"สมศักดิ์" ปัดคำขอ "แม่แพรวา" ใช้เงินกองทุนยุติธรรมจ่ายชดใช้ญาติเหยื่อ 9 ศพไปก่อน ชี้ทำไม่ได้ผิดกฎหมาย "รองปลัด ยธ." เผยส่งหมายบังคับคดีให้ "พ่อแพรวา" แล้ว "กรมบังคับคดี" รอขั้นตอนสืบทรัพย์และตั้งเรื่อง ขอบังคับคดีก่อนยึดทรัพย์ได้ "แม่ ดร.ศาสตรา" บอกเงินช่วยค่าใช้จ่าย 5 แสนจากตระกูล "เทพหัสดินฯ" ยังไม่มีใครติดต่อมา
ความคืบหน้าในการเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในคดี น.ส.แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือบัวบูชา หรือรวินภิรมย์ ที่ขับรถยนต์ชนกับรถตู้โดยสารบนโทลล์เวย์จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย เเละบาดเจ็บอีก 5 ราย ตั้งแต่ปี 2553
เมื่อวันศุกร์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวยุติธรรม (รมว.ยธ.) กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม กระบวนการเพิ่งเริ่มต้น โดยเป็นการรับช่วงหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุด ขั้นตอนหลังจากนี้จะสืบทรัพย์หรือติดตามทรัพย์เพื่อนำมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหาย
"ที่แม่ของ น.ส.แพรวาขอให้กระทรวงนำเงินจากกองทุนยุติธรรมไปจ่ายชดเชยให้ผู้เสียหายก่อน และจะนำเงินมาชดใช้คืนในภายหลังนั้น เท่าที่ตรวจดูข้อกฎหมายไม่สามารถทำได้ และเราคงไม่ไปฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะจะกลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อนตามมาอีก ขั้นตอนหลังจากนี้จะรีบดำเนินการบังคับคดีให้เร็วที่สุด และขอฝากไปยังผู้เสียหายหรือโจทก์ในคดีซึ่งมีจำนวนมากว่ากระทรวงพร้อมให้ความช่วยเหลือ โดยแนะนำให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อให้กระบวนการช่วยเหลือเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด" รมว.ยธ.กล่าว
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีว่าได้ส่งหมายบังคับคดีไปยัง พ.อ.รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา บิดา น.ส.แพรวาแล้ว ขั้นตอนตามกฎหมายหลังจากนี้จะเข้ากระบวนการบังคับคดี ส่วนจำเลยที่นำรถยนต์คันเกิดเหตุไปให้ น.ส แพรวาใช้ยังไม่ทราบว่าได้รับหมายบังคับคดีแล้วหรือไม่ เนื่องจากยังไม่แจ้งเข้ามา
“การประกาศขายที่ดินจำนวน 22 ไร่ 30 โฉนดเพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับครอบครัวและญาติผู้เสียหายทั้ง 9 รายนั้น ขอแนะนำให้ครอบครัวของ น.ส.แพรวาตั้งทนายความขึ้นมาเพื่อนัดแนะและหารือกับทั้งโจทก์และจำเลย พร้อมนำหลักทรัพย์หรือโฉนดที่ดินที่ไม่ติดภาระจำยอมหรือติดธุรกรรมใดๆ มายื่นให้กรมบังคับคดีเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการขายทอดตลาดเร็วขึ้น” โฆษก ยธ.กล่าว
ด้านสำนักข่าวไทยได้สัมภาษณ์นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองอธิบดีกรมบังคับคดี รักษาราชการเเทนอธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า หมายบังคับคดียังไม่มาจากศาล กรมจึงยังไม่สามารถยึดทรัพย์ได้ ซึ่งตามกระบวนการต้องรอให้หมายบังคับคดีมาจากศาลก่อน หากหมายมาจากศาลเเละส่งมาที่กรม หรือที่สำนักงานบังคับคดีเเพ่งกรุงเทพมหานคร 1 แล้ว ตัวโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องสืบทรัพย์เเละตั้งเรื่องขอบังคับคดี หลังจากนั้นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีถึงจะเกิดขึ้น
นางอรัญญากล่าวว่า ที่จำเลยออกมาเเจงทรัพย์สินว่ามีโฉนดที่ดิน ตัวโจทก์หากรู้ว่าจำเลยมีโฉนด ก็ต้องไปคัดเอกสารมาจากสำนักงานที่ดิน โดยต้องมีเลขที่โฉนด สำเนาโฉนดเเละนำมาที่สำนักงานบังคับคดี กรมก็จะยึดทรัพย์ให้ พอหลังจากยึดทรัพย์ให้เเล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะเเจ้งการยึดไปที่สำนักงานที่ดินเเละจำเลย ซึ่งกระบวนการหลังจากการยึด เมื่อเเจ้งการยึดชอบไปแล้ว ก็จะดำเนินการประกาศขาย หากมีผู้ซื้อทรัพย์เเละชำระเงินเเล้ว การทำบัญชีเเสดงรายการรับจ่ายก็จะจ่ายให้กับโจทก์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายให้ได้รับไป
“ย้ำว่าเรื่องที่อ้างว่ามีที่ดิน โจทก์ต้องเป็นคนมาเเถลงกับกรมบังคับคดี เพราะฉะนั้นถ้าจำเลยมีโฉนด ตัวโจทก์สามารถบันทึกไว้ ถ้าจำเลยเอาไปให้โจทก์ โจทก์ก็นำส่งต่อที่กรมบังคับคดีก็ยึดให้ได้ เพราะสำคัญคือหน้าที่ของโจทก์ต้องเป็นตัวเเถลงทรัพย์สินเเละชี้ทรัพย์สินนั้น กรมบังคับคดีถึงบังคับให้ได้ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดต้องเกิดขึ้นหลังหมายบังคับคดีมาแล้ว” รองอธิบดีกรมบังคับคดีกล่าว
ขณะเดียวกัน กรมบังคับคดีได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงขั้นตอนการบังคับคดี โดยระบุว่า ในคดีแพ่งซึ่งผู้เสียหายได้ฟ้องเรียกให้ชำระค่าเสียหาย หากโจทก์ผู้ชนะคดีไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาและประสงค์จะบังคับคดี ต้องดำเนินการโดยยื่นขอให้ศาลออกคำบังคับและออกหมายบังคับคดี เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีและส่งมาที่กรมบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแล้ว โจทก์ผู้ชนะคดีต้องสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ และมาตั้งเรื่องโดยแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับกับทรัพย์สินดังกล่าวให้ ซึ่งต้องดำเนินการภายในระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีนับแต่ศาลมีคำพิพากษา ไม่ว่าจะเป็นการยึดทรัพย์สินหรือการอายัดสิทธิเรียกร้องต่างๆ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ อันเป็นกระบวนการบังคับคดีตามกฎหมาย ซึ่งคู่ความสามารถติดต่อเพื่อดำเนินการหรือขอคำแนะนำได้ที่สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ
“หากคู่กรณีมีความประสงค์ที่จะทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี สามารถดำเนินการได้ โดยแสดงความประสงค์ขอให้ทำการไกล่เกลี่ย ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ณ สำนักงานบังคับคดี หากมีคดีเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ซึ่งอยู่เขตพื้นที่ของสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1 กรมบังคับคดีได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำและให้การช่วยเหลือประชาชน หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่กรมบังคับคดี โทร. 0-2881-4999 หรือสายด่วน 1111 กด 79 และสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1 โทร. 0-2012-4200 ต่อ 301”
วันเดียวกัน นางถวิล เช้าเที่ยง อายุ 71 ปี มารดาของ ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง อดีตนักวิทยาศาสตร์ประจำ สวทช. 1 ใน 9 ที่เสียชีวิต กล่าวหลังมีข่าวคู่กรณีจะชดใช้ค่าเสียหายให้ว่า รู้สึกดีใจ และได้ทราบข่าวจากเพื่อนมาว่ามีการขายที่ดินได้แล้วทั้งที่ดินและบ้านรวมประมาณ 100 ล้านบาท โดยถ้าหากมีการนำเงินมาชดใช้ให้ ก็จะนำเงินไปใช้หนี้สินค้างเก่า และเก็บไว้กินตอนแก่รักษาตัวเอง นอกจากนี้จะนำไปปลูกบ้านอยู่อาศัย เพราะที่อยู่ปัจจุบันอาศัยบ้านเขาอยู่ แต่ขอให้ได้เงินก่อนแล้วค่อยพูดกัน ไม่อยากคาดหวังมาก เพราะของมันไม่ได้กันง่ายๆ รอมาถึง 9 ปีแล้ว ลูกเราไปเมืองนอกก็ 10 ปีแล้ว นี่ 9 ปีก็ต้องรอต่อไป
“เรื่องที่มีการตั้งเงินกองทุนจำนวน 5 แสนบาทนั้นได้ให้กับใครไว้ เห็นโชว์จำนวนเงิน 5 แสนบาท ซึ่งจะให้กับใครนั้นฉันยังไม่รู้ หรือเขาจะเอาไปให้กับทนายความที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือเปล่า เห็นแต่โชว์อย่างเดียวว่าตระกูลเขาช่วยค่ารถค่าเรือ ไม่เกี่ยวกับเงินค่าเยียวยา รู้มาอย่างนี้ และยังไม่รู้ว่าอยู่กับใครเงินจำนวนนี้” นางถวิลระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |