"3 รมช.เกษตรฯ" ลงพื้นที่ จ.ตาก หารือชาวนา-ชาวไร่ 22 จว.แก้ปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง "ประภัตร" รับ 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มเจ้าพระยาปริมาณน้ำเข้าขั้นวิกฤติ น้ำเหลือเพียง 1.5 พันล้าน ลบ.ม. คาดมีน้ำใช้อีกแค่กว่า 40 วัน สั่งลดการระบายน้ำเหลือ 40 ล้าน ลบ.ม. หวังยืดถึงเดือน ส.ค. รอฝนตก "ธรรมนัส" เตรียมเสนอ ครม.ให้มหาดไทยร่วมบูรณาการแก้แล้งทั้งระบบ "ผบ.ทบ." มั่นใจ "บิ๊กตู่" เอาอยู่
ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก วันที่ 19 ก.ค. นายประภัตร โพธสุธน พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ สามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ประชุมเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ร่วมกับแกนนำชาวนาชาวไร่กว่า 500 คน จาก 22 จังหวัด ที่มาเสนอข้อร้องเรียนให้รัฐบาลหามาตรการเยียวยาต้นทุนทำเกษตรที่ผลผลิตเสียหาย ทั้งนาข้าว ไร่อ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่นใกล้ยืนต้นตาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมหารือครั้งนี้ มีชาวนาชาวไร่บางรายถึงกับร้องไห้กลางห้องประชุม เพราะอยู่ปลายน้ำ โดยขอให้เพิ่มพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด และขอให้กรมชลประทานสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่มาช่วย อาทิ บ่อทราย ทำฝายในลำน้ำ และเร่งทำฝนหลวง ซึ่งนายประภัตรได้สั่งการกรมชลประทานไปช่วยทันที พร้อมทั้งจดชื่อเบอร์โทร.เกษตรกรเพื่อช่วยเหลือได้ทั่วถึง
ส่วนการเพิ่มปฏิบัติการทำฝนหลวง ร.อ.ธรรมนัส รับจะประสานทุกเหล่าทัพ ร่วมบูรณาการนำเครื่องบินมาช่วยระดมทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพ เกิดผลสำเร็จ ได้ปริมาณฝนตกมากยิ่งขึ้น เพื่อเร่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตร โดยจะนำเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะรมว.กลาโหม ให้สั่งการนำเครื่องบินมาร่วมทำฝนหลวงทั่วประเทศภายในสัปดาห์หน้า
นายประภัตรกล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าปัญหาน้ำเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ปริมาณน้ำใช้ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก มีน้ำเหลือรวมกันเพียง 1.5 พันล้าน ลบ.ม. ระบายวันละ 45 ล้าน ลบ.ม. ก็จะมีน้ำใช้อีกกว่า 40 วัน ดังนั้นจะลดการระบายน้ำลงเหลือ 40 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับต้องมีแผนจัดสรรน้ำอย่างเข้มข้น ซึ่งจะสามารถยืดเวลาการใช้น้ำออกไปจนกว่าฝนจะมาเดือน ส.ค.นี้
รมช.เกษตรฯ รายนี้ระบุว่า จากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยารายงานปีนี้ปริมาณฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ 10% และที่น่าเป็นห่วงมากที่ตอนนี้ยังไม่มีฝนลงมา ข้าวปลูกไปแล้วจะอันตรายเสียหาย ดังนั้นการจัดการน้ำครั้งนี้ ทุกภาคส่วนร่วมมือกันบริหารน้ำตามรอบเวร โดยให้กรมชลฯ ทำแผนใช้น้ำ หยุดเครื่องสูบน้ำไฟฟ้ากว่า 400 เครื่อง ในลุ่มน้ำตอนบนขอหยุดไว้ก่อน เช่น หยุดสูบ 3 วัน เพื่อให้น้ำไปถึงลุ่มเจ้าพระยา พร้อมกับชี้แจงชาวนา ถ้าไม่มีน้ำฝนมาเติม ห้ามทำนาปรังรอบสอง
“จะวางแผนจัดสรรน้ำกับทุกหน่วยงาน แบ่งการส่งน้ำเข้าแม่น้ำน้อย ท่าจีน มโนรมย์ มหาราช สลับกันใช้ต้องประหยัดมีวินัย อาจขอกำลังทหารมาร่วมด้วยตอนนี้เริ่มเกิดปัญหาแย่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ต้องหยุดสูบน้ำแถว จ.กำแพงเพชร นครสวรรค์ ให้น้ำไปถึงลุ่มเจ้าพระยา เราเคยทำมาแล้วสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องใช้แผนงดส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรเหมือนปี 58 ซึ่งยืนยันกับเกษตรกรจะหาน้ำให้จนกว่าข้าวนาปี 6 ล้านไร่เก็บเกี่ยวเสร็จ และห้ามทำนารอบสอง เชื่อว่าชาวนารู้สถานการณ์ว่าไม่มีน้ำก็จะไม่ทำนาต่อเนื่อง” นายประภัตรกล่าว
ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า จะนำปัญหาที่รับฟังครั้งนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ให้นายกฯ รับทราบ เพื่อมีมาตรการแก้ภัยแล้ง โดยจะบูรณาการกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดต้องมาประชุมด้วยตนเอง ไม่ใช่ส่งแต่ตัวแทน เพราะหากปลัดมหาดไทยลงมาผู้ว่าฯ จะมารับกันเต็ม
"จำเป็นต้องเพิ่มความถี่ทำฝนหลวง เพราะน้ำในเขื่อนน้อยวิกฤติ รวมทั้งจะเพิ่มพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำ เช่น บึงบอระเพ็ด กว๊านพะเยา มีปัญหาน้ำแห้งลงตลอด ซึ่งติดปัญหาเป็นที่ราชพัสดุ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื้อรัง ต้องแก้กฎหมาย จะเร่งขุดลอก ผมเห็นตรงกับท่านประภัตร หาที่เก็บปริมาณน้ำให้ได้มากๆ ช่วงต้นน้ำสามารถส่งมาช่วยพื้นที่ปลายน้ำได้" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,293 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 33 (ปริมาณน้ำใช้การได้ 1,597 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 9) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ จำนวน 2.71 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจำนวน 44.91 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 16,578 ล้าน ลบ.ม.
ด้าน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า ปีนี้ภัยแล้งค่อนข้างวิกฤติ แต่ถือว่าเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ในส่วนของทหารได้เตรียมความพร้อม ขณะที่ในส่วนของรัฐบาลได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
"กองทัพมีความพร้อมอยู่แล้วในการระดมศักยภาพ ทั้งเครื่องมือและกำลังพล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และมั่นใจรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ที่ผ่านวิกฤติรู้เรื่องพวกนี้ตั้งแต่เป็นทหาร รู้ว่าจะต้องใช้หน่วยงานอะไรร่วมกับกระทรวงอะไร และทำงานร่วมกับหน่วยงานไหน ดังนั้นการบูรณาการช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องช่วยกัน อย่าหยิบประเด็นนี้มาทำให้เกิดความแตกแยก อีกทั้งโครงการจิตอาสาพระราชทานก็ออกมาช่วยเหลือทั้งหมด ทุกฝ่ายเราคิดแบบบูรณาการและร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ขอให้สบายใจได้ แต่อย่าหยิบมาเป็นประเด็น” พล.อ.อภิรัชต์กล่าว
ในช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นว่า ห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการด่วนให้ทุกเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพล เพื่อทำฝนเทียมเพิ่มปริมาณน้ำเหนือเขื่อน และร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำกับฝ่ายพลเรือนแบบบูรณาการ โดยมีเป้าหมายบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด
"ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประกาศพื้นที่เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ในหลายจังหวัด พร้อมดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น จัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำ ปฏิบัติการฝนหลวง ขุดเจาะบ่อบาดาล เพิ่มความจุแหล่งน้ำ เป็นต้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ที่ จ.เชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ กล่าวว่า จากภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรในด้านการเพาะปลูก หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหานาข้าวแห้ง รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค เพราะปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนสำคัญมีน้อยลง อีกทั้งน้ำท่าก็มีน้อยกว่าเกณฑ์ปกติเกือบเท่าตัว ขณะนี้ได้แจ้งไปยังทุกอำเภอให้เร่งสำรวจและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติในฤดูฝนที่เกิดขึ้นในรอบหลายสิบปี
เช่นเดียวกับ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าฯ ขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นมีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงรวมแล้ว 12 อำเภอ โดยเฉพาะที่ อ.หนองนาคำ และ อ.หนองสองห้อง ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงนานติดต่อกันนานกว่า 20 วัน ประชาชนเริ่มประสบปัญหาน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคและทำการเกษตร ทำให้ในขณะนี้มาตรการการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างเต็มที่ ทั้งการนำน้ำไปเติมใส่ในถังเก็บน้ำส่วนกลางประจำหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำกินและน้ำใช้ ตลอดทั้งช่วงภัยแล้งปีนี้
"ได้รับรายงานจากศูนย์อุตุนิยมฯ ว่าในช่วงระหว่างวันที่ 23-25 ก.ค.ที่จะถึงนี้ จะมีฝนตกในพื้นที่ ขอนแก่น ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งก็จะบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนและเกษตรกรได้เป็นอย่างดี" ผู้ว่าฯ ขอนแก่นกล่าว
จ.นครราชสีมา นายสมบัติ ไตรศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเกิดปัญหาภัยแล้งครอบคลุมในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา มีอำเภอที่ยังมีการแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง จำนวน 9 อำเภอ 17 ตำบล 28 หมู่บ้าน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |