อากาศและผู้หญิง พอถามว่าไปเมืองไทยมาแล้วกี่ครั้ง แกสารภาพว่ายังไม่เคยไป คงจะได้ยินกิตติศัพท์มาจากกัปตันสติ๊กนั่นเอง
จากนั้นเรือ EDI เข้าฝั่งโคเปนเฮเกน เพราะต้องเติมน้ำมันในวันรุ่งขึ้น ผมขึ้นไปบนห้องควบคุมเรือ กัปตันแฮรี่บอกว่ามีกองทหารเรือของเดนมาร์กออกมาประจันหน้าห่างออกไป 2-3 กิโลเมตร คงคิดว่าเรือดำน้ำที่อยู่กับเรือลากอีกลำ ซึ่งแล่นตามกันมาอาจเป็นภัยคุกคามความสงบของประเทศ ผมยืมกล้องส่องทางไกลของกัปตันมาส่องดูก็เห็นจริงๆ กัปตันวิทยุคุยกับฝ่ายโน้นจนรู้เรื่องแล้วว่าเรือดำน้ำของเราไร้พิษภัย ฝ่ายทหารเดนมาร์กก็ได้แต่ถ่ายรูปเรือดำน้ำ U-194 เอาไว้แก้เขิน
ติโมเคยเล่าให้ผมฟังว่า ตอนเขาลากเรือดำน้ำโซเวียตลำนี้ข้ามทะเลบอลติกจากเมืองวาซา ประเทศฟินแลนด์ มาจอดยังเมืองอูเมโอ ประเทศสวีเดน เช้าแรกที่มาถึง ทหารสวีเดนเข้าปิดล้อมเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตกว่าจะพูดคุยกันเข้าใจ เพราะเวลานั้นคือต้นคริสต์ทศวรรษที่ 90 กลิ่นสงครามเย็นยังจางหายไม่หมดไปเสียทีเดียว
ค่ำวันนี้ทุกคนกินมื้อเย็นกันได้มากกว่าปกติ เพราะกุ๊กคนใหม่ใช้ชีวิตอยู่ในฟิลิปปินส์นานหลายปี ทำให้ในเรือที่มีชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ถึง 7 คนต่างเอร็ดอร่อย ถึงแม้ไม่ใช่อาหารไทย แต่รสชาติใกล้เคียง นั่นคือไก่งวงผัดกะหล่ำ ในขณะกุ๊กคนเก่าผู้เป็นศาสตราจารย์อาหารไทยไม่เคยทำอาหารไทยให้เรากินเลยสักมื้อ
คริส กุ๊กร่างอ้วนชาวสวีดิช วัย 31 ปี มีศักดิ์เป็นหลานของกัปตันแฮรี่ เล่าให้ฟังว่า เขาเคยทำงานอยู่ในเรือสำราญล่องมหาสมุทรในตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พบรักกับนักร้องสาวชาวตากาล็อกในเรือลำเดียวกัน เมื่อตกลงปลงใจแต่งงานกันก็ต้องเลิกอาชีพ รปภ. เพราะภรรยาของเขาเป็นถึงหลานสาวอดีตรองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ หากมีสามีเป็น รปภ. คงรู้สึกขายหน้า จากที่เคยน้ำหนัก 70 กิโล เพราะออกกำลังกายวันละเกือบ 2 ชั่วโมง หลังการแต่งงาน 8 ปีผ่านไป เขากินเท่าเดิม แต่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย บัดนี้น้ำหนักปาเข้าไป 125 กิโล
ตอนนี้คริสมีลูกแล้ว 1 คน เป็นผู้ชายอายุ 6 ขวบ เขาบอกว่าการมีลูกคนแรกแล้วปล่อยให้โตถือเป็นการคุมกำเนิดวิธีหนึ่ง แม้จะแยกห้องนอนกันแล้ว แต่ลูกชายของเขามักจะตื่นขึ้นกลางดึกแล้วเปิดประตูเดินเข้ามาในห้อง พร้อมคำถามว่า “Mama, why you’re naked?” เขาจึงยังไม่มีลูกคนที่ 2
ส่วนกุ๊กคนเก่าของเรา (ขออนุญาตสงวนนาม) ยังอยู่ในเรือต่ออีกคืน จะเรียกรถให้มารับไปยังสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องกลับเมืองไทยในวันรุ่งขึ้น เหตุที่ต้องกลับ เพราะเดินทางมาร่วมงานกับคณะเรือลากแบบปุบปับ เนื่องจากผู้รับจ้างงานนี้ที่เป็นคนสวีดิชบ้านเดียวกันไปชวนแกถึงบาร์แห่งหนึ่งที่บางแสนเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ขณะกำลังกรึ่มได้ที่แกก็ตอบตกลง แกคงขออนุญาตทางบ้านไว้แค่ 3 เดือน จึงต้องกลับไปเมืองไทยเพื่อเอาใจภรรยาสักพักแล้วค่อยลัดฟ้ากลับมาใหม่
วันต่อมามีรถบรรทุกน้ำมันเข้ามาเติมให้กับเรือลาก EDI หลายพันลิตร แต่ยังไม่เพียงพอ ต้องรอมาเติมรอบใหม่ในวันรุ่งขึ้นจึงจะเต็มความจุของเรือ เพื่อไปให้ถึงลาสปาลมาส หมู่เกาะคานารี
กุ๊กคนเก่าเรียกรถให้มารับไปยังสนามบินตอนบ่ายๆ ตกเย็นผมถือโอกาสออกไปเที่ยวในตัวเมืองโคเปนเฮเกน ถามคริสและกัปตันว่าจะหาบาร์นั่งดื่มได้หรือไม่ ทั้งคู่ให้คำตอบว่าหาได้ทั่วไป ในเดนมาร์กผู้คนดื่มกันทุกวัน ไม่เหมือนสวีเดนที่ดื่มกันเฉพาะวันพุธ, ศุกร์ และเสาร์ พวกวัยรุ่นสวีเดนยอมขับรถข้ามสะพานโอเรซุนด์มาซื้อเบียร์กลับไปทีละหลายแพ็ก เพราะราคาถูกกว่าสวีเดนอยู่มาก หักค่าใช้สะพานแล้วก็ยังเกินคุ้ม
(ท่าเรือฟรีพอร์ต กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก)
ผมและพี่หมี (ปัจจุบันคือ พระสุธรรม ฐิตธัมโม) ออกจากท่าเรือฟรีพอร์ตแล้วก็เดินเข้าเมือง เวลาแค่ 5 โมงเย็น แต่ฟ้าในหน้าหนาวมืดได้สักพักแล้ว เดินถึงทางแยกก็ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ เมื่อ 12 ปีที่แล้วแผนที่กูเกิลยังใหม่อยู่มาก และยังใช้กับโทรศัพท์มือถือไม่ได้ เจอหนุ่มหน้าตี๋ใส่แว่นเดินผ่านมา ผมก็ถามว่าพูดภาษาอังกฤษได้ไหม เขาตอบว่าได้ จึงถามวิธีเข้าเมือง เขากำลังจะไปขึ้นรถไฟฟ้าพอดี ชวนเราเดินไปด้วยกัน
ระหว่างเดินไปสถานีรถไฟฟ้าได้พูดคุยกันก็ทราบว่าเป็นคนฮ่องกง มาเรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จนจบเมื่อไม่นานมานี้และกำลังทำงานต่อที่นี่ พอขึ้นไปบนสถานีรถไฟฟ้าเขาชี้แผนผังเส้นทางเดินรถและบอกวิธีเดินทาง หากจะไปถนนคนเดินต้องลงก่อนถึงสถานี Central Station 2 สถานี ตอนจะซื้อตั๋วต้องใช้เหรียญ แต่เราไม่มีจึงเอ่ยปากขอแลกเงินยูโรกับเหรียญเดนิชโครน หนุ่มตี๋ใจดีหยอดให้เราฟรีๆ 19 โครน เวลานั้นคิดเป็นเงินไทยตกประมาณ 140 บาท เราขอบคุณเขาแล้วก็แยกย้ายกัน เพราะหนุ่มตี๋ขึ้นอีกสาย
ไปถึงปลายทาง เราเดินเที่ยวประมาณแค่ชั่วโมงเดียวพี่หมีก็ชวนกลับ แผนการดื่มของผมจึงพังทลายลง สิ่งที่เป็นชิ้นเป็นอันก็คือได้ซื้อโปสการ์ดรูปลิตเติลเมอร์เมดหรือเงือกน้อยที่สำนักงานแลกเงินของ Western Union เขียนส่งกลับไปเมืองไทย 2 ใบ ซึ่ง “ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน” ได้ประพันธ์ “The Little Mermaid” ขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกนแห่งนี้และตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1837 ผมฝากพนักงานสาวที่ทำหน้าที่แลกเงินหย่อนตู้ไปรษณีย์ให้ เธอบอกว่า “ที่จริงเราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำอย่างนี้นะ” แต่ก็รับไปด้วยรอยยิ้ม เห็นว่าใบหน้าของเธอเป็นชาวเอเชีย จึงถามว่ามาจากประเทศอะไร ปรากฏว่าเธอก็เป็นคนฮ่องกงนี่แหละ คนเอเชียด้วยกัน!
หลังลงจากรถไฟฟ้าและเดินกลับฟรีพอร์ต หันไปเห็นตัวเลขแสดงอุณหภูมิที่หอนาฬิกาข้างๆ ท่าเรือ ระบุ – 5 องศาเซลเซียส ถึงว่าหนาวได้หนาวดี กลับเข้าเรือ EDI ก็ทันมื้อเย็นพอดี คืนนี้ดื่มกับพี่หมูแกล้มเรื่องเล่าจากหลานเขยอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่เล่าแต่ละเรื่องได้สนุกจนขำกลิ้งไปตามๆ กัน
วันต่อมาเมื่อเติมน้ำมันจนเต็ม ตอนเวลาใกล้เที่ยงก็ได้เวลาออกเรืออีกครั้งเพื่อไปรับเรือดำน้ำ U-194 ที่ล่วงหน้าไปก่อนแถวๆ เมืองเฮลซิงบอร์ก นอกจากนี้เราก็จะได้เจอกับติโมและรับของล็อตสุดท้ายจากเขา แต่พอล่องมาได้ไม่เท่าไหร่ เรือลาก EDI ก็มีปัญหาอีก เครื่องบังคับหางเสืออัตโนมัติไม่ทำงาน อูดิง-ผู้ช่วยกัปตันต้องใช้แรงหมุนพังงาหรือพวงมาลัยเรือ
เมื่อเข้าใกล้ท่าเรือเฮลซิงบอร์ก กัปตันแฮรี่ก็สั่งอามิน-กะลาสีคนขยันทอดสมอ เพราะเห็นว่าเรือคงไปต่อไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องสั่งอะไหล่บางชิ้นเข้ามา ผมจับใจความได้ว่าปัญหาเกิดกับไฮโดรลิกส์ปั๊มทั้งระบบ โดยเวลานี้ได้ปั๊มน้ำมันขึ้นมาชโลมพังงาเสียชุ่มแฉะและเจิ่งนองอยู่บนพื้นห้องควบคุมเรือ
(เรือดำน้ำ U-194 ขณะเดินทางมายังประเทศไทยกับเรือลากอายุ 80 ปี)
ระหว่างนี้เรือดำน้ำ U-194 ได้เข้ามาเชื่อมกับเรือลาก EDI ด้วยเชือกเส้นเดิมอีกครั้ง ด้านติโมโทรศัพท์มาบอกพี่หมูว่าเรือ Alice of Råå ของกัปตันสติ๊กสตาร์ทเครื่องไม่ติด เราจึงต้องรอกระเป๋าเสื้อผ้ากันต่อไป กัปตันแฮรี่ไม่ยอมเอาเรือเข้าฝั่ง บอกว่าไม่อยากเสียค่าระวางจอดหลายพันดอลลาร์
พูดแล้วก็เจ็บใจ ทราบจากพี่หมูว่าตอนที่เรือดำน้ำซ่อมเสร็จช้ากว่ากำหนด ฝ่ายรับจ้างได้ปรับเงินค่าเสียเวลาที่เราออกเดินทางช้าวันละ 2,000 ดอลลาร์ แต่ตอนเกิดปัญหากับเรือลากของพวกเขากลับไม่มีการชดเชยใดๆ
ก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยแน่ใจเรื่องอายุของเรือลาก ซึ่งที่แท้เป็นเรือล่าปลาวาฬ หรือ Whaler หาใช่เป็นเรือลากที่เรียกว่า Tug Boat คริสผู้เปิดเผยได้ทุกเรื่อง (ผิดกับกัปตันแฮรี่ ลุงของเขาที่ชอบกำชับผมอยู่เรื่อยว่าอย่าเอาไปเขียน อย่าเอาไปออกสื่อ) บอกว่าเรือลำนี้ต่อขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1927 นั่นคือ 80 ปีพอดีในเวลานั้น (ส่วนเรือดำน้ำอายุ 40 ปี) พี่หมูถึงกับอุทาน “เฮ้ย! ก่อนฮิตเลอร์บุกโปแลนด์อีกรึ” (กองทัพนาซีเยอรมันบุกยึดโปแลนด์เมื่อ 1 กันยายน 1939 จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรป)
สักพักวลาดิสลาฟ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วลาด” ชีฟเอนจิเนียร์ เข้ามานั่งพร้อมเบียร์กระป๋องในมือ คริสหันไปถามเพื่อความแน่ใจว่าเขาพูดเรื่องอายุของเรือลากผิดไปหรือไม่ ที่จริงแล้วคริสให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไป 1 ปี วลาดตอบว่าสร้างในปี ค.ศ.1928
“ก็ยังก่อนฮิตเลอร์บุกโปแลนด์” พี่หมูย้ำก่อนซดไวน์ลงคออย่างมีอารมณ์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |