"พลเอกประยุทธ์" นี่.....
ชะตาเข้าเกณฑ์ "พระรามเดินดง" จริงๆ!
กว่าจะลุยป่าได้นั่ง "เก้าอี้นายกฯ" เรียกว่าบักโกรกเลือดโชกแสนสาหัส
ครั้นขึ้นนั่ง.......
ฝรั่ง-จีน-ญี่ปุ่น มิตรประเทศเป็นสิบ-เป็นร้อย แสดงความยินดีกับ "นายกฯ ประชาธิปไตย" ที่ได้นั่งเมืองแล้วก็ตาม
แต่ดวงก็ยังไม่พ้นวิบาก
ประยุทธ์คนนี้ เคยได้อะไรที่ไม่ต้องลุ้นและไม่รากเลือดเหมือนคนอื่นกับเขาซะที่ไหนล่ะ
ดังนั้น เมื่อวาน (๑๙ ก.ค.๖๒) จึงมีใบบอกมาจากศาลรัฐธรรมนูญ ว่า
บัดนี้.........
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง กรณี ส.ส.ฝ่ายค้าน ๗ พรรค ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาวินิจฉัย ว่า
ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบมาตรา ๑๖๐ (๖) และมาตรา ๙๘ (๑๕)
กรณีเป็นลูกจ้างหรือพนักงานหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือไม่ นั้น
การยื่นคำร้องดังกล่าว "ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ"
จึงสั่ง "รับคำร้อง"
ส่วนกรณีการพิจารณาให้ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้อง "หยุดการปฏิบัติหน้าที่" หรือไม่นั้น
ศาลฯ เห็นว่า.....
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขว่า จะต้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า "ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง" ซึ่งตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า มีกรณีตามที่ถูกร้องจะทำให้เกิดความเสียหายแต่ประการใด
ประกอบกับผู้ร้อง "ไม่ได้มีคำขอ" ส่วนนี้
จึงยังไม่เข้าเงื่อนไข ที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๒ วรรคสอง
ขั้นตอนต่อจากนี้.........
นายกฯ ต้องยื่นคำชี้แจงส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน ๑๕ วัน ก็ตกประมาณวันที่ ๔ ที่ ๕ สิงหานั่นแหละ
ในเอกสารเผยแพร่ของศาลฯ ฉบับเดียวกัน ยังมีเป็นมติออกมาน่าสนใจอีกคดี
คือกรณี "นายณฐพร โตประยูร" ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
"พรรคอนาคตใหม่" ผู้ถูกร้องที่ ๑, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ ๒, นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ ๓ และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ ๔
มีการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙
ปรากฏว่า........
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย โดยเสียงข้างมาก ๕ ต่อ ๔ เห็นว่า
ผู้ร้องได้ใช้สิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคสอง แล้ว
แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ
กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคสาม ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ผู้ถูกร้องทั้งสี่ ต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน ๑๕ วัน เช่นกัน
เป็นไงครับ.......
เรียกว่า "ทั่วหน้า" ตามมาตรฐานกฎหมาย ใครยังค่อนแคะว่า ๒ มาตรฐาน อาจถูกคนข้างๆ ถีบหงายท้อง!
คดีของธนาธร-ปิยบุตรและคณะพรรคอนาคตใหม่ ผมไม่ห่วงหรอก
มีปิยบุตรอยู่ทั้งคน เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งรัฐธรรมนูญไทยและรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ส.บ.ม.ย.ห.อยู่แล้ว
กรณีพลเอกประยุทธ์ นั่นก็เหมือนกัน ทำเพื่อไทยตากแดดมาแล้ว ๕ ปี
จะให้กินแต่มังสวิรัติต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ อย่าว่าอีก ๕ ปีเลย แค่อีกปี-ครึ่งปี
"แห้งเป็นหนังควาย" เอาไปขึงกลองได้เลย!
ฉะนั้น เตะสกัดประยุทธ์ได้ทางไหน ต้องเอาทุกทาง ขนาดวันก่อน "นายชัยเกษม นิติสิริ" อดีตอัยการสูงสุดทูนหัวทักษิณ ถึงกับโพสต์เฟซ ว่า.......
"ผมขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนี้ครับ
พลเอกประยุทธ์ได้รับการเสนอชื่อเป็น Candidate นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองหนึ่ง ในระหว่างนั้นท่านได้สวมหมวกไว้สองใบ
ใบหนึ่งคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ส่วนอีกใบหนึ่งคือ ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
หมวกใบแรกไม่มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง ย่อมได้รับการยกเว้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(12)
แต่หมวกใบที่สองในตำแหน่งหัวหน้า คสช. นั้น ผมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายในเรื่องนี้ ได้ความว่า แนวคำพิพากษาฎีกาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และคาดว่าจะยังคงเป็นแนวบรรทัดฐานของศาลในโอกาสต่อไปข้างหน้า ได้วางหลักไว้ว่า
'ผู้ทำการรัฐประหารสำเร็จ ย่อมถือเป็นผู้ได้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจในการสั่งการทุกประการ'
คือเป็นตำแหน่งพิเศษ จึงอยู่เหนือความเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เหตุที่มีการตัดสินในลักษณะนี้ คงมีเหตุผลว่า การปฏิวัติรัฐประหารเมื่อทำโดยผู้ที่มีอำนาจสั่งการกองกำลังและมีอาวุธพร้อมย่อมไม่มีผู้ใดจะต่อสู้กับอำนาจดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ย่อมสิ้นไปเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้มีรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นฉบับชั่วคราวหรือฉบับถาวรประกาศใช้
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า
ตำแหน่งหัวหน้า คสช.เมื่อมิได้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์แล้ว จะมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่
ในประเด็นนี้ ได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ตีความคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย
2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ
3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ
4.มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย
จะเห็นได้ว่าพลเอกประยุทธ์ในตำแหน่งหัวหน้า คสช.ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นในการออกคำสั่งต่างๆ มากมาย
อาทิ คำสั่งโยกย้ายข้าราชการ คำสั่งเรียกให้นายสมบัติ บุญงามอนงค์ มารายงานตัวดังที่ปรากฏในคำพิพากษาฎีกาที่กล่าวถึงข้างต้น
อีกทั้งพลเอกประยุทธ์ ในตำแหน่งหัวหน้า คสช.ก็ได้รับเงินจากการดำรงตำแหน่งจากรัฐจำนวน 75,590 บาทต่อเดือนและเงินเพิ่มจำนวน 50,000 บาทต่อเดือน (รวมเป็นจำนวนเดือนละ 125,590 บาทต่อเดือน)
ดังนั้น เมื่อดูจากการตีความคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ของศาลฎีกาฯ
ผมจึงเห็นว่าการดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.ของพลเอกประยุทธ์ จะแปลความเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ซึ่งมีผลทำให้พลเอกประยุทธ์ขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ตามมาตรา 160 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (15)
..............ฯลฯ.............."
ความจริง กรณีนี้ มันจบไปแล้ว คือ "คุณศรีสุวรรณ" เคยร้อง "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ไปครั้งหนึ่ง เมื่อต้นปี
และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติ "ยุติการวินิจฉัยคำร้อง" ไปแล้ว โดยที่ประชุม มีมติเอกฉันท์ เมื่อ ๑๖ มี.ค.๖๒ ว่า
ตำแหน่งหัวหน้า คสช.ของ "พล.อ.ประยุทธ์" มิได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
เพราะไม่เข้าองค์ประกอบเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้ง ๔ ข้อ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัย ที่ ๕/๒๕๔๓
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยคำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" จะต้องเข้าองค์ประกอบ ๔ อย่าง คือ
๑.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย
๒.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ
๓.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ
๔.มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย
กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าเงื่อนไขเพียง ๒ ข้อ
คือ ข้อ ๒ และข้อ ๔
จึงถือว่า "ไม่ครบองค์ประกอบ" ในการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมาจากการเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ไม่ได้เข้ามาตามกฎหมายปกติ และยังใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ด้วย
ดังนั้น การที่ กกต.ประกาศรับรองรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ "ไม่ขัดกฎหมาย"
จึงให้ "ยุติการวินิจฉัย"
และไม่ต้องส่งเรื่องให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อ.
ก็เอาล่ะ.........
จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๕/๒๕๔๓ ด้วยกัน เกิดกรณี "สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวแพรว" เช่นนี้
ตามสำนวนท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแรห์ ปราชญ์ภาษาไทยแห่งอัสสัมชัญ
ฉะนั้น จะเป็นโคลนตมหรือดาวพราวแพรว
จะยุติที่ "ศาลรัฐธรรมนูญ".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |