นับเป็นเวลานานที่ทางราชทัณฑ์ไม่ได้เปิดให้เข้าตรวจเยี่ยมเรือนจำ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีราชทัณฑ์ ได้นำคณะสื่อทัวร์เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังมีกรณีที่ นายสุริยะใส กตะศิลา ที่เพิ่งพ้นจากคุกมามาดๆ และได้บอกเล่าว่าในคุกมี "แดนวีไอพี" ทั้งนี้เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นไปตามที่มีการบอกเล่าหรือไม่
จากก้าวแรก เริ่มจากการเดินเข้าผ่านประตูเหล็กหนาในเรือนจำ ที่กั้นไว้ถึง 2 ชั้นด้วยกัน โดยเราจะสามารถเดินผ่านประตูเหล็กทั้ง 2 ชั้นได้ก็ต่อเมื่อจำนวนผู้ที่จะเข้าเรือนจำเดินเข้าไปในประตูเหล็กชั้นแรกครบแล้ว หลังจากนั้นด่านต่อมาคือผู้ต้องขังทุกคนต้องเข้าไปเครื่องสแกนขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการนำอาวุธเข้าไปในเรือนจำ โดยจอสแกนจะเห็นทุกอย่างที่เป็นโลหะ แม้กระทั่งผู้ต้องขังชายคนใดฝังมุก ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเห็นทะลุปรุโปร่ง
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะจำแนกผู้ต้องขังไปแดนต่างๆ โดยมีทั้งหมด 8 แดนตามความเหมาะสม แต่ในปัจจุบันเนื่องจากผู้ต้องขังมีจำนวนมาก จนทำให้เรือนจำล้น จึงต้องมีการจัดใหม่ตามความเหมาะสม โดยผู้ต้องขังที่ไม่ค่อยมีเรื่องความรุนแรงหรือเรื่องชกต่อยกัน รวมทั้งผู้ต้องขังสูงอายุก็รวมอยู่ในนั้นด้วย โดยในแดนต่างๆ จะมีเรือนนอน โรงเลี้ยงอาหาร ร้านสวัสดิการเรือนจำ โรงอาบน้ำ ลานไว้ออกกำลังกาย ห้องสมุด และห้องตัดผม
ลึกเข้าไปถึงเรือนนอนของแต่ละแดน จะมีไม่ถึง 10 เรือนนอน ซึ่งในห้องนอน สิ่งที่ผู้ต้องขังจะได้รับคือผ้า 3 ผืน ซึ่งเป็นผ้าประจำตัวโดยมีรูปและชื่อปักไว้อยู่ โดยผืนที่ 1.ใช้สำหรับปูนอน 2.ใช้สำหรับห่ม และผืนที่ 3.ใช้สำหรับผับเป็นหมอนไว้หนุนหัว
นอกจากนี้ ในห้องนอนจะมีห้องสุขา 2 ห้อง และห้องสำหรับล้างเท้า ล้างมือ ซึ่งลักษณะห้องไม่ได้เหมือนห้องน้ำปกติที่ปิดมิดชิด แต่เป็นห้องที่มีกำแพงความสูงครึ่งหนึ่งของคน ไม่ได้ปิดด้านบน ทำให้ผู้ต้องขังบางรายนอนไม่สะดวก เพราะอาจจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากห้องน้ำออกมาระหว่างที่เรานอน ดังนั้นจึงเป็นข้อบังคับให้ผู้ต้องขังต้องดูแลห้องน้ำของตัวเอง นอกจากนี้ในเรือนนอนจะมีโทรทัศน์เอาไว้ให้ผู้ต้องขังได้รับชมด้วย ซึ่งจะเปิดประมาณ 4 โมงเย็น จากฝ่ายควบคุมกลาง ผู้ต้องขังทุกห้อง ทุกแดน จะได้ดูโทรทัศน์ช่องเดียวกันหมด ไม่มีใครสามารถปรับเปลี่ยนหรือจูนโทรทัศน์ไปยังช่องอื่นได้ ไม่สามารถเลือกรายการที่จะดูได้
ด้านหลังเรือนนอนจะเป็นโรงอาบน้ำ ที่ทุกคนจะต้องเตรียมยาสระผม สบู่ไปเอง โดยสามารถมาซื้อได้ที่ร้านค้าสวัสดิการที่อยู่ข้างเรือนนอนของแต่ละแดน ซึ่งมีทุกอย่างที่ร้านขายของชำทั่วไปควรมี ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา ปลากระป๋อง แป้ง ยาสีฟัน ฯลฯ โดยวิธีการซื้อของเหล่าผู้ต้องขังนั้นคือการสแกนนิ้ว แทนการใช้ธนบัตร หรือเหรียญ เพราะเวลาผู้ต้องขังจะใช้เงินทางญาติก็ต้องโอนให้ทางกรมราชทัณฑ์โดยระบุตัวผู้ต้องขัง ซึ่งผู้ต้องขังจะใช้เงินได้ไม่เกิน 300 บาทต่อวัน หรือห้ามโอนเกิน 9,000 บาทต่อเดือน
แล้วส่วนผู้ต้องขังไม่มีเงินจะทำอย่างไร ทางกรมราชทัณฑ์ได้จัดพื้นที่ให้ผู้ต้องขังได้ฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังที่มีเกณฑ์ประพฤติตัวดี ไม่ว่าจะเป็นการทำเบเกอรี่ ทำอาหาร หรือว่าทำงานไม้ โดยเมื่อนำไปขายแล้วก็จะได้ส่วนแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายในแต่ละเดือน
ในส่วนของเบเกอรี่ ทางราชฑัณฑ์ได้จัดเป็นโรงทำขนมแบบจริงจัง เพื่อไว้ขายให้กับผู้ต้องขัง มีหลายอย่าง อาทิ พิซซ่า 1 ถาด 300 บาท เค้กบราวนี่ 28 บาท ขณะที่รสชาติจากฝีมือผู้ต้องขัง ยอมรับว่าไม่ธรรมดา บางเมนูยังรสชาติดีกว่าร้านข้างนอกบางร้านด้วยซ้ำ
ต่อมาเป็นสถานที่ทำอาหารสำหรับขายให้กับผู้ต้องขังด้านใน ซึ่งอยู่ติดกับโรงอบขนมเบเกอรี่ โดยวิธีการสั่งจะเป็นแบบสั่งวันนี้ ได้พรุ่งนี้ โดยเมื่อทำเสร็จจะใส่ถุงพลาสติก และติดชื่อผู้สั่งเอาไว้ เพื่อส่งไปผู้ต้องหาที่ได้สั่งจากแดนต่างๆ
และแดนที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นแดนไหนไปไม่ได้ นอกจากสูทกรรม คือแดนสำหรับทำอาหารให้คนทั้งเรือนจำ โดยผู้ต้องขังคนไหนที่มีความสามารถด้านการทำอาหารก็จะมาอยู่ในโซนนี้ โดยจะปรุงอาหารรสชาติกลางๆ มากที่สุด เนื่องจากคนในคุกมีร้อยพ่อพันแม่ ความต้องการต่างกัน บางคนต้องการรสจัด, จืด, จึงทำให้ผู้ต้องขังต้องประยุกต์รสชาติอาหารกันเอาเอง ที่ผู้สื่อข่าวได้ยินมาคือบางคนถึงขั้นซื้อผงชูรสมาโรยในจานข้าว
นอกจากนั้น ทางเรือนจำยังมีสถานที่เรียนหนังสือของผู้ต้องขังที่ไม่สามารถเขียนอ่านได้ โดยมีครู ซึ่งบางคนเป็นผู้ต้องขังที่มีความรู้ หรือนักศึกษาฝึกงานจากคณะสังคมสงเคราะห์ มาช่วยฝึกสอน
เนื่องจากราชทัณฑ์ตระหนักถึงการพัฒนาผู้ต้องขังให้มีทักษะ ความรู้ เมื่อออกไปเขาจะสามารถประกอบอาชีพได้อย่างสุจริต ไม่กลับไปทำผิดอีก สำหรับผู้ต้องขังที่เข้าร่วมฝึกอบรมวิชาชีพของราชทัณฑ์ ก็จะมีสิทธิเลื่อนขั้นกลายเป็นนักโทษชั้นดีต่อไป
ส่วนระเบียบปฏิบัติประจำวันของผู้ต้องขัง เริ่มจากเวลา 05.30 น. เจ้าหน้าที่จะให้สัญญาณปลุก เพื่อให้ผู้ต้องขังเตรียมตัวลงจากเรือนนอน เวลา 06.00 น. ตรวจนับยอดผู้ต้องขัง ลงจากเรือนนอน เพื่อทำภารกิจส่วนตัว ฝึกกายบริหาร จัดระเบียบแถว เวลา 07.00 น. เตรียมตัวและรับประทานอาหาร เวลา 07.45 น. ผู้ต้องขังทุกคนเข้าแถวเตรียมตัวเคารพธงชาติ เวลา 08.00 น. เคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ เวลา 08.30 น. ตรวจนับยอด จ่ายเข้ากองงาน ฝึกวิชาชีพ ศึกษาอบรม เวลา 11.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน เวลา 13.00 น. กิจกรรมเหมือนกับช่วงเวลา 08.30 น. ในเวลา 15.00 น. เลิกงานเพื่อเตรียมตัวอาบน้ำ เวลา 15.30 น. รับประทานอาหารเย็น เวลา 16.00 น. ตรวจนับยอดเพื่อขึ้นเรือนนอน เวลา 18.00 น. สวดมนต์ไหว้พระ ปฏิบัติศาสนกิจ ดูทีวี และเวลา 21.00 น. ผู้ต้องขังนอนหลับพักผ่อน ซึ่งจะเป็นแบบนี้ทุกวัน
แม้ไม่พบร่องรอยความเป็น "วีไอพี" แต่ก็เห็นว่าในเรือนจำไม่ได้ลำบากยากเย็นแสนเข็น ตามจินตนาการคุกในอดีต แต่ถึงอย่างไรจะสะดวกสบายแค่ไหน ก็ไม่มีใครอยากเข้ามาอยู่ เพราะคำว่า "สะดวก" คงไม่ได้มีคุณค่ามากกว่าคำว่า "อิสรภาพ" อย่างแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |